Advertisement
นิทานปีใหม่
สวัสดีปีใหม่ค่ะท่านผู้อ่านแรงบุญแรงกรรมทุกท่าน ที่ผู้เขียนขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยดลบันดาลให้ท่านผู้อ่านทุกท่านมีความสุข ความเจริญก้าวหน้า มีสุขภาพกายใจที่สมบูรณ์ พร้อมที่จะดำเนินชีวิตอย่างมีความหมายตลอดปีใหม่นี้ค่ะ
ช่วงปีใหม่นี้ เรามักจะได้ยินการพูดถึงสัญลักษณ์ของปีใหม่และปีเก่าที่ผ่านไป อย่างเช่น ปีระกา ปีจอ ฯลฯ นั่นก็เป็นชื่อเรียกตามปีนักษัตร คำว่า “นักษัตร” มาจากภาษาสันสกฤตว่า “นกฺษตฺร” ออกเสียง นัก-สัด-ตระ ตรงกับคำบาลีว่า “นกฺขตฺต" ออกเสียงว่า นัก-ขัด-ตะ
คำว่า “นักษัตร” อาจหมายถึงกลุ่มดาวฤกษ์ก็ได้ จึงเป็นที่มาของคำว่า “นักขัตฤกษ์” ซึ่งก็คืองานรื่นเริงตามธรรมเนียมตามฤดูกาล
ส่วนอีกความหมายหนึ่งคือ ชื่อรอบเวลา กำหนดให้ 12 ปี เป็น 1 รอบ เรียกว่า 12 นักษัตร โดยกำหนดให้มีสัตว์ต่าง ๆ เป็นเครื่องหมายในปีนั้น ๆ ซึ่งเป็นการขนานนามมาจากกลุ่มดาวประจำที่หรือดาวนักษัตรในท้องฟ้าที่มองเห็นตามจุดกลุ่มดาวเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น หนู วัว เสือ ฯลฯ
สำหรับคนไทยเรานั้น จะเริ่มต้นปีนักษัตรใหม่ก็ต่อเมื่อถึงวันปีใหม่ไทยหรือวันสงกรานต์ ส่วนของคนจีนนั้นก็จะเริ่มต้นปีนักษัตรใหม่ในวันขึ้นปีใหม่จีนหรือวันตรุษจีนนั่นเอง แต่เรามักเข้าใจว่าพอเปลี่ยนศักราชใหม่แล้ว ปีนักษัตรต้องเปลี่ยนตามด้วยทันที อันนั้นเป็นการยึดหลักตามปฏิทินสากล
เมื่อมาดูว่าคนไทยใช้สัตว์ช่วยนับปีมานานแค่ไหน ก็ไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่มีจารึกในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ด้านที่ 3 และด้านที่ 4 เกี่ยวกับปีมะโรง ปีกุน และปีมะแม ซึ่งทำให้พอสรุปได้ว่า ไทยเราได้ใช้ปีนักษัตรมาไม่น้อยกว่า 700 ปีแล้ว
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงให้ความเห็นในการนำเอารูปสัตว์มาเป็นสัญลักษณ์แทนชื่อปีว่าน่าจะเพื่อให้สะดวกและจดจำได้ง่าย เพราะถ้าใช้ตัวอักษรอ่านและเขียน พอพ้นประเทศที่ใช้ไปก็จะไม่มีใครเข้าใจ
ประเทศที่ใช้สิบสองนักษัตรนี้ไม่ได้มีแต่เพียงไทยเราเท่านั้น ยังมีประเทศอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเอเชียด้วยกัน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เขมร ลาว เวียดนาม ฯลฯ ซึ่งตรงกันทั้งการลำดับปีก่อนหลัง ความหมายหรือสัตว์ประจำปี เพียงแต่เรียกหรือออกเสียงแตกต่างกันบ้าง เช่น มะโรงของจีนคือมังกร ปีเถาะของญี่ปุ่นคือแมว ปีกุน ของชาวล้านนาคือช้าง (มาจากปีกุญคือกุญชร) ฯลฯ
และแน่นอนที่สุด เรื่องราวใหญ่ ๆ อย่างสิบสองนักษัตรจะไม่มีตำนานหรือเรื่องให้เล่าขานความเป็นมาก็ใช่ที่ ผู้เขียนได้ลองดูข้อมูลเกี่ยวกับตำนานหรือนิทานสิบสองนักษัตรแล้วเห็นว่า มีแตกต่างกันหลายเวอร์ชั่นทีเดียว บางเรื่องก็ใกล้เคียงและคล้ายกันมาก ต่างกันในรายละเอียดเล็กน้อยก็มี ผู้เขียนจึงขอหยิบยกนิทานสิบสองนักษัตรมาเล่าสู่กันฟังสักสองเรื่อง
