ปลาหมอสี หรือ Flower Horn ฟลาวเวอร์ฮอร์น เทคนิคการเลี้ยงปลาหมอสี การเพาะปลาหมอสี ปลาที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้
ปลาหมอสี เป็นปลาที่กำลังเป็นที่นิยมของนักเลี้ยงปลาบ้านเรา แรกทีเดียวก่อนที่จะเข้ามาสู่ตลาดเอเชียนั้น ได้รับความสนใจและนิยมเลี้ยงกันในแถบอเมริกา ยุโรปกันก่อนแล้ว เพราะเป็นปลาตู้ที่เลี้ยงง่าย มีสีสันโดดเด่น สวยงาม และแปลกตา
แหล่งกำเนิด ปลาหมอสี
ปลาหมอสีมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ตามลุ่มน้ำหรือทะเลสาบในต่างประเทศ มีนิสัยค่อนข้างรักถิ่นฐาน หากมีปลาอื่นบุกรุกเข้ามาในเขตของมัน มันก็จะขับไล่ผู้บุกรุกออกไป
Advertisement
อาหาร ปลาหมอสี
ปลาหมอสีสามารถปรับตัวได้ดีกินอาหารได้ทุกประเภท แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมไขมันจากเนื้อสัตว์ เพราะไขมันจะไปทำลายตับของปลาเหล่านี้ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปลาที่เลี้ยงตาย ฉะนั้นอาหารที่ใช้เลี้ยงควรมีส่วนผสมที่ใกล้เคียงกับอาหารธรรมชาติมากที่สุด ปลาหมอสีกินพืช ควรเลี้ยงอาหารปลากินพืช พวกปลากินสัตว์ เช่น กุ้ง ไรน้ำเค็ม หรืออาหารสำเร็จรูปที่ใช้เลี้ยงกับอาหารสำเร็จรูปที่ใช้โดยทั่วไปควรมีส่วนประกอบของกากถั่ว กุ้ง สาหร่ายเกลียวทอง ปริมาณอาหารไม่ควรให้เกินความต้องการของปลา จะทำให้ปลาอ้วนและอ่อนแอ ในกรณีเลี้ยงเพื่อการเพาะพันธุ์ ถ้าให้อาหารมากเกินไปจะทำให้ปลาไม่มีไข่และน้ำเชื้อ
ธรรมชาติของปลาหมอสีเป็นปลาที่อดทน สามารถอดอาหารนับสิบวัน หากท่านไม่อยู่บ้าน 5 - 10 วัน ปลาก็สามารถอยู่ได้อย่างปกติ แม้ว่าในแหล่งน้ำธรรมชาติมีอาหารจำกัด โดยเฉพาะแม่ปลาที่ฟักไข่ด้วยปาก ต้องอมไข่จนไข่ฟักเป็นตัว และอมต่อไปจนกระทั่งลูกปลาสามารถว่ายน้ำออกจากปาก เพื่อหากินอาหารต่อไป ซึ่งใช้เวลาอีก 15-20 วัน ในระยะนี้แม่ปลาจะไม่กินอาหารใดๆ ทั้งสิ้น
Advertisement
สายพันธุ์ ปลาหมอสี
- ปลาหมอสีสกุลแอริสโทโครมิส
- ปลาหมอสีสกุลออโลโนคารา
- ปลาหมอสีสกุลโคพาไดโครมิส
- ปลาหมอสีสกุลลาบิโอโทรเฟียส
การเพาะเลี้ยงปลาหมอสี
