ในขณะที่สังคมกำลังตื่นตระหนกกับข่าวธนบัตรปลอมระบาดในหลายจังหวัด โดยเฉพาะฉบับละ 1,000 บาท ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ตัวแทนตำรวจ ตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และตัวแทนธนาคารพาณิชย์ ร่วมประชุมเพื่อหารือมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดการใช้ธนบัตรปลอม โดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. กล่าวว่า ธปท. ยืนยันว่าธนบัตรใบละ 1000 บาทที่ออกมาจากตู้เอทีเอ็มนั้นถูกต้องทุกใบ ตำรวจและธปท.จึงได้วางมาตรการร่วมกัน โดยเน้นการเผยแพร่ข้อมูลการตรวจสอบธนบัตรปลอมให้ประชาชนทราบ เพราะปกติตำรวจสามารถจับกุมธนบัตรปลอมได้ทุกปีอยู่แล้ว แต่ในปีนี้สามารถจับกุมได้จำนวนมาก จึงทำให้ดูเหมือนมีการแพร่ระบาด
ด้านนายเรืองศักดิ์ กิตติสารกุล ตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตู้เอทีเอ็มทุกธนาคารที่ได้รับธนบัตรมาต้องมีการพิสูจน์ผ่านเครื่องคัดแยกธนบัตร โดยธนบัตรที่เสียหรือปลอมจะถูกคัดออก ยืนยันว่าเครื่องมีคุณภาพสูงไม่เคยขัดข้อง จากนั้นจะมีกรรมการจากธนาคารต่างๆ มาตรวจสอบอีกครั้งก่อนนำไปใส่กล่องที่จะนำไปไว้ในเครื่องเอทีเอ็ม จึงมีความปลอดภัยมาก
ขณะที่ พล.ต.ต.บุญส่ง พาณิชย์อัตรา รอง ผบช.ภ.8 กล่าวถึงกรณีที่มีคนได้รับธนบัตรปลอมมาจากตู้เอทีเอ็มในจังหวัดกระบี่ว่า ธนาคารได้ตรวจสอบธนบัตรดังกล่าวแล้วพบว่าเป็นธนบัตรปลอม และทางธนาคารยืนยันว่า ถ้าเป็นธนบัตรปลอมเครื่องจะปฏิเสธทันที ตำรวจจึงได้นัดธนาคารทดสอบเครื่องว่าจะไม่รับธนบัตรดังกล่าวจริงหรือไม่ เพื่อพิจารณาคดีอีกครั้ง ส่วนผู้ที่นำมาใช้จะถูกดำเนินคดีหรือไม่ต้องอยู่ที่ผลการสอบสวน
ทางด้านนายพิชิต บุญพาล้ำเลิศ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซันนี่ทัวร์ จำกัด ผู้ประกอบการนำเที่ยวประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ รายใหญ่ในภาคใต้ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ปัญหา โดยการเรียกคืนธนบัตรฉบับละ 1,000 บาททั้งหมดในตลาด เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของธนบัตรปลอม โดยเหตุผลต้องการให้รัฐบาลเรียกคืนธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท และพิมพ์รุ่นใหม่ออกมาว่า มี 2 เหตุผล คือ ต้องการสร้างความเชื่อมั่นต่อธนบัตรไทยฉบับละ 1,000 บาท
ส่วนเหตุผลข้อที่ 2 นายพิชิต กล่าวว่า การพิมพ์ธนบัตรรุ่นใหม่รัฐบาลต้องเพิ่มองค์ประกอบให้มากขึ้นให้ยากต่อการปลอมแปลง ยกตัวอย่างธนบัตรมาเลเซียฉบับละ 50 และ 100 ริงกิต เมื่อเทียบกับธนบัตรไทยจะพบว่ามีองค์ประกอบที่ซับซ้อนกว่า แม้ว่าจะดูเหมือนเลอะเทอะไปหน่อย แต่ก็ช่วยป้องกันการปลอมได้ดี ขณะที่ธนบัตรของไทยโดยเฉพาะธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท เรียบง่ายจึงปลอมทำได้ไม่ยาก
ด้านนายนพพร ประโมจนีย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ธปท.จะปรับเปลี่ยนรูปแบบธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ใหม่ให้ยากต่อการเลียนแบบว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนรูปแบบธนบัตรใหม่แต่อย่างใด เพราะสัดส่วนการปลอมธนบัตรยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก โดยมีประมาณ 5-7 ฉบับต่อธนบัตรที่หมุนเวียน 1 ล้านใบ หรือคิดเป็นประมาณ 0.0007% ของธนบัตรหมุนเวียนเท่านั้น
นอกจากจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธนบัตรใหม่แล้ว นายนพพรกล่าวว่า ธปท. ยังไม่มีนโยบายที่จะนำธนบัตรฉบับละ 1,000 บาทรุ่นใหม่ มาใช้หมุนเวียนในระบบช่วงนี้ด้วย เพราะการจะนำธนบัตรรุ่นใหม่มาใช้จะต้องนำธนบัตรที่ใช้ในปัจจุบันออกจากตลาดให้หมดก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี และต้องแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบล่วงหน้าด้วย
ข้อมูลและภาพจาก กระปุกดอทคอม