Advertisement
|
"เต้านม" เป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายผู้หญิงที่อยู่บริเวณหน้าอกทั้งสองข้าง ถึงแม้เต้านมของผู้หญิงแต่ละคนจะมีรูปร่างและขนาดที่แตกต่างกันไป แต่ล้วนมีส่วนประกอบต่างๆ ที่เหมือนกันนั้นคือ หัวนม ลานหัวนม ต่อมน้ำนม และท่อน้ำนม ซึ่งคลุมด้วยผิวหนังและเนื้อเยื่อไขมัน
เต้านมเป็นอวัยวะที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา โดยมีวัฏจักรสอดคล้องไปตามอิทธิพลของกระแสฮอร์โมนจากรังไข่ เราสามารถแบ่งช่วงการเจริญเติบโตของ
เต้านมออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้
1. วัยแรกรุ่น
เริ่มเมื่อเด็กสาวอายุได้ 10 - 12 ขวบ จากหัวนมที่แบนราบในวัยเด็กก็เริ่มแตกตุ่มและวงปานนมที่ขยายขึ้น ซึ่งการเจริญเติบโตในระยะนี้จะเป็นไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทั่วร่างกาย โดยจะมีอาการเจ็บหน้าอกเพราะหัวนมขึ้นเป็นไตแข็ง จนกระทั่งขยายขนาดเต็มที่เป็นเต้านมของหญิงสาววัยเจริญพันธุ์ ในเด็กผู้หญิงบางคนอาจมีการแตกตัวของเต้านมได้ไวกว่าปกติ ถ้าเกิดขึ้นก่อนอายุ 8 ขวบครึ่ง เราถือว่าเป็นการแตกเนื้อสาวก่อนวัย ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น จากการรับประทานยา หรือจากการสร้างฮอร์โมนผิดปรกติที่รังไข่หรือต่อมหมวกไต เป็นต้น
2. วัยเจริญพันธุ์
เมื่อสาวน้อยเติบโตจากวัยรุ่นเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เต้านมจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ภายใต้การควบคุมของฮอร์โมน 2 ชนิด คือ ฮอร์โมนเอสโตเจน จากรังไข่กระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของหัวนม รวมทั้งท่อน้ำมันต่างๆ พร้อมกับกระตุ้นให้มีไขมันแทรกระหว่างท่อน้ำนม
ฮอร์โมนอีกชนิดคือ โปรเจสเตอโรน ซึ่งร่างกายจะผลิตออกมาทุกเดือนตามรอบเดือน คอยกระตุ้นปลายท่อน้ำนมให้ขยายเป็นที่อยู่ของต่อมน้ำนม ซึ่งทำหน้าที่ผลิตน้ำนม ดังนั้นเวลาประจำเดือนใกล้จะมาผู้หญิงจะรู้สึกเต้านมโตขึ้นและตึงคัด จวบจนเมื่อประจำเดือนมาก็จะเป็นช่วงที่เต้านมคลายความตึงตัวลง
ผู้หญิงในวัยประมาณ 25 ปีหรือที่พ้นวัยรุ่นไปแล้ว ถือว่าเต้านมเจริญเติบโตเต็มที่เรียบร้อย เว้นแต่ต่อมน้ำนมยังไม่เจริญและสร้างน้ำนมเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงในวัยเจริญพันธุ์ ถ้าไม่มีการตั้งครรภ์เลย เต้านมก็จะเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ตามรอบของประจำเดือนทุกเดือนเช่นนี้เรื่อยไปประมาณ 20 - 25 ปี จนเริ่มเข้าสู่วัยทอง
3. ช่วงตั้งครรภ์และให้นมลูก
