ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์ เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงรายงานการวิจัยจากมหาวิทยาลัยแดนคุค เกาหลีใต้ โดยการวิเคราะห์ผลการติดตามผู้สูบบุหรี่ระยะยาว 8,000 คน จากประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย ประเทศละ 2,000 คน พบว่า ร้อยละ 68.5 ของผู้สูบบุหรี่ที่เคยพยายามเลิกสูบบุหรี่ใช้วิธีหักดิบ ที่เหลือใช้วิธีค่อย ๆ ลดการสูบลง ซึ่งผู้ที่ใช้วิธีหักดิบ เลิกสูบบุหรี่ได้ร้อยละ 22 และร้อยละ 27 ในการสำรวจ 2 ครั้ง เทียบกับผู้ที่เลิกได้โดยการค่อย ๆ ลดจำนวนที่สูบ สามารถเลิกได้เพียงร้อยละ 12 และร้อยละ 16 ตามลำดับ
ซึ่งผู้วิจัยสรุปว่า การเลิกสูบบุหรี่ด้วยการหักดิบ มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าใช้วิธีค่อย ๆ ลด พร้อมแนะนำว่าการเลิกสูบบุหรี่ควรใช้วิธีหักดิบนั้น ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า รายงานดังกล่าวสอดคล้อง กับความเชื่อที่มีมาตลอดว่า การเลิกสูบบุหรี่ต้องหักดิบ หรือเลิกสูบทันที จะมีโอกาสสำเร็จมากกว่า ซึ่งน่าจะมาจากเหตุผล ที่คนซึ่งเลิกสูบด้วยวิธีการหักดิบ มีความตั้งใจมุ่งมั่น ที่จะเลิกสูบบุหรี่มากกว่าคนที่เลือกวิธีเลิกด้วยการค่อย ๆ ลด ซึ่งในการเลิกสูบบุหรี่นั้น ความตั้งใจมุ่งมั่นเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ไม่ว่าการเลิกสูบจะเลิกด้วยตนเอง ใช้วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือการใช้ยาอดบุหรี่ช่วยด้วยก็ตาม
ข้อมูลข่าว : สำนักข่าวไทย