Advertisement
|
ไม่ว่าคอนโดฯ ที่คุณอยู่จะมีระบบรักษาความปลอดภัยแค่ไหน ผู้หญิงที่อยู่ตามลำพังย่อมมีโอกาสตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่ฉวยโอกาสทำร้ายคุณได้ตลอดเวลา
ที่พักอาศัยไม่ใช่ที่ปลอดภัยที่สุด หญิงสาวที่อยู่คอนโดฯ ตามลำพังมีโอกาสเสี่ยงตกเป็นเหยื่อแก๊งทรชนได้โดยไม่ทันตั้งตัว บางรายแค่ถูกชิงทรัพย์ บางรายถูกข่มขืนแต่ร้ายที่สุดคือถูกฆ่าหมกห้องพัก เหตุเพียงเพราะมิจฉาชีพ มองว่าผู้หญิงเป็นเป้าหมายที่ลงมือได้ง่าย ผนวกกับสถานการณ์รอบข้างที่เอื้อต่อการลงมือของคนร้าย
ที่พักเป็นภัย
หลายปีก่อนเกิดเหตุฆาตกรรมสุดสยองดังสนั่นกรุง เมื่อพนักงานธนาคารสาวหน้าตาสวยและรูปร่างดีที่อาศัยอยู่คอนโดฯ คนเดียวเพียงลำพังย่านรามคำแหง ถูกคนร้ายปืนเข้าหลังห้องหวังจะจี้ชิงทรัพย์ แต่หญิงสาวพยายามต่อสู้ก็เลยถูกคนร้ายใช้มีดแทงจนสิ้นใจตาย หรือไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็มีข่าวเด็กสาววัย 17 ปี ซึ่งพักอาศัยอยู่กับน้าสาวบนชั้น 10 ของคอนโดฯ แห่งหนึ่ง ถูกวัยรุ่นขายล็อกคอฉุดกระชากออกจากลิฟต์หมายจะข่มขืนและทำร้ายร่างกายเธอ หลังจากร้องไห้คนช่วย และสุดท้ายเธอก็หนีรอดออกมาได้ แต่เหตุการณ์แบบนี้ก็ใช่ว่าจะโชคดีทุกคน เพราะล่าสุดก็มีข่าวนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่งถูกคนร้ายฆ่ารัดคอบนเตียงในคอนโดมิเนียมย่านลาดพร้าว พร้อมลักทรัพย์ไปหลายรายการ อีกทั้งยังมีข่าวไม่คาดฝันเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้คอนโดฯ ชื่อดัง ย่านบางรักและไฟคลอกเจ้าของห้องเสียชีวิตรวม 3 ศพ
ทั้งๆ ที่มีข่าวเตือนภัยในหลายรูปแบบออกมาอย่างต่อเนื่องแต่ภาระหน้าที่การงานในปัจจุบัน ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องเข้ามาใช้ชีวิตในสังคมเมืองมากขึ้น ครั้นจะไปซื้อบ้านชานเมืองอยู่ เดี๋ยวนี้ก็ราคาแพง หลังก็เล็กลง และเสียเวลาเดินทาง เข้าเมืองเป็นชั่วโมง สิ้นเปลืองค่าน้ำมันอีกต่างหาก พวกเธอจึงตัดสินใจหาซื้อคอนโดฯ ใจกลางเมือง ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ในชีวิตทุกๆ ด้าน จากการเปิดเผยของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์รายงานว่า ปีที่ผ่านมามีคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินเปิดให้บริการถึง 95 โครงการ มากกว่า 36,801 ยูนิด ขายไปแล้วมากกว่า 23,441 ยูนิต และคาดว่าในอนาคตกำลังจะเกิดขึ้นอีกหลายสิบโครงการ
ขณะเดียวกันท่ามกลางความเจริญและความสะดวกสบายที่ผู้คนยุคใหม่ใฝ่หาและมองว่าคอนโดมิเนียมเป็นที่พักชั้นดีที่จะช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันภัยร้าย เช่น การแลกบัตรเข้า-ออก กุญแจการ์ดที่อนุญาตให้เฉพาะผู้ถือบัตรเข้าอาคารได้ กล้องวงจรปิดที่บันทึกทุกความเคลื่อนไหว สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ แต่ถ้าขาดการรักษาความปลอดภัยที่ควรมี ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าเหตุร้ายจะไม่เกิดขึ้นกับคุณ