ในระหว่างที่มีการตั้งครรภ์ ตั้งแต่เริ่มมีการปฏิสนธิ ฮอร์โมนจากรกที่เริ่มก่อตัวจะเป็นตัวสำคัญที่กระตุ้นรังไข่ให้มีการหลั่งฮอร์โมนเพศหญิได้แก่เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน เพิ่มมากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้จะกระตุ้นให้เต้านมจากขนาดปกติให้เริ่มขยายขึ้น โดยเฉพาะต่อมน้ำนมและท่อน้ำนมที่มีอยู่ประมาณ 15-20 ท่อจะแตกตัวขึ้นมาก รวมทั้งหัวนมจะมีสีเข้มขึ้น มองเห็นเส้นสีคล้ำๆ รอบๆ นม เพื่อให้เต้านมอยู่ในสภาพพร้อมที่จะเป็นคุณแม่อย่างสมบูรณ์
จนกระทั่งหลังคลอด เมื่อลูกเริ่มดูดนมแม่ การดูดนมจะเป็นตัวกระตุ้นต่อมใต้สมองให้มีการสร้าง ฮอร์โมนโปรแลคตินมากขึ้นซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะกระตุ้นต่อมน้ำนมให้ผลิตน้ำนม และไม่ว่าเต้านมขนาดเล็กหรือใหญ่ล้วนมีน้ำนมพอๆ กัน
ตามปกติแล้ว ในช่วงแรกหลังคลอด เต้านมจะยังไม่สร้างน้ำนมทันที แต่จะมีน้ำคัดหลั่งที่เรียกว่า "คอลอสตรัม" หรือน้ำนมเหลือง ซึ่งถือเป็นตัวภูมิชีวิตขั้นแรกที่สร้างภูมิต้านทานให้แก่เด็กตั้งแต่แรกเกิด จนกระทั่งหลังคลอดแล้วประมาณ 2-5 วัน น้ำนมก็จะเริ่มผลิตได้อย่างสมบูรณ์
เมื่อลูกหยุดกินนมแม่ น้ำนมที่สร้างมาไม่ได้ถูกดูดไป ก็จะเกิดการคั่งอยู่อยู่ในกลีบต่อมน้ำนมย่อยและท่อน้ำนม จนเกิดการพองตัว ทำให้เลือดมาหล่อเลี้ยงได้น้อยลง ในที่สุดเซลล์ต่อมน้ำนมก็จะค่อยๆ ลดลงจนหมดไป แล้วเต้านมก็จะค่อยๆ เล็กลงจนเท่าขนาดก่อนตั้งครรภ์
4. วัยทอง
เมื่อผู้หญิงเริ่มเข้าวัยหมดประจำเดือน ระดับของฮอร์โมนหญิงหรือเอสโตรเจนจะลดลง เนื่องจากรังไข่หยุดทำงาน การเปลี่ยนแปลงนี้ยังรวมถึงผู้หญิงที่มีความจำเป็นต้องตัดรังไข่ออกก่อนวัยอันควร
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลต่อทั้งด้านจิตใจและสรีระร่างกาย รวมทั้งความเต่งตึงของเต้านมลดลง จนทำให้หน้าอกดูเหี่ยวและหย่อนยานได้ เพราะเมื่อฮอร์โมนเพศลดลง เต้านมในส่วนของต่อมน้ำนมจะค่อยๆ ฝ่อไปจนหมด รวมทั้งเนื้อเยื่อเกี่ยวพันรอบๆ เส้นเลือดที่มาเลี้ยงเต้านมก็จะลดลง เหลือเพียงท่อน้ำนมเท่านั้นที่ยังคงอยู่
รู้ทันอาการผิดปกติและโรคของ "เต้านม"
เต้านมเกิน
การมีเต้านมเกินมักพบได้บริเวณรักแร้ บางครั้งอาจพบหัวนมเกินร่วมด้วย ซึ่งพบได้ตามแนวจากรักแร้ลงมาตามท้องถึงขาหนีบ ภาวะนี้จะเห็นเด่นชัดเมื่ออายุมากขึ้น หรือในช่วงตั้งครรภ์ และมีลูก บางคนอาจมีน้ำนมไหลออกมาได้ จากการสังเกตจะพบเป็นก้อนเนื้อห้อยบริเวณรักแร้ ภาวะนี้ไม่มีอันตรายใดๆ แต่เพื่อความสวยงามก็สามารถผ่าตัดออกได้
เต้านมโตไม่เท่ากัน
เต้านมคนเราสองข้างบางครั้งก็โตไม่เท่ากันได้ แต่ส่วนใหญ่จะแตกต่างกันไม่มากนัก ความแน่นของเต้านมอาจไม่เท่ากัน ซึ่งเกิดได้เนื่องจากเนื้อเต้านมตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศได้ไม่เท่ากัน ถ้าหากความแตกต่างมากจนเห็นได้ชัดก็สามารถผ่าตัดแก้ไขได้ การผ่าตัดสามารถทำการผ่าตัดลดขนาดเต้านมลง หรือผ่าเพื่อเสริมข้างที่เล็กให้ใหญ่ขึ้น
เต้านมโตเกิน
