สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในสังคมวัตถุนิยม หรือทุนนิยมในปัจจุบันนี้คือ การวัดค่าของคนคนหนึ่งด้วยปริมาณเม็ดเงินที่หาได้ (ด้วยวิธีที่สุจริต)
หากได้ลองถามคนใกล้ๆตัวโดยเฉพาะน้องๆที่เพิ่งจบกันมาใหม่ๆ ก็จะเร่ิมคุยกับเพื่อนๆว่าได้เงินเดือนเท่าไหร่กัน ใครได้มากก็อยากจะบอกเพื่อนๆด้วยความภาคภูมิใจ ใครได้น้อยก็อายไม่อยากจะเอ่ยถึง
เงิน…วัดกันได้…ไม่ยาก
งาน…วัดกันด้วยตำแหน่งก็ไม่ยาก…แต่วัดกันด้วยความสุขที่ได้ทำ…ไม่ง่าย
อาชีพใดที่น่าทำมากที่สุด
ในสายตาผู้ใหญ่….อาชีพใดก็ได็ที่สุจริตและสร้างรายได้มาก
ในสายตาเด็กจบใหม่…อาชีพที่ตัวเองใฝ่ฝัน ว่าแม้อาจจะยังได้เงินไม่มากเท่าไหร่
ในสายตาของคนยากไร้…อาจจะไม่ใช่อาชีพที่ใฝ่ฝัน แต่สามารถหาเลี้ยงท้องไปวันๆได้
ในสายตาคนมีครอบครัว…อาชีพที่มีความเสี่ยงน้อย แต่มีรายได้เลี้ยงดุครอบครัวได้
ในสายตาเด็ก…อาชีพใดใดก็ได้ที่หนูทำแล้วมีความสุข
ทำไม พอโตแล้วเราถึงคิดไม่เหมือนเด็กๆ????
หรือเพราะเราถูกผู้ใหญ่สอนมามากเกินไปว่า ต้องเรียนเก่งๆ ทำงานหนักๆ ถึงจะมีชีวิตที่สบายได้
สบาย….คำๆเดียวแต่นิยามได้แตกต่างกัน
มีอาหารกินทุกมื้อ…..สบายมั้ย?
มีอาหารกินทุกมื้อ…แต่มื้ออร่อยๆหลายๆมื้อหน่อยนะ…สบายกว่า?
มีบ้านให้อยู่….สบายหรือ?
มีคอนโดหรูๆกลางใจเมือง….สบายจริงๆ?
มียานพาหนะให้ขับ….สบายกาย?
มีรถแพงๆให้ขี่….สบายใจ?
อาชีพไหนๆก็มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีคุณค่าและความดีในตัวของมันเอง ไม่ใช่หรือ ทำไมคนเราจะต้องประเมินค่าของอาชีพจากรายได้ที่สร้างขึ้น?
บางคน ทำงานเป็นเจ้าของร้านกาแฟเล็กๆ มีเหลือเก็บนิดๆหน่อยๆ ปีนึงได้ไปเที่ยวต่างจังหวัดสักครั้ง สองครั้ง แต่ทุกวันตื่นมามีความสุขดี มีเวลาอยู่กับลูกๆ
บางคน ทำธุรกิจส่วนตัว ทำงานจันทร์ ถึงอาทิตย์ มีเงินเหลือเก็บมากพอควร ได้ไปเที่ยวต่างประเทศปีละครั้ง ได้อยู่กับบ้านและลูกๆอาทิตย์ละวัน
บางคน ทำธุรกิจครอบครัว มีเงินเหลือเก็บมากมาย เที่ยวต่างประเทศปีละหลายครั้ง ทะเลาะกับคนที่ทำงานทุกวัน อยู่บ้านวันละชั่วโมงส่งลูกเข้านอน
ในเมื่อความสุขของแต่ละคนมันวัดกันไม่ได้ เพราะไม้บรรทัดในชีวิตจริงของแต่ละคนไม่เท่ากัน ฉะนั้น ปริมาณเงินที่ใครๆก็เห็นว่ามันสำคัญและมีคุณค่า อาจะไม่สามารถแลกกับจิตวิญญาณในการทำงานเล็กๆสักชิ้น ที่ทำแล้วมีความสุขมหาศาลสำหรับคนคนนั้นก็เป็นได้ใช่มั้ย