ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมเรื่องราวจากสมาชิก  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

ระบบนิเวศป่าชายเลน


เรื่องราวจากสมาชิก เปิดอ่าน : 7,473 ครั้ง
Advertisement

ระบบนิเวศป่าชายเลน

Advertisement

ระบบนิเวศป่าชายเลน
สถานการณ์ป่าชายเลนของประเทศไทย
“...ป่าไม้ชายเลนนี้สำคัญที่สุด เพราะว่าเป็นที่ที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพราะพวกเราเองก็รับประทานปลา แล้วทานปู ทานกุ้งกันเยอะแยะ เพราะฉะนั้นป่าชายเลนนี้สำคัญในการที่จะรักษาเอาไว้เพื่อรักษาพันธุ์ปลา พันธุ์กุ้ง ปู ให้มีมากเหมือนแต่เก่าก่อน ขณะนี้ป่าชายเลนถูกทำลายมากมายก่ายกอง เราน่าจะสอนลูกหลานเราให้รู้ถึงคุณค่าของป่าชายเลนที่มีประโยชน์ต่อคนไทยในแผ่นดินนี้ด้วยที่ช่วยเก็บรักษาอาหาร เช่น พืช พันธุ์ปลาต่างๆ ที่ข้าพเจ้าคิดเอาเองว่า เอ๊ะพวกเรานี้รู้สึกยังรักแผ่นดินนี้น้อยไป ไม่สมกับที่เราได้ประโยชน์มากมายจากแผ่นดินนี้ พวกเรายังรู้จักคุณค่าของแผ่นดินนี้น้อยไป ไม่รู้จักถนอม ไม่รู้จักดูแลให้แผ่นดินที่เป็นแผ่นดินทอง ตลอดมีทรัพยากรที่มีอาหารสำหรับเลี้ยงคนไทยตลอด โดยไม่กลายเป็นบ้านเมืองที่อดอยาก แห้งตาย...”
กระแสพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
13 สิงหาคม พ.ศ. 2544
ความหมายของป่าชายเลน
          สนิท อักษรแก้ว (2538 :30) ให้ความหมายของป่าชายเลนว่า ป่าชายเลน เป็นระบบนิเวศที่ประกอบไปด้วยพืชพันธุ์นานาชนิด และสัตว์นานาพันธุ์ ดำรงชีวิตร่วมกันในสภาพแวดล้อมที่เป็น ดินเลน น้ำกร่อย และมีน้ำทะเลท่วมถึงสม่ำเสมอ ดังนั้นจึงพบป่าชายเลนปรากฏอยู่ทั่วไปตามบริเวณที่ราบชายฝั่งทะเล ปากน้ำ ทะเลสาบ และรอบเกาะแก่งต่างๆ
ป่าชายเลนมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ป่าโกงกาง” โดยเรียกชื่อตามชนิดไม้ที่มีมากและมีบทบาทที่สำคัญที่สุดในระบบนิเวศป่าชายเลน “ไม้โกงกาง” ซึ่งไม้ชนิดนี้มีลักษณะพิเศษ คือรากที่ติดลำต้นจะโก่งกางลงสู่พื้นดิน หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “รากค้ำจุน” นั่นเอง
           สนิท อักษรแก้ว (2532 : 1) ได้รวบรวมคำนิยามที่เกี่ยวข้องกับป่าชายเลนไว้ดังนี้
Schimper (1930) ได้ให้ความหมาย “ป่าชายเลน” หรือ “mangrove forest” ไว้ว่า เป็นสังคมพืชที่ขึ้นอยู่ตามบริเวณชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำ หรือ อ่าว ซึ่งเป็นบริเวณที่มีระดับน้ำทะเลท่วมถึงในช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุด และให้ชื่อป่าชายเลน อีกอย่างหนึ่งว่า “tida forest” ศาสตราจารย์ Du (1962) ให้ความหมาย “ป่าชายเลน” หมายถึง สังคมพืชที่ประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิด หลายตระกูล และเป็นพวกที่มีใบเขียวตลอดปี (Evergreen species) ซึ่งมีลักษณะทางสรีรวิทยาและความต้องการ สิ่งแวดล้อมที่คล้ายกัน และ Macanae (1998) ให้ความหมาย “ป่าชายเลน” หมายถึง กลุ่มของสังคมพืชที่ขึ้นอยู่บริเวณปากอ่าว ชายฝั่งทะเลบริเวณเขตร้อน (tropical region) ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยพันธุ์ไม้สกุลโกงกาง (Rhizopora) เป็นไม้สำคัญ และมีไม้ตระกูลอื่นปะปนอยู่บ้าง
         สรุปได้ว่า ป่าชายเลนหรือป่าโกงกาง (Mangrove forest หรือ intertidal forest) หมายถึง สังคมพืชที่จัดอยู่ในป่าประเภทไม่ผลัดใบ สามารถทนต่อความเค็มของนำทะเลได้ดีประกอบด้วย พันธุ์ไม้หลายชนิด หลายตระกูลและเป็นพวกที่มีใบเขียวตลอดปี ซึ่งมีลักษณะทางสรีรวิทยาและความต้องการสิ่งแวดล้อมที่คล้ายกันและยังหมายถึงกลุ่มของสังคมพืชที่ขึ้นอยู่บริเวณปากแม่น้ำ ชายฝั่งทะเลหรืออ่าว ซึ่งเป็นบริเวณที่มีระดับน้ำทะเลท่วมถึงในช่วงที่มีน้ำทะเลขึ้นสูงสุด ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยพันธุ์ไม้สกุลโกงกางเป็นไม้สำคัญและมีไม้ตระกูลอื่นปะปนอยู่ด้วย

ถิ่นกำเนิดของป่าชายเลน
            ป่าชายเลนจะพบเห็นทั่วไปตามพื้นที่ชายฝั่งทะเล บริเวณปากน้ำ อ่าว ทะเลสาบ ลำคลองและเกาะที่มีน้ำทะเลท่วมถึง ทำเลที่เหมาะสมที่สุดสำหรับป่าชายเลนนั้นจะต้องเป็นท้องอ่าวที่มีน้ำนิ่งๆและมีแม่น้ำสายใหญ่ๆไหลลงมา ดังนั้นเมื่อกระแสน้ำในแม่น้ำไหลลงมาปะทะเข้ากับกระแสน้ำทะเล กระแสน้ำในแม่น้ำก็จะเบาลงและหยุดนิ่ง เมื่อน้ำนิ่งโคลนเลนและวัตถุธาตุต่างๆซึ่งไหลปะทะกับกระแสน้ำก็จะจมลง ทำให้เกิดแผ่นดินโคลนหรือเลนผืนใหญ่ขึ้นในบริเวณท้องอ่าวนั้น แผ่นดินเลนนั้นจะมีร่องน้ำหรือทางน้ำไหลจากแม่น้ำลำคลองออกสู่ทะเลมากมาย เมื่อเวลาน้ำทะเลขึ้นหรือลง น้ำทะเลจะไหลผ่านร่องน้ำหรือทางน้ำนี้เสมอๆ เราจะมองเห็นแผ่นดินเลนและร่องน้ำนี้ได้ชัดเจนในเวลาน้ำลงมากๆโคลนหรือเลนนี้มีลักษณะเหมาะสมแก่พันธุ์ไม้ต่างๆที่ชอบขึ้นตามป่าชายเลน เช่น ไม้โกงกาง ไม้ลาน ไม้ประสัก ไม้รังกระแทหรือรุ่ย ไม้แสม ไม้โปรง ไม้ฝาด ฯลฯ อย่างยิ่ง เนื่องจากไม้เหล่านี้สามารถแพร่พันธุ์ด้วยเมล็ดโดยทางน้ำได้เป็นระยะทางไกลๆโดยไม่เป็นอันตรายหรือเสียหายแต่อย่างใด ฉะนั้น เมื่อเมล็ดของไม้เหล่านี้ลอยไปติดอยู่ตามแผ่นดินโคลนหรือเลนที่เกิดใหม่มันจะงอกงามขึ้นทันที (http://www.talaythai.com)
สรุปได้ว่า ป่าชายเลนส่วนใหญ่มักพบเห็นทั่วไปตามพื้นที่ชายฝั่งทะเลบริเวณปากน้ำ อ่าว ทะเลสาบ ลำคลองและเกาะที่มีน้ำทะเลท่วมถึง ทำเลที่เหมาะสมที่สุดสำหรับป่าชายเลนจะต้องเป็นท้องอ่าวที่มีน้ำนิ่งและมีแม่น้ำสายใหญ่ๆไหลลงมา