จากการสำรวจอาชญากรรมในภาคประชาชนปี 2549 ในเขตกรุงเทพฯ พบว่า สถานที่เกิดเหตุมากที่สุดคือ บริเวณที่พักอาศัยหรือห้องพักของผู้เสียหายอาชญากรรมต่อชีวิตที่พบมากที่สุดคือ เหยื่อถูกทำร้ายด้วยการฉุด กระชาก ผลัก ตบดี และทำร้ายด้วยอาวุธ ผู้ก่อเหตุเป็นคนแปลกหน้าเพียงแค่ 11% แต่เป็นคนที่พักอาศัยอยู่ใกล้ชิดหรือคนรู้จักมากถึง 84%
ชีวิตแทรนด์ใหม่ ภัยร้ายใกล้ตัว
ท่ามกลางการใช้ชีวิตในคอนโดฯ ที่สะดวกสบายและมีทุกสิ่งตอบสนองการใช้ชีวิตในรูปแบบที่ต้องการ โดยเฉพาะมีระบบป้องกันความปลอดภัยแน่นหนากว่าที่พักอื่นอย่างพาร์ตเมนต์ แฟลต หอพัก ฯลฯ แต่นั่นก็ไม่ได้การันดีว่าชีวิตคุณจะปลอดภัยและห่างไกลจากพวกมิจฉาชีพหรือตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี
คุณรู้หรือไม่ว่า เมื่อเทียบสถิติปี 2540 กับปี 2547 คดีข่มขืนมีสถิติพุ่งสูงขึ้น 35% จากตัวเลข 3,714 คดี เพิ่มขึ้นเป็น 5,052 คดี แต่ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ สถิติข่มขืน และลวนลามทางเพศ 75% เกิดขึ้นในทีพักของเหยื่อเอง ไม่น่าเชื่อว่าอันตรายในที่พักจะน่ากลัวขนาดนั้น คุณสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อหญิง เปิดเผยถึงสาเหตุของภัยต่างๆ ในคอนโดฯ ว่า
"ผู้หญิงที่อยู่อาศัยในคอนโดฯ ต้องระมัดระวังความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้มากขึ้น มีข่าวออกมาบ่อยๆ ว่า ผู้หญิงที่อยู่คอนโดฯ คนเดียวไม่ค่อยปลอดภัยและมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ง่าย คอนโดฯ เป็นพื้นที่ส่วนรวม ทางเจ้าของและผู้อยู่อาศัยคอนโดฯ ก็ต้องรับผิดชอบเหมือนกัน จะหวังให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือมีใครมาช่วยดูแลอย่างเดียวก็คงไม่ไหว และคนที่จะไปพักอาศัยก็ต้องดูเรื่องระบบความปลอดภัยด้วย ไม่ใช่แต่ว่ามีคีย์การ์ดแล้วจะปลอดภัย เดี๋ยวนี้คอนโดฯ บางแห่งพัฒนาถึงขั้นใส่รหัสห้องก่อนเข้าห้องตัวเองหรือผู้อยู่อาศัย บางคนย้ายมาจากคอนโดฯ ที่มีปัญหามีคนตาย มาอยู่คอนโดฯ หรูๆ คิดว่าจะดี กลับมาเจอปัญหาเดิมๆ เข้าอีก ยิ่งผู้หญิงที่อยู่คนเดียวก็ยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่แค่ความปลอดภัยส่วนตัวเท่านั้น บางครั้งจอดรถไว้ดีๆ ก็มีของหล่นมาทำให้รถบุบหรือรถเฉี่ยวชนกันในลานจอดรถ ซึ่งคุณไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ"
อยู่คอนโดฯ ใช่โชคดีเสมอไป
ไม่ว่าคุณสาวๆ จะระมัดระวังตัวดีแค่ไหนก็ตาม แต่ที่พักอาศัยในคอนโดฯ ก็ใช่ว่าจะปลอดภัยที่สุดสำหรับทุกคนเสมอไป
