"เนคเทค" และมูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา เปิดให้บริการเว็บไซต์สืบค้น-ให้บริการข้อมูลเรื่องยาและสุขภาพสำหรับประชาชนทั่วไปภายใต้ชื่อ "ยากับคุณ" หรือ "Ya&You" ตั้งเป้าช่วยให้คนไทยใช้ยาอย่างปลอดภัย รวมทั้งมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
เว็บไซต์ "ยากับคุณ" www.yaandyou.net เกิดจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) คณะผู้บริหารและผู้ร่วมพัฒนาเว็บไซต์ ประกอบด้วย ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการเนคเทค รศ.ภญ.ดร.เสาวคนธ์ รัตนวิจิตราศิลป์ เลขาธิการมูลนิธิ วพย. ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการวิจัยคลังอนุพันธ์ความรู้ เนคเทค และผศ.ภญ.ดร.ภูรี อนันตโชติ กรรมการมูลนิธิ วพย.
คณะผู้พัฒนาให้ข้อมูลถึงแนวคิดจัดทำ เว็บ "ยากับคุณ" ว่า เกิดจากปัญหาในอดีตซึ่งพบว่าประชาชนจำนวนมากยังใช้ยาอย่างไม่ถูกต้อง สาเหตุเป็นเพราะผู้ใช้ยามีความรู้ไม่เพียงพอเกี่ยวกับยาที่ตนเองใช้ ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือเภสัชกรมักมีเวลาจำกัดในการอธิบายข้อมูลต่างๆ ให้กับผู้ป่วยอย่างครบถ้วนชัดเจน
ดังนั้น หากประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในยาที่ตนเองใช้หรือภาวะสุขภาพของตน นอกจากจะส่งผลให้การใช้ยาของบุคคลเหล่านี้ได้ผลตามเป้าหมายที่วางไว้หรือพบอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์น้อยลง ยังจะลดผลเสียอื่นๆ อันเกิดจากการใช้ยาไม่ถูกต้องทำให้ผู้ป่วยต้องได้รับยาเพิ่มมีภาวะโรคที่แย่ลง ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรืออาจรุนแรงถึงขั้นพิการ หรือเสียชีวิต รวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
จากการศึกษาพบว่า แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว การใช้ยาไม่ถูกวิธีก่อให้เกิดผลเสียกับผู้ป่วยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่าการใช้ยารวมของทั้งประเทศ เว็บไซต์ "ยากับคุณ" จึงเป็นมิติใหม่ของการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศทางด้านการใช้ยาและดูแลสุขภาพในประเทศไทย โดยผนึกกำลังความเชี่ยวชาญทางด้านไอทีกับทางด้านยาและสุขภาพของสองหน่วยงาน มาช่วยให้แพทย์และเภสัชกรสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้ความรู้แก่ผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยที่เป็นโรคที่พบบ่อย เช่น เบาหวาน ให้เกิดการใช้ยาอย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด
"ยากับคุณเปิดให้บริการสืบค้นข้อมูลยาเป็นภาษาไทยเป็นเว็บไซต์แรกของประเทศ ขณะนี้บรรจุข้อมูลยาที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประมาณ 17,000 รายชื่อ จากทั้งหมด 30,000 รายชื่อแล้ว โดยระบุถึงวิธีการใช้ยาที่ถูกต้อง ข้อควรระวัง และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นด้วย" ดร.พันธ์ศักดิ์ กล่าว
ที่มา ข่าวสดออนไลน์