ความสำคัญของป่าชายเลน
              สนิท อักษรแก้ว (2538 : 35-36) กล่าวถึงคุณประโยชน์ของป่าชายเลนว่าป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่มีคุณค่ามหาศาล และมีความสำคัญต่อมนุษย์หลายรูปแบบ คุณประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ การใช้ประโยชน์จากไม้ชายเลนเพื่อการเผาถ่าน ต้นไม้ในป่าชายเลนปลูกง่าย โตเร็ว จึงมีรอบตัดฟืนน้อยกว่าต้นไม้ในป่าชายเลนหลายเท่า ไม้ป่าชายเลนนอกจากจะใช้เผาถ่าน ยังมีการใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ คือ เป็นไม้ฟืน ไม้เสาเข็ม ไม้ค้ำยัน ไม้ก่อสร้าง แพปลา อุปกรณ์การประมง และเฟอร์นิเจอร์ ป่าชายเลนยังเป็นแหล่งยังชีพของประชาชนยากไร้ที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเล โดยช่วยเอื้ออำนวยปัจจัยในการดำรงชีพหลายประการ เช่น หลักไม้สำหรับใช้อุปกรณ์จับสัตว์น้ำ เปลือกไม้บางชนิดใช้ย้อมแห และอวนให้คงทน น้ำผึ้งจากรังผึ้งในป่าชายเลน ผลจากการใช้รับประทาน ใบจาก ใช้มวนยาสูบและมุงหลังคา ตัวหนอนและสัตว์น้ำในป่าชายเลนเป็นอาหาร พืชบางอย่าง เช่น เหงือกปลาหมอ ตาตุ่ม เป็นยารักษาโรค เป็นต้น นอกจากนั้นประชาชนเหล่านี้ยังประกอบอาชีพการประมงชายฝั่งโดยการจับสัตว์น้ำในป่าชายเลนอีกด้วย
               ป่าชายเลนยังทำหน้าที่เสมือนเขื่อนป้องกันคลื่นจากทะเลที่สามารถซ่อมแซมตนเองได้ เมื่อได้รับความเสียหายจากพายุ ป่าชายเลนช่วยกันความรุนแรงของพายุจนไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ และระบบนิเวศที่อยู่บริเวณถัดเข้ามาส ประชาชนที่ปลูกบ้านเรือนตามชายฝั่งทะเลจึงมักจะปลูกไม้ชายเลนไว้เป็นแนวแน่นถึบ เพื่อช่วยบรรเทาวาตภัยที่เกิดขึ้นเสมอ ในขณะเดียวกันป่าชายเลนยังทำหน้าที่ดักกรองสารปฏิกูลและสารมลพิษต่างๆ จากบนบกไม่ให้ลงสู่ทะเล โลหะหนักหลายชนิดเมื่อถูกพัดพามาตาม กระแสน้ำก็จะตกตะกอนลงที่บริเวณดินแลนในป่าชายเลน ขยะและคราบน้ำมันต่างๆ ก็จะถูกดักกรองไว้ในป่าชายเลนเช่นกัน นอกจากนั้นการที่ป่าชายเลนปรากฏอยู่ตามที่ราบชายฝั่งทะเลและปากแม่น้ำ แนวป่าชายเลนจะช่วยบรรเทาความเร็วของกระแสน้ำลง ทำให้ตะกอนดินที่พัดพามากับกระแสน้ำตกตะกอนทับถมเกิดแผ่นดินงอกขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่าป่าชายเลนช่วยเพิ่มพื้นที่ประเทศ ป่าชายเลนเป็นที่อยู่อาศัยวางไข่ หาอาหาร เจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อนหลายชนิดโดยเฉพาะสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เช่น ปูทะเล ปลากระบอก ปลากะรัง หอยนางรม ฯลฯ
                นอกจากนั้น ป่าชายเลนยังมีความสำคัญในฐานะแหล่งผลิตสารอินทรีย์ระบบนิเวศชายฝั่งทะเลอื่นๆ และมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชนิดกับระบบนิเวศหญ้าทะเล และแนวปะการัง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหลายชนิดในบริเวณป่าชายเลนในลำคลองหน้าป่าชายเลน หรือบริเวณหาดเลนชายฝั่งทะเล เช่น กุ้งกุลาดำ ปลากะพง ปลากะรัง หอยนางรม หอยแครง ฯลฯ ล้วนแต่ต้องพึ่งพาสารอาหารจากป่าชายเลนทั้งสิ้น นอกจากนั้นการที่ป่าชายเลนมีลักษณะพิเศษหลายอย่างและความงดงามอุดมไปด้วยพรรณไม้นานาชนิดที่มีใบ ดอก และผลสวยงาม อีกทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ชนิดต่างๆ ที่มีลักษณะสีสัน สวยงาม เช่น ปูก้ามดาบ และยังมีลำคลองลดเลี้ยวไปมา ทำให้ป่าชายเลนเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญอย่างยิ่ง เช่น อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพีพี อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร เป็นต้น โดยป่าชายเลนจะเพิ่มความสวยงามแปลกตาให้แก่ทิวทัศน์บริเวณชายฝั่งทะเลได้เป็นอันมาก

               สนใจ หะวานนท์ (2540 : II - 11) มีความเห็นว่า ป่าชายเลนแม้ว่าจะมีเนื้อที่เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับป่าบก แต่ทว่าป่าชายเลนนับวันจะมีความสำคัญขึ้นต่อชีวิตประชากร และเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ทั้งนี้เพราะว่าป่าชายเลนเป็นที่รวมของสังคมพืช สัตว์น้ำ และสัตว์บกนานาชนิด ป่าชายเลนนับว่าเป็นระบบนิเวศที่มีคุณค่ามหาศาล โดยผลผลิตที่ได้จากป่าชายเลนซึ่งช่วยเพิ่มเศรษฐกิจของประเทศได้มากก็คือ การนำไม้จากป่าชายเลนมาใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆ กันหลายรูปแบบ ที่นิยมกันอย่างกว้างขวางก็คือ การเผาถ่าน โดยเฉพาะการนำไม้โกงกางมาทำเป็นถ่าน ซึ่งถ่านที่ได้จากไม้โกงกางถือว่าเป็นถ่านที่มีคุณภาพดี ให้ความร้อนสูงเมื่อเทียบกับถ่านที่ได้มาจากไม้ชนิดอื่นๆ ไม้ในป่าชายเลนนอกจากจะนำมาทำเป็นถ่านแล้ว ยังนำไปทำเสาเข็ม ไม้ค้ำยัน สร้างบ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์ และไม้จากป่าชายเลนยังนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ทางอุตสหากรรมเกี่ยวกับการกลั่นไม้หรือสกัดสารเคมีที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะผลผลิตด้านแทนนิน เมททิลแอลกอฮอล์ กรดน้ำส้ม และน้ำมันดิน นอกจากนี้ ไม้ป่าชายเลนหลายชนิดยังสามารถใช้เป็นสมุทรไพรได้อีกด้วย ป่าชายเลนยังมีบทบาทสำคัญในการรักษากำลังผลิตของประมงชายฝั่ง โดยซากพืชที่เป็นเศษไม้ ใบไม้เมื่อร่วงหล่นลงแล้วจะย่อยสลายกลายเป็นอาหารปฐมภูมิในระบบนิเวศป่าชายเลน ทำให้มีแพลงตอนพืช และแพลงตอนสัตว์เป็นปริมาณมาก ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำขนาดใหญ่
จากความสำคัญดังกล่าวทำให้ป่าชายเลนเป็นแหล่งยังชีพของประชากรที่อยู่ตามชายฝั่งทะเล ซึ่งอาศัยรายได้จากการทำประมงขนาดเล็ก และการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์น้ำตามชายฝั่งนอกจากนี้ ป่าชายเลนมีบทบาทสำคัญในการป้องกันพื้นที่ชายฝั่งทะเล โดยจะช่วยลดความรุนแรงของคลื่นและลมพายุไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อระบบนิเวศ และช่วยป้องกันการกัดเซาะดินที่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเลไม่ให้มีการพังทลาย เป็นแหล่งดักตะกอน สารปฏิกูล และสารมลพิษต่างๆ จากบนบกไม่ให้ลงสู่ทะเล โดยรากของต้นไม้ในป่าชายเลนที่งอกออกมาเหนือพื้นดินจะทำหน้าที่คล้ายตะแกรงธรรมชาติคอยกลั่นกรองสิ่งของต่างๆ ที่มากับกระแสน้ำ นอกจากนี้ป่าชายเลนยังช่วยทำให้แผ่นดินบริเวณชายฝั่งทะเลงอกขยายตัวออกไปทะเล โดยรากของต้นไม้ในป่าชายเลนจะช่วยทำให้ตะกอนที่แขวนลอยมากับน้ำตกทับถมเป็นหาดเลนงอกใหม่ อันเหมาะแก่การเกิดของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนและการเพาะเลี้ยงประมงชายฝั่งได้เป็นอย่างดี
              จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สรุปได้ว่าป่าชายเลนเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่ามหาศาลและมีความสำคัญยิ่งในการรักษาดุลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล เป็นแหล่งดักตะกอน สารปฏิกูล และสารมลพิษช่วยทำให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดี ช่วยลดความรุนแรงของคลื่นและลม ตลอดจนมีความสำคัญและคุณค่าต่อสังคมและเศรษฐกิจของชาติด้วย

