ข้าพเจ้าไปอ่านพบวิธีการทำสุ่มไก่ ของคุณ เพ็ญแข และคุณสมชัย นำมาเสนอเพื่อให้ความรู้แก่ชุมชน ดังนี้
เกริ่นนำบทความชุด “การใช้ประโยชน์ไม้และของป่า”
การใช้ประโยชน์ไม้และของป่าชุดนี้ นำเสนอเพื่อให้สอดคล้องกับแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับ “เศรษฐกิจเพียงพอ” โดยมีพื้นฐานความคิดแบบเป็นขั้นเป็นตอน โดยเริ่มจากให้อยู่รอดก่อน แล้วจึงอยู่ได้กินได้และอยู่ดีกินดีในที่สุด หรือให้พ้นความยากจนแร้นแค้นไปสู่พอกินพอมี แล้วจึงมีกินมีใช้ จากนั้นจึงค่อยเสริมความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจต่อไป หรือให้มีใช้ไม่แร้นแค้นที่เหลือจึงขาย หรือให้มีผลิตภัณฑ์ใช้สอยไม่ต้องซื้อ ที่เหลือจึงขาย หรือให้รู้ทำ ทำได้ และขายเป็น
สุ่มไก่ชน
เพ็ญแข เพิ่ม
สมชัย เบญจชย
ความเป็นมา
สุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดหนึ่งที่ประชาชนนิยมกีฬาชนไก่ จึงมีการเลี้ยงไก่ชนเป็นจำนวนมาก และอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเลี้ยงดูไก่ชนอย่างใกล้ชิดคือสุ่มไก่ ซึ่งสุ่มไก่นี้สานได้ง่าย มีราคาถูกและใช้ประโยชน์ได้ดี
การสานสุ่มไก่นี้ศึกษาที่บ้านนางสงวน ดาววิจิตร เลขที่ 160 หมู่ที่ 10 ต.ปากแพรก อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งสามีนางสงวนฯ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) สานสุ่มไก่เป็นคนแรกในหมู่บ้านเมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว ปัจจุบันลูก ๆ นางสงวน ฯ ยังคงสานสุ่มไก่เป็นอาชีพเสริมจากการทำสวนยางพารา ซึ่งมีฝีมือดีสานสุ่มไก่ได้รวดเร็วชนะเลิศในงานประจำปีของจังหวัดสุราษฎร์ธานีเมื่อปี 2538 สำหรับหมู่บ้านนี้ทำกัน 4 ครอบครัว นอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านใกล้เคียงที่สานสุ่มไก่ด้วย ซึ่งได้รับการฝึกสอนจากบ้านนางสงวนฯ นี้
ไผ่ตะเกียบ
ไผ่ตะเกียบ คุณสมบัติมีความเหนียวและอ่อนตัวได้ดี ไผ่ตะเกียบที่นำมาจักสานสุ่มไก่มีอายุประมาณ 5 ปี แหล่งที่มาเก็บหาภายในหมู่บ้านซึ่งมีเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่รับซื้อจากหมู่บ้านอื่น ราคาลำละ 4 บาท แต่ละลำมีความยาวประมาณ 8 ม.
