ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมเรื่องราวจากสมาชิก  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

สถานภาพองค์ความรู้ของแนวคิดเครือข่ายทางสังคม (State of Knowledge of Social Network Concept)


เรื่องราวจากสมาชิก เปิดอ่าน : 7,218 ครั้ง
Advertisement

สถานภาพองค์ความรู้ของแนวคิดเครือข่ายทางสังคม (State of Knowledge of Social Network Concept)

Advertisement

❝ แนวคิดเครือข่ายทางสังคม (Social Network Concept) มีพัฒนาการมาจากพื้นฐานของทฤษฎีการแลกเปลี่ยน (Exchange Theory) โดยมีนักคิดคนสำคัญ คือ Richard Emerson ซึ่งต่อยอดความคิดมาจาก George C. Homans โดยมีฐานคติ (Assumption) คือ ในเครือข่ายสังคม จะประกอบไปด้วยบุคคลหรือตัวแสดง (Actor) ที่มีความสัมพันธ์ (Relation) ซึ่งกันและกันตามบทบาทหรือหน้าที่ที่แต่ละคนหรือคู่ความสัมพันธ์มีอยู่ ซึ่งแต่ละคนนั้นมิได้มีเพียงบทบาทเดียว หากแต่มีหลายบทบาทที่จะต้องสวมในชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในเครือข่ายสังคม บางครั้งอาจเป็นไปตามทฤษฎีของการแลกเปลี่ยน เพราะบุคคลไม่เพียงแต่ทำตามบทบาทหน้าที่ที่คาดหวังในสังคม หรือตามบรรทัดฐานที่ได้รับการถ่ายทอดมาเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลยังขึ้นอยู่บนพื้นฐานของการรับรู้และการตัดสินใจในการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันระหว่างคู่ความสัมพันธ์ ทั้งในด้านวัตถุและทางด้านจิตใจ ในปัจจุบันสถานภาพองค์ความรู้ของแนวคิดนี้ได้ถูกใช้ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการวิเคราะห์เครือข่ายทางสังคม (Social Network Analysis) การสร้างตัวตนของเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเชิงบูรณาการ (Integrated Exchange Forming) รวมไปถึงการศึกษาอำนาจและการพึ่งพา (Power and Dependence) ภายในเครือข่าย ❞

บทนำ (Introduction)

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าในสาขาวิชาสังคมวิทยา (Sociology) มีแนวคิดและทฤษฎีจำนวนมากที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการศึกษาและวิเคราะห์สังคม บางทฤษฎีเติบโตและพัฒนามาเป็นทฤษฎีกระแสหลัก (Main Stream Theory) ที่เป็นกรอบคิดอันทรงอิทธิพลอย่างยาวนานหลายทศวรรษ อันได้แก่ ทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ (Structural Functional Theory) บางทฤษฎีก่อตัวจากแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับทฤษฎีอื่น เช่น ทฤษฎีความขัดแย้ง (Conflict Theory) บางทฤษฎีเกิดจากความพยายามในการเติมเต็มช่องว่างของทฤษฎีอื่น เช่น ทฤษฎีการแลกเปลี่ยน (Exchange Theory) และทฤษฎีปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Interaction Theory) บางทฤษฎีเติบโตจากการวิพากษ์ (Critique) ทฤษฎีกระแสหลัก ทำให้เกิดเป็นทฤษฎีทางเลือก (Alternative Theory) เช่น ทฤษฎีปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) และกลุ่มทฤษฎีวิพากษ์ (Critical Theories) เป็นต้นว่า แนวคิดอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (Culture Industry) ของสำนักแฟรงค์เฟิร์ต (Frankfurt School) แนวคิดหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) โดยการนำของ Roland Barthes ปรัชญาการรื้อสร้าง (Deconstruction) ของ Jacques Derrida ตลอดจนแนวคิดของกลุ่มปัญญาชนแนวหลังทันสมัย (Postmodern) ที่ปฏิเสธการครอบงำของแนวคิดหลัก เช่น การปฏิเสธแนวคิดแบบทวิลักษณ์ (Anti-Dualism) ของ Michel Foucault หรือการเรียกร้องให้ใช้วาทกรรมเล็ก (Little Narrative) เป็นยุทธวิธีตอบโต้วาทกรรมหลัก (Grand Narrative) ที่ครอบงำสังคม ของ Jean Francois Lyotard และการวิพากษ์สื่อในฐานะผู้สร้าง ภาพเสมือนจริง (Simulacra) ที่เหมือนจริงมาก (Hyper Reality) ของ Jean Baudrillard หรือแม้แต่การสร้างตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างโครงสร้าง (Structure) กับผู้กระทำการ (Agency) โดยแนวคิด Structuration Theory ของ Anthony Giddens ขณะเดียวกันก็มีนักทฤษฎีที่ตอบโต้แนวคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) ว่าเราสามารถสร้างทฤษฎีสากลเกี่ยวกับโลกทางสังคมได้ ช่วยให้เราสามารถกำหนดรูปแบบของโลกได้มากและดียิ่งขึ้น เช่น Jurgen Habermas ที่นำเสนอแนวคิดประชาธิปไตยและพื้นที่สาธารณะ  (Democracy and the Public Sphere), Ulrich Back ที่เสนอแนวคิดสังคมแห่งความเสี่ยง (Risk Society), Manuel Castell กับแนวคิดเศรษฐกิจเครือข่าย (Network Economy) รวมไปถึง Anthony Giddens กับแนวคิดการใคร่ครวญ/สะท้อนคิดทางสังคม (Social Reflexivity) เพื่อนำไปใช้ในวิถีชีวิตของพวกเรา

สาเหตุที่ทฤษฎีทางสังคมวิทยาที่มีความหลากหลายดังกล่าว อาจเป็นผลมาจากความแตกต่างกันของฐานคติ (Assumption) และบริบท (Context) แวดล้อมของการก่อกำเนิดแนวคิดทฤษฎีนั้นๆ รวมไปถึงการเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และเปลี่ยนแปลงของบรรดาทฤษฎี ล้วนแต่เกิดจากวิวัฒนาการทางความคิดที่แสดงบทบาทออกมาในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถกเถียง (Argument) และแสดงข้อโต้แย้ง (Debate) ในจุดยืนของตนต่อทฤษฎีอื่น รวมถึงความพยายามในการเติมเต็ม (Fill-Full) ช่องว่างหรืออุดจุดอ่อนของทฤษฎีอื่นๆ ซึ่งบางคนอาจมองว่าเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายในแวดวงสังคมวิทยา แต่ผู้เขียนกลับหาคิดเช่นนั้นไม่ เพราะผู้เขียนคิดว่าการถกเถียง หรือโต้แย้งต่างๆ บนพื้นฐานของหลักเหตุผล และการล้มล้างความคิดเก่าด้วยความคิดใหม่ที่ดีกว่า ย่อมเป็นหนทางสร้างสรรค์สังคมให้เจริญงอกงามมากยิ่งขึ้น ดังเช่นตัวอย่างของการก่อร่างสร้างตัวตนของแนวคิดทางสังคมวิทยาหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ช่วยเติมเต็มแนวคิดและทฤษฎีเดิมให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น นั่นคือ แนวคิดเครือข่ายทางสังคม (Social Network)
 

บทความนี้ เป็นการนำเสนอสถานภาพองค์ความรู้ (State of Knowledge) ของแนวคิดเครือข่ายทางสังคม โดยแบ่งการนำเสนอเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย พัฒนาการของแนวคิด สาระสังเขปว่าด้วยแนวคิดเครือข่ายทางสังคม ประโยชน์การใช้งาน และตัวอย่างการประยุกต์ใช้แนวคิดในการศึกษาวิจัย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1. พัฒนาการของแนวคิด (Concept Developing)

รากฐานของแนวคิด (Concept Root)

กล่าวได้ว่ารากฐานของแนวคิดเครือข่ายทางสังคม มีที่มามาจากทฤษฎีการแลกเปลี่ยน (Exchange Theory) อันถือเป็นทฤษฏีมหภาค (Macro Theory) และเก่าแก่ทฤษฎีหนึ่งของสังคมวิทยา ซึ่งนำไปใช้ได้ในการศึกษาความสัมพันธ์ทางสังคมตั้งแต่ระดับจุลภาค/ปัจเจกบุคคล (Micro Level - Individual) ไปจนถึงระดับมหภาค/สังคม (Macro Level - Society) โดยมีแหล่งกำเนิดของทฤษฎีจาก 3 แหล่ง คือ เศรษฐศาสตร์เชิงอรรถประโยชน์นิยม (Utilitarian Economics) มานุษยวิทยาเชิงหน้าที่ (Functional Anthropology) และจิตวิทยาเชิงพฤติกรรม (Behavioral Psychology) (สัญญา   สัญญาวิวัฒน์, 2550 : 115-116) ซึ่งในที่นี้ขอนำเสนอหลักการของทฤษฎีการแลกเลี่ยน โดยสังเขป ดังนี้

