นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ปีการศึกษา ๒๕๕๔๓ ระดับชาติ "สุดยอดเด็กไทย ก้าวใหม่ที่ไกลกว่า" เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๔ ณ อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
รมว.ศธ. กล่าวแสดงความยินดีที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๓ ระดับชาติ ที่ใช้ชื่อว่า "สุดยอดเด็กไทย ก้าวใหม่ที่ไกลกว่า" และกล่าวขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมในการจัดงานครั้งนี้ ทั้งผู้บริหาร ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และที่สำคัญคือ นักเรียนทุกคน ที่ได้มาแสดงให้ผู้ใหญ่ได้เห็นถึงความเป็นสุดยอดเด็กไทย
งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน เป็นงานที่จัดมาอย่างยาวนาน ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๖๐ โดยครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๕ ณ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน สมัยก่อนนั้นการจัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนมีจุดมุ่งหมายเพื่อแนะนำ ชักจูงให้เด็กชาย-หญิง ได้เอาใจใส่ฝึกหัดศิลปหัตถกรรมให้เกิดความชำนาญ มีความคิดสร้างสรรค์ และเพิ่มพูนรายได้ในการเลี้ยงชีพ ต่อมาได้มีการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมมาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน
นับได้ว่าเป็นงานที่มีความสำคัญต่อการศึกษาของเด็กไทยและประชาชนทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งสะท้อนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการแสดงสุดยอดของเด็กไทยตั้งแต่ช่วงชั้นที่ ๑-๔ ซึ่งทำให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่า หากทุกภาคส่วนจัดกิจกรรมให้เด็กได้แสดงออกอย่างเต็มที่ จะเป็นการเปิดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออกซึ่งความสามารถในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะทางวิชาการ วิชาชีพ ศิลปะ ดนตรี และการแสดง ล้วนแต่เป็นเวทีที่ต่อยอดความรู้ความสามารถของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น การจัดงานครั้งนี้จึงเป็นการสร้างโอกาสที่ดียิ่งให้แก่เด็กไทยทุกๆ คน ได้มีโอกาสแสดงความสามารถเต็มตามศักยภาพของแต่ละบุคคล โดยผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนครั้งนี้ และที่สำคัญถือเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพทางด้านการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะการจัดเวทีและพื้นที่เช่นนี้จะสร้างแรงจูงใจที่ทำให้นักเรียน ครู ตลอดจนสถานศึกษาได้มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งตรงกับเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษารอบสองของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งเน้นให้คนไทยและการศึกษาไทยมีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากล ใฝ่รู้ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ใฝ่ดี มีคุณธรรมพื้นฐาน มีจิตสำนึกและค่านิยมที่พึงประสงค์ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และมีความคิดริเริ่ม
รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ต้องการแสดงความมั่นใจให้นักเรียน ครู ผู้ปกครอง ทราบว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามนโยบาย ๖ เดือน ๖ คุณภาพ ที่จะมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นระบบ เป็นองค์รวม และให้เกิดความยั่งยืนต่อไป เพื่อให้เป้าหมายสุดท้ายคือ ลูกหลานของเราได้รับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ และให้การปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประเทศ ขอชื่นชมนักเรียนที่ได้แสดงกิจกรรมนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่านักเรียนทีได้แสดงออกในกิจกรรมต่างๆ นี้จะมีผลสัมฤทธิ์ที่ดี ก้าวเป็นสุดยอดของเด็กไทย ให้เป็นก้าวใหม่ของเด็กไทย เพื่อที่จะขยายผลไปยังเพื่อนนักเรียนให้มีผลสัมฤทธิ์ที่ดีเช่นกันต่อไป
รมว.ศธ.ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมภายหลังว่า งานศิลปหัตถกรรมมีความก้าวหน้าตามลำดับทุกปี สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องร่วมมือและสะท้อนการพัฒนาให้เป็นตัวเลขชัดเจนคือ เรื่องทักษะความสามารถในการเรียนรู้หรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เสมอว่า เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ จึงได้มอบหมายให้ สพฐ.จัดทำโครงการเป็นพิเศษและทำตัวเลขให้เห็นชัดเจนว่า ขณะนี้ทักษะความสามารถของนักเรียนเพิ่มสูงขึ้นจริงหรือไม่ โดยจะต้องแยกตัวเลขออกมาให้ได้ว่า กลุ่มที่ต้องดูแลเพิ่มขึ้นคือกลุ่มคนพิการ เด็กที่มีปัญหาทางสมอง เด็กกลุ่มนี้ควรมุ่งเน้นการอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข มีอาชีพในการดำรงชีพได้ ขณะเดียวกันจะต้องมีเป้าหมายในการส่งเสริมความเป็นเลิศควบคู่ไปด้วย เช่น การจัดตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค จัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์
ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การประสานงานการประเมินผลคุณภาพทางการเรียน ระดับ O-NET วัดความเข้าใจ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ให้เพิ่มมากขึ้น เพราะกระบวนการทางการศึกษาในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เน้นวัดความจำ เด็กก็จะไปกวดวิชา แต่ผลวิจัยบอกชัดเจนว่า การกวดวิชาไม่ได้เป็นส่วนทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น จึงขอย้ำว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและคุณภาพของผู้เรียนต้องเกิดจากห้องเรียนจริงๆ
ที่มาภาพและข่าวจาก http://www.moe.go.th/websm/2011/jan/038.html