ปฏิทินวัฒนธรรม
เนติ โชติช่วงนิธิ
วันศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม บุคคล
ล่วงเข้าปีใหม่สากล พุทธศักราช 2552 อย่างเต็มตัว หลายคนมีช่วงวันหยุดสังสรรค์เฮฮาปาร์ตี้ตามประสาของสังคมนั้นๆ ต่อเนื่องไปอีกสองวัน ก่อนจะเริ่มงานวันจันทร์ที่ 5 มกราคม
ไหนๆ ก็พูดถึงวันหยุดกันแล้ว ก็เลยมีเกร็ดเล็กน้อยมาฟากท่านผู้อ่าน ว่าเมืองไทยเรานี้มีวันหยุดกับชาวบ้านชาวเมืองอื่นๆ กี่มากน้อยเท่าใด ลองมานั่งนับคำนวณกันเล่นๆ ดู ปีหนึ่งมี 365 วัน หรือ 366 วัน สุดแต่ว่าเดือนกุมภาพันธ์ในปีนั้นจะมี 28 หรือ 29 วัน
ถ้าหากนับวันหยุดตามปกติของราชการ คือเสาร์-อาทิตย์ ปีหนึ่งจะมีวันหยุดไม่ต่ำ 104 วัน ในเดือนหนึ่งๆ มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ 8-10 วันต่อเดือน ขึ้นอยู่กับเดือนนั้นมี 28 วัน 29 วันอย่างเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนนั้นลงท้ายด้วย “ยน” 30 วัน และ “คม” 31 วัน
แล้วหันมาดูวันหยุดสำคัญๆ วันนักขัตฤกษ์ทางพุทธศาสนาและประเพณี วันบุคคลสำคัญ วันทางประวัติศาสตร์ ฯลฯ ในปีหนึ่งมีวันหยุดประมาณ 17 วัน
หากวันหยุดสำคัญวันนั้นตรงกับวันหยุดทางราชการ ก็ต้องชดเชยเพิ่มอีก 1 วัน อันนอกเหนือปีใดที่มีพระราชพิธีสำคัญๆ จะต้องมีวันหยุดเพิ่มขึ้น ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นพิเศษขึ้นมา เมื่อคิดโดยรวมหยุดปกติกับวัน หยุดสำคัญแล้วมีวันหยุดในปีหนึ่งๆ 111 วันประมาณนั้น
เหลือวันให้ราชการทำงานในปีหนึ่งแค่ 254 วัน หรือ 255 วัน ส่วนภาคเอกชนนั้นบวกวันเสาร์เข้าไปของแต่ละเดือนก็จะทำงานในปีหนึ่งๆ 306 วัน หรือ 307 วันเป็นประมาณนั้น ทั้งนี้ไม่รวมวันพักร้อน 7-10 วัน
วันหยุดในเมืองไทยนั้น อาจกล่าวได้ว่ามีวันหยุดมากแห่งหนึ่งในนานาประเทศของโลกก็ว่าได้!!