เรื่องที่หนึ่งนั้นเป็นเรื่องเล่าสั้น ๆ ว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพาน บรรดามนุษย์และสัตว์ต่างก็รีบร้อนมาเฝ้าพระบรมศพ มีสัตว์มากมายที่จะไปเฝ้าและพยายามวิ่งไปถึงพระบรมศพให้เร็วที่สุด วัวนั้นเป็นตัวแรกที่วิ่งออกหน้าไปก่อน แต่หนูซึ่งตัวเล็กกระจิดริดได้กระโดดอาศัยเกาะหลังวัวไปด้วย พอไปถึงที่ หนูก็กระโจนลงจากหลังวัวข้ามหัววัวไป ทำให้หนูไปถึงสถานที่นั้นก่อน และเพื่อเป็นเกียรติประวัติ จึงได้ยกย่องให้เอาชื่อของหนูเป็นชื่อแรกของปี ชื่อของวัวเป็นชื่อที่สองของปี จากนั้น ก็เป็นชื่อของสัตว์ที่มาตามลำดับ จนมาถึงหมูเป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งถือเป็นปีสุดท้ายในรอบนักษัตร
เรื่องที่สองนั้นเป็นนิทานจีน ก็เล่ากันมาว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว โลกนี้ยังไม่มีวิธีนับวัน นับเดือน นับปี คนในโลกยังไม่มีใครรู้วันเดือนปี ไม่รู้จักอายุกัน ตอนนั้นเง็กเซียนฮ่องเต้เจ้าแห่งสวรรค์มีดำริว่า ชีวิตคนเกี่ยวข้องผูกพันกับสัตว์มากมาย หากจะใช้ชื่อสัตว์มาเป็นชื่อนับปีก็จะง่ายแก่การจดจำ
ท่านจึงคิดจะทำการคัดเลือกประเภทของสัตว์เพื่อมาตั้งชื่อปีอย่างยุติธรรม จึงได้มีประกาศให้ทราบว่าจะมีการแข่งขันว่ายน้ำเพื่อคัดเลือกสัตว์แต่ละชนิดมาเป็นชื่อของปี จำนวน 12 ชื่อ โดยจะตั้งชื่อตามลำดับ
สัตว์ต่าง ๆ ก็พากันตระเตรียมตนเองอย่างเต็มที่ ตอนนั้นหนูยังเป็นเพื่อนกับแมวอยู่ พอหนูรู้ว่าแมวจะไปแข่งขันด้วยก็วางแผนหลอกแมว บอกว่าวันรุ่งขึ้นที่จะมีการแข่งขันสัตว์โลกนั้น พี่แมวไม่ต้องห่วง พี่แมวนอนรออยู่ที่บ้านเถอะ หนูจะมาปลุกเอง แล้วเราจะเดินทางไปด้วยกัน เข้ารอบพร้อมกัน
แมวก็ชะล่าใจคิดว่าหนูเป็นเพื่อนที่ดีเห็นแมวชอบนอนหลับ กลัวจะไปแข่งขันไม่ทันเลยจะมาปลุก ไม่ได้รู้เลยว่าถูกหนูหักหลังซะแล้ว พอวันรุ่งขึ้นที่เป็นวันแข่งขัน หนูไม่มาปลุก แมวก็เลยไม่ได้ไปเข้าร่วมแข่งขันด้วย เพราะเอาแต่นอนเพลิน
หนูหลอกแมวแล้ว ก็รอจนฟ้าสางไม่ยอมนอน พอถึงวันแข่งขันซึ่งเง็กเซียนนฮ่องเต้ให้สัญญาณ หนูก็รีบออกวิ่งทันที แต่มาจนแต้มเมื่อมาถึงริมฝั่งแม่น้ำ เพราะมันว่ายน้ำไม่เก่ง น้ำไหลเชี่ยวด้วย ไม่รู้จะทำยังไง เห็นวัวมาถึงก็ไปบอกวัวว่าให้ช่วยพาข้ามน้ำไปด้วยเถอะ ถ้าถึงเส้นชัยแล้วจะสละตำแหน่งให้วัว
วัวสงสารหนู ก็เลยให้หนูขี่หัวข้ามแม่น้ำไปด้วยกัน ครั้นพอไปถึงอีกฝั่งหนึ่ง หนูก็ลงจากหัววัววิ่งพรวดพราดถึงเส้นชัยก่อนวัว เง็กเซียนฮ่องเต้จำต้องตัดสินให้หนูเป็นผู้ชนะเพราะมันมาถึงก่อนตามกติกา ปีแรกนี้จึงเป็นปีหนูเรียกว่าปีชวด วัวมาถึงเป็นอันดับที่สอง เราจึงเรียกปีที่สองซึ่งเป็นปีวัวว่าปีฉลู