พันธุ์ไม้ป่าชายเลน 
               พันธุ์ไม้ป่าชายเลนในประเทศไทยมีหลายชนิด ทั้งไม้ยืนต้นพวกกาฝาก เถาวัลย์และสาหร่าย ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นไม้ไม่ผลัดใบ มีลักษณะทางกายวิภาคและสรีระคล้ายคลึงกันและมีพันธุ์ไม้อยู่ถึง 35 วงศ์ 53 สกุลและ 74 ชนิด พันธุ์ที่เด่นและสำคัญส่วนใหญ่อยู่ในวงศ์ Rhizophoraceae โดยเฉพาะในสกุลไม้โกงกาง (Rhizophora) สกุลไม้โปรง (Ceriops) สกุลไม้ถั่ว สำหรับพันธุ์ไม้ในวงศ์ Sonneratia ได้แก่ ไม่ในสกุลลำพูและลำแพน (Sonneratia) พันธุ์ไม้ในวงศ์ Verbenaceae ได้แก่ กลุ่มไม้แสม (Avicennia) นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ไม้ในวงศ์ Meliaceae ได้แก่ตะบูนและตะบัน (Xylocarpus) เป็นต้น ชนิดพันธุ์ไม้ป่าชายเลนแบ่งออกตามวงศ์ที่สำคัญๆบางชนิดได้ดังนี้ (http://www.talaythai.com)
1. สกุลไม้โกงกาง (Rhizophora) เป็นพระเอกของป่าชายเลนเลยก็ว่าได้ เขียวชอุ่มตลอดปี มี 2 ชนิด ได้แก่
1.1 โกงกางใบใหญ่ (Rhizophora mucronata) เป็นพืชที่มีลำต้นตั้งตรงแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มบริเวณเรือนยอด ใบมีขนาดใหญ่ ช่อดอกขนาดใหญ่มี 3-5fvdc]td]u[fvd,u-oxd86],
1.2 โกงกางใบเล็ก (Rhizophora apiculata) ลักษณะคล้ายคลึงกับโกงกางใบใหญ่มากแต่แตกต่างกันที่ชนิดนี้มีใบขนาดเล็ก ช่อดอกเล็กกว่าเพราะมีเพียง 2 ดอกและที่สำคัญกลีบดอกไม่มีขน
2. สกุลไม้ประสักหรือพังกา (Bruguiera) มีหลายชนิดแต่ที่เด่นๆมี 4 ชนิด ได้แก่
2.1 พังกาหัวสุมดอกแดง (Bruguiera gymnorrhiza) เป็นพืชที่ชอบขึ้นในดินเลนแข็ง
และน้ำท่วมถึง ลำต้นมีสีดำ เปลือกเป็นเกล็ดหนา ลำต้นกลม ใบคล้ายใบโกงกางใบเล็กแต่ต่างที่ไม่มีจุดสีดำที่ท้องใบ ดอกมีสีแดงสดหรือชมพูเรื่อๆสมกับชื่อ
2.2 พังกาหัวสุมดอกขาว (Bruguiera sexangula) ลักษณะคล้ายกับพังกาหัวสุมดอกแดง แต่ดอกมีสีขาว มีโคนต้นและลำต้นที่กลม ส่วนเปลือกเรียบกว่าและพบมากในบริเวณที่มีความเค็มต่ำ
3. สกุลไม้โปรง (Ceriops) มีชนิดเด่น 2 ชนิด ได้แก่
3.1 โปรงแดง (Ceriops tagal) เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงปานกลางไม่ใหญ่นัก ชอบดินที่มีสภาพเป็นกรดและค่อนข้างเป็นที่ดอน มีลำต้นสีเหลืองถึงสีปูนแห้ง เมื่อมองบนต้นอาจจะเห็นต้นอ่อนที่ยาวประมาณ 15-25 ซม. แขวนห้อยบนกิ่งในทิศทางทิ้งตัวลงมา
3.2 โปรงขาว (Ceriops decanda) ลักษณะส่วนใหญ่คล้ายโปรงแดงมาก เพียงแต่มีต้นอ่อนขนาดสั้นกว่า เพียง 9-15 ซม. ติดอยู่บนกิ่งและทิ้งตัวอย่างสะเปะสะปะไม่มีทิศทางที่แน่นอน
4. สกุลไม้แสม (Avicennia) ที่เด่นๆมี 4 ชนิดได้แก่
4.1 แสมทะเล (Avicennia marina) เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่พบมากในดินเลนทราย มีใบสีเหลืองอ่อนห่อกลับเข้ามาเหมือนหลอดกลมๆโชว์ให้เห็นท้องใบสีขาวนวล
4.2 แสมขาว (Avicennia alba) มักขึ้นปะปนกับแสมทะเลที่พื้นดินเลนปนทราย ลักษณะเด่นที่สะดุดตาแต่ไกลคือใบที่ละเอียดเล็กเป็นสีขาว-บรอนซ์ ดอกสีเหลือง ผลรูปไข่ยาวคล้ายผลพริกชี้ฟ้า
4.3 แสมดำ (Avicennia offcinalis) ผลรูปไข่ ปลายเป็นจะงอย ใบเป็นรูปไข่กลมป้อม ปลายใบมนหลังใบเป็นมัน ท้องใบสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลแก่
4.4 สำมะงา (Clerodendrum inerme) เป็นไม่พุ่มเตี้ยที่ขอบใบเรียบไม่มีหนาม กลีบดอกติดกันเป็นหลอดยาว ส่วนบนแยกออกเป้นกลีบสั้นๆขนาดเท่ากัน
5. สกุลไม้ลำพู ลำแพน (Sonneratia)
5.1 ลำพูทะเล (Sonneratia alba) เป็นไม้เบิกนำของป่าชายเลนเช่นเดียวกับแสม ใบเป็นสีเขียวอ่อน ปลายมนคล้ายรูปหัวใจกลับด้าน ก้านใบด้านหลังและสีด้านในกลีบเลี้ยงเป็นสีชมพู
5.2 ลำแพน (Sonneratia ovata) เป็นไม้เบิกนำของป่าชายเลนเช่นเดียวกับแสม ใบเป็นสีเขียวอ่อน
6. สกุลไม้ตะบูน (Xylocarpus)
6.1 ตะบูน (Xylocarpus granatum) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เหมือนต้นฝรั่งแต่ไปขึ้นในป่าชายเลน แล้วออกดอกสีขาวเป็นช่อตามกิ่ง มีผลกลมแข็งเมื่อสุกจะมีสีน้ำตาลแดงโตเท่าผลส้ม
6.2 ตะบัน (Xylocarpus gangeticus) พบมากตามชายหาดที่น้ำทะเลท่วมถึง ลักษณะใบคล้ายรูปหัวใจหรือใบโพธิ์บกแต่สั้นกว่า ดอกสีขาวมีกลิ่นหอม ผลกลมเหมือนน้ำเต้า
7. สกุลไม้ฝาด (Lumnitzera) มี 2 ชนิด ได้แก่
7.1 ฝาดดอกแดง (Lumnitzera littorea) ชอบขึ้นในที่ดอนหรือพื้นที่ค่อนข้างสูง ลำต้นสีดำ เปลือกแตกเป็นร่อง ดอกสีแดงจัดและออกเป็นกระจุก ช่อดอกเกิดที่บริเวณปลายกิ่ง
7.2 ฝาดดอกขาว (Lumnitzera racemora) ต่างกับฝาดดอกแดงที่ชอบขึ้นในดินที่ค่อนข้างแข็ง ส่วนลำต้นค่อนข้างเรียบ สีน้ำตาลอ่อนและที่สำคัญออกดอกเป็นสีขาวเป็นกระจุกบริเวณปลายกิ่ง
8. สกุลเหงือกปลาหมอ (Acanthus)
เหงือกปลาหมอดอกม่วงหรือนางเกรง (Acanthus illicifotius) มักขึ้นในพื้นที่ป่าชายเลนที่เสื่อมโทรมแล้วและมีน้ำท่วมถึง ส่วนของขอบใบหยักและมีหนามแหลมคม ออกดอกสีฟ้าอมม่วงมีแถบสีเหลืองตรงกลางกลีบดอก
9. สกุลไม้ตีนเป็ด (Cerbera)
ตีนเป็ดทะเล (Cerbera odollam) ดอกสีขาว ตรงกลางดอกมีสีเหลือง กรวยของกลีบดอกสั้นกว่ากลีบดอกส่วนบน ผลทรงกลมเกิดเดี่ยวๆ
10. ไม้สกุลอื่นๆที่สำคัญ
10.1 ตาตุ่มทะเล (Exocoecaria agallocha) ลำต้นมีลักษณะพิเศษคือ เป็นตุ่มเป็นตา ใบปกติมีสีเขียวอ่อน เมื่อแก่จัดจะเป็นสีเหลืองทั้งต้น ยางเป็นพิษหากเข้าตาจะทำให้ตาบอดได้
10.2 จาก (Nypa frutican) เป็นพืชกลุ่มเดียวกับปาล์ม ชอบขึ้นริมฝั่งคลองตามแนวป่าชายเลนหรือบริเวณน้ำกร่อย ชาวประมงนิยมนำมาทำหลังคาบ้าน ผลมีลักษณะแทงขึ้นมาเป็นทะลาย นำมาทำเป็นลูกชิดรับประทานได้ ส่วนของน้ำตาลนำมาทำยาแก้ริดสีดวงทวาร
10.3 เสม็ด (Melaleuca leucadendron) เป็นพืชยืนต้นที่อยู่เขตติดกับป่าบก ดอกเป็นสีขาว เปลือกนำมาชุบน้ำยางทำใต้จุดไฟ