เต้านมโตเกินมักเกิดขึ้นในวัยสาวช่วงอายุ 13-35 ปี เต้านมจะขยายโตขึ้นมากกว่าปกติ การมีเต้านมที่ใหญ่เกินมักจะมีผลทางด้านจิตใจโดยเฉพาะช่วงวัยรุ่น แต่ไม่มีอันตรายใดๆ มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ถ้าเต้านมโตมากๆ จนมีผลเสียต่อร่างกาย สังเกตได้จากผลของน้ำหนักของเต้านมที่มากเกินไป ทำให้มีอาการปวดหลัง ปวดไหล่ หรือมีจุดอับชื้นที่ราวนมได้ ถ้ามีอาการดังกล่าวก็สามารถผ่าตัดแก้ไขให้มีขนาดเต้านมที่เล็กลง
หัวนมบอด
เป็นอาการที่หัวนมบุ๋มลงไปในเต้านม เกิดจากมีความผิดปกติในช่วงการพัฒนาของเต้านม มีการหยุดการเจริญของหัวนมก่อนกำหนด ทำให้หัวนมหดสั้น และมีเนื้อเยื่อพังผืดดึงรั้ง มีผลทำให้การดูแลทำความสะอาดลำบาก เกิดการติดเชื้อได้ง่าย และที่สำคัญคือ ให้นมลูกได้ยาก เด็กจะดูดนมได้ลำบาก ในรายที่เป็นไม่มากสามารถแก้ไขได้ โดยทำการดึงนวดบ่อยๆ ตั้งแต่เมื่อรู้ว่าเริ่มตั้งครรภ์ แต่หากหัวนมบอดเกิดขึ้นภายหลังวัยสาวรุ่นให้นึกเสมอว่าอาจมีความผิดปกติที่สำคัญเกิดขึ้น และเป็นอาการเตือนให้มาปรึกษาแพทย์
การปวดเต้านมตามรอบเดือน
การปวดเต้านมตามรอบเดือนเป็นอาการที่พบได้บ่อยของสาวๆ และหลายคนมักไปพบแพทย์กันค่อนข้างเร็ว เนื่องจากเกรงว่าจะมีความผิดปกติหรือคิดว่าเป็นอาการของมะเร็งเต้านม แต่ในความเป็นจริงแล้ว มะเร็งเต้านมมักตรวจพบก้อนก่อน และมักไม่มีอาการเจ็บปวด การปวดเต้านมเพียงอย่างเดียวโดยที่ตรวจไม่พบความผิดปกติอื่นๆ อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องรับการรักษา เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ แต่ในบางครั้งถ้าอาการปวดรุนแรงจนรบกวนชีวิตประจำวันควรปรึกษาแพทย์
เนื้องอกชนิดธรรมดา หรือก้อนไฟโบรอะดีโนมา (Fibroadenoma)
ก้อนที่เต้านมนี้พบได้บ่อยในวัยรุ่น และเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นเนื้องอกธรรมดา เนื้องอกชนิดนี้เกิดจากการกระตุ้นของฮอร์โมนเพศในช่วงที่มีการพัฒนาเต้านม ปกติก้อนจะมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร อาจพบว่าโตขึ้นได้ช้าๆ และไม่มีอาการเจ็บปวด ก้อนจะมีลักษณะกลมกลิ้งไปมาได้เวลาคลำ การพบเนื้องอกชนิดนี้ถ้าได้รับการตรวจวินิจฉัยที่แน่นอนแล้ว อาจไม่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดเอาก้อนออกเสมอไป เนื่องจากก้อนเนื้อนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเนื้อร้ายในภายหลัง นอกจากนี้จากการศึกษายังพบว่า หนึ่งในสามของก้อนที่พบยุบฝ่อลงไปได้เอง อีกหนึ่งในสามจะโตขึ้นเรื่อยๆ และอีกส่วนหนึ่งจะมีขนาดคงที่ ยกเว้นในกรณีที่ก้อนมีขนาดใหญ่กว่า 2 เซนติเมตร หรือมีขนาดโตขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม
ซีสต์หรือถุงน้ำที่เต้านม
