นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๔ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ (มติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ 22 มี.ค.54)
ครม.เห็นชอบหลักการ/แนวคิด ยุทธศาสตร์และกลไกการปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา โดยให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ตามกรอบหลักการแนวคิดยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา พร้อมทั้งให้ ศธ. แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา เพื่อดำเนินงานตามกรอบหลักการ/แนวคิด และยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษาต่อไป โดยมีสาระสำคัญดังนี้
๑. ยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วยยุทธศาสตร์การเงินการคลัง ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษา ยุทธศาสตร์การระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษาและส่งเสริมการมีส่วนร่วม ยุทธศาสตร์การส่งเสริมความเข้มแข็งของสถานศึกษา
๒. ยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบการเงินเพื่อการอุดมศึกษา ประกอบด้วยยุทธศาสตร์การเงินการคลัง ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษา ยุทธศาสตร์การระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา
๓. กลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา ประกอบด้วยกลไกการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษา กลไกการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคมในการระดมทุนและการสนองทุนเพื่อการศึกษา กลไกการดำเนินงานตามหลักการและแนวทางการปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา กลไกการตรวจสอบเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษา กลไกการสนับสนุนด้านกฎหมาย กลไกการผลักดันจากผู้บริหารระดับสูงที่มีอำนาจในการตัดสินใจ
๔. คณะกรรมการปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษาฯ ได้กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ ๑) จัดทำแผนขั้นตอนและกรอบระยะเวลาการดำเนินงานปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา ตามกรอบหลักการ/แนวคิดยุทธศาสตร์และมาตรฐานที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ๒) ออกแบบและวางระบบการเงินเพื่อการศึกษาในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบการสนองทุนผ่านด้านอุปทานหรือสถานศึกษา (Supply Side Financing) ไปสู่ระบบการสนองทุนผ่านด้านอุปสงค์หรือผู้เรียน (Demand Side Financing) ๓) กำกับและประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินงานตามแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ๔) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และ/หรือคณะทำงาน เพื่อดำเนินงานตามที่คณะกรรมการมอบหมาย ๕) ให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะแก่คณะอนุกรรมการ คณะทำงานในประเด็นที่ต้องการการตัดสินใจในระดับนโยบาย ๖) ให้การสนับสนุนด้านบุคลากรและทรัพยากรตามความต้องการจำเป็นแก่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย ๗) อำนวยการ กำกับติดตามการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการคณะทำงาน ๘) ปฏิบัติงานอื่นใดที่นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
๕. เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสถานศึกษาภายใต้ตลาดบริการการศึกษาที่มีการแข่งขันในตลาดเสรีและตลาดที่ไร้พรมแดนในปี ๒๕๕๘ และเพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
ครม.รับทราบการกำหนดแนวทางการควบคุมดูแลโรงเรียนกวดวิชา ตามที่ ศธ.เสนอ ดังนี้
๑. การกำหนดแนวทางการควบคุมดูแลโรงเรียนกวดวิชาไม่ให้มีการดำเนินการในลักษณะที่แสวงหากำไรจนเกินควร ตามแนวทางการควบคุมดูแล ดังนี้
๑) โรงเรียนกวดวิชาที่ได้รับอนุญาตจัดตั้งก่อนพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.๒๕๕๐ ให้เก็บค่าธรรมเนียมการเรียนตามที่ได้รับอนุญาต หากจะมีการเปลี่ยนแปลงให้ยื่นขออนุญาต โดยจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับกิจการของโรงเรียนนอกระบบ และกำหนดหลักเกณฑ์การคิดค่าธรรมเนียมการศึกษา ซึ่งในการกำหนดหลักเกณฑ์การคิดค่าธรรมเนียมการศึกษาให้กำหนดค่าตอบแทนได้ไม่เกินร้อยละ ๒๐ สำหรับการเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาในโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนโดยใช้ครูผู้สอนจะเก็บในอัตราที่สูงกว่าการเรียนการสอนลักษณะผสมโดยมีทั้งครูผู้สอนและสื่อ ส่วนการเรียนการสอนโดยใช้สื่อการเรียนการสอนเป็นเครื่องมือจะต้องเก็บในราคาต่ำสุด