การปรับตัวของพันธุ์ไม้ป่าชายเลน
พันธุ์พืชทุกชนิดในป่าชายเลน มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงลักษณะบางประการของส่วนต่างๆทั้งลำต้น ใบ ดอก ผล ตลอดจนระบบรากให้เหมาะสม เพื่อทนทานต่อสภาพแวดล้อมป่าชายเลนโดยสามารถอยู่รอด เจริญเติบโตและแพร่กระจายพันธุ์ต่อไปอย่างต่อเนื่อง
1. เซลล์ผิวใบมีผนังหนา เป็นมันและมีปากใบ (stoma) ที่ผิวใบด้านล่าง ลักษณะเช่นนี้พบในพืชทุกชนิดในป่าชายเลน ซึ่งมีหน้าที่สำหรับป้องกันการระเหยของน้ำจากส่วนของใบ
2. มีต่อมขับเกลือ (salt glands) พบอยู่ทั่วไปในส่วนของใบแสม ลำพู ลำแพน และเหงือกปลาหมอ เป็นต้น หน้าที่สำคัญของต่อมขับเกลือ คือ ควบคุมระดับความเข้มข้นของเกลือในพืชโดยขับออกจากส่วนของใบ
3. ใบมีลักษณะอวบน้ำ (succulent leaves) โดยเฉพาะพืชพวกโกงกาง (Rhizophora) และลำพู ลำแพน (Sonneratia) ซึ่งเป็นลักษณะที่ช่วยรักษาน้ำจืด
4. มีรากหายใจ (aerial roots) พบในพืชเกือบทุกชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีรากหายใจลักษณะต่างกันไป เช่น แสม มีรากหายใจโผล่จากดิน ส่วนโกงกาง รากหายใจแทงออกจากต้นลงดินเพื่อช่วยค้ำยันลำต้นด้วย
5. มีผลงอกขณะติดอยู่บนลำต้น ที่เรียกว่า vivipary เช่น ในโกงกางซึ่งใน 1 ดอกมีรังไข่ (ovary) 1 อัน และมีโอวุล (ovule) 4 อัน แต่มีเพียงดอวุลอันเดียวที่เจริญเป็นเมล็ดและเมล็ดของพืชนี้ไม่มีการฟักตัวจะเจริญทันทีขณะผลยังติดบนต้นแม่ จัดเป็น viviparous seed เพราะส่วนของต้นอ่อน (embryo) ในเมล็ดจะงอกส่วนของรากอ่อน (radicle) แทงทะลุออกมาทางปลายผลตามด้วยส่วนของ hypocotyls ซึ่งจะยืดยาวออกกลายเป็นฝักยาว 1-2 ฟุต เมื่อฝักแก่เต็มที่จะหล่นปักเลนโคนต้นหรือลอยไปตามกระแสน้ำ ต่อมาจะงอกรากและเจริญเป็นต้นใหม่ต่อไป นอกจากโกงกางแล้ว ยังมีไม้ถั่ว พังกาหัวสุม โปรง ต้นจาก เล็บมือนางและแสม คือ พบผลหรือฝักหลุดจากต้นแม่แล้ว ทำให้สมารถเจริญเติบโตด้านความสูงอย่างรวดเร็วและชูขึ้นเหนือน้ำในระยะสั้น
6. ต้นอ่อนหรือผลแก่ลอยน้ำได้ ทำให้สามารถแพร่กระจายพันธุ์โดยทางน้ำได้อย่างดี พบในพืชเกือบทุกชนิดในป่าชายเลน
7. มีระดับสารแทนนิน (tannin) ในเนื้อเยื่อสูงและแตกต่างกันออกไปในแต่ละชนิด การปรับตัวนี้อาจจะเกิดขึ้นเพื่อการป้องกันอันตรายจากพวกเชื้อราต่างๆ
8. สามารถทนทานในสภาวะที่ระดับความเข้มข้นของเกลือโซเดียมคลอไรด์ในใบสูง ทั้งนี้ เพื่อความอยู่รอดเมื่อขึ้นอยู่ในน้ำทะเลที่เค็มได้ พันธุ์พืชทุกชนิดในป่าชายเลนส่ามารถปรับตัวดังกล่าวนี้ได้
สรุปได้ว่า พันธุ์ไม้ป่าชายเลนมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงลักษณะบางประการของส่วนต่างๆทั้งลำต้น ใบ ดอก ผล ตลอดจนระบบรากให้เหมาะสม เพื่อทนทานต่อสภาพแวดล้อมป่าชายเลนโดยสามารถอยู่รอด เจริญเติบโตและแพร่กระกายพันธุ์ต่อไปอย่างต่อเนื่อง ลักษณะสำคัญของพันธุ์ไม้คือ เซลล์ผิวใบมีผนังหนา มีต่อมขับเกลือ ใบมีลักษณะอวบน้ำ มีรากหายใจ ผลงอกขณะติดอยู่บนต้นแม่ ต้นอ่อนหรือผลแก่ลอยน้ำได้ มีระดับสารแทนนิน สามารถทนทานต่อความเข้มข้นของเกลือ

การแบ่งเขตของพันธุ์ไม้ป่าชายเลน
พันธุ์ไม้แต่ละชนิดในป่าชายเลนจะขึ้นเป็นแถบหรือโซนแยกออกจากชนิดอื่นๆอย่างเห็นได้ชัดจากบริเวณชายฝั่งทะเลจนลึกเข้าในฝั่งด้านในซึ่งต่างจากป่าบก โดยอาจมีสาเหตุมาจากความแตกต่างกันในเรื่องการออกรากและการเจริญเติบโตของลุกไม้เพราะไม้แต่ละชนิดสามารถขึ้นอยู่ในบริเวณที่แตกต่างกันตามระดับน้ำทะเล นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นที่มาควบคุมที่สำคัญ เช่น การท่วมของน้ำทะเล ชนิดของดิน ปริมาณเกลือในน้ำและดิน แสงสว่าง และปัจจัยอื่นๆดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงทำให้เกิดเป็นสังคมพืชที่มีลักษณะแตกต่างไปจากสังคมพืชอื่นๆอย่างเด่นชัด อย่างไรก็ดีปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้พันธุ์ไม้ของ ป่าชายเลนขึ้นอยู่ในเขตหรือเป็นโซนหลายปัจจัยได้แก่
1. ปัจจัยทางกายภาพและเคมีภาพของดิน
ปกติป่าชายเลนปากแม่น้ำที่พบบริเวณปากแม่น้ำและริมฝั่งทะเลที่เป็นหาดเลนนั้นจะมีลักษณะเป็นดินโคลน แต่ชายหาดบางแห่งที่เป็นดินแห้งไม่มีป่าชายเลนอยู่และพันธุ์ไม้ขึ้นได้ต้องมีรากคำจุนที่แข็งแรง ได้แก่ พันธุ์ไม้ที่เรียกว่า ไม้เบิกนำ (pioneer species) ทั้งหลาย จากการศึกษาเกี่ยวกับสภาพของดิน พบว่าโกงกางใบใหญ่ชอบดินโคลนนิ่มๆ โกงกางใบเล็กชอบดินที่ไม่นิ่มเกินไป ส่วนไม้แสม ไม้พังกาหัวสุมดอกแดงขึ้นปนกันในบริเวณดินทราย และบางครั้งพบไม้แสมขึ้นในบริเวณที่เป็นดินโคลนหรือบริเวณที่เป็นชายหาดที่มีความลาดชันต่ำ สามารถทนต่อสภาพดินทรายได้ ถ้าบริเวณนั้นมีน้ำทะเลท่วมถึง นอกจากนั้นยังพบว่าไม้แสมจะเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะทางด้านความสูง เมื่อบริเวณนั้นมีการระบายน้ำที่ดีและพบไม้แสมขึ้นในป่าของไม้ถั่วขาว ซึ่งไม้ถั่วขาวนั้นจะขึ้นในบริเวณดินเหนียวที่มีลักษณะค่อนข้างแข็ง มีชั้นของฮิวมัสและมีการระบายน้ำที่ดี pH ของดินใต้ต้นโกงกางมีค่าเท่ากับ 6.6 และดินใต้ต้นแสม มีค่าเท่ากับ 6.2 เมื่อดินทั้งสองบริเวณมีสภาพอิ่มตัวด้วยน้ำ แต่ถ้าเป็นดินแห้งและอยู่ภายใต้สภาวะที่มีออกซิเจน ดินในเขตไม้โกงกาง pH จะลดเหลือ 4.6 ในขณะที่ดินของเขตไม้แสมจะลดเหลือ 5.7
2. ความเค็มของน้ำในดิน
ความเค็มของน้ำในดิน เป็นปัจจัยสำคัญในการแบ่งเขตของพันธุ์ไม้ป่าชายเลน เช่น ไม้โกงกางใบใหญ่ และแสม มีความทนทานต่อความเค็มได้สูง ไม้ลำพูทะเลและไม้ลำแพนชอบน้ำที่มีความเค็มค่อนข้างสูง และมักพบขึ้นอยู่บริเวณติดกับทะเล ส่วนไม้ลำพูจะขึ้นบริเวณที่มีความเค็มน้อยกว่าประมาณ 10% ไม้พังกาหัวสุมดอกแดงจะทนต่อความเค็ม 10-20% ไม้โปรงแดง จะขึ้นและเจริญเติบโตได้ในบริเวณที่มีความเค็มมากกว่า 30%
3. การระบายน้ำและกระแสน้ำ
เขตของพันธุ์ไม้ในป่าชายเลนมีอิทธิพลจากการระบายน้ำและกระแสน้ำ เช่น หากกระแสน้ำในเขตไม้โกงกางถูกปิดกั้นไม่มีการระบายออก อาจทำให้สังคมไม้โกงกางเปลี่ยนสภาพไปได้และบริเวณนั้นมักถูกแทนที่ด้วยไม้ฝาดในเวลาต่อมา นอกจากนั้น ความสูงของไม้แสมทะเลจะถูกควบคุมโดยการระบายน้ำของดินในบริเวณนั้นส่วนพืชชนิดอื่นที่มีความสูงแตกต่างกัน ก็น่าจะมาจากความต้องการระบายน้ำที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ การระบายน้ำของดินจะเป็นตัวกำหนดความเค็มและความเป็นกรดด่าง (pH ) ของน้ำในดิน
4. ความถี่ของน้ำทะเลท่วมถึง
ปัจจัยที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งในการแบ่งเขตพันธุ์ไม้ป่าชายเลน คือ ความถี่ในการท่วมถึงของน้ำทะเล ได้มีผู้แบ่งเขตพันธุ์ไม้ออกเป็นบริเวณต่างๆตามการท่วมของน้ำทะเล ได้แก่ พื้นที่น้ำท่วมถึงทุกครั้ง ซึ่งจะมีเฉพาะไม้โกงกาง พื้นที่น้ำท่วมขณะที่มีน้ำขึ้นสูงปานกลางจะมีไม้แสมขาว แสมทะเล ไม้ลำพูทะเล และพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำจะมีไม้โกงกางใบใหญ่ขึ้น พื้นที่น้ำท่วมถึงขณะที่มีน้ำขึ้นสูงตามปกติ เป็นบริเวณที่มีไม้โกงกางหนาแน่นและมีไม้ชนิดอื่น เช่น ไม้โปรงแดง ไม้ตะบูนขาว และไม้ถั่วดำ เป็นต้น พื้นที่น้ำท่วมถึงเมื่อน้ำขึ้นสูงสุดเท่านั้น จะมีไม้ถั่ว ไม้ตะบูนและไม้ตาตุ่ม เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีพื้นที่น้ำท่วมเมื่อน้ำขึ้นสูงสุดเป็นพิเศษเท่านั้น โดยบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นไม้พังกาหัวสุมดอกแดง ไม้หลุมพอทะเล ไม้หงอนไก่ทะเล ไม้ตาตุ่มและต้นจาก ในส่วนต่างๆของประเทศไทย ได้พบการแบ่งเขตพันธุ์ไม้แตกต่างกันไปตามพื้นที่เพราะนอกจากปัจจัยที่กล่าวมาแล้ว ความแตกต่างของสังคมพืชต่างๆยังถูกกำหนดปัจจัยสิ่งแวดล้อมอื่นอีก เช่น ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ อุณหภูมิและปริมาณน้ำฝน หรือผลที่เกิดขึ้นของสังคมพืชอาจมาจากการกระทำร่วมกันของปัจจัยต่างๆ (interaction) ที่กล่าวมาแล้ว