ทฤษฎีการแลกเปลี่ยน (Exchange Theory) หรืออาจเรียกในเชิงการศึกษานโยบาย (Policy Approach) ว่าทฤษฎีทางเลือกที่มีเหตุผล (Rational Choice Theory) ประกอบขึ้นด้วยความพยายามที่จะประยุกต์หลักการตามแนวพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) ในการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมวิทยา (สุเทพ   สุนทรเภสัช, 2540 : 250) โดยมีฐานคติ (Assumption) ที่ว่าการกระทำระหว่างกันของบุคคลจะกระทำโดยอาศัยการโต้ตอบ ซึ่งพิจารณาจากรางวัล (Reward) กับการลงโทษ (Punishment) หรือความพอใจ (Satisfactory) กับความไม่พอใจ (Unsatisfactory) ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนการกระทำระหว่างกัน ตลอดจนการพิจารณาจากการที่ได้รับความพึงพอใจสูงสุด (กำไร) เมื่อได้ลงมือกระทำไปแล้ว (ลงทุน) และคิดว่าการกระทำหรือการตอบแทนจากผู้อื่น ทำให้ผู้กระทำมีความพอใจเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ในมุมมองของทฤษฎีการแลกเปลี่ยน ระเบียบสังคม (Social Order) ถือเป็นผลลัพธ์ที่ไม่ได้วางแผน (Unplanned Output) ของการแลกเปลี่ยนระหว่างสมาชิกของสังคม (Exchange theories view social order as the unplanned outcome of acts of exchange between members of society) (ค้นจาก http://www.encyclopedia.com/doc/1O88-exchangetheory.html เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2551)

สัญญา   สัญญาวิวัฒน์ (2550 : 128) ได้แบ่งประเภทของทฤษฎีแลกเปลี่ยนเป็น 2 ประเภท คือ (1) ทฤษฎีการแลกเปลี่ยนระดับบุคคล (Individualistic Exchange Theory) หรือทฤษฎีการแลกเปลี่ยนเชิงพฤติกรรม (Behavioral Exchange Theory) ซึ่งพัฒนามาจากทฤษฎีจิตวิทยาเชิงพฤติกรรม (Behavioral Psychology) และ (2) ทฤษฎีการแลกเปลี่ยนเชิงบูรณาการ (Integration Exchange Theory) หรือทฤษฎีการแลกเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง (Exchange Structuralism Theory) ซึ่งพัฒนาจากทฤษฎีมานุษยวิทยาเชิงหน้าที่ (Functional Anthropology) ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป

ทฤษฎีการแลกเปลี่ยนระดับบุคคลของ Homans (Individualistic Exchange Theory of George C. Homans)
 
George C. Homans (1967 อ้างถึงใน George Ritzer, 1992 : 291-294) ถือเป็นปฐมคิดของทฤษฎีการแลกเปลี่ยน เขาได้รับอิทธิพลทางความคิดจากทฤษฎีจิตวิทยาเชิงพฤติกรรม (Behavioral Psychology) ของ B.F. Skinner โดยเขาได้เสนอแนวคิดสำคัญ คือ กระบวนการของการเสริมแรง (Process of Reinforcement) ในการอธิบายปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ โดยเสนอว่าพฤติกรรมของมนุษย์เป็นเรื่องของการมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ระหว่างกัน การที่บุคคลคนหนึ่งจะแสดงพฤติกรรมอย่างใด ย่อมมีเหตุผลมาจากรางวัล (Reward) หรือ การลงโทษ (Punish) ซึ่งเป็นการเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement) และทางลบ (Negative Reinforcement) ตามลำดับ สิ่งที่ Homans ใช้เป็นตัวชี้วัดเพื่อสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว คือ ปริมาณของการกระทำ (Quantity of Activity) และระดับของคุณค่าของการกระทำ (Value of Activity) การที่บุคคลจะเลือกกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในเชิงปริมาณ Homans ใช้หลักเศรษฐศาสตร์ (Principle of Economics) อธิบายว่ามนุษย์จะเลือกหนทางที่ให้ผลกำไร (Benefit) สูงสุด ในขณะที่ระดับคุณค่านั้น Homans ใช้หลักอุปสงค์-อุปทาน (Principle of Demand and Supply) มาเชื่อมโยงกับแนวคิดทางจิตวิทยาพฤติกรรม คือ ความพอเพียง (Satisfaction) และความขาดแคลน (Deprivation)

ในผลงานชื่อ Social Behaviors : Its Elementary Forms (1964) Homans ได้นำเสนอประพจน์ระดับสูง (Higher Proposition) เพื่อเป็นข้อเสนอของทฤษฎีการแลกเปลี่ยน ซึ่งอาศัยความคิดพื้นฐานทางจิตวิทยาเชิงพฤติกรรม (Behavioral Psychology) ของ B.F. Skinner จำนวน 5 ข้อเสนอ ประกอบด้วย (1) ข้อเสนอด้านความสำเร็จ (Success Proposition)  (2) ข้อเสนอด้านตัวกระตุ้น (Stimulus Proposition)  (3) ข้อเสนอด้านคุณค่า (Value Proposition)  (4) ข้อเสนอด้านการสูญเสียความพึงพอใจ (Deprivation-Satiation Proposition)   และ (5) ข้อเสนอด้านการก้าวร้าว-ยอมรับ (Aggression-Approval Proposition)  (ค้นจากhttp://www.sociosite.net/topics/ texts/homans.php เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2551) ซึ่งจากข้อเสนอดังกล่าว ยิ่งสะท้อนให้เห็นได้ว่า Homans นั้นเน้นที่พฤติกรรมการกระทำของปัจเจกในฐานะคู่แลกเปลี่ยน (Exchange Dyadic)

อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์พอสมควรจาก Talcott Parsons ว่า ขาดความชัดเจนในเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์กับสัตว์ชั้นต่ำ ที่นำมาทำการทดลองเพื่อศึกษาพฤติกรรม รวมถึงโต้แย้งว่าหลักการทางจิตวิทยาไม่สามารถอธิบายข้อเท็จจริงทางสังคมได้ (George Ritzer, 1992 : 298) รวมถึงข้อวิจารณ์ของ Peter P. Ekeh ในประเด็นของความคับแคบของทฤษฎีของ Homans ที่มองเพียงการแลกเปลี่ยนระดับบุคลเพียงสองคน (Dyadic Exchange) แต่กลับละเลยไม่ให้ความสำคัญต่อปทัสถาน (Norms) และค่านิยม (Values) ในการหล่อหลอมเชิงสัญลักษณ์ให้เกิดความสัมพันธ์ทางด้านการแลกเปลี่ยนต่างๆ (Peter P. Ekeh, 1974 อ้างถึงใน   สุเทพ   สุนทรเภสัช, 2540 : 266) นอกจากนี้ Ronald W. Toseland และ Robert F. Rivas ยังมองว่าทฤษฎีนี้มีความเป็นกลไก (Mechanic) มากจนเกินไป เพราะสันนิษฐานว่าคนเราจะใช้เหตุผลในการวิเคราะห์รางวัลที่จะได้มา และสิ่งที่จะเสียไปหรือถูกลงโทษ ก่อนจะทำการใดใดเสมอ ซึ่งอันที่จริงแล้วกระบวนการคิดจะมีอิทธิพลในการกำหนดพฤติกรรมของคนเรามากกว่า (Toseland and Rivas, 2001 : 66-67 อ้างถึงใน จิราลักษณ์   จงสถิตมั่น, 2549 : 111) จากข้อด้อยทางทฤษฎีดังกล่าว จึงมีนักคิดที่นำแนวคิดของ Homans มาพัฒนาสู่การวิเคราะห์โครงสร้างที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น โครงสร้างของกลุ่ม หรือสังคม ในรูปแบบของการบูรณาการ (Integration) ซึ่งนำโดยนักคิดคนสำคัญอย่าง Peter M. Blau 
 

จุดเปลี่ยนและข้อโต้แย้ง : ทฤษฎีแลกเปลี่ยนเชิงบูรณาการ (Turning Point & Debate : Integration Exchange Theory) 
 

Peter M. Blau (1964 อ้างถึงใน George Ritzer, 1992 : 299-300) เป็นนักทฤษฎีแลกเปลี่ยนอีกคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญต่อการอธิบายพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลในแง่มุมของสังคม ในเชิงปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด (Face to Face Interaction) แต่เขาได้พัฒนาต่อยอดทฤษฎีของ Homans โดยขยายขอบเขตให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยการผสมผสานทฤษฎีพฤติกรรมทางสังคม (Social Behavioral Theory) เข้ากับทฤษฎีข้อเท็จจริงทางสังคม (Social Fact Theory) เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างสังคมบนพื้นฐานของการวิเคราะห์กระบวนการทางสังคม (Social Process Analysis) ที่ควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลและกลุ่มต่างๆ