๒) โรงเรียนกวดวิชาที่ได้รับอนุญาตจัดตั้งตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ ในการอนุญาตหลักเกณฑ์การคิดค่าธรรมเนียมการศึกษาให้กำหนดอัตราผลตอบแทนได้ไม่เกินร้อยละ ๒๐ สำหรับการเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาในโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนโดยใช้ครูผู้สอน จะเก็บในอัตราที่สูงกว่าการเรียนการสอนลักษณะผสมโดยมีทั้งครูผู้สอนและสื่อ ส่วนการเรียนการสอนโดยใช้สื่อการเรียนการสอนเป็นเครื่องมือจะต้องเก็บในราคาต่ำสุด
๓) ให้โรงเรียนนอกระบบทุกขนาด ทุกประเภท จัดทำรายงานแสดงกิจการงบการเงินเสนอต่อผู้อนุญาตตามมาตรา ๑๒๔ แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชนฯ
๔) ให้โรงเรียนติดประกาศใบอนุญาตการเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา/หลักเกณฑ์ การกำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษาและจำนวนค่าธรรมเนียมการศึกษา เพื่อให้นักเรียน ผู้ปกครองและประชาชนสามารถตรวจสอบได้
๕) ตรวจติดตามการดำเนินกิจการโรงเรียนกวดวิชาให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายของทางราชการอย่างเคร่งครัด โดยให้ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานโรงเรียนเอกชน ประเภทกวดวิชา พ.ศ.๒๕๔๕ และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานโรงเรียนเอกชน ประเภทกวดวิชา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๙
๒. การพิจารณาออกระเบียบ ข้อบังคับในเรื่องการตรวจสอบและปรับปรุงในเรื่องความปลอดภัยของอาคารสถานที่ก่อนการอนุมัติอนุญาตให้ใช้เป็นสถานที่สำหรับการเรียนกวดวิชาของโรงเรียนสอนกวดวิชา ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการ ดังนี้
๑) กรณีให้สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ในฐานะผู้อนุญาตตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.๒๕๕๐ ตรวจติดตามสถานที่ตั้งโรงเรียน ให้มีมาตรฐานและมาตรการในการป้องกันอัคคีภัยในโรงเรียนกวดวิชา ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานโรงเรียนเอกชน ประเภทกวดวิชา พ.ศ.๒๕๔๕ และแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๙ กำหนดอย่างเคร่งครัด และตรวจสอบอุปกรณ์ดังกล่าวให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตลอดเวลา โดยให้มีการตรวจสอบอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง
๒) กรณีโรงเรียนมีสภาพน่าสงสัยว่าจะเป็นอันตรายกับผู้เรียน ให้สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ในฐานะผู้อนุญาต ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.๒๕๕๐ ประสานกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารเข้าตรวจสอบต่อไป
๓) ให้สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาฯ ที่เห็นควรกำหนดให้อาคาร ที่จะนำมาใช้จัดตั้งโรงเรียนนอกระบบ ต้องเป็นอาคารเพื่อการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร โดยให้กำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวไว้ในร่างกฎกระทรวง ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑๒๑ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเมื่อเป็นอาคารตามกฎหมายควบคุมอาคารแล้ว ก็จะต้องดำเนินการจัดให้มีมาตรการในเรื่องความปลอดภัยของอาคารสถานที่ ตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้
ครม.เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิรูประบบคุรุศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ตามที่ ศธ.เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอ ครม.ตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของ สำนักงาน ก.พ. และสำนักงบประมาณไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างระเบียบ ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการคุรุศึกษาแห่งชาติ (ก.ค.ช.) โดยกำหนดให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเป็นหน่วยเลขานุการของ ก.ค.ช. พร้อมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ของ ก.ค.ช. กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งกำหนดให้ดำเนินการแต่งตั้ง ก.ค.ช. ภายใน ๖๐ วันนับแต่ระเบียบใช้บังคับ
ครม.อนุมัติตามที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) เสนอแต่งตั้งนายธีรวุฒิ บุณยโสภณ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหาร สมศ. แทนนายสมนึก พิมลเสถียร ซึ่งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระเนื่องจากลาออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๔ เป็นต้นไป
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2011/mar/111.html