ศาลปกครองเป็นศาลที่จัดตั้งขึ้นใหม่เป็นเอกเทศจากศาลยุติธรรมและมีอำนาจพิจารณาพิพากษา คดีปกครองแต่เดิม ประเทศไทยมีศาลอยู่ 2 ระบบศาล คือ ศาลยุติธรรมและศาลทหาร
ในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 บัญญัติให้มีศาลเพิ่มขึ้นใหม่อีก 2 ระบบศาล คือ ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง ซึ่งเมื่อรวมกับระบบศาลที่มีอยู่เดิมแล้วเท่ากับว่าในปัจจุบัน
ประเทศไทยมีระบบศาล 4 ระบบศาล ซึ่งแต่ละระบบศาลมีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีคนละประเภทกัน
ดังต่อไปนี้คือ
(1) ศาลยุติธรรม มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่างๆ ที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลทหาร ซึ่งประเภทคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ได้แก่ คดีแพ่ง คดีอาญา คดีล้มละลาย คดีแรงงาน คดีภาษีอากร เป็นต้น
(2) ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามที่รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
(3) ศาลปกครอง มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองตามที่รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติไว้
(4) ศาลทหาร มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทหาร
ศาลปกครองเป็นศาลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีปกครองอันเป็นคดีพิพาท
ระหว่างเอกชนกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือ
เจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง และจะต้องเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางปกครอง การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
การปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร การกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
ดังนั้น คดีพิพาทระหว่างเอกชนกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นคดีแพ่ง คดีอาญา คดีแรงงาน คดีภาษีอากร จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองแต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ที่มา http://www.admincourt.go.th/06-PUBLIC_RELATIONS/b06news/c06news1/b06news11.htm