จุดสนใจของ Blau อยู่ที่กระบวนการแลกเปลี่ยน (Process of Exchange) ซึ่งเป็นสิ่งชี้นำพฤติกรรมของมนุษย์และเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ต่างๆ ระหว่างปัจเจกบุคคลและกลุ่มต่างๆ Blau ได้เสนอ 4 ขั้นตอน จากการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลไปสู่โครงสร้างสังคมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ได้แก่ (George Ritzer, 1992 : 300)
ขั้นที่ 1 การแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลก่อให้เกิด...
ขั้นที่ 2 ความแตกต่างระหว่างสถานภาพและอำนาจซึ่งก่อให้เกิด...
ขั้นที่ 3 ความชอบธรรมและองค์กรซึ่งเป็นการหว่านเมล็ดพืชของ...
ขั้นที่ 4 ความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าการแลกเปลี่ยนทางสังคมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความสมัครใจของปัจเจกบุคคลที่ถูกจูงใจ (Motivation) ด้วยผลกำไรหรือรางวัลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจากผู้อื่น ซึ่งต้องอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างกัน การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์จึงเป็นกลไกหนึ่งการสร้างความสัมพันธ์ เป็นการพึ่งพาอาศัยก่อให้เกิดความผูกพันที่ดีต่อกัน
เมื่อได้ขยายขอบเขตของทฤษฎีจากพื้นฐานทางพฤติกรรมไปสู่โครงสร้างที่มีความซับซ้อน ดังได้กล่าวมาในข้างต้นแล้ว Blau ได้ชี้ให้เห็นว่าทฤษฎีพฤติกรรมทางสังคมไม่สามารถวิเคราะห์สังคมที่มีความซับซ้อนได้ แต่ต้องผสมผสานข้อเท็จจริงทางสังคมเข้าไปร่วมด้วย โดยกลไกที่เป็นตัวเชื่อมประสาน (Link) ระหว่างโครงสร้าง คือ ปทัสถาน  (Norms) และค่านิยม  (Values) ที่มีอยู่ในสังคมนั่นเอง (สุเทพ   สุนทรเภสัช, 2540 : 270)

ในประเด็นของปทัสถาน (Norms) Blau ชี้ให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ทำให้การแลกเปลี่ยนทางอ้อม (Indirect Exchange) เข้าไปแทนที่การแลกเปลี่ยนโดยตรง (Direct Exchange) เช่น การที่สมาชิกของกลุ่มคนหนึ่ง (ปัจเจกบุคคล) ได้ปฏิบัติตนตามปทัสถานของกลุ่ม (สังคม) จึงได้รับการยอมรับจากกลุ่มส่วนรวมในพฤติกรรมนั้น นับเป็นการขยายขอบเขตจากการแลกเปลี่ยนระดับบุคลไปสู่ระดับกลุ่มหรือสังคมโดยมีปทัสถานเป็นกลไกสำคัญ ขณะเดียวกันการแสดงพฤติกรรมตามปทัสถานของสังคมดังกล่าวยังเป็นการรักษาเสถียรภาพของสังคมนั่นเอง

ในประเด็นของค่านิยม (Values) Blau ได้ขยายขอบเขตความคิดสู่ระดับสังคมที่กว้างขวางเป็นอย่างมาก โดยนำไปสู่การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการรวมกลุ่มต่างๆ ในทรรศนะของเขาแล้ว ค่านิยม สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ (1) ค่านิยมเฉพาะ (Particular Values)   (2) ค่านิยมสากล (Universal Values)  (3) ค่านิยมที่สร้างความชอบธรรมแก่ผู้มีอำนาจ (Values of Legitimate Authority)  และ (4) ค่านิยมการเป็นฝ่ายตรงข้าม (Particular Values)  (George Ritzer, 1992 : 303-304)

จากการขยายขอบเขตของทฤษฎีจากพื้นฐานการแลกเปลี่ยนเชิงพฤติกรรมตามแนวคิดของ Homans ไปสู่การทำความเข้าใจโครงสร้างที่มีความซับซ้อนของ Blau ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นความพยายามในการปรับเปลี่ยนรูปร่างของทฤษฎีเพื่อให้สอดคล้องกับการศึกษาด้านข้อเท็จจริงทางสังคม (Social Fact) ที่จำเป็นต้องได้รับการเสริมแรง (Reinforcement) ด้วยทฤษฎีระดับมหภาค (Macro Theory) และผู้ที่ก้าวเข้ามาทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงพฤติกรรมของปัจเจกบุคคล (จุลภาค) กับโครงสร้างสังคม (มหภาค) ในรูปแบบของการบูรณาการในระดับที่สูงขึ้น และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาทฤษฎีนี้ให้มีนัยเชิงโครงสร้างมากยิ่งขึ้น นั่นคือ Richard Emerson
 

การเคลื่อนสู่ความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยนและเครือข่าย (Moved to Exchange Relationships and Networks)
 

 ในขณะที่ George C. Homans พยายามพัฒนาความคิดเกี่ยวกับทฤษฎีการแลกเปลี่ยนในระดับจุลภาค (Micro Level Exchange Theory) ส่วน Peter M. Blau ได้ขยายขอบเขตความคิดสู่ระดับมหภาค (Macro Level) ที่ซับซ้อนและหลากหลาย (Complex and Variety) พร้อมทั้ง ผสมผสานข้อเท็จจริงทางสังคมเข้าไปด้วย Richard Emerson กลับมองหาหนทางที่จะสร้างทฤษฎีการแลกเปลี่ยนในลักษณะการบูรณาการที่มากขึ้น โดยเขาได้ใช้แนวคิดเรื่องอำนาจ (Power) การใช้อำนาจ และความสมดุลเชิงอำนาจมาขยายขอบเขตของทฤษฎีการแลกเปลี่ยนให้มีนัยเชิงโครงสร้าง 
 

ในปี 1972 Emerson ได้ตีพิมพ์เรียงความ (Essay) สำคัญ 2 เรื่อง ซึ่งมีอิทธิพลต่อพัฒนาการของทฤษฎีการแลกเปลี่ยน โดยพัฒนาทฤษฎีในรูปแบบบูรณาการ ในเรียงความเรื่องแรก เขาได้ให้ความสำคัญกับพื้นฐานทางจิตวิทยาสำหรับการแลกเปลี่ยนทางสังคม (Social Exchange) ในผู้แสดงเดี่ยว (Single Actor) แต่ละคน รวมถึงความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยนกับสภาพแวดล้อมของเขาด้วย ส่วนในเรียงความเรื่องที่สอง เขาได้ขยับความสนใจมาสู่การวิเคราะห์ระดับมหภาค (Macro Level) และความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยนในโครงสร้างเครือข่าย (Network Structure) ในผลงานดังกล่าว Emerson ได้เสนอสามปัจจัยพื้นฐานในงานของเขา ประกอบด้วย อำนาจและการพึ่งพา (Power and Dependence) พฤติกรรมนิยม (Behaviorism) และความสัมพันธ์ทางสังคม (Social Relation) ซึ่งเขาถือว่าปัจจัยตัวสุดท้ายนี้ เป็นหน่วยการวิเคราะห์ (Social Relations as Units of Analysis) สำหรับงานของเขา (Emerson, 1976 : 345 ค้นจาก http://www.annualreviews.org/aronline เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2551)
 

สำหรับบรรดาตัวแสดง (Actors) ในทฤษฎีการแลกเปลี่ยนระดับมหภาค (Macro Level Exchange Theory) ของ Emerson อาจเป็นได้ทั้งปัจเจกบุคคล (Individuals) หรือหมู่คณะ (Collectivities) ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนามาสู่ความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยนและเครือข่าย (Exchange Relationships and Networks) ซึ่งปัจเจกบุคคลหรือหมู่คณะจะมีปฏิสัมพันธ์กันในลักษณะของการแลกเปลี่ยนกันภายในเครือข่ายของตนเอง โดย Emerson เสนอว่าในเครือข่ายการแลกเปลี่ยนใดใด จะประกอบไปด้วย (1) โครงข่ายของความสัมพันธ์ทางสังคม (Web of Social Relation) (2) ตัวแสดงที่หลากหลาย (Various Actors) ซึ่งมีโอกาสในการแลกเปลี่ยน (Exchange Opportunities) รวมถึงมีความสัมพันธ์ในการแลกเปลี่ยน (Exchange Relations) ซึ่งกันและกัน และ (3) การแลกเปลี่ยนระดับบุคคลจะเป็นการสร้างโครงสร้างเครือข่ายเดี่ยว (Single Network Structure) (George Ritzer, 2003 : 180)
 

ในประเด็นของการใช้อำนาจ และความสมดุลเชิงอำนาจ Emerson ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบพึ่งพา (Power-Dependency Relations) ที่สะท้อนจากแบบแผนการพึ่งพาอาศัยระหว่างผู้คน อันเป็นพื้นฐานในการก่อกำเนิดโครงสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับการผสมผสาน การรวมหมู่ผู้คน หรือการจำแนกแยกแยะผู้คนเป็นกลุ่มหรือประเภท ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์เชิงพึ่งพาอาศัยระหว่างกันของคนในกลุ่มจะช่วยบ่มเพาะให้สมาชิกของกลุ่มมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ดังกล่าวให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้อำนาจของสมาชิกในกลุ่มไม่เท่าเทียมกัน โดยหากฝ่ายหนึ่งพึ่งพาอีกฝ่ายหนึ่งมากจนเกินไป (Over Dependency) อำนาจก็จะไม่สมดุล (Unbalance Power) และฝ่ายที่เป็นที่พึ่งก็จะได้เปรียบเชิงอำนาจต่ออีกฝ่ายหนึ่ง แต่ถ้าหากต่างคนต่างพึ่งพาอาศัยกันอย่างทัดเทียมกันแล้ว อำนาจนั้นก็จะสมดุล ในทรรศนะของ Emerson อำนาจเป็นศักยภาพในเชิงโครงสร้างที่มาจากความสัมพันธ์ที่พึ่งพาระหว่างผู้กระทำด้วยกัน ส่วนการใช้อำนาจ หมายถึง พฤติกรรมที่ใช้อำนาจดังกล่าว ในขณะที่โครงสร้างอำนาจก็จะเป็นสิ่งที่กำหนดแบบแผนและลักษณะของการแลกเปลี่ยน (Exchange Patterns and Characteristics) ระหว่างผู้กระทำการ (Agency) ที่มีอำนาจไม่เท่าเทียมกัน รวมทั้งมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบไม่เสมอภาค (Unbalance Power Relations) ซึ่งในที่สุดแล้วความไม่เท่าเทียมเสมอภาคดังกล่าว มักจะนำไปสู่กระบวนการที่ทำให้อำนาจมีความสมดุลมากขึ้นจากเดิม (จิราลักษณ์   จงสถิตมั่น, 2549 : 111-112)
 

