คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีดังนี้
1. กำหนดให้การเลิกรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ โดยการเลิกรับบุตรบุญธรรมที่เป็นเด็ก ผู้รับบุตรบุญธรรมจะต้องเข้าสู่กระบวนการปรึกษาเยียวยาเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนาความสัมพันธ์ในเบื้องต้นก่อนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง และผู้รับบุตรบุญธรรมยังมีหน้าที่เสียค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษาแก่เด็กนั้น (ร่างมาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5 และร่างมาตรา 8 เพิ่มมาตรา 31/1)
2. กำหนดให้ถือว่าการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมในต่างประเทศซึ่งเป็นประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองเด็กและความร่วมมือในการรับรองบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศ มีผลเป็นการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายในประเทศไทย (ร่างมาตรา 4 เพิ่มเติมมาตรา 5/1)
3. กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจ หรือเป็นคนกลางกระทำการชักจูงโดยให้ค่าจ้างหรือค่าตอบแทนหรือประโยชน์อย่างอื่นที่มิควรได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนดังกล่าว (ร่างมาตรา 5 เพิ่มมาตรา 18/1 และร่างมาตรา 10 เพิ่มมาตรา 34/1)
4. กำหนดให้การสอบคุณสมบัติและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่และความเหมาะสมของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (ร่างมาตรา 6 เพิ่มมาตรา 21 วรรคสอง)
5. กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาขยายระยะเวลาการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมออกไปได้อีกไม่เกินสามเดือนในกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้ไม่อาจจดทะเบียนภายในกำหนดเวลาได้ (ร่างมาตรา 7 เพิ่มมาตรา 29 วรรคสอง)
6. แก้ไขอัตราโทษปรับผู้ดำเนินการเพื่อให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมหรือพาหรือจัดส่งเด็กออกไป นอกราชอาณาจักรเพื่อวัตถุประสงค์ให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตให้เหมาะสม (ร่างมาตรา 9 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34)
7. กำหนดให้ผู้กระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 มาตรา 18 หรือมาตรา 18/1 นอกราชอาณาจักร โดยรัฐบาลไทยเป็นผู้เสียหายต้องรับโทษในราชอาณาจักรและให้นำบทบัญญัติมาตรา 10 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้บังคับอนุโลม (ร่างมาตรา 11 เพิ่มมาตรา 38/1)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤศจิกายน 2551