พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ไม่มีบทบัญญัติที่คุ้มครองการสอนของครู/อาจารย์ที่ทำการสอน เว้นแต่ถ้าครู หรืออาจารย์ผลิตสื่อการสอนในรูปของโสตทัศนวัสดุ หรือ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง รวมทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จึงจะคุ้มครอง สำหรับการสอนสด ๆ ในห้องเรียนของครูจึงไม่อยู่ในความคุ้มครองของกฎหมายลิขสิทธิ์
แต่ถ้าเป็น "นักแสดง" ตามความหมายในบทบัญญัติในมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 หมายความว่า “ผู้แสดง นักดนตรี นักร้อง นักเต้น นักรำ และ ผู้ซึ่งแสดงท่าทาง ร้อง กล่าว พากย์ แสดงตามบทหรือในลักษณะอื่นใด” บุคคลเหล่านี้ จะได้รับการคุ้มครองในหมวด 2 ว่าด้วยสิทธิของนักแสดง
ในมาตรา 45 ได้บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดนำสิ่งบันทึกเสียงการแสดงซึ่งได้นำออกเผยแพร่เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าแล้ว หรือนำสำเนาของงานนั้นไปแพร่เสียงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยตรง ให้ผู้นั้นจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรมแก่นักแสดง....”
การสอนไม่ใช่การแสดง
ในเมื่อการสอนไม่ใช่การแสดง และผู้สอน ไม่เป็นผู้แสดงตามความหมายของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ดังนั้นเมื่อมีการบันทึกเสียง บันทึกภาพ และวีดิทัศน์ ที่ครู/อาจารย์กำลังสอนอยู่ในชั้นเรียน แล้วนำไปเผยแพร่จึงไม่อาจเข้าข่ายได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่อาจได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายอาญา หรือกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งต้องนำมาปรับใช้กับพฤติการณ์ของการกระทำในแต่ละกรณี หรือ การใช้ระเบียบ ข้อบังคับ ของแต่ละประเภทของสถานศึกษามาบังคับใช้ เนื่องจากยังไม่มีกฏหมายโดยตรงที่ให้สิทธิของครู/อาจารย์หรือผู้สอนมีสิทธิ์แต่ผู้เดียวในการกระทำอันเกี่ยวกับการสอนของตนในการเผยแพร่ บันทึก ทำซ้ำ
ในบางสถานศึกษานั้นการบันทึกการสอนของครู/อาจารย์ด้วยเครื่องบันทึกภาพและเสียงเป็นสิ่งที่เป็นปกติวิสัย เช่น ในมหาวิทยาลัยที่ไม่จำกัดจำนวนรับ หรือมีลักษณะของการดำเนินการของมหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชา แต่ในโรงเรียน วิทยาลัย หรือ มหาวิทยาลัยทั่วไปที่มีชั้นเรียนและมีครู/อาจารย์สอนในแต่ละรายวิชานั้นการจดบันทึกบนกระดาษหรือใช้เครื่องคอมพิวเตอร์บันทึกด้วยภาษาของตนเองเป็นสิ่งปกติวิสัยในระบบการเรียนการสอน แต่การบันทึกด้วยเครื่องบันทึกเสียง และวีดิทัศน์ ไม่เป็นสิ่งปกติวิสัยในการเรียนการสอน
แต่อย่างไรก็ตาม โดยสามัญสำนึกแล้ว การจะบันทึกด้วยเครื่องมือบันทึกภาพและเสียงหรือวีดิทัศน์ในสิ่งที่ครู/อาจารย์สอนในชั้นเรียนนั้นต้องขออนุญาตจากผู้สอน ถ้าผู้สอนไม่อนุญาตก็ไม่ควรบันทึก การลักลอบบันทึกโดยที่ครู/อาจารย์ไม่ทราบและไม่อนุญาตนั้นเป็นการฝ่าฝืน ครู/อาจารย์มีอำนาจลงโทษได้ตามข้อบังคับของสถานศึกษาแต่ละแห่งและแต่ละระดับ
