ผลประชุม ก.ค.ศ.ครั้งที่ 3/2554 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2554 โดย นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ครั้งที่ ๓/๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๔ ณ ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ
ตั้งอนุกรรมการชุดต่างๆ รวม ๓ ชุด ใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาทั่วประเทศ
ที่ประชุมเห็นชอบตั้งอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อนุกรรมการผู้แทน ก.ค.ศ. และอนุกรรมการผู้แทนคุรุสภา ใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาทั่วประเทศ ๔๒ เขต และเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร อีก ๑ เขต ซึ่งจะช่วยให้ระบบบริหารงานบุคคลของครูมัธยมศึกษาได้รับความก้าวหน้าและเกิดความต่อเนื่อง โดยเฉพาะการประเมินวิทยฐานะของครูมัธยมศึกษาที่จะต้องไม่ติดค้างมากมายอีกต่อไป
การตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนมาไว้ที่ส่วนกลาง
ที่ประชุมเห็นชอบให้ อ.ก.ค.ศ.ส่วนราชการและ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา ที่ ก.ค.ศ.ตั้ง เป็นผู้พิจารณาการตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามากำหนดที่ส่วนราชการ เพื่อประโยชน์ในการสั่งให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำส่วนราชการ ตามกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำส่วนราชการ พ.ศ.๒๕๕๐ เช่นเดียวกับที่ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับการพัฒนานโยบายและระบบบริหารงานบุคคล ได้อนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินการตัดโอนมาไว้ที่ส่วนกลางรวม ๑๐ ตำแหน่ง และรายงานให้ ก.ค.ศ. และ อ.ก.ค.ศ.ทราบเป็นรายกรณีด้วย
ทั้งนี้ ถือเป็นนโยบายหลักของตนที่ต้องการให้ตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนมาเพื่อสำรองราชการได้ทันที หากข้าราชการนั้นกระทำความผิดใน ๔ กรณี คือ ๑) กรณีถูกกล่าวหาว่าทุจริตคอรัปชั่น ๒) กรณีความผิดทางเพศแก่นักเรียน ๓) กรณีความผิดเกี่ยวกับนโยบายสำคัญของ ศธ. เช่น การไม่ดำเนินการตามนโยบายรับเด็กเข้าเรียน หรือไม่ดำเนินการตามโครงการเรียนฟรีฯ ๔) กรณีไปตรวจราชการแล้วพบผู้บริหารปล่อยปละละเลย มีผลชัดแจ้งว่าไม่มาปฏิบัติราชการ หรือดำเนินงานไม่มีประสิทธิภาพ หรือหย่อนยานต่อการปฏิบัติหน้าที่ ฯลฯ
รมว.ศธ.กล่าวว่า หลังจากนี้หากมีข้าราชการที่เข้าข่ายกระทำความผิด ๔ ข้อดังกล่าว สามารถสั่งมาสำรองราชการในตำแหน่งที่ขอตัดโอนได้เลย โดยหน่วยงานต้นสังกัดสามารถแต่งตั้งคนใหม่เข้าสู่ตำแหน่งแทนได้ทันที
กำหนดการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วย ปีงบประมาณ ๒๕๕๔
ที่ประชุมได้รับทราบกำหนดการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่งครูผู้ช่วย ปีงบประมาณ ๒๕๕๔ โดยกำหนดจัดสอบแข่งขันในวันที่ ๒๕ มีนาคม – ๓ เมษายน ๒๕๕๔ สอบภาค ก. และภาค ข.ในวันที่ ๒๕-๒๗ เมษายน ๒๕๕๔ และสอบภาค ค.ตั้งแต่วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๔ เป็นต้นไป โดยจะประกาศผลการสอบแข่งขันภายในวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๔
ทั้งนี้ รมว.ศธ.ได้มอบนโยบายให้ สพฐ.ดำเนินการเตรียมความพร้อมในการป้องกันการทุจริตจากการเปิดสอบ โดยให้ดำเนินงานตามแผนบริหารความเสี่ยงในการเปิดสอบแข่งขันบรรจุแต่งตั้งตำแหน่งครูผู้ช่วย ซึ่ง สพฐ.ได้จัดทำไว้แล้ว ทั้งมาตรการป้องกันข้อสอบรั่วไหลและทุจริตในการสอบแข่งขัน โดยจะต้องแจ้งแนวปฏิบัติ เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษเกี่ยวกับการป้องกันข้อสอบรั่วไหล และการทุจริตในการสอบแข่งขันทุกขั้นตอน โดยมีการตั้งกรรมการเพื่อสอดส่องดูแลการดำเนินการสอบ พร้อมทั้งมีคณะทำงานของส่วนกลางเข้าไปติดตามดูแลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดด้วย
ซึ่งตนได้ให้ข้อสังเกตเพิ่ม ๔ ประการ คือ ๑) ต้องดำเนินการจัดสอบให้ทันก่อนเปิดภาคเรียน ๒) ให้นำหลักการบริหารความเสี่ยงในการเตรียมความพร้อม ทั้งก่อนสอบ ระหว่างสอบ และหลังสอบ ๓) ให้คำนึงถึงตำแหน่งที่ขาดแคลนครู โดยเฉพาะการให้บรรจุให้ตรงกับสาขาวิชาเอกที่โรงเรียนต้องการ ๔) ให้ สพฐ.ติดตามตำแหน่งอัตราเกษียณ ปี ๒๕๕๒ ที่ได้รับอนุมัติคืนจาก ก.พ.ร.กว่า ๔,๐๐๐ กว่าอัตราด้วย
รายงานความก้าวหน้าร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ....
รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ส่วนกรณีอัตราเงินเดือนรายที่ไม่เกี่ยวข้องกับอัตราเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงจะดำเนินการอย่างไรนั้น คาดว่าจะมีแนวทางการแก้ไข ๒ วิธี คือ ปรับพอกเพื่อให้ถึงขั้นต่ำตามโครงสร้างเงินเดือนใหม่ หรือปรับตัวเลขโครงสร้างเงินเดือนเพื่อให้มีโอกาสได้รับเงินเดือนเทียบเท่าเทียมกับข้าราชการในส่วนข้าราชการอื่น ทั้งนี้ ก.ค.ศ.จะต้องไปหารือกับคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ (ก.ง.ช.) กับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เพื่อให้ถือปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกันตามโครงสร้างเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงต่อไป
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2011/mar/095.html