ปลาหมอสีเป็นปลาสวยงามอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่น จากนักเลี้ยงปลาทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นเป็นงานอดิเรกถึงแม้ว่าปลากลุ่มนั้นส่วนใหญ่เป็นปลานำเข้าจากทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาใต้และกลุ่มประเทศอเมริกากลาง จัดอยู่ในวงศ์ชิลคลิดี การแพร่กระจายของปลาวงศ์นี้ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของสิ่งแวดล้อมดังเช่น ลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยทะเลสาบ แม่น้ำลำธาร หนองบึง จึงส่งผลให้ปลามีความหลากหลายทั้งชนิด สายพันธุ์ รูปร่าง และการดำรงชีวิต ซึ่งมีทั้งปลาบริโภคและปลาสวยงาม ได้แก่ ปลานิล ปลาหมอเทศ ปลาปอมปาดัวร์ ปลาเทวดา ปลาออสการ์ ฯลฯ ปลาเหล่านี้สามารถปรับตัวได้ดี จัดเป็นปลาเลี้ยงง่าย
หลักทั่วไปใน การเลี้ยง ปลาหมอสี
1. น้ำต้องสะอาดไม่ควรมีเชื้อโรค ห้ามใช้น้ำประปาที่เปิดจากก๊อกน้ำโดยตรง เฉพาะคลอรีนและปูนที่อยู่ในน้ำจะฆ่าปลาได้ในเวลาอันรวดเร็วควรพักน้ำประปาไว้สัก 2-3 วันจึงนำมาใช้
2. ใช้เครื่องกรองน้ำซึ่งหาซื้อได้ตามร้านทั่วไปเลือกให้เหมาะกับขนาดของตู้
3. ขนาดของตู้เลี้ยงควรจะใหญ่สักหน่อย ถ้าเลี้ยงพวกหมอสีพันธุ์เล็ก ความยาวของตู้ไม่ควรต่ำกว่า 24 นิ้ว ถ้าเป็นพันธุ์ใหญ่ก็ไม่ควรต่ำกว่า 36 นิ้ว ควรมีสัก 2 ตู้ เพื่อเป็นตู้พักปลา 1 ตู้ ตู้เลี้ยง 1 ตู้
4. อาหารปลาหมอสีกินอาหารสำเร็จรูปได้ดี ซึ่งเราหาซื้อได้ทั่วไปแต่ถ้าที่บ้านใกล้แหล่งเพาะยุงหรือใกล้บริเวณที่มีลูกน้ำลูกไรมาก และหาได้สะดวกก็ให้ลูกน้ำ ลูกไร เป็นอาหารจะดีมากทั้งประหยัดเงินและมีอาหารที่มีคุณค่าดี
5. ก้อนหิน ก้อนกรวด พันธุ์ไม้น้ำที่เราคิดว่าจะจัดลงไปในตู้นั้นควรจะทำความสะอาดให้ดี ก้อนหินก็ควรจะแช่น้ำลดความเป็นด่างลงพันธุ์ไม้น้ำก็ควรจะพักไว้ในถังหรือตู้อื่นๆ รอจนมันฟื้นตัวได้แล้วค่อยนำมาจัดในตู้
6. ตู้ปลาควรจะตั้งอยู่ใกล้กับที่พักน้ำเพื่อเปลี่ยนน้ำในตู้ปลาได้สะดวก ปัญหานี้ดูเหมือนเล็กแต่ก็มีหลายๆรายที่เลิกเลี้ยงปลา เพราะต้องเปลี่ยนน้ำในตู้ปลาบางรายถึงขั้นทะเลาะกันเพราะเกี่ยงกันเปลี่ยนน้ำตู้ปลา บางรายถูกคำสั่งห้ามเลี้ยงหลังจากการเปลี่ยนน้ำตู้ปลาผ่านไปไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เพราะขณะเปลี่ยนน้ำตู้ปลาบริเวณระหว่างที่พักน้ำกับตู้ปลาจะกลายเป็นเขตอันตรายสูงสุดต่อชีวิตของคนแก่และเด็ก รวมทั้งสตรีมีครรภ์ไปในทันที การลื่นหกล้มในบริเวณนี้จะเกิดขึ้นบ่อยมาก