สัตว์ในป่าชายเลน
            ป่าชายเลนเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์หลายชนิดทั้งที่เป็นสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและสัตว์ชนิดอื่นๆเช่น นก สัตว์เลี้ยงลุกด้วยนมและสัตว์เลื้อยคลาน ในป่าชายเลนจะพบตัวแทนของสัตว์เกือบทุกไฟลัมนับตั้งแต่สัตว์ที่มีขนาดเล็ก เช่น โปรโตซัว พวกหนอนตัวกลม (nematodes) หนอนตัวแบน (nemertines) และพวกไส้เดือนทะเล (polychaete) 
             นอกจากนั้นยังมีสัตว์กลุ่มอื่นๆก็ยังมีพวกกุ้ง หอย ปู ปลา ที่พบมากในบริเวณนี้อาจอาศัยอยู่บางช่วงของวงจรชีวิตของมัน หรืออาศัยอยู่ตลอดชีวิตของมันเลยก็มี พวกหอยที่สำคัญได้แก่ หอยสองฝา เช่น หอยนางรม หอยแครงและหอยจอบ ซึ่งอาจพบฝังตัวอยู่ในดินหรือเกาะตามรากและลำต้นของพรรณไม้ในป่าชายเลน หอยขี้นกหรือหอยเจดีย์ที่กระจายตามพื้นและแหล่งที่น้ำชื้นแฉะรวมทั้งหอยปากเป็ดที่รูปร่างแปลกประหลาด
สัตว์จำพวกอาร์โทปอด (Arthropod) พบมากเช่นกัน นับตั้งแต่แมงดาทะเลที่เป็นกลุ่มสัตว์ดึกดำบรรพ์และพวกครัสตาเชียนที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่พบมากตามป่าชายเลน ได้แก่ พวกปูหลากหลายชนิด เช่น ปูก้ามดาบ ปูแสม ปูม้าและปูทะเล พวกปูมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวจักรที่ช่วยหมุนเวียนธาตุอาหารและแร่ธาตุต่างๆจากดินขึ้นสู่บนบก
นอกจากปูแล้วยังมีพวกเพรียงหินที่เกาะตามรากและลำต้นของพรรณไม้ พวกกุ้งดีดขัน แม่หอบและกุ้งอีกหลายชนิด เช่น กุ้งตะกาด กุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ พวกแอมฟิพอด (Amphipod) และแมงสาบทะเลก็พบอยู่ประปรายตามซากใบไม้ที่ร่วงหล่นอยู่ตามพื้น
สัตว์ชั้นสูงที่พบเสมอๆนอกจากปลาที่เป็นชนิดเด่น อย่างเช่น ปลากะพงขาว ปลาเก๋าแล้วยังพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ค้างคาว ลิงแสม ลิงลม แมวป่า หมูป่าและอีเก้ง ซึ่งสัตว์เหล่านี้จะเข้ามาใน ป่าชายเลนเป็นบางเวลาเพื่อหาอาหาร นอกจากนี้ยังพบนกหลายชนิด เช่น นกแซงแซว นกกินเปี้ยว อีกด้วย งูชนิดต่างๆ ตะกวด เต่า จระเข้ และนากยังเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกับสัตว์ตัวอื่นๆ