นอกจากการบันทึกการสอนของครู/อาจารย์โดยผู้เรียนแล้ว สถานศึกษาและหน่วยงานในสถานศึกษาบางแห่งยังมีการชักชวนให้ครู/อาจารย์ให้มีการบันทึกวีดิทัศน์การสอนของอาจารย์เพื่อเผยแพร่ให้กับผู้เรียน หรือผู้สนใจและนำขึ้นเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตให้ผู้สนใจเข้ามาโหลดไปได้ฟรีอีกด้วย
ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการทำให้ผลงานการสอนของอาจารย์ผู้นั้นเป็นของสาธารณะ หรือ เป็น “Public domain” ซึ่งจะไม่ได้รับการคุ้มครองจาก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ แต่อย่างใด ผลงานต่าง ๆ ที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตโดยส่วนมากแล้วเป็น Public domain และไม่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธ์ เว้นแต่จะมีการระบุไว้อย่างชัดเจนและมีการป้องกันการทำสำเนาหรือนำไปใช้ไว้พอสมควร
การสอนที่มีราคา
การสอนของครู/อาจารย์นั้นเป็นความสามารถส่วนตัวที่สั่งสมมาด้วยความอุตสาหะ การสอนเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ต้องมีการศึกษาทั้งภาคทฤษฎีการสอน การเรียนรู้ และมีการฝึกฝนจนชำนาญ ผู้ที่ทำการสอนมานานย่อมมีประสบการณ์ในการสอนสูง สามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างแยบคาย กลวิธีการสอนจึงเป็นความสามารถ เป็นการใช้ศาสตร์และศิลป์ หรือสมรรถนะเฉพาะตัวของครู/อาจารย์ที่ทำการสอนแต่ละท่าน การสอนของครู/อาจารย์ที่ทำหน้าที่เป็น “ผู้สอน” เหล่านั้นมีคุณค่าและควรได้รับการคุ้มครองตามกฏหมายและให้มีค่าตอบแทนให้กับ ”ผู้สอน” ที่เป็นธรรม ซึ่งสมควรได้รับไม่แตกต่างจาก “นักแสดง”
ในโรงเรียนกวดวิชา หรือโรงเรียนที่ทำการสอนพิเศษ หรือติวเข้มให้กับผู้เรียน จะมีครู/อาจารย์ที่มีความสามารถในการสอนให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว และสร้างความประทับใจให้กับผู้เรียนอย่างมาก จึงมีผู้นิยมมาเรียนและยินดีจ่ายค่าเรียนในราคาสูงเพื่อเรียนรู้ในสิ่งที่ต้องการ การสอนจึงมีราคาและไม่ได้มาฟรี ๆ ดังนั้นการบันทึกวีดิทัศน์การสอนของครู/อาจารย์ในห้องเรียนเพื่อเผยแพร่ฟรีทางอินเตอร์เน็ต โดยหวังว่าจะให้เป็นวิทยาทานนั้น จึงควรมีการทบทวนหลักการ กระบวนการ วิธีการ และผลกระทบอย่างละเอียด ก่อนตัดสินใจดำเนินการเพื่อไม่ให้กระทบกับความรู้สึกและการละเมิดสิทธิ์ของครู/อาจารย์เหล่านั้น
ตรงข้ามกับครู/อาจารย์ในสถานศึกษาบางท่านที่ทำการสอนตามหน้าที่ ไม่สามารถทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว และไม่สร้างความประทับใจในการเรียนให้กับผู้เรียน เพราะสิ่งที่เรียนไม่ตรงกับความอยากรู้ หรือความต้องการของผู้เรียนในการสอบเพื่อแข่งขันกันเข้าเรียนต่อ การสอนของครู/อาจารย์เหล่านั้นก็ไม่มีคนสนใจจะนำไปเผยแพร่เช่นกัน
ลิขสิทธ์สื่อการสอนกวดวิชา
โรงเรียนกวดวิชามีการสอนที่ผู้เรียนต้องการ เป็นการสอนมีราคา และมีลิขสิทธ์สื่อการสอน ที่ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 คุ้มครอง รวมทั้งมีมาตรการป้องกันไม่ให้มีการละเมิดสิทธิ์อย่างดีจากโรงเรียนหรือสถาบันกวดวิชาทุกแห่ง เพราะคุณค่าของสื่อการสอนและวิธีการสอนในโรงเรียนกวดวิชานั้นเป็นเครื่องมือสำหรับการดำเนินธุรกิจการกวดวิชา