7. เวลา ถ้าคุณต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตีห้าครึ่งและกลับถึงบ้านประมาณไม่ถึงสี่ทุ่มดีในวันปกติ วันเสาร์ต้องตื่นสิบโมงเช้าเพื่อนอนชดเชยพอตื่นก็ต้องทำงานบ้านจิปาถะที่ค้างตั้งแต่จันทร์-ศุกร์ แล้วก็ขอแนะนำว่าไปปลูกต้นไม้ดีกว่าเพราะปลาที่คุณเลี้ยงไว้นั้นมันพากันตายหมดแล้ว ก่อนเลี้ยงปลาต้องถามตัวเองก่อนว่ามีเวลาไหม และคนรอบข้างจะยินดีไหมที่คุณจะเลี้ยงปลา เพราะคนรอบข้างนั้นก็คือคนงานของคุณขณะเปลี่ยนน้ำตู้ปลา ถ้าเกิด คนงานสไตรท์ขณะเปลี่ยนน้ำไปได้ครึ่งเดียว ภาระทั้งหมดก็จะอยู่ที่คุณคนเดียวจริงๆ
เมื่อหลัก 7 ประการนี้คุณแก้ปัญหาได้แล้ว คราวนี้ก็เริ่มลงมือเลี้ยงกันได้ สมมุติว่าตู้ปลาจัดตกแต่งเรียบร้อยแล้ว ตำราก็อ่านแล้วมีความมั่นใจ 100% ถุงใส่ปลาถูกแกะออกปลาฝูงแรกถูกปล่อยลงตู้แล้วทุกตัวพร้อมใจกันว่ายเข้าหาที่ซ่อน ไม่ต้องตกใจนั่นเป็นสัญญาณของปลา สักครู่ตัวที่กล้าหน่อยหรือตกใจน้อยหน่อยจะเริ่มว่ายน้ำสำรวจที่อยู่อาศัยใหม่ ตัวอื่นๆก็จะตามมาที่มีนิสัยรวมฝูงก็จะรวมกัน บางตัวก็ว่ายเที่ยวแล้วแต่ชนิดและนิสัยของแต่ละตัวไม่ต้องให้อาหารวันที่สองเมื่อปลาส่วนใหญ่สงบลงแล้วเริ่มให้อาหารเล็กน้อยเป็นอาหารมีชีวิตได้ก็ดีถ้าไม่มีอาหารเม็ดก็ได้ ให้น้อยๆดูจนกว่าปลาจะกินอาหารเม็ดหมด ทิ้งไว้สัก 2-3 ชั่วโมง ถ้ามีเศษอาหารเหลือก็ให้ตักออกทิ้งไป สัปดาห์แรกผ่านไปคุณจะรู้สึกว่าตัวเองกะประมาณอาหารที่ให้ปลาได้ดีขึ้น
อาหารที่ให้ไม่ค่อยเหลือซึ่งจะดีมากน้ำจะใสไม่เสีย ถ้ามีปลาตายก็รีบตักออกไปจากตู้โดยเร็ว สังเกตุด้วยว่าตายสภาพอย่างไร ถ้าครีบขาดรุ่งริ่งแสดงว่ามันกัดกัน แยกตัวที่ก้าวร้าวออกไปใส่ไว้ในตู้พักปลา ถ้าภายในสภาพตัวยังสมบูรณ์ก็เกิดจากหลายสาเหตุ และตายติดต่อกันทุกวันก็ต้องเปิดตำราและถามผู้รู้แล้วละ สัปดาห์ที่สอง-สาม-สี่ ปลาก็จะเริ่มคุ้นกับคุณแล้วละมันจะเริ่มมาหาคุณไม่กลัวคุณ ยิ่งคุณอยู่ดูมันมากเท่าใดมันก็จะยิ่งคุ้นกับคุณมากขึ้นเท่านั้น การสื่อสารระหว่างคุณกับปลาก็จะยิ่งรู้เรื่องกันมากขึ้น
ขอบคุณที่มา : http://www.panyathai.or.th