กล่าวได้ว่า คุณูปการของ Emerson คือ การเชื่อมโยง (Link) จุลภาคกับมหภาค จากแนวคิดทฤษฎีการแลกเปลี่ยน ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงทฤษฎีเครือข่าย (Network Theory) ดังที่ Karen Cook สาวกคนสำคัญของ Emerson ได้กล่าวไว้ว่าประเด็นสำคัญในผลงานของ Emerson คือ โครงสร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยน (Exchange Network Structure) นั่นคือศูนย์กลางการเชื่อมโยงจุลภาคกับมหภาค ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงให้ปัจเจกบุคคลให้กลายเป็นกลุ่มและพัฒนาสู่การเป็นหมู่คณะที่ใหญ่ขึ้น เช่น องค์การ หรือ พรรคการเมือง (Cook, ม.ป.ป. อ้างถึงใน George Ritzer, 2003 : 179) ผลงานของ Emerson ดังกล่าวมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้วงการสังคมวิทยาในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นของแนวคิด “เครือข่ายทางสังคม” (Social Network)

2. สาระสังเขปว่าด้วยแนวคิดเครือข่ายทางสังคม (Brief of Social Network Concept)
 

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าแนวคิดเครือข่ายทางสังคม (Social Network) เป็นหนึ่งในแนวคิดของศาสตร์ยุคใหม่ ซึ่งได้รับการพัฒนาจากนักคิดทางสังคมวิทยา เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการใช้เป็นแว่นขยายในการศึกษาสังคม ในที่นี้ผู้เขียนขอสรุปสาระสำคัญของแนวคิดดังกล่าว ดังนี้ 
 

ฐานคติ (Assumption)
 

ในเครือข่ายสังคม จะประกอบไปด้วยบุคคลหรือตัวแสดง (Actor) ที่มีความสัมพันธ์ (Relation) ซึ่งกันและกันตามบทบาทหรือหน้าที่ที่แต่ละคนหรือคู่ความสัมพันธ์มีอยู่ ซึ่งแต่ละคนนั้นมิได้มีเพียงบทบาทเดียว หากแต่มีหลายบทบาทที่จะต้องสวมในชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในเครือข่ายสังคม บางครั้งอาจเป็นไปตามทฤษฎีของการแลกเปลี่ยน เพราะบุคคลไม่เพียงแต่ทำตามบทบาทหน้าที่ที่คาดหวังในสังคม หรือตามบรรทัดฐานที่ได้รับการถ่ายทอดมาเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลยังขึ้นอยู่บนพื้นฐานของการรับรู้และการตัดสินใจในการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันระหว่างคู่ความสัมพันธ์ ทั้งในด้านวัตถุและทางด้านจิตใจ
 

ความหมายของเครือข่ายทางสังคม (Social Network Meaning)

มีผู้ให้นิยามของคำว่า เครือข่ายทางสังคม ไว้หลายความหมาย โดยผู้เขียนขอนำเสนอโดยสังเขป ดังนี้

ใน Encyclopedia of Sociology (Volume 4 : S-Z Index) (1992 : 1887) ให้นิยามของ เครือข่ายทางสังคม (Social Network) ว่าหมายถึง ปรากฏการณ์ทางสังคมในรูปแบบหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงรูปแบบการจัดเรียงความสัมพันธ์ (Patterned Arrays of Relationship) ระหว่างปัจเจกชน (Individual) ที่ร่วมกระทำการในสังคม

ขณะที่ใน The SAGE Dictionary of Sociology (2006 : 239) ให้นิยามว่า เครือข่ายทางสังคม คือ รูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคม (Pattern of Social Relationship) ของปัจเจกชน (Individual) ซึ่งนักสังคมวิทยาถือว่าเป็นหน่วยวิเคราะห์ (Unit of Analysis) ในการศึกษา และใช้วิธีศึกษาโดยการสังเกต (Observation) ก่อนจะเขียนออกมาเป็นแผนที่ปฏิสัมพันธ์ (Interaction Mapping)

พระมหาสุทิตย์   อาภากโร (2547 : 6) ให้นิยามของ เครือข่ายทางสังคม ว่าหมายถึง ความสัมพันธ์ในสังคมมนุษย์ ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ปัจเจกบุคคลกับกลุ่ม กลุ่มกับกลุ่ม และกลุ่มกับเครือข่าย โดยเป็นการอธิบายถึงพฤติกรรมและความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ เช่น กิจกรรม การสื่อสาร ความร่วมมือ การพึ่งพาอาศัย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่มีโครงสร้างและรูปแบบที่หลากหลาย

ขณะที่ Alter และ Hage (1993 อ้างถึงในนฤมล   นิราทร, 2543 : 6) กล่าวว่า เครือข่าย (Network) คือ รูปแบบทางสังคม ที่เปิดโอกาสให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์กร เพื่อแลกเปลี่ยน การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียว และการร่วมกันทำงาน เครือข่ายประกอบด้วยองค์กรจำนวนหนึ่งซึ่งมีอาณาเขตที่แน่นอนหรือไม่ก็ได้ และองค์กรเหล่านี้มีฐานะเท่าเทียมกัน
 ส่วน Jeremy Boissevain (1974 : 22) ให้นิยามของ เครือข่ายทางสังคม ว่าหมายถึง ความสัมพันธ์ทางสังคมของบุคคล โดยมีการติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน

จากที่กล่าวมาในข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า เครือข่ายทางสังคม (Social Network) หมายถึง รูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคม (Pattern of Social Relationship) ของปัจเจกบุคคล (Individual) กลุ่ม (Group) และองค์กร (Organization) ผ่านรูปแบบของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social Interaction) ในรูปแบบต่างๆ เช่น กิจกรรม การสื่อสาร ความร่วมมือ การพึ่งพาอาศัย การแลกเปลี่ยน การเรียนรู้ ซึ่งเป็นปฏิสัมพันธ์ที่มีโครงสร้างและรูปแบบที่หลากหลาย ตลอดจนมีเป้าหมายร่วมกัน

ประเภทของเครือข่ายทางสังคม (Type of Social Network)
ในการจำแนกประเภทของเครือข่ายทางสังคม สามารถแบ่งได้ในหลายรูปแบบ โดยมีนักวิชาการหลายคนที่ได้จำแนกประเภทของเครือข่าย ซึ่งผู้เขียนขอเสนอโดยสังเขป ดังนี้

นฤมล   นิราทร (2543 : 18-21) ได้จำแนกประเภทของเครือข่ายทางสังคม ตามมิติ 4 มิติ ดังนี้
1) จำแนกตามพื้นที่ดำเนินการ เช่น เครือข่ายระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และประเทศ
2) จำแนกตามกิจกรรมหรือประเด็นปัญหา เช่น เครือข่ายที่ทำงานด้านเด็ก สตรี สาธารณสุข เศรษฐกิจ พัฒนาชุมชน สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม
3) จำแนกตามอาชีพหรือสถานภาพทางสังคม เช่น เครือข่ายด้านแรงงาน เครือข่ายกลุ่มพระสหธรรม เครือข่ายครูพิทักษ์สิทธิเด็ก เครือข่ายสารวัตรนักเรียน
4) จำแนกตามรูปแบบโครงสร้างหรือความสัมพันธ์ ทำให้เกิดเครือข่ายใน 2 ลักษณะ คือ เครือข่ายตามแนวตั้ง คือ (1) เครือข่ายที่มีโครงสร้างเป็นช่วงชั้น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรภายในเครือข่ายไม่เท่ากัน และ (2) เครือข่ายตามแนวนอน เป็นเครือข่ายที่ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรภายในเครือข่ายเท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ Martin Kilduff และ Wenpin Tsai (2003 : 4-8) ได้แบ่งประเภทของเครือข่ายตามระดับของการศึกษาวิเคราะห์เครือข่าย (Network Analysis) โดย แบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ (1) เครือข่ายระดับปัจเจกบุคคล (Individual Level Network) (2) เครือข่ายระดับหน่วยธุรกิจ (Business Unit Level Network) (3) เครือข่ายระดับองค์กร (Organization Level Network) และ (4) เครือข่ายระดับอื่นๆ (Other Level Network) หรือระดับระหว่างองค์กร

อย่างไรก็ตาม แม้มิติของการจำแนกประเภทของเครือข่ายทางสังคมดังกล่าว จะค่อนข้างชัดเจน สามารถจำแนกประเภทได้ แต่หากพิจารณาอย่างละเอียดแล้วจะพบว่า บางเครือข่ายอาจมีลักษณะทับซ้อนกันอยู่ในแต่ละมิติ เช่น เครือข่ายแรงงาน มีลักษณะเป็นทั้งเครือข่ายด้านแรงงาน และเป็นเครือข่ายระดับประเทศด้วย