ระบบนิเวศป่าชายเลน
1. องค์ประกอบของระบบนิเวศป่าชายเลน ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ (สนิท อักษรแก้ว , 2536:118-125)
1.1 ส่วนประกอบอชีวันหรือสิ่งไม่มีชีวิต (abiotic component) เป็นพวกอนินทรีย์วัตถุ (inorganic substances) ได้แก่ พวกธาตุอาหาร (nutrient) เกลือแร่ น้ำ และพวกอินทรีย์วัตถุ (organic substances) เช่น พวกซากพืช ซากสัตว์ ซึ่งถูกพวกจุลชีวันย่อยสลายตัวไปในที่สุด พวกสารต่างๆ จะมีปริมาณมากน้อยเปลี่ยนแปลงไปตามสถานที่ นอกจากนี้สภาพภูมิอากาศยังเป็นส่วนสำคัญในองค์ประกอบของอชีวันด้วย เช่น อุณหภูมิ แสง ฝน ความชื้น เป็นต้นและสภาพภูมิอากาศนี้ก็แปรเปลี่ยนไปตามแต่ละสภาพพื้นที่เช่นเดียวกัน
1.2 ส่วนประกอบชีวันหรือสิ่งมีชีวิต (biotic component) มี 3 ประเภท คือ
1.2.1 ผู้ผลิต (producers) คือพวกสร้างอินทรียสารโดยใช้พลังงานแสงจากดวงอาทิตย์ ได้แก่ แพลงก์ตอน พืช สาหร่ายและพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆในป่าชายเลน
1.2.2 ผู้บริโภค ( consumers) แบ่งเป็น 4 พวก ดังนี้
- พวกกินอินทรียสาร (detritus consumers) ได้แก่สัตว์กินหน้าดินขนาดเล็ก เช่น โปรโตซัว หนอนตัวกลม ตัวอ่อนแมลง หอยสองฝา เป็นต้น
- พวกกินพืชโดยตรง (herbivores) เช่น แพลงก์ตอนสัตว์ ไส้เดือนทะเล ปูและปลาบางชนิด เป็นต้น
- พวกกินสัตว์ (carnivores) พวกกินสัตว์ระดับแรกหรือระดับต่ำ ได้แก่ กุ้ง ปู ปลาขนาดเล็ก พวกปลาบางชนิดกินสัตว์ระดับสูง ได้แก่ ปลาขนาดใหญ่ นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและที่สำคัญคือมนุษย์
- พวกกินทั้งพืชและสัตว์ (omnivores) ได้แก่ ปลาบางชนิด ส่วนใหญ่สัตว์ในกลุ่มนี้จะกินพืชมากกว่าสัตว์
1.2.3 ผู้ย่อยสลาย (decomposer) ได้แก่ แบคทีเรีย รา ปู และหอยเจาะไม้ เป็นต้น
2. หน้าที่และกิจกรรมของระบบนิเวศป่าชายเลน มี 2 ลักษณะ คือ
2.1 การหมุนเวียนแร่ธาตุอาหารในระบบนิเวศป่าชายเลน (mineral or nutrient cycling in ecosystem) การถ่ายทอดของธาตุอาหารระหว่างระดับของอาหาร (tropic level) ระหว่างสิ่งมีชีวิตโดยถ่ายทอดกันเป็นวงจร (cycle) เมื่อพืชได้พลังงานจากดวงอาทิตย์และอนินทรีย์สารต่างๆ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำและธาตุอาหารต่างๆจากสิ่งแวดล้อม นำมาสร้างอินทรีย์สารขึ้นใช้เอง เรียกว่า ผู้ผลิต จะสะสมธาตุอาหารไว้เบื้องต้น เมื่อพืชถูกบริโภคธาตุอาหารซึ่งถูกสะสมไว้ในผู้บริโภคและเมื่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคตายเป็นหน้าที่ของผู้ย่อยสลายที่จะทำหน้าที่ย่อยซากพืชซากสัตว์ให้เน่าเปื่อยผุพัง ในระหว่างนี่ธาตุอาหารที่สะสมในซากพืชซากสัตว์จะถูกปล่อยออกมาสะสมไว้ในดิน เป็นแหล่งอาหารของผู้ผลิตขั้นแรกต่อไปกลายเป็นวงจรใหม่อีกครั้ง
2.2 การถ่ายทอดพลังงานในระบบนิเวศป่าชายเลน (energy flow in ecosystem) การถ่ายทอดพลังงานตามระดับอาหารมีลักษณะไม่เป็นวงจร (non-cycle) จากกลุ่มสิ่งมีชีวิตกลุ่มหนึ่งไปสู่กลุ่มสิ่งมีชีวิตอีกกลุ่มหนึ่ง มีการสูญเสียพลังงานในรูปความร้อน (heat) ซึ่งพืชสีเขียวไม่สามารถนำไปใช้ในขบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงได้อีก การถ่ายทอดพลังงานเริ่มจากพืชสีเขียวได้รับพลังงานแสงจากดวงอาทิตย์เพื่อสังเคราะห์แสงจะเกิดอินทรียสารขึ้นและสะสมพลังงานไว้เบื้องต้น จากนั้นพลังงานนี้จะถูกถ่ายทอดไปยังสัตว์ที่กินพืช ซึ่งนำไปใช้ในการเจริญเติบโตและสูญเสียไปในกิจกรรมต่างๆและการหายใจ ส่วนที่เหลือถูกถ่ายทอดไปยังสัตว์กินสัตว์จนถึงมนุษย์ ซึ่งเป็นผู้บริโภคสูงสุด ถือว่าเป็นระดับสุดท้ายของห่วงโซ่อาหาร ในขณะเดียวกันทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคทั้งหลายจะล้มตายไปบ้างและพลังงานต่างๆที่สะสมอยู่ก็จะถูกถ่ายทอดไปยังผู้ย่อยสลายซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของการถ่ายทอดพลังงาน

คุณค่าและการใช้ประโยชน์ป่าชายเลน
ประโยชน์และคุณค่าของป่าชายเลนมีมากมายมหาศาล ซึ่งสรุปได้ 3 ประการ ดังนี้
1. คุณค่าทางด้านเศรษฐกิจ
1.1 ด้านป่าไม้ ไม้จากป่าชายเลนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆกันหลายรูปแบบ เป็นต้นว่านำมาทำฟืนและเผาเป็นถ่าน ซึ่งนับเป็นถ่านไม้ที่มีคุณภาพดีที่สุด นอกจากนี้ยังนำมาใช้ประโยชน์ในเรื่อง การสกัดแทนนินเพื่อประโยชน์ในการทำหมึก ทำสี ทำยา ใช้ในการฟอกหนังและใช้ทำกาวติดไม้ โดยพบว่า เปลือกไม้โกงกางใบเล็กมีแทนนิน 7-27% เปลือกไม้พังกาหัวสุมหรือประสักแดงประมาณ 41% เปลือกไม้โปรง ประมาณ 46% ชาวประมงนิยมใช้ย้อมแห อวน นอกจากนี้ไม้ป่าชายเลนหลายชนิดมีคุณสมบัติสามารถแปรรูปเพื่อใช้ในการก่อสร้าง ทำเฟอร์นิเจอร์และเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับไม้ที่มีขนาดลำต้นโต และมีคุณสมบัติดีพอที่จะแปรรูปทำเป็นไม้ใช้ในการก่อสร้างและเฟอร์นิเจอร์ ได้แก่ ไม้ตะบูนดำ ตะบูนขาว หลุมพอทะเล โพธิ์ทะเล ไม้เหล่านี้น่าจะได้มีการพิจารณาปลูกสร้างเป็นสวนป่าขึ้นมา เพื่อให้มีปริมาณมากเพียงพอที่จะใช้ป้อนโรงงานได้ นอกจากนั้น ไม้ป่าชายเลนยังนำมาทำเสาเข็ม เฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือประมงและยังนำไปใช้ในด้านสมุนไพรได้อีกด้วย เช่น
1.1.1 โกงกางใบเล็กและโกงกางใบใหญ่ เปลือกใช้ต้มน้ำรับประทานเป็นยาสมานแก้ท้องร่วง คลื่นเหียนอาเจียน แก้บิดเรื้อรัง ภายนอกใช้เปลือกต้มน้ำล้างบาดแผลเรื้อรัง เปลือกตำพอกห้ามเลือดใส่บาดแผลสดได้ดี
1.1.2 โปรงแดง เปลือกมีรสฝาดใช้ต้มน้ำล้างบาดแผล
1.1.2 โปรงขาว เปลือกมีรสฝาดจัดใช้เปลือกต้มน้ำรับประทานแก้ท้องร่วง แก้อาเจียน แก้บิด เปลือกตำพอกใช้ห้ามเลือด
1.1.3 แสมดำและแสมขาว แก่นจะมีรสเฝื่อน ต้มน้ำแก้ลมในกระดูก แก้กษัยโดยมากจะใช้คู่กับแก่นแสมสาร เป็นยาขับเลือดเสียของสตรี
1.1.4 ตะบูนขาว ตะบูนดำ เมล็ดรับประทานแก้ท้องร่วง แก้บิด เปลือกต้มและผลรับประทานแก้โรคอหิวาห์
1.1.5 ตาตุ่ม เนื้อไม้ ควันที่เกิดจากการเผาไหม้ ตาตุ่มใช้รักษาพวกที่เป็นโรคเรื้อนได้ดี ใบแก้ลมบ้าหมู
1.1.6 สำมะงา ใบใช้ภายนอก ตำพอก ต้มน้ำเคี่ยวชะล้างบาดแผลหรือตากแห้งบดเป็นผงทาหรือโรยบริเวณที่เป็นแผล ใบสดต้มน้ำเคี่ยวชะล้างบริเวณที่เป็นฝี ผื่นคัน แผลเน่าเปื่อย
1.1.7 เหงือกปลาหมอดอกม่วงและเหงือกปลาหมอดอกขาว ทั้งต้น รากนำมาต้มอาบแก้พิษไข้ ส่วนหัวแก่ผื่นคัน แก้โรคผิวหนังทุกชนิด ถ้าใช้รับประทานเป็นยาพิษฝีดาษ
1.1.8 จาก ใบมีรสฝาดแก้ลมจรต่างๆ ขับเสมหะและดับพิษเกือบทุกชนิด น้ำตาลจากจากใช้สมานแก้ริดสีดวงทวาร
1.1.9 ปรงทะเล ยางจากลำต้นใช้ทารักษาแผลหรือฝี เพื่อดูดหนองและดับพิษ
1.2 ด้านประมง ป่าชายเลนเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์น้ำหลายชนิด รวมทั้งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งหลบภัย และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เมื่อสัตว์น้ำเหล่านี้เจริญเติบโตก็เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของมนุษย์ นอกจากนี้ยังพบว่าปูทะเล (Scylla serrata) ยังจัดเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีความสำคัญชนิดหนึ่งในบริเวณป่าชายเลน
2. คุณค่าทางสิ่งแวดล้อม
ทางด้านสิ่งแวดล้อมป่าชายเลนมีความสำคัญในด้านการอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งทะเลโดยเฉพาะช่วยลดภาระน้ำเสียและยังช่วยทำให้เกิดการงอกของแผ่นดินขยายออกไปสู่ทะเลอีกด้วย ความสำคัญของป่าชายเลนด้านการอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งทะเลสรุปได้ดังนี้
2.1 เป็นฉากกำบังภัยธรรมชาติ เพื่อป้องกันลมพายุมรสุมต่อการพังทลายของดินที่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเล
2.2 ช่วยป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ รากของต้นไม้ป่าชายเลนที่งอกออกมาเหนือพื้นดินจะทำหน้าที่คล้ายตะแกรงธรรมชาติ คอยกลั่นกรองสิ่งปฏิกูลต่างๆที่มากับกระแสน้ำทำให้น้ำในแม่น้ำลำคลองและชายฝั่งทะเลสะอาดขึ้น
2.3 ช่วยทำให้พื้นดินบริเวณชายฝั่งทะเลงอกขยายออกไปในทะเล รากของต้นไม้ในป่าชายเลน นอกจากช่วยป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษแล้วยังช่วยทำให้ตะกอนที่แขวนลอยมากับน้ำทับถมเกิดเป็นแผ่นดินงอกใหม่ เมื่อระยะเวลานานก็จะขยายออกไปในทะเลเกิดเป็นหาดเลนอันเหมาะสมแก่การเกิดของพันธุ์ไม้ป่าชายเลน