เครื่องมือและอุปกรณ์
1. เลื่อยคันธนู ใช้เลื่อยตัดข้อปลายลำไผ่ และเลื่อยตัดปากสุ่มเมื่อสานสุ่มไก่เสร็จแล้ว
2. มีดพร้า ใช้ผ่าลำไผ่และเหลาจักตอกไผ่เพื่อแยกส่วนในและส่วนผิวของไผ่ ซึ่งส่วนผิวที่ใช้งานจะมีความเหนียว ง่ายต่อการจักสาน
3. ค้อน ใช้ตอกตะขอข้อไผ่หลักหมุดยึดส่วนหัวสุ่มไก่เมื่อสานขึ้นรูป
วิธีการจักสาน
1. การจักตอกไผ่
1.1 ใช้เลื่อยคันธนูเลื่อยตัดข้อปล้องแรกของไผ่ทิ้งเพื่อให้ผ่าลำไผ่ได้สะดวก
1.2 ผ่าลำไผ่ออกมาเป็นเส้น ๆ
1.3 จักตอกเส้นไผ่เป็นตอกยืน ตอกยาว และตอกไผ่ตีน (ส่วนข้อไผ่ที่มีตาไผ่) ความกว้างของตอกแต่ละแบบโดยประมาณ คือ ตอกยืน 1.3–1.7 ซม. ตอกยาว 0.8 ซม.และตอกไผ่ตีน 1.6–2.0 ซม. ซึ่งไผ่หนึ่งลำเหลาจักตอกได้ตอกยืนใช้สานสุ่มไก่ได้ 1 ใบ และตอกยาวสานสุ่มไก่ได้ 2 ใบ
1.4 ส่วนที่เป็นข้อไผ่นำมาเหลาเป็นตะขอข้อไผ่หลักหมุดยึดหัวสุ่ม เพื่อไม่ให้สุ่มขยับเขยื่อนในขณะสานขึ้นรูป
2. การสานสุ่มไก่
2.1 เริ่มจากสานตอกยาวและตอกยืนเป็นหัวสุ่มแบบลายขัด
2.2 ใช้ค้อนตอกตะขอข้อไผ่หลักหมุดยึดหัวสุ่มบนพื้นดินลานกว้าง เพื่อยึดสุ่มไก่ไว้ใน การสานขึ้นรูป
2.3 ใช้ตอกยาวสานรอบ ๆ สุ่มไก่เพื่อขึ้นรูปแบบลายหนึ่ง (ยกหนึ่งข้ามหนึ่ง) โดยจุดเริ่มต้นของตอกยาวแต่ละเส้นเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ เพื่อให้สุ่มไก่ได้รูปทรงกลม
2.4 สานตีนสุ่มไก่ โดยใช้ตอกไผ่ตีนประมาณ 5 เส้น
2.5 ใช้เลื่อยคันธนูเลื่อยตัดส่วนตอกยืนที่ยื่นยาวตีนสุ่มไก่ทิ้งไป
ตลาด
สุ่มไก่ชนที่ทำมี 3 ขนาด คือ เล็ก กลาง และใหญ่ โดยทั่วไปนิยมขนาดกลาง ขายปลีกราคา 70, 80 และ 110 บาท ตามลำดับ หากส่งไปให้จะคิดเพิ่มลูกละ 10 บาท ที่บ้านนางสงวน ฯ มีลูกชาย 2 คนและลูกเขย 1 คน รวม 3 คน ในแต่ละเดือนสามารถสานสุ่มไก่ได้ 100-120 ลูก อายุการใช้งานสุ่มไก่ประมาณ 3 ปี แต่โดยทั่วไปสุ่มไก่แต่ละลูกจะใช้เพียง 1 ปีเท่านั้น
ปัญหา
ไผ่หายากและขาดแคลนไผ่
ข้อเสนอแนะ
ต้องการให้มีการส่งเสริมปลูกไผ่บริเวณรั้วริมบ้าน
************************
ภาพประกอบบทความ
1.ไผ่ตะเกียบที่ใช้จักสานสุ่มไก่
2.การจักตอกทำสุ่มไก่
3.การสานลายขัดหัวสุ่มไก่
4.การสานขึ้นหัวสุ่มไก่
5.การสานขึ้นรูปแบบลายหนึ่งรอบ ๆ สุ่มไก่
6.การสานตีนสุ่มไก่(คนในสุ่มไก่กำลังถอนข้อไผ่ตะขอหลักหมุดเมื่อสานสุ่มไก่เสร็จแล้ว)
7.การเลื่อยตัดปลายตอกยืนตีนสุ่มไก่ที่ยื่นยาวทิ้งไป
8.สุ่มไก่ที่แล้วเสร็จ
**************************
http://www.dnp.go.th/fca16/file/5lizsdubkxmv9te.DOC