• ระมัดคนแปลกหน้า นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ช่างไฟฟ้า ช่างประปา รวมไปถึงบุคคลภายนอก
• ภัยจากมุมตึก หรือบริเวณที่ลับตาคนภายในคอนโดฯ เช่น ทางหนีไฟ มุมทางเดินระหว่างบันไดในบางครั้งอาจจะมีคนร้ายแฝงอยู่เพื่อชิงทรัพย์หรือทำร้ายร่างกาย
• ลิฟต์ ควรตรวจสอบระบบการทำงานก่อนสักนิดว่าประตูลิฟต์เปิด-ปิดติดขัดหรือไม่ หากคนอื่นขึ้นลิฟต์ด้วยและควรพิจารณาบุคลิกลักษาะ ถ้าไม่น่าไว้ใจก็ปล่อยให้เขาขึ้นลิฟต์ไปก่อน
• ลักทรัพย์ ลวนลามทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นคนในคอนโดฯ หรือคนภายนอก ก่อนให้เข้าห้องควรตรวจสอบว่าเขาเป็นใครก่อน เพราะมิจฉาชีพจะเข้ามาลักทรัทย์หรือลวนลามทางเพศและข่มขืนได้
• ทรัพย์สินเสียหาย กรณีที่พบบ่อยๆ คือรถโดนขูดโดไม่รู้สาเหตุ ซึ่งคนที่อาศัยอยู่คอนโดฯ มีโอกาสเกิดได้ทุกคน ส่วนใหญ่ในลานจอดรถไม่มีกล้องวงจรปิด
• ไฟไหม้เป็นอุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้เสมอ ถ้ามีห้องใดห้องหนึ่งในคอนโดฯ เป็นต้นเพลิงก็สามารถลุกลามได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งถ้าคุณไม่รู้ทางหนีทีไล่ก็มีโอกาสเสี่ยงไม่น้อยไปกว่ากัน
ประสบการณ์จริงในคอนโดฯ
หวาน เคยเข่าคอนโดฯ แห่งหนึ่งย่านเพชรบุรี ชั้น 9 และอยู่มานานกว่า 2 ปี เล่าถึงเหตุการณ์ขวัญผวาที่เกิดขึ้นเมื่อ 5 เดือนก่อนว่า วันที่เกิดเหตุกลับเข้าคอนโดฯ มาตอนประมาณ 21.00 น. แต่ลืมกุญแจไว้ในห้อง จึงให้แม่บ้านมาเปิดห้องให้ ต่อมาเวลาเที่ยงคืน ขณะนอนหลับอยู่ได้ยินเสียงเหมือนคนเปิดประตูเข้ามาจึงเดินไปดู พบว่าประตูถูกเปิดออกจริงๆ แต่โชคดีที่คลัองเหล็กล็อกประตูจากด้านในไว้
"ปกติจะกลับเข้าห้องตอนตีหนึ่งตีสอง แต่วันที่เกิดเหตุกลับมา 3 ทุ่ม แต่ลืมกุญแจไว้ในห้อง จึงเรียกแม่บ้านมาเปิดห้องให้ และอยู่ในห้องตลอดจนเข้านอนประมาณเที่ยงคืน กลับได้ยินเสียงเหมือนคนเปิดประตูห้องเมื่อเดินไปดูพบว่า ประตูห้องถูกเปิดแต่ติดเหล็กล็อกประตูทำให้คนร้ายไม่สามารถเข้ามาได้ ส่วนตัวเชื่อว่าคนร้ายต้องมาคอยเฝ้าสังเกตหลายวันแล้ว แต่คอนโดฯ ไม่ได้ติดกล้องวงจรปิดจึงไม่สามารถรู้ได้ว่าใครทำ ตำรวจบอกว่าไม่มีร่องรอยการงัดประตูเข้ามา แต่ใช้กุญแจผีไขเข้ามา หวานคิดว่าหากวันนั้นกลับห้องตามเวลาปกติอาจจะเกิดเหตุร้ายที่คาดไม่ถึงแน่นอน และหลังจากแจ้งความก็เก็บทรัพย์สินย้ายออกจากคอนโดฯ แห่งนั้นทันที
ตอนแรกที่มาอยู่คอนโดฯ แห่งนี้ นอกจากจะกลัวผีเพราะมีคนกระโดดคอนโดฯ ตายเป็นประจำแล้ว ยังต้องมากลัวพวกมิจฉาชีพอีก จึงย้ายไปอยู่คอนโดฯ ใหม่ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งมีการใช้คีย์การ์ดเข้า-ออก มีกล้องวงจรปิด และมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ไว้ใจได้ด้วย"
