คอลัมน์: กระแสทรรศน์ สพฐ.: อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่
ทรงวุฒิ มลิวัลย์
ศูนย์สารนิเทศการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน
จากการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ประกาศจัดตั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.)จำนวน 42 เขต แยกออกมาต่างหากจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) เดิม ซึ่งในแต่ละเขตจะมีทั้งโรงเรียนประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ผลจากการแยกตัวออกมาเป็น สพม.ทำให้ต้องสรรหาบุคคลเข้ามาเป็นคณะกรรมการบริหารบุคลากรภายใน สพม.เรียกว่าคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเขตพื้นที่การศึกษาชื่อย่อว่า อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา
ขณะนี้ได้ดำเนินการสรรหาเสร็จสิ้นแล้ว รวมทั้ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร (สพป.กทม.) และได้จัดประชุมสัมมนาเพื่อให้รู้บทบาทหน้าที่ของตัวเองว่าคณะอนุกรรมการชุดนี้มีกรอบภารกิจอย่างไร จะได้ไม่ออกนอกลู่นอกทางไป เมื่อวันที่ 30-31 มีนาคม2554 ณ กรุงเทพมหานคร
อำนาจและหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา มีอยู่ 10 ประการคือ
1.พิจารณากำหนดนโยบายการบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพื้นที่ฯ รวมทั้งการกำหนดจำนวนและอัตราตำแหน่ง การเกลี่ยอัตรกำลังให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารงานบุคคล ระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด
2.พิจารณาให้ความเห็นชอบการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพื้นที่ฯ เริ่มตั้งแต่ดำเนินการสอบแข่งขันข้าราชการครู การบรรจุ แต่งตั้ง การย้าย การโอน
3.ให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการพิจารณาความดีความชอบของผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาในหน่วยงานการศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพื้นที่ฯ
4.พิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการการอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547
5.ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนา การเสริมสร้างขวัญกำลัง การปกป้องคุ้มครองระบบคุณธรรม การจัดสวัสดิการ และการยกย่องเชิดชูเกียรติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในหน่วยงานการศึกษาในเขตพื้นที่ฯ
6.กำกับ ดูแล ติดตามและประเมินผลการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในหน่วยงานการศึกษาในเขตพื้นที่ฯ
7.จัดทำและพัฒนาฐานข้อมูลข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในหน่วยงานการศึกษาในเขตพื้นที่ฯ
8.จัดทำรายงานประจำปีที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในหน่วยงานการศึกษาเพื่อเสนอก.ค.ศ.
9.พิจารณาให้ความเห็นชอบเรื่องการบริหารงานบุคคลในเขตพื้นที่ฯ ที่ไม่อยู่ในอำนาจ และหน้าที่ของผู้บริหารของหน่วยงานการศึกษา
10.ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.นี้ กฎหมายอื่น หรือตามที่ ก.ค.ศ.มอบหมาย
อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ คือ กำลังหลักที่เสมือนพระเอกในการสร้างขวัญกำลังใจให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษานั้นๆ
ขอบคุณที่มา มติชน ฉบับวันที่ 3 เม.ย. 2554 (กรอบบ่าย)