3. คุณค่าทางสังคม
ป่าชายเลน เปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของราษฎรที่อาศัยบริเวณป่าชายเลนและชายฝั่งเพราะเป็นทั้งแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ตลอดจนเป็นเชื้อเพลิงให้ราษฎรเหล่านี้ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ แหล่งท่องเที่ยวและแหล่งศึกษาธรรมชาติที่สำคัญอีกด้วย

ผลกระทบจากการทำลายป่าชายเลน
1. ผลกระทบจากระบบนิเวศป่าชายเลนโดยตรง (สนิท อักษรแก้ว,2541: 200-202) คือ
1.1 ผลกระทบด้านกายภาพและเคมีภาพ (physicochemical properties) ได้แก่ อุณหภูมิของน้ำ ปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ ปริมาณธาตุอาหาร ความเค็ม สภาพทางอุทกวิทยา (การขึ้นลงของน้ำทะเล ปริมาณน้ำจืด การเกิดพายุ) การตกตะกอนและน้ำขุ่นข้น ปริมาณสารมลพิษในน้ำและการพังทลายของดิน เป็นต้น
1.2 ผลกระทบทางด้านชีวภาพ (biological properties) เช่น การเปลี่ยนแปลงชนิดปริมาณและลักษณะโครงสร้าง การลดการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ เป็นต้น
1.3 ผลกระทบต่อความสมดุลต่อระบบนิเวศ (ecological balance) ได้แก่ การสืบพันธุ์ การเจริญเติบและการเปลี่ยนแปลงทำลายที่อยู่ การเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อาหาร (food chain) ในระบบนิเวศป่าชายเลน รวมทั้งระบบนิเวศบริเวณชายฝั่งและใกล้เคียง
2. ผลกระทบกับนิเวศวิทยา ได้แก่
2.1 ทำลายแหล่งป้องกันการพังทลายของดิน ป่าชายเลนช่วยลดความเร็วของกระแสน้ำที่กัดเซาะริมฝั่งให้พังทลาย
2.2 ทำลายทรัพยากรชายฝั่ง ซึ่งทำให้ป่าไม้และประมงลดน้อยลง มีผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งที่อาศัยป่าชายเลนทำมาหากิน รวมทั้งประชาชนทั้งประเทศ
2.3 ทำให้เกิดมลพิษ ป่าชายเลนช่วยกรองมลพิษที่มากับแม่น้ำลำคลองได้ดี ทำให้ตกตะกอนและแพร่ไปในอาณาบริเวณที่กว้างขวางจนเกินไป
2.4 ทำลายแหล่งเกิดแผ่นดินงอกใหม่ที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้สูญเสียพื้นที่ขยายพันธุ์ไม้และการทำประมงชายฝั่งที่สำคัญ
2.5 ทำลายแนวกันชนธรรมชาติ พันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่ขึ้นอยู่เป็นแนวเขตบริเวณชายฝั่งช่วยป้องกันลมพายุที่พัดเข้าสู่ฝั่งได้เป็นอย่างดี



ปัญหาการทำลายป่าชายเลน
ปัญหาการทำลายป่าชายเลน พอสรุปได้ตาม สนิท อักษรแก้ว (2541 : 192-194) คือ
1. การประมง (การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ)เป็นการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อการเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำ ส่วนใหญ่จะทำนากุ้ง โดยมีการทำลายป่าชายเลนอย่างกว้างขวาง
2. การทำเหมืองแร่ในพื้นที่ป่าชายเลน โดยเฉพาะการทำเหมืองแร่ดีบุก
3. การทำเกษตรกรรมส่วนใหญ่ที่ทำในพื้นที่ป่าชายเลน ได้แก่ การปลูกข้าวและการปลูกมะพร้าว
4. การขยายตัวของแหล่งชุมชน ส่วนใหญ่จะพัฒนาในรูปของนิคมสหกรณ์การประมงและ การเพาะเลี้ยงชายฝั่ง การสร้างที่อยู่อาศัย การสร้างสถานศึกษา
5. การสร้างท่าเทียบเรือในป่าชายเลนมีโครงการขยายมากขึ้นในอนาคตในท้องที่จังหวัด บริเวณชายฝั่งทะเล
6. การสร้างถนน และสายส่งไฟฟ้า การสร้างถนนในพื้นที่ป่าชายเลน ส่วนใหญ่จะตัด ถนนไปสู่ท่าเทียบเรือ หรือโรงงานอุตสาหกรรมในบริเวณชายฝั่งติดกับทะเล
7. การอุตสาหกรรมและโรงงานไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานปลาป่น โรงงานทำกุ้งแห้ง
8. การขุดลอกร่องน้ำ เรือขุดจะพ่นดินเลนหรือทรายที่ขุดลอกจากบริเวณท้องน้ำลงไปใน พื้นที่ป่าชายเลนทำให้เกิดการทับถมของดินตะกอน
9. การทำนาเกลือได้ดำเนินการอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และ สมุทรปราการ
10. การตัดไม้เกินกำลังผลิตของป่า เพื่อการอุตสาหกรรม ได้แก่ การตัดไม้เพื่อทำถ่านและ ฟืน

สาเหตุของการทำลายป่าชายเลน
การที่กิจกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมบริเวณชายฝั่งทะเล ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่ป่าชายเลนและระบบนิเวศนั้น เกิดจากสาเหตุปัจจัยสำคัญร่วมกันหลายประการ ซึ่งสนิท อักษรแก้ว (2532 : 182-185) ได้กล่าวสรุปไว้ ดังนี้
1. การเพิ่มขึ้นของประชากรทำให้เกิดการขยายตัวของการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ป่าชายเลนอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ เช่น การก่อสร้างท่าเทียบเรือ การตัดถนนสู่ชุมชนชายฝั่งทะเลและการทำเหมืองแร่
2. ที่ดินป่าชายเลนส่วนใหญ่ของประเทศมีสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งการขอใช้ประโยชน์เป็นการชั่งคราวสามารถกระทำให้ได้ตามกฎหมาย โดยเสียค่าธรรมเนียมในราคาต่ำกว่าที่ดินแท้จริงหลายเท่า ประกอบกับมีปัจจัยเอื้ออำนวยต่อการพัฒนา เช่น อยู่ใกล้ทะเลทำให้ผู้ลงทุนโครงการพัฒนาต่างๆ โดยเฉพาะผู้ลงทุนพัฒนาด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำริมทะเล เช่น กุ้งกุลาดำ นิยมใช้พื้นที่ป่าชายเลนเพื่อลดต้นทุนด้านค่าที่ดิน
3. รัฐยังไม่มีการกำหนดนโยบาย และแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ชัดเจน และประสานสอดคล้องกับการจัดการทรัพยากรชายฝั่งประเภทอื่นๆ เป็นผลให้เกิดความขัดแย้งจากการพัฒนาในสาขาต่างๆ เช่น การประมงพื้นบ้านกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกับการอนุรักษ์ป่าชายเลน
4. กฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนยังไม่รัดกุมเพียงพอ และบทลงโทษยังไม่รุนแรงเท่าที่ควร ทำให้มีผู้ละเลยไม่ปฏิบัติตาม
5. การบุกรุกทำลายป่าชายเลนโดยไม่ได้รับอนุญาตขั้นตอนทางกฎหมาย ส่วนหนึ่งเนื่องมากจากความซับซ้อนของขั้นตอนการอนุญาต ประกอบกับการไม่ทราบว่าป่าชายเลนเป็นเขตสงวนห้ามบุกรุก และเมื่อมีการบุกรุกทำลายเกิดขึ้นแล้วการจับกุมไม่อาจกระทำได้ทั่วถึง และการลงโทษก็เป็นไปโดยความยุ่งยาก จนบางครั้งทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความเบื่อหน่ายและหมดกำลังใจจึงทำให้ขาดความสนใจที่จะจับกุมอย่างจริงจัง
6. จำนวนเจ้าหน้าที่ ที่ทำการควบคุมดูแลพื้นที่ป่าชายเลนไม่สมดุลกับเนื้อที่ป่าชายเลน และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการป้องกันและปราบปรามยังไม่เพียงพอและขาดประสิทธิภาพ
7. ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับป่าชายเลนยังไม่เพียงพอ และยังไม่ถูกต้องนักในกลุ่มบุคคลระดับต่างๆ ทั้งในระดับผู้บริหารชั้นสูงด้านการพัฒนาประเทศ นักการเมือง เจ้าหน้าที่ผู้ลงทุนพัฒนาโดยใช้พื้นที่ป่าชายเลน ผู้นำชุมชน และประชาชนทั่วไป เป็นผลให้การใช้ประโยชน์ป่าชายเลนเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม โดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายที่จะเกิดต่อป่าชายเลนในระยะยาว