เช่นเดียวกับ เดือน พนักงานบริษัทเอกชน ซึ่งเคยเช่าคอนโดฯ ย่านนนทบุรี เดือนละ 3,500 บาท ได้ถูกโจรใช้เครื่องตัดลูกกุญแจที่ล็อกประตูเหล็ก ก่อนงัดลูกบิดประตูห้อง เข้ามารื้อตู้เสื้อผ้า ชั้นเก็บของ จนข้าวของกระจุยกระจายเต็มห้อง แต่คนร้ายไม่ได้สิ่งใดติดมือไปเลย
"ในห้องมีของมีค่าอยู่เพียง 2 อย่าง คือโทรทัศน์เครื่องใหญ่ที่คนร้ายไม่สามารถชนออกไปได้และกล้องที่อยู่ใต้ชั้นหนังสือ ตอนนั้นตกใจมาก ทำอะไรไม่ถูกเหมือนกัน ก็โทรไปแจ้งผู้จัดการคอนโดฯ ให้เขามาจัดการ และก็บอกให้เขาไปเรียกตำรวจมาตรวจสอบ ซึ่งกว่าจะมาได้ก็ใช้เวลานานมาก แต่ก็คิดในใจว่าดีนะที่ไม่มีของมีค่าอะไรและคอนโดฯ ตอนนั้นก็ยังไม่มีกล้องวงจรปิด มีแค่คีย์การ์ดกับรปภ. เชื่อไหมว่าตอนนั้นคดียังไม่คืบหน้าไปถึงไหนและก็ไม่มีใครติดต่อกลับมาด้วย ดีหน่อยที่หลังจากนั้นผู้จัดการจึงเอากล้องวงจรปิดขึ้นมาติดตามมุมต่างๆ เดือนคิดว่าคนร้ายน่าเป็นคนในคอนโดฯ นี่แหละ เพราะมีวัยรุ่นเดินเข้าเดินออกบ่อยๆ ตอนนี้ก็เลยต้องเซฟตัวเองด้วยการล็อกกุญแจประตูเหล็กเพิ่มเป็น 2 ชั้น และเปลี่ยนลูกบิดเป็นระบบล็อกที่เปิดยากขึ้น"
ด้าน คุณแป้ง พนักงานบริษัทเอกชนวัย 29 ปีซึ่งกำลังผ่อนคอนโดฯ ชื่อดังแห่งหนึ่งย่านปิ่นเกล้า บอกกับเราว่า แม้ว่าจะไม่เคยเจอเหตุการณ์ร้ายๆ แต่ก็จะมีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ อย่างกรณีรถเฉี่ยวชนกันบริเวณลานจอดรถของคอนโดฯ และปัญหาสิ่งของจากคอนโดฯ ตกใส่รถที่จอดอยู่ เป็นต้น ส่วนเรื่องของความปลอดภัยจากมิจฉาชีพที่จะแฝงตัวเข้ามานั้น เจ้าของห้องส่วนใหญ่จะติดตั้งระบบล็อกหลายชั้น และล่าสุดนิยมติดตั้งเครื่องเข้ารหัสผ่านเข้า-ออก
"การอยู่คอนโดฯ จะแตกต่างจากการอยู่บ้าน ที่เราต้องระวังคนแปลกหน้าที่หลากหลาย แต่การอยู่คอนโดฯ อาจต้องระวังแม่บ้านช่าง และยาม เพราะเป็นกลุ่มคนแปลกหน้าเพียงกลุ่มเดียวที่ผ่านเข้า-ออกในคอนโดฯ เพื่อนๆ ที่มาซื้อคอนโดฯ ที่นี่ จึงต้องป้องกันตัวเอง ในห้องของแป้งจะเพิ่มระบบล็อกเป็น 3 ชั้น แต่บางคนก็ลงทุนติดตั้งเครื่องเข้ารหัสการผ่านเข้า-ออกเหมือนคอนโดฯ ในซีรี่ส์เกาหลีก็สร้างความอุ่นใจได้ระดับหนึ่ง"
ป้องกันตัว ป้องกันภัยในคอนโดฯ
คุณจริญ เกสร กรรมการผู้จัดการ บริษัทลุมพินี พร็อพเพอร์ตี้ แมนแนสเมนต์ จำกัด และเป็นผู้บริหารชุมชนในคอนโดมิเนียมทุกโครงการของ LPN ได้กล่าวถึงวิธีการใช้ชีวิตในคอนโดฯ ให้ปลอดภัยและความสุขว่า "คอนโดฯ ทุกวันนี้เราจะเห็นว่ามีผู้หญิงมาพักอาศัยในคอนโดฯ เป็นจำนวนมาก เพราะผู้หญิงดูแลตัวเองได้มากขึ้น พวกเธอจึงเลือกที่จะอยู่อาศัยคอนโดฯ เป็นอันดับต้นๆ เพราะมีทั้ง รปภ. และนิติบุคคลคอยดูแลยังไงก็ปลอดภัยกว่าทาวเฮ้าส์หรือบ้านเดี่ยวแน่นอน และคอนโดฯ มีพื้นที่น้อยไม่ต้องดูแลรักษาอะไรมาก แถมใกล้แหล่งทำงาน สถานที่พักผ่อน อีกอย่างการเดินทางที่รวดเร็วและสะดวกสบาย ก็นับเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงทั้งที่ทำงานและเรียนหนังสือมาอยู่คอนโดฯ ใจกลางเมืองมากกว่าใช้เวลาเดินทางบนถนนนานเป็นชั่วโมงๆ
