ประเพณีไหว้บรรพบุรุษของชาวใต้ที่ได้รับการสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งถ่ายทอดให้เห็นถึงการระลึกถึงและแสดงความกตัญญูต่อผู้ล่วงลับ
ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีของคนภาคใต้ โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราช ที่ได้รับอิทธิพลทางความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ผสมกับศาสนาพุทธ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่วิญญาณของบรรพชนและญาติผู้ล่วงลับที่จะถูกปล่อยตัวออกมาจากการถูกจองจำในนรกทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เพื่อกลับมายังโลกมนุษย์ เพื่อขอส่วนบุญแก่ลูกหลานและญาติพี่น้องที่พวกเขาจะเตรียมการอุทิศเพื่อแสดงความกตัญญูต่อผู้ล่วงลับนั้น และจะกลับสู่นรกในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10
โดยจะมีระยะเวลาในการประกอบพิธีกรรมดังกล่าวในช่วงวันแรม 1 ค่ำ ถึงแรม 15 ค่ำเดือนสิบของทุกปี แต่ชาวใต้ก็มักจะนิยมทำบุญกันในวันแรม 13-15 ค่ำ ซึ่งประเพณีสารทเดือนสิบนี้ส่วนใหญ่มักจะตรงกับเดือนกันยายน
ความเป็นมานั้นเริ่มมาจาก “งานเทศกาลเดือนสิบ” ที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2466 ณ สนามหน้าเมือง นครศรีธรรมราช เพื่อหาเงินสร้างสโมสรข้าราชการที่มีสภาพชำรุดเป็นอย่างมาก ด้วยความร่วมมือของ พระภัทรนาวิก จำรูญ (เอื้อน ภัทรนาวิก) นายกศรีธรรมราชสโมสร และพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งจัดในรูปแบบงานประจำปี 3 วัน 3 คืน มีการออกร้าน และมหรสพต่างๆ
การจัดงานเทศกาลเดือนสิบนี้ เป็นความพยายามที่มนุษย์อยากมุ่งทดแทนคุณของบรรพบุรุษ ที่แม้ว่าจะล่วงลับไปแล้วก็ตาม ทั้งยังสะท้อนถึงเรื่องเปรต ให้สำนึกถึง บาปบุญคุณโทษ รวมถึงการแสดงความกตัญญูอีกด้วย
วันสารท เป็นวันที่เชื่อสืบกันมาว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีโอกาส ได้กลับมารับส่วนบุญ จากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ จึงได้มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศล ไปให้บรรบุรุษในวันนี้ และเชื่อว่าหากทำบุญอุทิศส่วนกุศลในวันนี้แล้วนั้น ญาติจะได้รับส่วนบุญอย่างเต็มที่ มีโอกาสหมดหนี้กรรม และได้ไปเกิดหรือมีความสุข
อีกทั้ง สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ทำนาเป็นอาชีพหลัก ในช่วงเดือนสิบนี้ ได้ปักดำข้าวกล้าลงในนาหมดแล้ว กำลังงอกงาม และรอเก็บเกี่ยวเมื่อสุก จึงมีเวลาว่างพอที่จะทำบุญ เพื่อเลี้ยงตอบแทน และขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือแม่พระโพสพ หรือ ผีไร่ ผีนา ที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดีและออกรวงจนสุกให้เก็บเกี่ยวได้ผลผลิตมาก
การทำบุญสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่ชาวเมืองนครศรีธรรมราช ได้ถือปฏิบัติด้วยศรัทธาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ โดยปลายเดือนสิบของแต่ละปี เป็นระยะที่พืชพันธุ์ธัญญาหารในท้องถิ่นออกผล ประกอบกับความเชื่อที่ว่า ในระยะเดียวกันนี้เปรตที่มีชื่อว่า “ปรทัตตูปชีวีเปรต” จะถูกปล่อยขึ้นมาจากนรก เพื่อมาร้องขอส่วนบุญต่อลูกหลาน ญาติพี่น้อง เหตุนี้ ณ โลกมนุษย์ จึงได้มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย พี่น้อง ลูกหลาน ที่ล่วงลับไป โดยการจัดอาหารคาวหวาน วางไว้ที่บริเวณวัด เรียกว่า “ตั้งเปรต” ตามพิธีไสยเวทอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้พัฒนาเป็น “การชิงเปรต”
ประเพณีสารทเดือนสิบนอกจากจะมุ่งให้ความสำคัญกับการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว แต่ด้วยวิถีชีวิตของชาวนครศรีธรรมราช ที่นับถือพุทธศาสนาและอยู่ในสังคมเกษตรกรรม จึงยังมุ่งที่จะทำบุญ โดยการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเป็นอาหารถวายแด่พระสงฆ์ รวมถึง การจัดสำรับแบบ “สลากภัต” หรือถวายเสบียงแด่พระในช่วงเข้าพรรษาในฤดูฝน ทั้งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย รวมถึงเพื่อมุ่งแสดงถึงความสนุกสนานรื่นเริงประจำปี โดยการจัด “งานเดือนสิบ” ซึ่งจัดควบคู่กับประเพณีสารทเดือนสิบ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2466 จนถึงปัจจุบัน
การทำบุญวันสารทเดือนสิบ หรือท้องถิ่นเรียก วันชิงเปรตนั้น ในเดือนสิบ )กันยายน) จะ มีการทำบุญที่วัด 2 ครั้ง
- ครั้งแรก วันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบเรียกว่า วันรับเปรต
- ครั้งที่สอง วันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบเรียกว่า วันส่งเปรต
การทำบุญทั้งสองครั้ง แสดงถึงความกตัญญูต่อบุพการีผู้ล่วงลับ โดยอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ตกอยู่ในนรก ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น รวมถึงยังนิยมไปทำบุญ ณ วัดที่เป็นภูมิลำเนาของตน เพื่อร่วมพิธีตั้งเปรต และชิงเปรต หรืออาจสลับกันไปทำบุญ ณ ภูมิลำเนาของฝ่ายบิดาครั้งหนึ่ง ฝ่ายมารดาครั้งหนึ่ง ถือเป็นการกลับมาพบปะสังสรรค์กับญาติพี่น้องในอีกทางหนึ่ง
ก่อนวันงาน ชาวบ้านจะทำขนม กระยาสารท และขนมอื่นๆ แล้วแต่ความนิยมในแต่ละท้องถิ่น เมื่อถึงวันงานชาวบ้านจะจัดแจงนำข้าวปลาอาหาร และข้าวกระยาสารทไปทำบุญตักบาตรที่วัดประจำหมู่บ้าน ทายก ทายิกาไปถือศีล เข้าวัด ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีล นำข้าวกระยาสารท หรือขนมอื่น ไปฝากซึ่งกันและกันที่บ้านใกล้เรือนเคียง หรือเหล่าญาติมิตรที่อยู่บ้านไกล หรือเยี่ยมเยียนถามข่าวคราวกัน อีกทั้ง ในบางท้องถิ่นมีการทำขนมสำหรับบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม่พระโพสพ ผีนา ผีไร่ด้วย เมื่อถวายพระสงฆ์เสร็จก็จะนำไปบูชาตามไร่นา โดยวางตามต้นไม้กิ่งไม้ หรือที่ที่จัดไว้เพื่อการนั้นโดยเฉพาะ
ขอบคุณที่มาจาก BRIGHT TV