นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายการรับนักเรียน ปีการศึกษา ๒๕๕๔ ในการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ครั้งที่ ๒/๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๔ ที่โรงแรมอินทรา กรุงเทพฯ โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงเข้าร่วมประชุม จำนวนรวมกว่า ๑,๐๐๐ คน
รมว.ศธ.ได้กล่าวถึง รายละเอียดและขั้นตอนของกระบวนการรับนักเรียน เพื่อสร้างความเข้าใจและเน้นเป้าหมายที่สำคัญของจุดเปลี่ยนการรับนักเรียนในปีนี้ว่า ต้องการอภิวัฒน์ไปสู่การจัดการศึกษาที่สูงขึ้น มีคุณภาพใกล้เคียงกัน และมีการระดมทรัพยากรด้านการศึกษาอย่างโปร่งใส เพราะไม่ต้องการให้ผู้บริหารโรงเรียนถูกกล่าวหาหรือถูกสอบสวนเกี่ยวกับการรับเงินใต้โต๊ะและเงินแป๊ะเจี๊ยะอีกต่อไป
จากการประเมินเกี่ยวกับกระบวนการสร้างความเข้าใจในเบื้องต้น ได้คะแนนร้อยละ ๘๕ อีกร้อยละ ๑๐ เป็นกระบวนการที่ สพฐ.จะต้องติดตามการรับนักเรียนร่วมกับคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ประสานงานการรับนักเรียน กระทรวงศึกษาธิการ ปีการศึกษา ๒๕๕๔ และคณะกรรมการติดตามตรวจสอบและประเมินผลการรับนักเรียนของสถานศึกษา ปีการศึกษา ๒๕๕๔ ต่อไป เพื่อให้มีการปฏิบัติอย่างทั่วถึงและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ผู้ปกครองมีความเชื่อมั่นว่าฝากนักเรียนไม่ได้จริงๆ สำหรับร้อยละ ๕ ที่เหลือ จะเป็นการเตรียมการชี้แจงกับผู้ปกครองที่มีค่านิยมแบบเก่า ทั้งภายหลังการประกาศผลการสอบในวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๔ และหลังการประกาศผลการจับสลากในวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๔
ขอยืนยันว่า ศธ.จะไม่มีการเปิดสอบรอบสองอย่างแน่นอน จึงขอให้ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานสมัครสอบในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงเตรียมการ ๓ เรื่อง ได้แก่ ๑) กรณีสอบได้ จะต้องยอมรับในการร่วมระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษาในอนาคต ๒) กรณีที่สอบไม่ได้ จะต้องเตรียมแผนรองรับให้บุตรหลานได้เรียนตามความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนคู่พัฒนา โรงเรียนดีประจำอำเภอ โรงเรียนดีประจำตำบล หรือโรงเรียนเอกชน ๓) กรณีสอบไม่ได้ อาจจะเปลี่ยนไปเรียนสายอาชีวศึกษาแทน
ที่ประชุมได้ข้อสรุปเกี่ยวกับกระบวนการและขั้นตอนตามแนวทางการรับนักเรียนปีการศึกษา ๒๕๕๔ ดังนี้
- ขยายวันประกาศรายชื่อนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ เป็นภายในวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๔ และโรงเรียนจะประกาศรายชื่ออย่างชัดเจนตามเงื่อนไขเดิม
- กรณีมีผู้สละสิทธิ์ ให้เรียกสำรองตามบัญชีรายชื่อผู้สอบทั่วไปสลับกับรายชื่อผู้สอบในเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งคาดว่าในปีการศึกษา ๒๕๕๔ จะมีผู้สละสิทธิ์จำนวนน้อย เพราะมีการสอบเพียงรอบเดียว
- ผู้ทำคุณประโยชน์ ยังยึดหลักเกณฑ์ ๗ ประการเดิม โดยขอย้ำว่าจะต้องมีความเกี่ยวพันโดยตรงกับผู้ทำคุณประโยชน์เท่านั้น
รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า สำหรับโรงเรียนที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับการถูกฟ้องร้อง ขอให้โรงเรียนมั่นใจ หากโรงเรียนปฏิบัติตามนโยบาย ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ สพฐ.กำหนดอย่างชัดเจน และมีเจตนาที่บริสุทธิ์ ศธ.จะดูแลและคุ้มครอง ไม่ว่าในกรณีที่ถูกข้อกล่าวหาหรือถูกฟ้องร้องเกี่ยวกับการรับนักเรียน ปีการศึกษา ๒๕๕๔ โดยยินดีที่จะให้ฟ้องร้อง รมว.ศธ.แต่เพียงผู้เดียว
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2011/mar/105.html