การกล่าวอ้างถึงการกวดวิชาว่าเป็นสิ่งที่แสดงถึงความล้มเหลวของการจัดการศึกษาทั้งระบบ และใช้เป็นเหตุผลในการกล้าวอ้างเพื่อการปฏิรูปการศึกษาในครั้งแรก แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้การกวดวิชาลดลงไปได้ ในทางตรงข้ามกลับทำให้มีการกวดวิชาเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม และในการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ 2 ที่กำลังจะดำเนินการนี้ ก็ยังมีการนำความคิดการกำจัดการกวดวิชา หรือโรงเรียนกวดวิชามาใช้เป็นเป้าหมายหรือเหตุผลของการปฏิรูปอีกครั้ง
วิธีการที่เหมาะสมจึงควรส่งเสริมคุณภาพการสอนในระบบโรงเรียนให้ดี ให้มีการพัฒนาสื่อการสอน วิธีการสอน หรือใช้เทคโนโลยีมาช่วยปรับปรุงคุณภาพการสอน โดยไม่ต้องหาทางลดจำนวนหรือจำกัดโรงเรียนกวดวิชา เพราะประโยชน์จากการพัฒนาคุณภาพของคนให้มีความรู้นั้น ไม่ว่าจะทำโดยระบบโรงเรียนหรือโรงเรียนกวดวิชาก็เกิดประโยชน์กับพลเมืองของชาติอยู่แล้ว
นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงการจะดำเนินการให้โรงเรียนกวดวิชานำสื่อการสอนของตนเผยแพร่ หรือนำออกจำหน่ายสู่สาธารณะด้วย ซึ่งแน่นอนว่าจะสามารถทำให้จำนวนของโรงเรียนกวดวิชาลดลงได้พอสมควร และลดการเดินทางของผู้เรียน ให้สามารถเรียนได้ด้วยตนเองที่บ้าน แต่สื่อการสอนต่าง ๆ ทั้งในรูปของวีดิทัศน์ที่มีการใช้สอนในโรงเรียนกวดวิชานั้นได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ผู้ใดจะนำไปคัดลอก ทำซ้ำ หรือเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ต้องได้รับโทษตามบทบัญญัติของกฎหมาย
การไปเรียนรวมกันของผู้เรียนเพื่อกวดวิชานั้นยังเป็นความต้องการทางสังคมของผู้เรียนที่ต้องการปฏิสัมพันธ์กันในกลุ่มผู้มีความสนใจ ความหวัง และวัยเดียวกันอีกด้วย การมีความคิดเชิงลบกับการกวดวิชาและมองโรงเรียนกวดวิชาเป็นสิ่งไม่ดี ต้องมีการควบคุมอย่างเคร่งครัดหรือจำกัดจำนวนโรงเรียนกวดวิชา ถ้าผู้ที่มีบทบาทในการปฏิรูปการศึกษามีความคิดลักษณะนี้ เป็นการคิดที่ไม่อยู่บนฐานของความเป็นจริง และ อาจขัดกับหลักการใน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ อีกด้วย
กิจกรรมการกวดวิชาหรือการสอนเสริม เรียนพิเศษ หรือติวเข้มนั้นให้ผลดีกับผู้เรียนมากกว่าผลเสีย และสามารถสร้างกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อการกวดวิชาขึ้นได้เสมอตราบที่ยังมีผู้ต้องการกวดวิชาและต้องการเรียนรู้ การกวดวิชานอกจากจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้เรียนเพื่อการสอบแข่งขัน ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วในรายวิชาหรือเนื้อหาที่สถานศึกษาที่ผู้สอนไม่สามารถให้ความรู้ความเข้าใจได้ดีเท่ากับครู/อาจารย์ที่สอนในโรงเรียนกวดวิชา นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้อาชีพการสอน หรือ ”อาชีพครู” เป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้มีความสามารถในการสอนได้ไม่น้อยกว่าอาชีพอื่น ๆ สมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูงที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จึงจะทำการสอนหรือประกอบอาชีพนี้ได้
รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์
ขอบคุณที่มาจาก ไทยรัฐ http://www.thairath.co.th/content/edu/95492