ที่นี้มาดูกันว่าวันสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับทางศาสนาและประเพณีของไทยมีอะไรบ้าง นอกเหนือไปจากวันหยุดราชการ ซึ่งจะทำให้ประชาชนและเยาวชนได้รู้จักวันสำคัญต่างๆ ทั้งที่เป็นวันหยุดและไม่หยุดไปในตัวด้วย ตรงนี้ขอเรียกว่า ปฏิทินศิลปวัฒนธรรม
เริ่มที่ เดือนมกราคม 1 มกราฯ วันขึ้นปีใหม่ วันเริ่มต้นศักราชใหม่ตามสากลนิยม
วันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราฯ วันเด็กแห่งชาติ เริ่มจัดครั้งแรกในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม ในปี พ .ศ. 2498 ภายหลังได้เปลี่ยนเป็นเสาร์ที่สองของเดือนมกราฯ เมื่อปี พ.ศ. 2508 ความคิดในการจัดงานวันเด็ก ก็เพื่อกระตุ้นให้เด็กได้ตระหนักถึงความสำคัญของตน และส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของเด็กด้วย
วันที่ 16 วันครู จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 16 มกราฯ พ.ศ. 2500 เพื่อระลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะ ผู้เสียสละและประกอบคุณงามความดี เพื่อประโยชน์ของชาติ
วันที่ 18 วันกองทัพไทย เป็นวันระลึกถึงที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถี
กุมภาพันธ์ วันที่ 24 วันศิลปินแห่งชาติ ประกาศยกย่องและเชิดชูเกียรติศิลปินชั้นครูที่ได้รับการคัด เลือกจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้เป็น " ศิลปินแห่งชาติ " โดยยึดถือเอาวันพระราชสมภพของรัช กาลที่ 2 ผู้ทรงรอบรู้ และเชี่ยวชาญศิลปะทุกแขนงอย่างกว้างขวางลึกซึ้งเป็นวันศิลปินแห่งชาติ
มีนาคม วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันที่พระอรหันต์ที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้จำนวน 1, 250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย พระพุทธเจ้าจึงได้แสดงโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ในวันนี้เรียกชื่ออีกอย่าง "วันจาตุรงคสันนิบาต"
วันที่ 31 วันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในการทำนุบำรุงบ้านเมือง ทั้งในด้านศาสนาและการค้าต่อบ้านเมือง คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำ หนดให้วันนี้เป็น “วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า”
เมษายน วันที่ 2 วันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และผู้ทรงเป็นแบบอย่างในด้านอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติในสาขาต่างๆ รัฐบาลมีมติให้วันนี้เป็นวัน "อนุรักษ์มรดกไทย" ทรงได้รับถวายพระสมัญญา “เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” และ “วิศิษฏ ศิลปิน” อันหมายถึงผู้เป็นเลิศทางศิลปะ ทรงเป็นเมธีทางวัฒนธรรม ทรงมีคุณูปการต่องานศิลปวัฒนธรรม
วันที่ 6 วันจักรี วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ วันที่ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
วันที่ 13 วันปีใหม่แบบไทย หมายถึงวันที่พระอาทิตย์ย่างเข้าสู่ราศีใหม่
วันที่ 14 วันสงกรานต์ คือราศีเมษ อันถือเป็นราศีเริ่มต้นปีใหม่ หรือวันเนา
วันที่ 15 เรียกวันมหาสงกรานต์ วันเถลิงศก คือวันขึ้นจุลศักราชใหม่ และเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ และวันครอบครัวไปในตัว
วันที่ 28 วันนริศรานุวัดติวงศ์ เป็นวันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา นริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ทรงได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งการช่างของไทย”
พฤษภาคม วันที่ 1 วันแรงงานแห่งชาติ
วันที่ 5 วันฉัตรมงคล วันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จขึ้นครองราชย์
วันที่ 10 วันพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันที่กำหนดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีเก่าแก่มาแต่โบราณ เพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เกษตรกรของชาติ
วันวิสาขบูชา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระ พุทธเจ้า และวันนี้องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก
มิถุนายน วันที่ 26 วันคล้ายวันเกิดพระสุนทรโวหาร (สุนทรภู่ ) กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น และเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก
กรกฎาคม วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันที่มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบเป็นองค์พระรัตนตรัยครั้งแรกในโลก และพระพุทธเจ้าได้แสดงปฐมเทศนา คือธรรมจักกัปปวัตนสูตร ทำให้มีผู้เปรียบวันนี้ว่าเป็น “วันพระสงฆ์”