การสร้างเครือข่ายทางสังคม (Social Network Construct)

การสร้างเครือข่าย (Networking) หมายถึง กิจกรรมในการก่อให้เกิดกลุ่ม ซึ่งอาจเป็นกลุ่มองค์กร หรือกลุ่มบุคคล เพื่อวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยน การจัดกิจกรรม หรือการผลิตระหว่างองค์กรสมาชิก ต้องอาศัยการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันมาก่อนหน้าที่จะทำความตกลงเป็นองค์กรเครือข่าย (นฤมล   นิราทร, 2543 : 8)

สำหรับเหตุผลในการสร้างเครือข่ายทางสังคมนั้น นฤมล   นิราทร (2543 : 11-12) กล่าวว่าเป็นเพราะ (1) ต้องการมีเพื่อนในการทำงาน ต้องการมีหมู่ มีพวก (2) ต้องการทรัพยากรในการทำงาน (3) ต้องการรับภาระความเสี่ยงในกิจกรรมร่วมกัน (4) ต้องการความชำนาญเฉพาะด้านในการแก้ไขปัญหา (5) ต้องการประหยัด และ (6) ต้องการเรียนรู้ประสบการณ์ในการทำงานร่วมกัน รวมไปถึงมีปัจจัยเสริมที่เป็นเงื่อนไขสำคัญ คือ ความเต็มใจที่จะเข้าร่วมเป็นเครือข่าย

ส่วนพระมหาสุทิตย์   อาภากโร (2547 : 55-58) ให้เหตุผลว่าการสร้างเครือข่ายทางสังคมเกิดจาก (1) สถานการณ์ปัญหาและสภาพแวดล้อมที่ซ้ำซ้อน หลากหลาย และขยายตัว จนเกินความสามารถของปัจเจกบุคคล หรือกลุ่ม ที่จะดำเนินการแก้ไข (2) เครือข่ายเป็นเครื่องมือหรือยุทธศาสตร์ในการสร้างพื้นที่ทางสังคม และ (3) เพื่อให้การประสานผลประโยชน์เป็นไปอย่างเท่าเทียม
จากที่กล่าวมาในข้างต้น จะเห็นได้ว่าเหตุผลสำคัญของการสร้างเครือข่ายทางสังคม คือ การมุ่งที่จะบรรลุเป้าหมายของปัจเจกบุคคล ซึ่งไม่สามารถทำได้ด้วยตนเองโดยลำพัง แต่ต้องอาศัยการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากร อันจะส่งผลให้สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย อันเป็นการประสานผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน

องค์ประกอบของเครือข่ายทางสังคม (Social Network Components)

มีนักวิชาการหรือผู้รู้ได้กำหนดองค์ประกอบของเครือข่ายทางสังคม ไว้หลายแนวทาง ซึ่งผู้เขียนขอเสนอโดยสังเขป ดังนี้

พระมหาสุทิตย์   อาภากโร (2547 : 48-49) กล่าวว่าองค์ประกอบที่สำคัญของความเป็นเครือข่าย ประกอบด้วย (1) หน่วยชีวิตหรือสมาชิก (2) จุดมุ่งหมาย (3) การทำหน้าที่อย่างมีจิตสำนึก (4) การมีส่วนร่วมและการแลกเปลี่ยน และ (5) ระบบความสัมพันธ์และการสื่อสาร

เกรียงศักดิ์   เจริญวงศ์ศักดิ์ (2543 : 36-43) กล่าวถึงองค์ประกอบที่สำคัญของเครือข่าย ว่ามีอยู่ 7 ประการ ประกอบด้วย (1) การรับรู้มุมมองร่วมกัน (2) การมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน (3) การมีผลประโยชน์และความสนใจร่วมกัน (4) การมีส่วนร่วมของสมาชิกเครือข่ายอย่างกว้างขวาง (5) มีกระบวนการเสริมสร้างซึ่งกันและกัน (6) มีการพึ่งอิงร่วมกัน และ (7) การมีปฏิสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยน

Waner (อ้างถึงในปาริชาติ   สถาปิตานนท์ และชัยวัฒน์   ถิระพันธ์, 2546 : 9) กล่าวถึงองค์ประกอบของเครือข่าย โดยใช้ตัวอักษรย่อภาษาอังกฤษ คือ LINK ซึ่งประกอบด้วย (1) การเรียนรู้ (Learning) (2) การลงทุน (Investing) (3) การดูแล (Nursing) และ (4) การรักษา (Keeping)
สรุปได้ว่า องค์ประกอบของเครือข่ายทางสังคม ประกอบด้วย
(1) สมาชิกของเครือข่าย
(2) มีจุดมุ่งหมายร่วมกัน
(3) การปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกในเครือข่าย
(4) การสื่อสารภายในเครือข่าย
(5) การมีปฏิสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยน
 

การวิเคราะห์เครือข่ายสังคม (Social Network Analysis)
 

จากที่กล่าวมาในข้างต้นจะเห็นได้ว่า แนวความคิดในเรื่องเครือข่ายทางสังคมนั้น เน้นการดำรงอยู่ของสายใยความสัมพันธ์ทางสังคม (Social Relation Web) ระหว่างบุคคล ที่ขยายครอบคลุมไปทั่วทั้งสังคม แต่การวิเคราะห์เครือข่ายทางสังคมนั้น ในทางสังคมวิทยาจะเน้นที่ความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างบุคคลที่อยู่ในเครือข่ายสังคมว่า จะส่งผลต่อพฤติกรรมซึ่งกันและกันอย่างไร ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยเรื่องรูปแบบและลักษณะของเครือข่ายสังคมมาอธิบายพฤติกรรมของบุคคลด้วย ในเรื่องนี้ Jeremy Boissevain ได้เสนอถึงลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมที่สามารถนำมาเป็นกรอบในการศึกษาวิเคราะห์เครือข่ายสังคมไว้ 4 ลักษณะด้วยกัน ดังนี้ (Boissevain, 1974 : 35-39)
 1. ความสัมพันธ์อันหลากหลาย ด้วยบทบาทที่มีในสังคม : ความสัมพันธ์เชิงซ้อน (Diversity of Linkage : Multiplexity) โดยลักษณะของความสัมพันธ์แบบนี้ สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีบทบาท (Role Theory) เนื่องจากในเครือข่ายทางสังคมนั้น จะประกอบไปด้วยบุคคลที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันตามบทบาทหรือหน้าที่ ที่แต่ละคนหรือคู่ความสัมพันธ์มีอยู่ โดยที่บุคคลแต่ละคนนั้นมิได้มีเพียงบทบาทเดียว หากแต่มีหลายบทบาทที่จะต้องสวมในชีวิตประจำวัน เช่น บทบาทของแม่ บทบาทลูก บทบาทอาจารย์ บทบาทนักศึกษา บทบาทของเพื่อน เป็นต้น ดังนั้น บุคคลสองคนอาจมีความสัมพันธ์กันได้ ทั้งในบทบาทเดียว (Single Role) หรือหลายบทบาทประกอบกัน (Multiple Roles) เรียกได้ว่าเป็นความสัมพันธ์เชิงเดี่ยว (Uniplex or Single-Relation) และความสัมพันธ์เชิงซ้อน (Multiplex or Multi-Relation) ตามลำดับ ซึ่งบทบาทแต่ละบทบาทจะมีปทัสถาน (Norms) และความคาดหวัง (Expectation) เป็นตัวชี้นำแนวทางพฤติกรรมที่จะปฏิบัติต่อกันและกัน
 2. ความสัมพันธ์ทางสังคมบนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยน (Transactional Contact) ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในเครือข่ายทางสังคม บางครั้งอาจเป็นไปตามทฤษฎีการแลกเปลี่ยน (Exchange Theory) ที่กล่าวมาในช่วงต้นของบทความนี้ เนื่องจากบุคคลไม่เพียงแต่ทำตามบทบาทหน้าที่ที่คาดหวัง (Expect Role/Functions) ในสังคม หรือตามปทัสถาน (Norms) ที่ได้รับการถ่ายทอดมาเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลยังขึ้นอยู่บนพื้นฐานของการรับรู้และการตัดสินใจในการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันระหว่างคู่ความสัมพันธ์ ทั้งในด้านวัตถุและทางด้านจิตใจ เช่น เงินทอง สิ่งของ หรือความช่วยเหลือที่ก่อให้เกิดบุญคุณที่ต้องมีการตอบแทนกันในภายภาคหน้า โดยที่ตัวบุคคลเป็นผู้ตัดสินใจเองในการที่จะเลือก หรือมีพฤติกรรมอย่างไร หรือแลกเปลี่ยนอะไรกับอีกบุคคลหนึ่ง เช่น ความเป็นเพื่อนระหว่าง นายดำกับนาย แดง อาจเป็นไปได้ทั้งในเรื่องของความรัก ความซื่อสัตย์ ความสนิทสนม การให้ของกำนัล การให้ยืมเงินทอง แต่ทั้งคู่ก็อาจเลือกที่จะแลกเปลี่ยนในเพียงบางสิ่งบางอย่างซึ่งกันและกันเท่านั้น ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมหรือความพอใจที่จะได้จากการแลกเปลี่ยนนั้นๆ ด้วย
 3. ความสัมพันธ์ทางสังคมในลักษณะที่เท่าเทียมกันและไม่เท่าเทียมกัน (Directional Flow) ความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างบุคคล ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานการแลกเปลี่ยนนั้น สามารถก่อให้เกิดความสัมพันธ์ในลักษณะร่วมมือกัน (Cooperative) หรือแข่งขันกัน (Competitive) ซึ่งอาจก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่สมดุล (Balance Reciprocity) และไม่สมดุลกัน (Negative Reciprocity) ขึ้น ในที่นี้หมายถึงการได้รับผลประโยชน์จากกันและกัน ทั้งในลักษณะที่เท่าเทียมกันและไม่เท่าเทียมกัน โดยฝ่ายหนึ่งอาจได้รับมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง
 4. ความถี่และระยะเวลาของความสัมพันธ์ (Frequency and Duration of Relationship) ความถี่ของความสัมพันธ์ (Frequency of Relationship) ถือเป็นปัจจัยที่นำไปสู่คุณภาพของความสัมพันธ์ในลักษณะการเกิดความสัมพันธ์เชิงซ้อน และในทำนองเดียวกันความถี่ของความสัมพันธ์ ก็เป็นผลเนื่องมาจากความสัมพันธ์เชิงซ้อน ความผูกพันและความมีอิทธิพลต่อกันและกันในด้านพฤติกรรมนั้น จึงขึ้นอยู่ที่ความถี่และความบ่อยครั้งของการพบปะสัมพันธ์กัน ประกอบขึ้นอยู่ที่ช่วงระยะเวลาของความสัมพันธ์ด้วย ยิ่งบุคคลมีความสัมพันธ์กับอีกบุคคลหนึ่งบ่อยครั้งและมีระยะเวลาของการรู้จักกันนานเพียงใด ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสองคน จะมีอิทธิพลกำหนดพฤติกรรมของกันและกันมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากว่ามีความผูกพันมาก แต่ความถี่ของความสัมพันธ์อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอที่จะทำนายอิทธิพลของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือพฤติกรรมของบุคคลได้ เช่น หากเราเดินทางไปทำงาน และพบกับพนักงานทำความสะอาดทุกวัน ก็ไม่ได้หมายความว่าพนักงานทำความสะอาดนั้นจะมีอิทธิพลในการกำหนดพฤติกรรมของเรา ในทางตรงกันข้ามแม้ว่าเราจะไม่ได้เจอน้องชายถึงสองปี แต่เราก็มีความรักให้แก่เขาและยินดีที่จะทำตามคำขอของเขา ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าระยะเวลาของการมีความสัมพันธ์กัน อาจใช้เป็นตัวชี้วัด (Indictor) ในการทำนายอิทธิพลที่จะมีต่อพฤติกรรมของบุคคลมากกว่าความถี่ของการพบปะกัน
 