เกิดขึ้นจากการกระตุ้นของฮอร์โมน เพราะในช่วงของรอบเดือนจะมีการสร้างสารน้ำต่างๆ ขึ้นในส่วนของเต้านม เมื่อมีการสร้างสารน้ำและการดูดกลับคืนไม่สมดุลกันก็จะเกิดเป็นถุงน้ำค้างอยู่ ซีสต์อาจจะมีขนาดโตขึ้นเล็กน้อย หรือหายไปได้เองตามช่วงต่างๆ ของรอบเดือน ซีสต์หรือถุงน้ำพบได้บ่อยขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น และอาจมีอาการปวดบริเวณก้อนร่วมด้วย สำหรับหลังวัยที่หมดประจำเดือนซีสต์จะค่อยๆ หายไปได้เอง แต่ถ้าพบอาการปวดร่วมด้วย หรือซีสต์มีขนาดใหญ่เพียงการใช้เข็มเจาะดูดน้ำออกก็เป็นการเพียงพอแล้ว ส่วนในกรณีน้ำที่ดูดออกมามีเลือดปนก็จะถูกส่งไปตรวจเพิ่มเติม เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเซลล์ที่ผิดปกติร่วมอยู่ด้วย
มะเร็งเต้านม
มักจะพบมากในผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันยังพบได้ในผู้ที่มีอายุน้อยลงเพิ่มมากขึ้น อาการที่พบได้บ่อยที่สุด คือ การคลำพบก้อน ไม่มีอาการปวดหรือเจ็บ หากตรวจพบมะเร็งได้ในระยะเริ่มแรก จะมีโอกาสหายขาดสูงมาก นอกจากนี้อาการผิดปกติอื่นๆ ที่อาจจะพบร่วมด้วย ได้แก่ การมีน้ำหรือเลือดออกจากหัวนม มีแผลที่ลานหัวนม หัวนมบุ๋ม ผิวหนังของเต้านมบวมหรือถูกดึงรั้ง ก้อนที่มีขนาดโตขึ้นและไม่เจ็บ ก้อนอาจคลำได้ไม่ชัดเจน หรือพบก้อนที่รักแร้ร่วมด้วย เป็นต้น
หากตรวจพบความผิดปรกติหรือโรคต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคเพิ่มเติมและทำการรักษาต่อไป แต่ทางที่ดีที่สุดสำหรับผู้หญิงทุกคนคือ การรู้จักหมั่นตรวจสอบสภาพร่างกายและดูแลเต้านมของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
|
ที่มา : นิตยสารชีวจิต
------------------------
เพื่อการรักษาสุขภาพและเต้านม คลิ๊ก!!
|
|
|
วันที่ 27 ธ.ค. 2551
Advertisement
เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,157 ครั้ง เปิดอ่าน 7,147 ครั้ง เปิดอ่าน 7,152 ครั้ง เปิดอ่าน 7,172 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,135 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,147 ครั้ง เปิดอ่าน 7,188 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,155 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,137 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,148 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,167 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,136 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,140 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,153 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 212,146 ครั้ง |
เปิดอ่าน 52,876 ครั้ง |
เปิดอ่าน 10,484 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,040 ครั้ง |
เปิดอ่าน 21,903 ครั้ง |
|
|