ฝนตก..รถติด ปัญหาน่าเบื่อของคนเมืองกรุง คงจะดีไม่น้อย หากเราสามารถที่จะรู้ล่วงหน้าได้ว่าในอีกไม่เกิน 1 ชั่วโมงข้างหน้าฝนจะตกบริเวณไหนบ้าง
โดยเฉพาะในยุคโลกร้อนที่สภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลง จนไม่สามารถคาดเดาได้
“ระบบทำนายและแจ้งเตือนฝนผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่” ถูกนำมาเป็นหนึ่งในไฮไลต์ผลงานของนักวิจัยไทยที่นำมาจัดแสดงไว้ในงานการประชุมวิชาการประจำปี 2554 หรืองานแนค 2011 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติหรือ สวทช.
ผลงานของนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียหรือเอไอที
“ดร.สุทัศน์ วีสกุล” หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบทำนายและแจ้งเตือนฝน จากภาควิชาวิศวกรรมน้ำและการจัดการ เอไอที เปิดเผยว่า ระบบดังกล่าวเริ่มพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เนื่องจากกรุงเทพฯ มีฝนตกในปริมาณมาก แต่ข้อมูลที่มีอยู่ไม่ชัดเจน ขณะที่สำนักระบายน้ำ ของ กรุงเทพมหานคร มีเรดาร์ตรวจจับที่สามารถให้ข้อมูลฝนได้ จึงนำข้อมูลนั้นมาพัฒนาเป็นระบบที่สามารถทำนายฝนได้ล่วงหน้า 1 ชั่วโมง โดยพิจารณาจากการเคลื่อนที่ของเมฆฝนจากภาพเรดาร์ แล้วแจ้งเตือนสมาชิกที่ลงทะเบียนไว้ด้วยเอสเอ็มเอส หรือเอ็มเอ็มเอส
นักวิจัยบอกว่า เฟสแรกใช้เรดาร์ที่บางนา รัศมีการตรวจวัด 30 กิโลเมตร สแกนทุก ๆ 30 นาที เน้นการทำนายฝนในพื้นที่กรุงเทพฯ ผลตอบรับค่อนข้างดี แต่เนื่องจากระยะเวลาห่างไป จึงพัฒนาเพิ่มเติมในเฟส 2 ซึ่งเปลี่ยนมาใช้เรดาร์ที่ภาษีเจริญ ที่มีการสแกนทุก ๆ 10 นาที รัศมี 60 กิโลเมตร เน้นการทำนายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระบบทำงานโดยอัตโนมัติ
สำหรับการทำงาน “นายวัชระ ศิลปะสุวรรณชัย” ผู้ดูแลระบบฯ จากเอไอที บอกว่า เป็นการประมวลผลจากภาพที่ได้จากเรดาร์ ซีแบนด์ ที่สถานีเรดาร์ภาษีเจริญ สำนักระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ซึ่งสามารถสแกนและตรวจจับกลุ่มเมฆฝนที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯและพื้นที่ใกล้เคียงได้ จากนั้นจะทำการประมวลฝนโดยใช้แบบจำลองทรานสเลชั่น ซึ่งจะวิเคราะห์การเคลื่อนตัวของกลุ่มเมฆฝนที่เกิดขึ้นในเวลาปัจจุบันและก่อนหน้านี้ เพื่อทำนายสภาพการเคลื่อนตัวที่จะเกิดขึ้นในอีก 1 ชั่วโมงข้างหน้า
ระบบดังกล่าวถูกนำร่องทดสอบการใช้งานแล้วตั้งแต่ปี 2553 โดยมีสมาชิกประมาณ 20 ราย ที่ลงทะเบียน แจ้งตำแหน่งให้แจ้งเตือน
โดยนอกจากจะเตือนผ่านเอสเอ็มเอส เป็นข้อความสั้น ๆ ว่ามีฝนระดับใด หนัก มาก หนักปานกลางหรือเล็กน้อยในพื้นที่ของสมาชิกแล้วยังสามารถดูภาพการเคลื่อนที่ของเมฆฝนผ่านเอ็มเอ็มเอสได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีช่องทางให้เข้าถึงข้อมูลที่มากขึ้น ใน www.wap.ait.ac.th/rf ด้านความถูก
ต้องของการทำนายในปัจจุบัน หัวหน้าโครงการบอกว่า อยู่ที่ประมาณ 60% ในเชิงพื้นที่ ซึ่งจะมีการพัฒนาเพิ่มเติมเชิงเทคนิคให้ดีขึ้นต่อไป
อนาคตของระบบนี้ คาดว่าจะมีการทำนายผ่านแผนที่บนเว็บไซต์ รวมถึงนำข้อมูลที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับโครงการอื่น ๆ อาทิ บริการสายด่วนจราจรอัจฉริยะ (TVIS) หรือศูนย์ข้อมูลจราจรออนไลน์ (Traffy)
...ทั้งหมดนี้เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถ เตรียมความพร้อมกรณีฝนตก วางแผนการเดินทาง รวมถึง หลีกเลี่ยงการจราจรที่มักจะติดขัดกว่าปกติในยามฝนตก!!!.
โดย นาตยา คชินทร
ขอบคุณที่มาจาก http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=478&contentID=129722