วันที่ 29 วันภาษาไทยแห่งชาติ วันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จไปทรงร่วมอภิปรายกับผู้ ทรงคุณวุฒิทางภาษาไทย ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2505 รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันนี้เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2542
วันเข้าพรรษา เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี วันเริ่มต้นที่พระภิกษุสงฆ์จะต้องอธิษฐาน จำพรรษาอยู่กับที่ไม่เที่ยวจาริกไปในสถานที่ต่างๆ เป็นเวลา 3 เดือน จึงมีประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน แห่และถวายเทียนพรรษา
วันที่ 18 วันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
สิงหาคม วันที่ 7 วันรพี วันคล้ายวันสิ้นพระชนม์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรก
ฤทธิ์ (พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์) "พระบิดาแห่งกฎหมายไทย"
วันที่ 12 วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
วันที่ 18 วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ วันเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง อันเป็นปรากฏการณ์ที่รัชกาลที่ 4 ทรง คำนวณทำนายไว้ก่อนอย่างแม่นยำว่าจะเกิดขึ้นล่วงหน้าถึง 2 ปี และได้เสด็จไปทอดพระเนตร ต. หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในวันดังกล่าว เมื่อปี พ. ศ. 2411
กันยายน วันที่ 19 วันพิพิธภัณฑ์ไทย เป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงเป็นผู้ให้กำเนิด "พิพิธภัณฑ์สถานสำหรับประชาชน" เป็นครั้งแรกเมื่อ 19 ก.ย. 2417 ณ ศาลาสหทัยสมาคมหรือ "หอคองคอเดีย" ในพระบรมมหาราชวัง
วันที่ 15 วันศิลป์ พีระศรี ผู้จุดประกายวงการศิลปะร่วมสมัยในไทย ทั้งสร้างงานประติมากรรมบุคคลสำคัญไว้มากมาย
วันที่ 20 วันเยาวชนแห่งชาติ โดยถือว่าเป็นวันสิริมงคล เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีถึง 2 พระองค์ ที่ทรงครองราชสมบัติ ขณะยังทรงพระเยาว์ คือรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 8
วันที่ 24 วันมหิดล วันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก ผู้ทรงมีคุณุปการต่อวงการแพทย์สมัยใหม่ของไทย
ตุลาคม วันสารทไทย ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เทศกาลทำบุญเดือน10 ของไทย
วันที่ 23 วันปิยมหาราช วันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 คือวันที่พระภิกษุสงฆ์พ้นข้อกำหนดทางวินัย ที่จะอยู่จำพรรษาและสามารถจาริกไปค้างแรมที่อื่นได้
วันตักบาตรเทโวโรหนะ ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หมายถึงวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากเสด็จขึ้นไปจำพรรษา เพื่อโปรดพระพุทธมารดาอยู่ 3 เดือน และมาประทับอยู่เมืองสังกัสสะ ประชาชนไปเฝ้าทำบุญตักบาตรกันอย่างเนืองแน่น พุทธศาสนิกชนจึงนิยมตักบาตรเป็นพิเศษในวันนี้
เทศกาลกฐิน ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นช่วงเวลา 1 เดือนหลังจากออกพรรษา ที่จะทำบุญถวายผ้ากฐินตามวัดต่าง ๆ
พฤศจิกายน วันลอยกระทง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ หรือเพื่อขอขมาพระแม่คงคา ที่มนุษย์ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไป หรือเพื่อสะเดาะเคราะห์
วันที่ 25 วันวชิราวุธ วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
ธันวาคม วันที่ 1 วันดำรงราชานุภาพ วันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อน้อมระลึกถึงพระคุณของพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง
วันที่ 5 วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นวันพ่อแห่งชาติ และ "วันชาติ"
วันที่ 10 วันรัฐธรรมนูญ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร ให้แก่ประชาชนชาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2475
วันที่ 16 วันกีฬาแห่งชาติ วันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงชนะเลิศได้รับเหรียญทองในการแข่งขันเรือใบประเภท โอ.เค. ในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2510
วันที่ 28 วันตากสินมหาราช วันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระบรมราชาที่ 4" แต่ประชาชนนิยมเรียกพระนามว่า "พระเจ้าตากสิน"
วันที่ 31 วันสิ้นปีศักราช
ที่มา สยามรัฐ วันที่ 3 มกราคม 2552