นอกจากลักษณะของความสัมพันธ์ภายในเครือข่ายทางสังคมทั้งสี่ข้างต้น Boissevain ยังได้เสนอต่อไปอีกว่า สิ่งที่จะต้องคำนึงและวิเคราะห์ร่วมไปด้วย คือ ลักษณะของโครงสร้างของเครือข่ายทางสังคม ประกอบด้วย (1) ขนาดของเครือข่าย (2) ความหนาแน่นภายในเครือข่าย (3) ความเกี่ยวพันกันภายในเครือข่าย (4) ตำแหน่งของบุคคลภายในเครือข่าย และ (5) กลุ่มของความสัมพันธ์ของบุคคลในเครือข่าย
 

ทฤษฎีที่มีความสัมพันธ์กับแนวคิดเครือข่ายทางสังคม (Related Theory)
 

Martin Kilduff และ Wenpin Tsai (2003 : 36-37) ได้จำแนกกลุ่มงานวิจัยที่ใช้แนวคิดและทฤษฎีซึ่งมีความสัมพันธ์กับแนวคิดเครือข่ายทางสังคม เป็นพื้นฐานในการศึกษาวิจัย ซึ่งพบว่าสามารถจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
 1. กลุ่มงานวิจัยที่ใช้ทฤษฎีนำเข้า (Import Theories) เป็นทฤษฎีที่หยิบยืมมาจากศาสตร์สาขาอื่น เช่น คณิตศาสตร์ และจิตวิทยาสังคม ทฤษฎีที่นำมาจากคณิตศาสตร์ คือ ทฤษฎีกราฟ (Graph theory) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการวิจัยในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง ส่วนทฤษฎีที่นำมาจากศาสตร์สาขาจิตวิทยาสังคม ได้แก่ ทฤษฎีสมดุล (Balance Theory) และทฤษฎีการเปรียบเทียบทางสังคม (Social Comparison Theory) โดยทฤษฎีเหล่านี้ต่างมีคุณูปการต่อกระบวนการศึกษาเครือข่ายทางสังคม ในกลุ่มสังคมในรูปแบบขององค์กรต่างๆ
 2. กลุ่มงานวิจัยที่ใช้ทฤษฎีเติบโตจากภายใน (Home-grown Theories) สามารถแบ่งได้เป็น 2 ทฤษฎีหลัก ได้แก่
  (1) ทฤษฎี Heterophily Theory ซึ่งกล่าวถึงแนวคิดด้านจุดแข็งของการเกาะเกี่ยวกันอย่างหลวมๆ (The Strength of Weak Ties) และหลุมของโครงสร้าง (Structure Hole)
  (2) ทฤษฎีบทบาทเชิงโครงสร้าง (Structural Role Theory) ซึ่งกล่าวถึงแนวคิดด้านความเท่าเทียมกันทางโครงสร้าง ความเหนียวแน่นในโครงสร้าง และความเท่าเทียมกันในบทบาท ซึ่งจะสามารถศึกษาให้รู้ได้ว่าผู้แสดง (Actors) ในเครือข่ายมีอิทธิพลต่อทัศนคติและพฤติกรรมของคนอื่นอย่างไร
 3. กลุ่มงานวิจัยที่ส่งออก (Exportation) ได้แก่ แนวคิด เรื่อง เครือข่าย (Network) ที่เป็นผลผลิตที่สร้างผลประโยชน์ทางความรู้ให้แก่กลุ่มทฤษฎีองค์กร โดยใช้ทฤษฎีองค์การ (Organization Theories) ในการวิเคราะห์และสังเคราะห์องค์การภายใต้มุมมองของเครือข่ายทางสังคม และมีการศึกษาค้นคว้าก้าวไกลออกไปเพื่อให้เห็นศักยภาพของความเกี่ยวพันอย่างสำคัญระหว่างทฤษฎีองค์การและแนวคิดด้านเครือข่ายทางสังคม ซึ่งในภาคธุรกิจได้นำมาใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์การในเครือข่าย และการสร้างอำนาจการต่อรองให้แก่องค์การของตน เพื่อสามารถดำเนินธุรกิจอยู่ให้ได้ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงมากในปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่ากลุ่มงานวิจัยที่ใช้ทฤษฎีทั้งสามกลุ่มดังกล่าว เป็นความพยายามที่จะอธิบายว่าพื้นฐานทางทฤษฎีเหล่านั้น สามารถอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และระหว่าง องค์การว่ามีลักษณะอย่างไร เช่น ในขณะที่ทฤษฎีนำเข้า (Import Theories) จะกล่าวถึงความสัมพันธ์ (Relation) หรือปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ในระดับจุลภาค (Micro Level) ของปัจเจกบุคคลเป็นหลักนั้น ทฤษฎีที่เติบโตขึ้นจากภายใน (Home-grown Theories) กลับมุ่งเน้นที่จะดำเนินการในงานวิจัยทั้งระดับจุลภาคและมหภาค (Macro Level)

3. ประโยชน์การใช้งาน (Implementations)
 

กล่าวได้ว่าในปัจจุบัน องค์ความรู้ของแนวคิดเครือข่ายทางสังคม (Social Network) ได้ถูกใช้ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการวิเคราะห์เครือข่ายทางสังคม (Social Network Analysis) การสร้างตัวตนของเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเชิงบูรณาการ (Integrated Exchange Forming) รวมไปถึงการศึกษาอำนาจและการพึ่งพา (Power and Dependence) ภายในเครือข่าย โดยส่วนใหญ่แล้วนักวิจัยผู้มุ่งศึกษาสังคมโดยอาศัยแนวคิดนี้มักจะเริ่มต้นจากปรากฏการณ์จริงในพื้นที่ และวิเคราะห์ สังเคราะห์เพื่อให้เห็นแบบแผน และกระบวนการทำงานของเครือข่ายเชิงทฤษฎีและเชิงประจักษ์ ทำให้ได้ร่องรอยของความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคล และองค์กรที่ทำงานร่วมกันเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันในรูปของเครือข่ายมากขึ้น 
 

สำหรับนักทฤษฎีเครือข่ายต่างประเทศจะให้ความสนใจต่อความเชื่อมโยงระหว่างบุคคล กลุ่ม และองค์การ ว่าเป็นการกระทำในลักษณะของความสัมพันธ์ระดับบุคคลขึ้นไป โครงสร้างที่เป็นรูปธรรม บทบาทในการเชื่อมโยงของโครงสร้างทางสังคมอยู่ภายใต้ปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มคน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรที่มีคุณค่า ทั้งทรัพย์สิน อำนาจและข้อมูลที่แตกต่างกัน ซึ่งจะมีอยู่ในตัวปัจเจกบุคล กลุ่ม องค์การต่างๆ ในสังคม การแลกเปลี่ยน แบ่งปันทรัพยากรจึงเกิดขึ้น ผ่านกระบวนการเครือข่าย
 