การแก้ไขปัญหาป่าชายเลนถูกทำลาย
สนิท อักษรแก้ว (2538 : 6) ได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขป่าชายเลนไว้ ดังนี้ คือ
1. ประชาชนทุกระดับควรให้ความสำคัญทรัพยากรป่าชายเลนให้มาก โดยเห็นคุณค่าของ ป่าชายเลนที่ยากต่อการประเมินเป็นตัวเงิน หรือคุณค่าทางเศรษฐกิจ จะอนุรักษ์ไว้เพื่อประโยชน์ทางด้านประมงชายฝั่ง ป้องกันชายฝั่ง รักษาความสมดุลชายฝั่ง และเป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพ
2. เน้นความร่วมมือระหว่างนักเศรษฐศาสตร์กับนักวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น ในการคิดค้น รูปแบบในการวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐกิจในทุกด้าน เพื่อช่วยในการตัดสินใจการใช้พื้นที่ป่าชายเลนเพื่อประโยชน์อย่างถูกต้อง และเหมะสมทั้งในด้านเศรษฐกิจ และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง
3. ต้องผสมผสานแผนการจัดการ และการอนุรักษ์ป่าชายเลนของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐทั้งส่วนกลาง จังหวัด เอกชน และรวมไปถึงประชาชนในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการประสานงานและดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
4. การใช้กฎหมายบังคับอย่างจริงจังให้เกิดผลเป็นรูปธรรม รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ให้เกิดความรัดกุม และความเพิ่มบทลงโทษให้รุนแรงไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระเบียบหรือกฎเกณฑ์ขอใช้พื้นที่ป่าชายเลนเพื่อประโยชน์อย่างอื่น และปรับอุปกรณ์ในการทำลาย ป่าชายเลนให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรี
5. เร่งรัดการประชาสัมพันธ์ และให้การศึกษาต่อบุคคลทุกระดับอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเพื่อ ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับป่าชายเลนที่ถูกต้อง เป็นผลให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ป่าชายเลนอย่างเหมาะสม และมิให้เกิดผลเสียต่อระบบนิเวศป่าชายเลน และระบบนิเวศป่าชายฝั่งในระยะยาวต่อไป
จากที่กล่าวไปแล้วข้างต้น จะเห็นว่าสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งของการทำลายป่าชายเลน นั้นมาจากการกระทำของมนุษย์ ดังนั้น การจัดการศึกษาให้นักเรียนในระดับประถมศึกษามีความรู้ความเข้าใจ มีเจตคติที่ดี ตลอดจนรู้จักใช้และอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนอย่างมีประสิทธิภาพและให้ยาวนานที่สุดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพราะเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานและเป็นการศึกษาภาคบังคับที่ทุกคนต้องเรียน

การอนุรักษ์และการจัดการป่าชายเลน
สนิท อักษรแก้ว (2538 : 39-40) มีความเห็นว่าการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนมีนโยบายหลักในการจัดการอยู่ 2 ประการ ได้แก่
1. การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยการสงวนรักษาไว้ และใช้ประโยชนจากผลผลิตป่าชายเลนในระยะยาว รวมทั้งการฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนขึ้นใหม่
2. ควบคุมและลดจำนวนกิจกรรมที่ใช้ประโยชน์ป่าชายเลน โดยไม่ถูกหลักการอนุรักษ์และนำไปสู่การทำลายทรัพยากรป่าชายเลน
แนวทางดำเนินงานในอันที่จะคุ้มครองและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนไว้ตามนโยบายหลัก 2 ประการดังกล่าว สรุปได้ดังนี้
1. เผยแพร่ข่าวสารความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับป่าชายเลนสู่ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกระดับที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับป่าชายเลน
2. สนับสนุนให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากร ป่าชายเลนของตนเองในลักษณะป่าชุมชน
3. จัดให้มีส่วนหน่วยพิทักษ์ป่าชายเลนพร้อมกำลังคน และอุปกรณ์ให้เพียงพอครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนทั่วประเทศ และจับกุมลงโทษผู้บุกรุกอย่างเข้มงวด
4. ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับมูลค่า แท้จริงของป่าชายเลนและลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากป่าบก
5. การใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนบริเวณหนึ่งบริเวณใด ควรเป็นลักษณะอเนกประสงค์
6. ปลูกฟื้นฟูป่าชายเลนที่เสื่อมสภาพขึ้นในบริเวณที่สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย ทั้งในภาครัฐและเอกชน
7. ควรสนับสนุนงานวิจัยทุกสาขาเกี่ยวกับระบบนิเวศป่าชายเลน โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่งานวิจัยที่เป็นประโยชน์ในการวางแผนการจัดการ และการฟื้นฟูป่าชายเลน
8. โครงการพัฒนาทุกชนิดและทุกขนาดที่จำเป็นต้องใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จะต้องศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อกำหนดการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะเกิดจากโครงการอย่างเหมาะสม แต่ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ไม่ควรจัดทำ โครงการในพื้นที่ป่าชายเลน
9. ส่งเสริมการสร้างสื่อที่เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับป่าชายเลนทั้งภาครัฐและเอกชน

โพสต์โดยสมาชิกหมายเลข 2300 วันที่ 21 พ.ย. 2551

หนาวแล้ว ออกแคมป์กันเถอะ! ⛺ เตาแก๊สปิคนิค พกพาสะดวก ออก Outdoor ได้สบายๆ รุ่น KJ-101 แถมฟรี!!กล่องเก็บเตา ในราคา ฿244

https://s.shopee.co.th/7fJQKGPCjr?share_channel_code=6


ระบบนิเวศป่าชายเลน

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

เผยแพร่ผลงาน

เผยแพร่ผลงาน


เปิดอ่าน 7,165 ครั้ง
ภาษาจีนในภาษาไทย

ภาษาจีนในภาษาไทย


เปิดอ่าน 13,926 ครั้ง
ขำขัน : ซื้อ อะไรดี

ขำขัน : ซื้อ อะไรดี


เปิดอ่าน 7,155 ครั้ง
รูป New Titanic‏

รูป New Titanic‏


เปิดอ่าน 7,173 ครั้ง
รักแท้หรือโดนน้ำมันพราย!!

รักแท้หรือโดนน้ำมันพราย!!


เปิดอ่าน 7,180 ครั้ง

:: เรื่องปักหมุด ::

ข้อคิดดีๆ

ข้อคิดดีๆ

เปิดอ่าน 7,170 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
10 เรื่องมะเร็งปากมดลูก.....ที่ผู้หญิงควรรู้
10 เรื่องมะเร็งปากมดลูก.....ที่ผู้หญิงควรรู้
เปิดอ่าน 7,158 ☕ คลิกอ่านเลย

งานถนนคนเดินเชียงใหม่คึกคัก
งานถนนคนเดินเชียงใหม่คึกคัก
เปิดอ่าน 7,158 ☕ คลิกอ่านเลย

สุนทรพจน์.....?เศรษฐกิจพอเพียง?
สุนทรพจน์.....?เศรษฐกิจพอเพียง?
เปิดอ่าน 7,597 ☕ คลิกอ่านเลย

ดอกไม้สวย ๆ งาม ๆ
ดอกไม้สวย ๆ งาม ๆ
เปิดอ่าน 7,179 ☕ คลิกอ่านเลย

เคล็ดลับการทำกล้วยฉาบ
เคล็ดลับการทำกล้วยฉาบ
เปิดอ่าน 7,380 ☕ คลิกอ่านเลย

นิทานเวตาล... เรื่องที่ 5
นิทานเวตาล... เรื่องที่ 5
เปิดอ่าน 7,178 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

รับชมย้อนหลัง! การประชุมชี้แจงการสอบบรรจุครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ประจำปี 2560 [ไม่มีใบอนุญาตฯสมัครสอบได้] เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560
รับชมย้อนหลัง! การประชุมชี้แจงการสอบบรรจุครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ประจำปี 2560 [ไม่มีใบอนุญาตฯสมัครสอบได้] เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560
เปิดอ่าน 34,097 ครั้ง

เคล็ด(ไม่)ลับ
เคล็ด(ไม่)ลับ'หัวกะทิ'
เปิดอ่าน 14,130 ครั้ง

ดัชนีมวลกาย หาค่า BMI เช็กกันหน่อยไหมคุณอ้วนหรือยัง ?
ดัชนีมวลกาย หาค่า BMI เช็กกันหน่อยไหมคุณอ้วนหรือยัง ?
เปิดอ่าน 12,120 ครั้ง

วิธีดูแลรักษาโซฟาหนัง
วิธีดูแลรักษาโซฟาหนัง
เปิดอ่าน 18,039 ครั้ง

ผลสำรวจชี้มนุษย์ทำงาน 63% เห็นว่าการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันเป็นเรื่อง "ล้าสมัย"
ผลสำรวจชี้มนุษย์ทำงาน 63% เห็นว่าการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันเป็นเรื่อง "ล้าสมัย"
เปิดอ่าน 12,188 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