ผงะ! หญิงไทยอายุต่ำกว่า 40 ปีเป็นมะเร็งเต้านมร้อยละ 33.4 สูงกว่าหญิงมะกัน ที่ส่วนใหญ่เป็นในผู้สูงอายุ แถมจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ยังสูงกว่ามะเร็งปากมดลูก ผอ.สถาบันมะเร็ง ระบุ เป็นเพราะพฤติกรรมการบริโภคคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป แนะออกกำลังกาย ตรวจแมมโมแกรม
ศ.คลินิก พล.ต.นพ.สุรพงษ์ สุภาภรณ์ นายกสมาคมโรคมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย กล่าวสรุปการทำงานของสมาคมในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาว่า ได้มีการให้ความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์รักษาโรคมะเร็งเต้านมแนวใหม่ให้กับแพทย์ในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ อาทิ จ.เชียงราย, พิษณุโลก, นครสวรรค์, อุดรธานี, อุบลราชธานี, นครราชสีมา, สุราษฎร์ธานี และหาดใหญ่ สงขลา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมสามารถเข้าถึงการรักษาอย่างมีมาตรฐานที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากขณะนี้มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทย
อย่างไรก็ตาม มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ 80-90% หากตรวจพบและทำการรักษาในระยะเริ่มแรก ด้วยการทำแมมโมแกรมในผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรทำปีละ 1 ครั้ง นอกจากนี้มีแพทย์จากสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้หญิงอเมริกันเป็นมะเร็งเต้านมลดลง ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแพทย์ลดการสั่งยารักษาวัยทองด้วย จึงสรุปว่า ยารักษาวัยทองน่าจะมีส่วนต่ออัตราการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิงด้วย
นายกสมาคมโรคมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า การออกกำลังกายสม่ำเสมอจะทำให้ร่างกายมีภูมิป้องกันมะเร็งทุกชนิด ในผู้หญิงจะช่วยลดจำนวนประจำเดือนที่มีไข่ตก ควบคุมฮอร์โมนให้อยู่ระดับปกติ และทำควบคู่กับการลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง และอาหารจังก์ฟูด (Junk food) ซึ่งในประเทศนอร์เวย์มีการสำรวจพบว่า ประชากร 25,624 คน ออกกำลังกาย 4 ชั่วโมง/สัปดาห์ ทำให้ลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งได้ถึง 37%
ทั้งนี้ทางสมาคมจะมีการจัดงานให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม เพื่อกระตุ้นให้ผู้หญิงไทยอายุ 35 ขึ้นไป หันมาใส่ใจเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหามะเร็งเต้านมทุกปี ในหัวข้อ "ร่วมพลังเอาชนะมะเร็งเต้านม" ในวันพุธที่ 18 ส.ค. ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค
ด้าน นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคมะเร็งเต้านมในขณะนี้พบว่า อยู่ในอันดับ 1 แซงหน้ามะเร็งปากมดลูก และมีแนวโน้มสูงขึ้นตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO ) คาดการณ์ว่าไทยจะมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในปี 2553 จำนวน 13,184 ราย ซึ่งตัวเลขของประเทศไทยขณะนี้อยู่ที่ 13,000 ราย เสียชีวิต 4,000 ราย และมีผู้ป่วยสะสมกว่า 30,000 ราย ใน กทม.เป็นจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุดร้อยละ 34.1 และอยู่เขตพระโขนงสูงที่สุดถึงร้อยละ 81.1
ผอ.สถาบันมะเร็งฯ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกได้คาดว่า ประเทศที่มีการพัฒนาเป็นโรคมะเร็งที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมเพิ่มขึ้น เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก และมะเร็งต่อมลูกหมาก เนื่องมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่กินอาหารดีขึ้น กินแต่เนื้อสัตว์ อาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่ผลิตจากนมเนย อาหารฝรั่งมากขึ้น ออกกำลังกายน้อยลง WHO จึงหันมาให้ความสำคัญกับประเทศในเอเชียมากขึ้น เพราะถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้จะกลายเป็นภาระการรักษาพยาบาล
นพ.ธีรวุฒิกล่าวต่อว่า มะเร็งเต้านมที่พบในผู้หญิงไทยขณะนี้มีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากพบในอายุน้อยกว่า 40 ปี ถึง 33.4% เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่อายุต่ำกว่า 40 จะพบเพียง 10% อย่างไรก็ตามสาเหตุที่มะเร็งเต้านมขึ้นมา แซงมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงไทยนั้น เนื่องจากขณะนี้ระบบการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกของไทยดีขึ้น จึงทำให้รักษาได้อย่างรวดเร็ว แต่การคัดกรองมะเร็งเต้านมทำได้ยากกว่า ต้องใช้เครื่องแมมโมแกรมที่มีราคาแพง
อีกทั้งไม่ใช่แพทย์ทางรังสีรักษาทุกคนจะอ่านค่าแมมโมแกรม แต่เครื่องแมมโมแกรมแบบดิจิตอลของไทยยังมีน้อย ซึ่งตั้งเป้าว่าควรจะมีเครื่องแมมโมแกรมแบบดิจิตอล 110 เครื่อง แบบฟิล์ม 700 เครื่อง แต่ทั่วประเทศมีเครื่องแบบฟิล์ม 150 เครื่อง ส่วนเครื่องแบบดิจิตอลก็ยังไม่มากเท่าที่ควร
ขอบคุณที่มาจาก หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์