นอกจากนี้ Jason Ethier ได้รวบรวมแนวทางการใช้ประโยชน์แนวคิดเครือข่ายทางสังคม (Social Network) สรุปได้ ดังนี้ (Ethier, 2006 ค้นจาก http://www.ccs.neu.edu/home/ perrolle/archive/Ethier-SocialNetworks.html เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2551)
         1. การใช้ความรู้เกี่ยวกับเครือข่ายมนุษย์ (Knowledge of Human Networks) ในการประยุกต์กับการออกแบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (The Design of Computer Networks) โดยเปรียบเทียบกิจกรรมการแลกเปลี่ยนของมนุษย์ในเรื่องของสารสนเทศ (Information) ความรู้ (Knowledge) ความคิด (Ideas) ตลอดจนทัศนคติ (Opinions)
 2. การใช้แนวคิดเครือข่ายทางสังคม ในการวิจัยเชิงสุขภาพส่วนบุคคล (Personal Health) โดยเฉพาะประเด็นของการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมทางสังคม (Participation Social Network) ในการรักษาสุขภาพ ทั้งในระดับส่วนบุคคล ไปจนถึงชุมชน และสังคมโดยรวม
   3. การใช้แนวคิดเครือข่ายทางสังคมในการวิจัยตลาด (Marketing Research) ซึ่งจะสามารถสร้างผลกำไรจำนวนมหาศาลแก่หน่วยธุรกิจ เนื่องจากการศึกษาเครือข่ายสังคม (Social Networks) และแบบแผนความสัมพันธ์ (Patterns of Relationship) จะทำให้ทราบถึงแนวทางในการพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองความตองการของสมาชิกในเครือข่ายทางสังคมนั้นๆ
 4. การใช้แนวคิดเครือข่ายทางสังคมในการวิจัยชุมชนออนไลน์ (Online Community) บนระบบอินเตอร์เน็ต โดยตัวอย่างงานวิจัยที่มีชื่อเสียงและได้รับการกล่าวขวัญเป็นอย่างมาก คือ ผลการศึกษา Club Nexus ของนักวิจัยจาก Stanford University

5. ตัวอย่างการประยุกต์ใช้แนวคิดในการศึกษาวิจัย (Example of Concept Applied in Study and Research)

เพื่อให้เห็นผลิตภาพของแนวคิดเครือข่ายทางสังคม (Social Network) ในการศึกษาวิจัย ในเวทีวิชาการ (Academic Stage) ในปัจจุบัน ผู้เขียนจึงขอนำเสนอผลงานการศึกษาวิจัยทั้งของนักวิจัยชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งหลายหลากสาขา ดังนี้

ประชาสรรค์   แสนภักดี (2549 : บทคัดย่อ) ทำการศึกษา เรื่อง การจัดการความรู้ของเครือข่ายทางสังคมเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ พบว่า รูปแบบการจัดการความรู้ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ (1) การสร้างผังเครือข่าย (Network Mapping) (2) การจัดทำแผนที่ความรู้ (3) การบริหารความรู้ และ (4) การสรุปบทเรียนร่วมกันของเครือข่าย

เกษมศานต์   ชัยศิลป์ (2548 : บทคัดย่อ) ทำการศึกษา เรื่อง การพัฒนาเครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเยาวชน พบว่า การพัฒนาเครือข่ายมีองค์ประกอบสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ (1) การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก (2) การปฏิบัติกิจกรรมร่วมกัน (3) การถ่ายทอดข้อมูลของเครือข่ายให้ผู้อื่นรับรู้ (4) การสรรหาบุคคลเข้าร่วม และ (5) การจัดหาทรัพยากรในการดำเนินงาน

ศิริพงษ์   บุญถูก (2544 : บทคัดย่อ) ทำการศึกษา เรื่อง การศึกษาเครือข่ายทางสังคมในกิจกรรมการทอดผ้าป่าของสังคมอีสาน พบว่า เครือข่ายทางสังคมมีความสัมพันธ์กับกิจกรรมการทอดผ้าป่าของสังคมอีสาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05
 

Piet Verhoeven (2008 : Abstract) ทำการศึกษา เรื่อง Who’s in and who’s out? Studying the Effects of Communication Management on Social Cohesion โดยมีเป้าหมายที่จะศึกษาผลกระทบของการจัดการการสื่อสารต่อการยึดเหนี่ยวของสังคม ในระดับส่วนบุคคล กลุ่ม และสังคม โดยใช้หลักการการเชื่อมต่อระหว่างการจัดการการสื่อสารและการยึดเหนี่ยวทางสังคม การรวมกันเป็นกลุ่ม โดยใช้ทฤษฎีเครือข่ายผู้กระทำการ และเทคนิคภาพเหมือนจริงเกี่ยวกับการวิเคราะห์
 

Verna Allee (2008 : Abstract) ทำการศึกษา เรื่อง Value Network Analysis and Value Conversion of Tangible and Intangible Assets โดยมีจุดประสงค์เพื่อจัดเตรียมตัวอย่างและรายละเอียดทางเทคนิคสำหรับการวิเคราะห์เครือข่ายเชิงคุณค่า ของการแปลงและ ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่สัมผัสไม่ได้ โดยการการวิเคราะห์เครือข่ายด้วยโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นในปี 1993 และปรับปรุงในปี 1997 สำหรับการจัดการทรัพย์สินสัมผัสไม่ได้ ทำการทดสอบกลุ่มตัวอย่างที่เป็นร้านค้าไปจนถึงเวบธุรกิจ และหน่วยทางเศรษฐศาสตร์อื่นๆ 
 

Helle Neergaard, Eleanor Shaw และ Sara Carter (2005 : Abstract) ทำการศึกษา เรื่อง The Impact of Gender, Social Capital and Networks on Business Ownership: A Research Agenda โดยมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของเพศสภาวะ ทุนทางสังคมและเครือข่ายของ เจ้าของธุรกิจ โดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายทางสังคม โดยใช้ทฤษฎีเครือข่ายในการสร้างตัวแบบ

จะเห็นได้ว่าแนวคิดเครือข่ายทางสังคม (Social Network) ได้ถูกนำมาใช้ในการศึกษาที่หลากหลายสาขา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและสถานภาพองค์ความรู้ของแนวคิดนี้ว่ามีอิทธิพลต่อวงการศึกษาไม่เฉพาะแต่ในวงการสังคมวิทยาเท่านั้น แต่ได้แผ่ขยายอิทธิพลออกไปในแทบทุกเวทีวิชาการเลยทีเดียว

สรุป (Conclusion)
 

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า แนวคิดเครือข่ายทางสังคม (Social Network Concept) มีพัฒนาการมาจากพื้นฐานของทฤษฎีการแลกเปลี่ยน (Exchange Theory) โดยมีหลักการที่ว่า ในเครือข่ายสังคมจะประกอบไปด้วยบุคคลที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ตามบทบาทหรือหน้าที่ที่แต่ละคนหรือคู่ความสัมพันธ์มีอยู่ ซึ่งแต่ละคนนั้นมิได้มีเพียงบทบาทเดียว หากแต่มีหลายบทบาทที่จะต้องสวมในชีวิตประจำวัน บุคคลไม่เพียงแต่ทำตามบทบาทหน้าที่ที่คาดหวังในสังคม หรือตามบรรทัดฐานที่ได้รับการถ่ายทอดมาเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลยังขึ้นอยู่บนพื้นฐานของการรับรู้และการตัดสินใจในการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ทั้งในด้านวัตถุและทางด้านจิตใจ ในปัจจุบันสถานภาพองค์ความรู้ของแนวคิดนี้ได้ถูกใช้ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการวิเคราะห์เครือข่ายทางสังคม การสร้างตัวตนของเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเชิงบูรณาการ 
 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าการวิเคราะห์เครือข่ายสังคม จะช่วยให้เราเข้าใจถึงความสัมพันธ์ที่มีอยู่ในสังคม อันนำไปสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มที่ไม่เป็นทางการ (Informal Group) องค์กรทางสังคม (Social Organization) และโครงสร้างทางสังคม (Social Structure) ลักษณะความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว สามารถนำมาใช้อธิบายพฤติกรรมของบุคคลได้ แต่ในปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับแนวความคิดเรื่องเครือข่ายทางสังคม และการวิเคราะห์เครือข่ายสังคมในประเทศไทยยังคงอยู่ในวงจำกัด ยังมิได้นำเอาวิธีการวิเคราะห์เครือข่ายทางสังคมมาใช้อธิบายพฤติกรรมต่างๆทางสังคมเท่าที่ควร ทำให้ขาดความเข้าใจถึงกระบวนการต่างๆ อีกมากที่เกิดขึ้นในสังคม ดังนั้น หากเข้าใจถึงวิธีการศึกษาวิเคราะห์เครือข่ายสังคมแล้ว เราสามารถที่จะนำมาใช้อธิบายพฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้ ไม่เฉพาะแต่พฤติกรรมทางด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นพฤติกรรมทุกด้านที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น การศึกษาเกี่ยวกับเครือข่ายของแรงงานย้ายถิ่นข้ามชาติ การศึกษาอิทธิพลของเครือข่ายชุมชนที่มีผลต่อการรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง (Reference)

ภาษาไทย

เกรียงศักดิ์   เจริญวงศ์ศักดิ์. (2543). การจัดการเครือข่าย : กลยุทธ์สำคัญสู่ความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษา. กรุงเทพฯ : บริษัท ซัคเซสมีเดีย จำกัด.