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นก่อนซื้อคอนโดฯ คุณต้องดูเรื่องความมีชื่อเสียงของโครงการมั้ย เราก็ต้องศึกษาให้ถ้วนถี่ แล้วบริษัทที่รับจ้างมาบริหารจัดการที่เข้ามาดูแลมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน หรือไปพูดคุยกับเจ้าของเดิมว่าเขาดูแลเป็นอย่างไรบ้าง ดีมั้ย อย่างไร ก็จะช่วยได้ในระดับแรก ตอนนี้ส่วนงานคุ้มครองผู้บริโภคเขาให้สิทธิ์ผู้อยู่อาศัยเยอะ คุณควรใช้สิทธิ์ของตัวเองให้เต็มที่
คอนโดมิเนียมฯ หนึ่ง เขามีระบบความปลอดภัยที่ได้ติดตั้งไว้ตั้งแต่แรกทั้งระบบคีย์การ์ด ระบบกล้องวงจรปิดและมีระบบบริหารจัดการโดยคนอื่นๆ มีฝ่ายจัดการ มีพนักงานรักษาความปลอดภัย ที่จะดูแลเราครึ่งหนึ่งแต่ที่สำคัญจริงๆ คือ ตัวเราเองที่เราเจ้าของร่วม ถ้าเรารับรู้ว่ามีอะไรอยู่ตรงไหน มีวิธีการจัดการอย่างไร เราเป็นเจ้าของร่วมไม่ใช่ผู้เช่าที่มาจ่ายเงินรายเดือนแล้วก็ไป เราเป็นเจ้าของห้องเรา เป็นเจ้าของพื้นที่ส่วนกลางทั้งหมด ถึงจะให้มีพนักงานรักษาความปลอดภยหรือพนักงานในคอนโดฯ มากเท่าไหร่ แต่ถ้าคุณไม่มีจิตสำนึกความเป็นเจ้าของร่วม ทุกคนก็จะอยู่ยาก อันตรายก็เกิดขึ้นง่าย แต่ถ้าทุกคนช่วยกันดูแลความปลอดภัยทั้งของส่วนตนและชุมชน อยู่แบบแบ่งปันอยู่แบบเอื้ออาทรกัน เมื่อนั้นความปลอดภัยก็จะย้อนกลับมาหาเราเอง"
ไม่มีผู้หญิงคนไหนคาดคิดว่าตัวเองอาจจะตกเป็นเหยื่อในสักวันหนึ่ง และไม่เว้นแม้แต่ที่ที่ปลอดภัยที่สุดอย่างในที่พักอาศัยของตัวเอง แต่ถึงอย่างไรผู้หญิงทุกคนก็ต้องรู้จักหาวิธีป้องกันตัวเอง เรียนรู้ และเข้าใจในภัยทุกรูปแบบ เพื่อที่จะได้รับมืออย่างชาญฉลาดและไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านั้น
ที่มา...Lisa |
|
|
|
วันที่ 7 ธ.ค. 2551
Advertisement
เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,147 ครั้ง เปิดอ่าน 7,150 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,148 ครั้ง เปิดอ่าน 7,313 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,147 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,137 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,162 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,136 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,138 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 10,054 ครั้ง |
เปิดอ่าน 9,970 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,646 ครั้ง |
เปิดอ่าน 67,118 ครั้ง |
เปิดอ่าน 16,186 ครั้ง |
|
|