ส่วนเสือนี่แม้จะได้เปรียบสัตว์อื่นเพราะเป็นพญาแห่งสัตว์ป่า มีกำลังแข็งแรง ฝีเท้าดี แต่วิ่งมาถึงเป็นลำดับที่สามเพราะมัวแต่รังแกข่มเหงและจับสัตว์เล็ก ๆ กินตามทางเรื่อยมา เราเรียกปีเสือว่าปีขาล
ส่วนกระต่ายแม้จะกระโดดได้คล่องแคล่วว่องไว แต่ที่มาช้าเพราะกลัวเสือจะจับกิน ก็เลยต้องหลบไปหลบมาอยู่หลังเสืออย่างระมัดระวัง จึงมาถึงเป็นอันดับที่สี่ เราเรียกปีกระต่ายว่าปีเถาะ
มังกรหรืองูใหญ่เป็นสัตว์ที่เก่งสุด เผ่นโผนโจนทะยานในเมฆหมอก ว่ายน้ำก็เก่ง เง็กเซียนฮ่องเต้เห็นมันได้เปรียบสัตว์อื่น เกรงไม่ยุติธรรม จึงมีคำสั่งให้มังกรหรืองูใหญ่ไปทำหน้าที่โปรยฝนที่มณฑลเจียงตงก่อน แล้วจึงมาแข่งขัน จึงทำให้มังกรมาถึงล่าช้าเล็กน้อยได้เป็นอันดับที่ห้า เราเรียกปีงูใหญ่ว่าปีมะโรง
งูเล็กนั้น แรก ๆ ก็ว่าจะไม่กระโดดเข้าสนามแข่งหรอก แต่ถูกเย้ยหยันจากลิงว่าต่อให้เลื้อยจนสันหลังหัก ก็สู้ใครไม่ได้หรอก รอให้มีขางอกก่อนแล้วค่อยไปแข่งดีกว่า งูเล็กเมื่อได้ฟังดังนั้นก็เกิดความฮึกเหิมเลื้อยอย่างรวดเร็วจนนำหน้าลิงไป เข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่หก เราเรียกปีงูเล็กว่าปีมะเส็ง
ส่วนม้าแม้เป็นสัตว์ที่วิ่งเร็ว แต่ใจร้อน หลับหูหลับตาวิ่งจนหลงทาง กว่าจะเข้ามาตามเส้นทางที่เขากำหนดก็เสียเวลาไปมาก จึงมาถึงเป็นอันดับที่เจ็ด เราเรียกปีม้าว่าปีมะเมีย
แพะนี้เข้าแข่งขันอย่างซื่อสัตย์จริงจัง ก้มหน้าก้มตาวิ่งเพื่อฝึกฝนความอดทนของตนเอง ไม่ได้คิดแข่งขันกับใครเพื่อเอาชื่อเสียง เวลาวิ่งไปก็ยิ้มไป เข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่แปด เราเรียกปีแพะว่าปีมะแม
แต่เจ้าลิงที่มัวแต่เยาะเย้ยงูและเล่นซุกซน หยอกล้อ รังแกผู้อื่น วิ่งขวางทางบ้าง มัวแต่ทำเล่นจนกระทั่งกวางดาวตัวหนึ่งรำคาญเจ้าลิงเจ๊าะแจ๊ะนี้มาก ถึงกับยอมออกจากสนามแข่งขันไป แต่ลิงนี่ขนาดมันซุกซนเที่ยวยุ่งเรื่องชาวบ้านเขามันยังเข้ามาติดอันดับที่เก้า เราเรียกปีลิงว่าปีวอก
เจ้าไก่เป็นสัตว์ปีกก็เข้าแข่งขันกับเขาด้วย มันบินก็ไม่เก่ง ว่ายน้ำก็ไม่ค่อยได้ พอมาถึงแม่น้ำ มันก็อาศัยเกาะขอนไม้ท่อนหนึ่งลอยเคลื่อนตามผู้อื่นไป เรียกว่ายังมีความฉลาดเฉลียวอยู่พอสมควร กระนั้นก็มาถึงเส้นชัยเป็นอันดับที่สิบ เราเรียกปีไก่ว่าปีระกา
ส่วนหมานั้นชอบเล่นสนุกสนาน ตอนวิ่งมาก็ทำเวลาได้ดี แต่พอมาเห็นน้ำก็มัวเพลินมุดน้ำเล่นไปมา มารู้ตัวอีกทีก็เห็นคู่แข่งเขาวิ่งไปไกลแล้ว มันมาถึงเส้นชัยเป็นอันดับที่สิบเอ็ด เราเรียกปีหมาว่าปีจอ
เมื่อมาถึงหมู หมูเอาแต่กินกับนอนไม่สนใจการแข่งขัน จนเที่ยงแล้วมันยังนอนไม่ลุก พอได้ยินเสียงเขาแข่งขันกันก็ยังทำท่าขี้เกียจ ครั้นพอได้ยินเสียงดังมาก ๆ คล้ายกับกำลังแย่งอาหารกัน เห็นสัตว์วิ่งไล่กันไป เพราะความอยากกินนี่ล่ะ มันก็เลยรีบวิ่งอย่างรวดเร็ว ตามสัตว์อื่น ๆ ไปถึงเส้นชัยได้อย่างไม่น่าเชื่อ คำแรกที่หมูไปถึงเส้นชัยมันถามเพื่อน ๆ ว่ามีอะไรอร่อย ๆ ให้กินหรือ เวลานั้นมันจึงได้รู้ว่าที่เขาวิ่งกันมาเพราะเขาแข่งขันกัน มันมาถึงเส้นชัยนับเป็นอันดับที่สิบสอง ตัวสุดท้ายพอดี เราเรียกปีหมูว่าปีกุน