เกษมศานต์   ชัยศิลป์. (2548). การพัฒนาเครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเยาวชน. วิทยานิพนธ์ปริญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมวิทยาการพัฒนา บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

จิราลักษณ์   จงสถิตมั่น. (2549). สังคมสงเคราะห์กลุ่มชน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นฤมล   นิราทร. (2543). การสร้างเครือข่ายการทำงาน : ข้อควรพิจารณาบางประการ. กรุงเทพฯ : โครงการระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดปัญหาการใช้แรงงานเด็ก.

ประชาสรรค์   แสนภักดี. (2549). การจัดการความรู้ของเครือข่ายทางสังคมเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ. วิทยานิพนธ์ปริญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

ปาริชาติ   สถาปิตานนท์ และชัยวัฒน์   ถิระพันธ์. (2546). สื่อสารกับสังคมเครือข่าย. กรุงเทพฯ : สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา.

พระมหาสุทิตย์   อาภากโร. (2547). เครือข่าย : ธรรมชาติ ความรู้ และการจัดการ. กรุงเทพฯ : โครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข.

ศิริพงษ์   บุญถูก. (2544). การศึกษาเครือข่ายทางสังคมในกิจกรรมการทอดผ้าป่าของสังคมอีสาน. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาไทยศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

สุเทพ   สุนทรเภสัช. (2540). ทฤษฎีสังคมวิทยาร่วมสมัย. เชียงใหม่ : บริษัท สำนักพิมพ์ โกลบอลวิชั่น จำกัด.

สัญญา   สัญญาวิวัฒน์. (2550). ทฤษฎีสังคมวิทยา เนื้อหาและแนวการใช้ประโยชน์เบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ภาษาอังกฤษ

Allee, Verna. (2008). Value Network Analysis and Value Conversion of Tangible and Intangible Assets. Journal of Intellectual Capital Intellectual Capital, Vol. 9 No. 1, (p.5-24).

Boissevain, Jeremy. (1974). Friends of Friends : Network, Manipulators and Coalitions. Oxford : Basil Blackwell.

Borgatta, Edgar F. ; and Borgatta, Marie. (1992). Encyclopedia of Sociology. (Volume 4 : S-Z Index). New York : Macmillan Publishing Company.

Bruce, Steve ; and Yearley, Steven. (2006). The SAGE Dictionary of Sociology. London : SAGE Publication Ltd.

Emerson, Richard. (1976). Social Exchange Theory. Available : http://www.Annual reviews.org/aronline

Ethier, Jason. (2006). Current Research in Social Network Theory. Available : http://www.ccs.neu.edu/home/perrolle/archive/Ethier-SocialNetworks.html

Kilduff, Martin ; and Tsai, Wenpin. (2003). Social Networks and Organizations. London : SAGE Publication Ltd.

Neergaard, Helle; Shaw, Eleanor; and Carter, Sara. (2005). The Impact of Gender, Social Capital and Networks on Business Ownership: A Research Agenda. International Journal of Entrepreneurial Behaviour & Research, Vol. 11 No. 5, (p.338-357).

Nohria, Nitin ; and Eccles, Robert G. (1992). Networks and Organizations : Structure, Form and Action. Boston : Harvard Business School Press. 

Parker, John ; Mars, Leonard ; Ransome, Paul ; and Stanworth, Hilary. (2003). Social Theory : A Basic Tool Kit. New York : Palvarge Macmillan.

Ritzer, George. (2003). Contemporary Sociological Theory and Its Classical Roots : The Basics. New York : McGraw-Hill, Inc.

Ritzer, George. (1992). Contemporary Sociological Theory. 3rd ed. New York : McGraw-Hill, Inc.

Turner, Jonathan H. (1994). Sociology : Concept and User. New York : McGraw-Hill, Inc.

Turner, Jonathan H. (2003). The Structure of Sociological Theory. 7th ed. Belmont California : Wardsworth.

Verhoeven, Piet. (2008). Who’s in and who’s out? Studying the Effects of Communication Management on Social Cohesion. Journal of Communication Management, Vol. 12 No. 2, (p.124-135).

Website
http://en.wikipedia.org/wiki/Exchange_theory
http://en.wikipedia.org/wiki/George_Caspar_Homans
http://en.wikipedia.org/wiki/Peter_Blau
http://en.wikipedia.org/wiki/Social_network
http://rirs3.royin.go.th/
http://www.annualreviews.org/aronline
http://www.ccs.neu.edu/home/perrolle/archive/Ethier-SocialNetworks.html
http://www.encyclopedia.com/doc/1O88-exchangetheory.html
http://www.encyclopedia.com/doc/1O88-network.html
http://www.socialnetworktheory.com/
http://www.sociosite.net/topics/texts/homans.php

โพสต์โดยสมาชิกหมายเลข 1422 วันที่ 22 ธ.ค. 2551


สถานภาพองค์ความรู้ของแนวคิดเครือข่ายทางสังคม (State of Knowledge of Social Network Concept)สถานภาพองค์ความรู้ของแนวคิดเครือข่ายทางสังคม(StateofKnowledgeofSocialNetworkConcept)

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

ดูดวงตามวันเกิด (หญิง)

ดูดวงตามวันเกิด (หญิง)


เปิดอ่าน 7,166 ครั้ง
วิธีเอาชนะใจ ... ผู้หญิง

วิธีเอาชนะใจ ... ผู้หญิง


เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง
เลิก....ดื่มน้ำเย็น

เลิก....ดื่มน้ำเย็น


เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง
น่ารักน่าชัง!!

น่ารักน่าชัง!!


เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง
วิธีรับมือกับความขี้หึง..

วิธีรับมือกับความขี้หึง..


เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง
เสริมราศีด้วยขนม.....

เสริมราศีด้วยขนม.....


เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง
ต้องอ่านนะ..เพราะห่วง

ต้องอ่านนะ..เพราะห่วง


เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง
โอ้..น่ากินจัง!

โอ้..น่ากินจัง!


เปิดอ่าน 7,147 ครั้ง

:: เรื่องปักหมุด ::

ยามหัศจรรย์สำหรับคุณ(ดีจริงๆนะ)

ยามหัศจรรย์สำหรับคุณ(ดีจริงๆนะ)

เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
10 อันดับเสื้อผ้าคลาสสิค...ที่สาวเทรนดี้ห้ามพลาด
10 อันดับเสื้อผ้าคลาสสิค...ที่สาวเทรนดี้ห้ามพลาด
เปิดอ่าน 7,138 ☕ คลิกอ่านเลย

เคล็ดลับ....การเลือกซื้อกล้องดิจิตอล
เคล็ดลับ....การเลือกซื้อกล้องดิจิตอล
เปิดอ่าน 7,138 ☕ คลิกอ่านเลย

10 วลีทอง....ของคนคิดบวก
10 วลีทอง....ของคนคิดบวก
เปิดอ่าน 7,143 ☕ คลิกอ่านเลย

ดอกไม้ประจำชาติ กลุ่มประเทศอาเซียน
ดอกไม้ประจำชาติ กลุ่มประเทศอาเซียน
เปิดอ่าน 7,150 ☕ คลิกอ่านเลย

ทำไมต้อง "คาหนัง คาเขา"
ทำไมต้อง "คาหนัง คาเขา"
เปิดอ่าน 7,144 ☕ คลิกอ่านเลย

โชว์โฉม"ไอด้า" บรรพบุรุษมนุษย์!
โชว์โฉม"ไอด้า" บรรพบุรุษมนุษย์!
เปิดอ่าน 7,144 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

ไปรษณีย์ไทย เเจ้ง ส่งไปรษณีย์ต้องแสดงบัตรประชาชน เริ่ม 8เม.ย.นี้
ไปรษณีย์ไทย เเจ้ง ส่งไปรษณีย์ต้องแสดงบัตรประชาชน เริ่ม 8เม.ย.นี้
เปิดอ่าน 15,355 ครั้ง

7 เหตุผลที่ทำให้คุณหิวโหยและอ้วน
7 เหตุผลที่ทำให้คุณหิวโหยและอ้วน
เปิดอ่าน 16,695 ครั้ง

เผยสำรวจพบ8อาชีพมีรายได้เกินแสน นักบิน เงินเดือนสูงสุด
เผยสำรวจพบ8อาชีพมีรายได้เกินแสน นักบิน เงินเดือนสูงสุด
เปิดอ่าน 36,497 ครั้ง

เช็คให้ดี! "ฮวงจุ้ยห้องพระ" วางตรงไหนเหมาะ วางไม่ดีอาจทำเงินทองรั่วไหล
เช็คให้ดี! "ฮวงจุ้ยห้องพระ" วางตรงไหนเหมาะ วางไม่ดีอาจทำเงินทองรั่วไหล
เปิดอ่าน 128,496 ครั้ง

เช็ดตัวลดไข้ ใช้ "น้ำอุ่น" หรือ"น้ำเย็น"?
เช็ดตัวลดไข้ ใช้ "น้ำอุ่น" หรือ"น้ำเย็น"?
เปิดอ่าน 47,148 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