คุณแม่ส่วนใหญ่มักประสบปัญหาการไม่สามารถรู้สาเหตุที่แท้จริงในการส่งเสียง "อ้อแอ้" ของลูก ทำให้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการในสิ่งที่ลูกสื่อสารออกมาได้ถูกต้อง ทำให้ลูกร้องไม่หยุด ส่งผลกระทบต่อทั้งตัวคุณแม่และต่อพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจของลูก
แท้จริงแล้วเสียงของเด็ก คือ "ภาษาเด็กทารก" เพื่อสื่อสารบอกความรู้สึก ความต้องการบางอย่าง เช่น รู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว หิวหรือกระหายน้ำ ง่วงนอน และอยากเรอ
พริสซิล่า ดันสแตน ผู้เชี่ยวชาญการสื่อสารภาษาเด็กทารก และแบรนด์แอมบาสเดอร์แป้งเด็กแคร์ แนะนำทักษะในการฟังเสียงภาษาเด็กทารก จากการศึกษาของ พริสซิล่า ดันสแตน พบว่าเด็กทารกไทยวัยแรกเกิดถึง 6 เดือน จะสื่อสารด้วยภาษาสากล (Universal words) ซึ่งเป็นเสียงที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกวันทั้งหมด 4 เสียง ดังนี้
เสียง "เฮะ"
ถือเป็นเสียงที่เด็กทารกร้องบ่อยที่สุด เพื่อบอกคุณแม่ว่ากำลังรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัวอันเกิดจากความเปียกชื้น, ร้อน, เหนียวตัว เสียง "เฮะ" เป็นเสียงที่ลมออกมาจากปอด ลักษณะของการออกเสียงคืออ้าปากกว้าง มีการสั่นที่เส้นเสียงคล้ายเวลาที่ผู้ใหญ่รู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว แล้วร้องออกมาว่า "เฮ้อ" เสียงจะออกมาจากปอดจนสุดเสียง แต่เด็กจะร้องสั้นกว่าเป็นเสียงเฮะ
|
วิธีตอบสนองความต้องการเมื่อลูกร้อง "เฮะ"
1. ลดอุณหภูมิร่างกายของลูกด้วยการถอดเสื้อที่หนาออกหรืออาบน้ำ
2. ทาแป้งเพื่อป้องกันความเปียกชื้นเพื่อให้ลูกรู้สึกแห้งและสบายตัว
เสียง "เอะ"
บอกถึงอาการที่ลูกน้อยมีลมในท้อง เป็นเสียงที่ลมจะออกมาจากกระเพาะอาหารหรือลำไส้ส่วนต้น ลักษณะการออกเสียงจะอ้าปากกว้างและปล่อยลมออกมาคล้ายเสียงสระแอในภาษาไทย เหมือนกับเสียงผู้ใหญ่เรอเมื่อมีลมหรือแก๊สอยู่ในท้อง ซึ่งไม่จำเป็นต้องร้องหลังจากทานนมเท่านั้น แต่เป็นเสียงที่เกิดขึ้นระหว่างวันได้เรื่อยๆ
วิธีตอบสนองความต้องการเมื่อลูกร้องเสียง "เอะ"
1. อุ้มลูกให้นั่งตัวตรง ลูบหรือตบหลังลูกเบาๆ
2. อุ้มลูกอยู่ในระดับบ่า ลูบหลังเบาๆ ถ้าเด็กเรอยากให้อุ้มเด็กสูงขึ้นให้ท้องพาดบริเวณกระดูกหัวไหล่ของแม่ นวดช่องท้องเบาๆ ระวังอย่าทำตอนเด็กเพิ่งทานอาหารเสร็จ เพราะอาจอาเจียนออกมาได้
3. อุ้มลูกในท่ายืนอยู่ในระดับบ่า ตบหลังเบาๆ
4. ให้ลูกนั่งตัวตรง จับบริเวณหลังและคอ จากนั้นโยกตัวลูกเบาๆ เป็นวงกลม กรณีเด็กเรอยาก ให้คุณแม่นั่งท่าไขว่ห้างวางเด็กโดยให้ท้องพาดบริเวณหน้าขาแล้วโยกเบาๆ หมุนไปรอบๆ ลูบหลังเบาๆ
เสียง "อาว"
หมายความว่าหนูกำลังง่วงนอน ลักษณะการออกเสียงอาวจะอ้าปากและห่อปากลงเหมือนการดูดงับเอาออกซิเจนเข้าไปในปาก แล้วใส่เสียงเข้าไปเป็นอาวเหมือนกับเสียงของผู้ใหญ่เวลาหาว ถือเป็นการเอาออกซิเจนเข้าไปเพื่อให้ร่างกายตื่นตัวขึ้น
สำหรับเด็กไทยเนื่องจากคุณแม่จะอุ้มอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการออกเสียงอาวจึงหมายถึงอยากให้คุณแม่โยกมากขึ้นเพื่อให้รู้สึกหลับสบาย
วิธีตอบสนองความต้องการเมื่อลูกร้องเสียง "อาว"
1. นั่งอุ้มลูกแนบกับอก โยกตัวช้าๆ แต่สม่ำ เสมอ
2. ยืนอุ้มลูกแนบกับอก โยกตัวช้าๆ เป็นจังหวะสม่ำเสมอ
3. คุณแม่ยืนอุ้มพาดบ่า ขาตั้งข้างหน้าไว้ด้านหนึ่ง โยกตัวเบาๆ ท่านี้จะเหมาะกับเด็กที่ร้อง "เอะ" บ่อยๆ เนื่องจากมีลมในช่องท้อง เพราะจะเป็นการไล่ลมไปในตัวด้วย
เสียง "อึนเนะ"
หมายความว่าลูกกำลังกระหายน้ำหรือหิวนม ลักษณะของเสียงอึนเนะจะขึ้นอยู่กับการทำงานของลิ้นว่าใช้ปลายลิ้น กลางลิ้น หรือโคนลิ้นในการออกเสียง และจะมีลมออกจากทางจมูกมากกว่าทางปากเหมือนเสียงขึ้นจมูกนิดหน่อย ร่วมกับเสียงของการดูดตรงเพดานปาก ส่วนเสียงที่ออกมาจะคล้ายกับเสียง น หนู คือเสียงอึนเนะ ซึ่งเป็นเสียงจากโคนลิ้นนั่นเอง
วิธีตอบสนองความต้องการเมื่อลูกร้องเสียง "อึนเนะ"
1. อุ้มลูกไว้แนบอก กอดลูกไว้ขณะให้นมลูก
2. อุ้มลูกไว้แนบอก ใช้หมอนรองตัวลูกเอาไว้ และยังสะดวกในการให้นมของแม่
3. คุณแม่นั่งอุ้มลูกแนบข้างลำตัวให้นม ใช้หมอนรองตัวลูกเอาไว้ ท่านี้ยังเพิ่มความอบอุ่นให้ลูกน้อย
4. ขณะให้นมควรสบตาลูกน้อยเพื่อเพิ่มสายใยความรัก
5. ประเทศไทยอากาศร้อนอบอ้าว ควรให้น้ำในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อความสดชื่น
ขอบคุณที่มา ข่าวสดรายวัน หน้า 25