คนไทยสมัยนี้เครียดกันง่ายจัง วันๆ หนึ่งต้องพบกับความทุกข์ใจ ไม่สบายใจ กังวลใจ กันหลายๆ ครั้ง ไม่เหมือนกับคนไทยสมัยโบราณที่กว่าจะเกิดความเครียดขึ้นมาได้ โน่น..ต้องมีเสือบุกเข้ามากินวัว โจรบุกเข้ามาปล้น ถึงจะเกิดความเครียดกันทีหนึ่ง เรียกว่าวันๆ หนึ่งแทบจะไม่รู้จักความเครียดกันเลย ใบหน้าคนไทยสมัยก่อนจึงมีแต่รอยยิ้ม พวกฝรั่งซึ่งเป็นคนมาจากวัฒนธรรมอื่นมาเห็นเข้าพากันแปลกใจว่าทำไมคนไทยอารมณ์ดีกันจัง ก็เลยตั้งชื่อว่าให้ว่า "สยามเมืองยิ้ม"
นอกจากนี้คนไทยยังมีวิธีคิดที่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา ให้รู้จักคิดปล่อยวาง คิดให้สบายใจ ในยามที่ต้องพบกับปัญหาหนักๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งปัจจุบันนี้ยังเหลือร่องรอยวิธีคิดเหล่านี้อยู่ในนิสัยคนไทยทั่วๆ ไปบ้าง แต่บางคนก็ลืมไปแล้ว หรือคนรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้จัก วันนี้เครือข่ายฯจึงขอนำวิธีคิดเหล่านี้นำมาปรับปรุงแก้ไขให้มีความเป็นพุทธ และ ให้มีความทันสมัย เหมาะกับคนยุคปัจจุบันมากขึ้น นำเสนอเป็นเทคนิควิธีคิดมองโลกในแง่ดีสำหรับคนยุคไอที ดังต่อไปนี้
ยามพบอุปสรรคในการทำงาน
ไม่เป็นไร..เอาใหม่ : คำพูดนี้สำคัญมากครับ เอาไว้ใช้อุทาน เวลาท่านต้องประสบกับปัญหาความล้มเหลวในการทำงานหรือ เจอข้อผิดพลาดอะไรขึ้นมาอย่างไม่คาดฝัน หรือ เวลาเพื่อนร่วมงานทำงานผิดพลาด คำพูดนี้จะเป็นเครื่องปลอบใจและให้กำลังใจได้เป็นอย่างดี คำว่า "ไม่เป็นไร" เป็นคำที่ทำให้จิตใจปล่อยวางจากปัญหา ไม่ถูกบีบคั้นจากปัญหา คำว่า "เอาใหม่" เป็น คำพูดที่ปลุกคุณธรรมข้อ "วิริยะ" แปลว่า เพียรสู้งาน ปลุกใจให้เราคิดสู้ปัญหา ไม่ท้อถอย
ยามพบกับเหตุการณ์ร้ายที่ไม่พึงปรารถนา
โชคดีนะเนี่ย : ไม่ว่าคุณเจอะเจอกับความทุกข์กายทุกข์ใจอะไรในชีวิตประจำวัน ให้คิดเสียว่าสิ่งเลวร้ายที่เราต้องประสบทุกๆ ครั้ง มันไม่ได้ร้ายกาจจนถึงที่สุดแม้สักอย่างเดียว มันเป็นความ"โชคดี"ของเราจริงๆ ที่ไม่เจอหนักกว่านี้
ยกตัวอย่าง
เดินหัวชนเสาหัวปูด อุทานว่า "อูย ! ..โชคดีนะเรา หัวยังไม่แตก"
โดนตัดเงินเดือน พูดกับตัวเองว่า "เขาไม่ไล่เราออก ก็บุญแล้ว ถือว่ายังโชคดีนะเนี่ย"
ทำกาแฟร้อนๆ หกรดขากางเกง พูดกับตัวเองว่า "เหอ..ๆ โชคดี ที่มันไม่หกรดเป้ากางเกงเรา"
ยามมีปัญหากับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
เขายังดีนะ : เวลาคุณมีปัญหากับเพื่อนมนุษย์ เช่นเพื่อนร่วมงาน คนข้างบ้าน ฯลฯ เช่น บางคนอาจจะทำงานไม่ถูกใจ บางคนอาจจะทำอะไรผิดใจคุณ หรือ บางคนอาจจะมีเจตนาไม่ดีกับคุณ ให้คิดเช่นเดียวกันว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมันก็ยัง ไม่ได้ร้ายกาจถึงที่สุดกับคุณแต่อย่างใด มันยังมีแง่ดีๆ ให้เราคิดถึงเขาอยู่เสมอ
ยกตัวอย่าง
คนข้างบ้านนินทาเรา เราก็บอกกับตัวเองว่า โอ้... นี่เขายังดีนะที่ไม่ถึงกับมาดักทำร้ายเรา
มีคนมาขโมยปากกาที่โต๊ะทำงานเราไป เราก็คิดว่า เจ้าขโมยนี่ยังดี ที่ไม่ยกเครื่องคอมพ์เราไป
สาวหักอก เราก็คิดว่า เธอยังดีนะเนี่ย ที่ไม่ควงคู่แข่งมาเย้ยเราให้เจ็บใจหนักไปกว่านี้
เพื่อนร่วมงานเอาเปรียบ เราก็คิดว่า เขาก็ยังดีที่ไม่ใส่ร้ายป้ายสีเราข้างหลัง
เทคนิคคิดเมื่อเจอปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
เอ๊ะ...! ตรงนี้เราได้อะไร : เป็นการตั้งคำถามเพื่อให้จิตตั้งแง่คิดเพื่อมุ่งหาความรู้ทันทีที่ได้พบกับปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวัน อาทิเช่น นาย ก. เดินตกท่อ ขาแข้งถลอก นาย ก. ทั้งๆ ที่เจ็บปวด กลับตั้งคำถามขึ้นมาในใจว่า เราเดินตกท่อตรงนี้ เราได้อะไร ! เท่านั้นเองคำตอบต่างๆ ก็พรั่งพรูออกมามากมาย อาทิเช่น
ก. เราได้ดูแลรักษาตัวเองอีกแล้วดีจัง ไม่ได้ดูแลตัวเองมานาน
ข. เราได้บทเรียนซาบซึ้งกับคำว่า "อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง"
(เคยเดินมาดีๆ ทุกวัน วันนี้ใครกันดันมาเปิดฝาท่อ)
ค. มันทำให้เราได้ไอเดียเกี่ยวการทาแถบสีสะท้อนแสงตรงขอบท่อ เพื่อคนจะได้สังเกตเห็นได้แต่ไกลๆ
วิธีคิดเช่นนี้จะทำให้เรารู้สึกเลยว่า ชีวิตนี้มีแต่ได้ ไม่มีเสีย คือ แม้ว่าเราจะพบกับสิ่งที่ไม่น่าพึงปรารถนาก็ตาม แต่ถ้าหากว่าเรารู้จักตั้งคำถามเช่นนี้เป็นนิสัย เราก็จะได้สิ่งที่ดีๆ มากมายจนบางครั้งเราอาจจะต้องนึกขอบคุณที่ได้เจอกับปัญหาบ่อยๆ เลยทีเดียว
ยังมีวิธีคิดมองโลกในแง่ดีอีกมากมายหลายวิธี ซึ่งเครือข่ายชาวพุทธกำลังค้นคว้าหาข้อมูลจากพระไตรปิฎก เพื่อประยุกต์เป็นวิธีคิดนำมาเสนอท่านโอกาสต่อไป อย่าลืมติดตามตอนที่ ๒ เร็วๆ นี้นะครับ สวัสดี