ส่วนแมวที่ถูกหนูหลอกก็โมโหที่ถูกหักหลัง ตั้งแต่นั้นมามันจึงตั้งตัวเป็นศัตรูกับหนูมาโดยตลอดเป็นคู่กัดกันมาจนทุกวันนี้ และว่ากันว่าที่แมวชอบเอามือถูหน้า ก็เพื่อไม่ให้มันรู้สึกง่วงนอนนั่นเอง ถ้าหนูไม่ใช้เล่ห์เพทุบายกับแมวแล้วล่ะก็ บางทีเราก็อาจจะมีปีแมวอยู่ในปีนักษัตรกันแล้ว
ในเชิงของโหราศาสตร์ สิบสองนักษัตรนี้ถูกนำมาเป็นส่วนประกอบหนึ่งในด้านพยากรณ์ศาสตร์ทั้งในตำราไทยและจีน โดยนักโหราศาสตร์จีนโบราณค่อย ๆ สังเกตเห็นว่า เหตุการณ์บนโลกมักจะมีแนวโน้มไปตามวิถีโคจร 12 ปี และคนที่เกิดในปีเดียวกันก็มักจะมีอุปนิสัยพื้นฐานบางอย่างใกล้เคียงกัน
เมื่อเรื่องเหล่านี้ได้รับการยืนยันเนิ่นนานเข้า จึงมีการตั้งชื่อเรียกแต่ละปีโดยใช้สัตว์ที่มีลักษณะเด่นใกล้เคียงกับคุณสมบัติของคนในแต่ละปีมากที่สุดมาเป็นสัญลักษณ์ ดังนั้น ในปัจจุบันจึงเชื่อกันว่าพวกเราแต่ละคนจะต้องมีลักษณะเด่นประจำตัวตามปีเกิด เช่น อาจเป็นหนู วัว เสือ กระต่าย งูใหญ่ งูเล็ก ม้า แพะ ลิง ไก่ หมา หรือหมู ก็เป็นได้
แม้ว่านิทานสิบสองนักษัตรที่เล่ามาจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เพราะมีเล่ากันไว้ในหลายที่แล้วก็ตาม แต่ถือเสียว่าเป็นการเล่านิทานสนุก ๆ ประเดิมปีใหม่ก็แล้วกันค่ะ
แต่ถ้าคุณผู้อ่านนึกอยากสนุกมากกว่าการอ่านนิทานสิบสองนักษัตรข้างต้นแล้ว ลองหาคำพยากรณ์ที่มีอยู่ดาษดื่นในท้องตลาดบ้านเรามาลองเปรียบเทียบกับปีเกิดของคุณดูก็ได้ ดูว่าลักษณะเด่นของคุณเป็นไปตามที่โหราจารย์ว่าไว้หรือไม่ ไม่ได้ให้เชื่อหรืองมงาย เพียงแต่อยากให้ดูว่าสถิติเขาว่าไว้อย่างไร ที่จริงแล้วเรามีลักษณะตามนั้นหรือไม่ ข้อเด่นข้อด้อยในตัวเราเป็นอย่างไร
ผู้เขียนเห็นว่านี่เป็นวิธีการหนึ่งในการสำรวจตนเองอย่างสนุกและง่าย ๆ มีอะไรพอที่จะปรับปรุงแก้ไขหรือพัฒนาตนเองได้ ก็จะได้ตั้งเข็มทิศวางแผนชีวิตเพื่อพัฒนาร่างกายและจิตใจตั้งแต่ต้นปีค่ะ.
วันที่ 29 ธ.ค. 2551
Advertisement
เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,147 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,143 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,152 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,137 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,137 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,138 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,141 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 33,362 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,774 ครั้ง |
เปิดอ่าน 9,958 ครั้ง |
เปิดอ่าน 25,363 ครั้ง |
เปิดอ่าน 60,598 ครั้ง |
|
|