พบมะเร็งลำไส้ใหญ่ในกรุงเทพฯ 7-10 คนต่อประชากร 1 แสนคน เหตุจากกรรมพันธุ์ 2-3 เท่า และพฤติกรรมการกินอยู่แบบทันสมัย
ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา รองประธานศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็งสถาบันวิจัยจุฬาลงภรณ์ และ นพ.ณวรา ดุสิตานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์มะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก เปิดเผยถึงผลสรุปของโครงการบำเพ็ญพระกุศลใน ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2552 ของ "โครงการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้และทวารหนัก"
นพ.ณวรา กล่าวว่า โรงพยาบาลจุฬาลงภรณ์ได้เริ่มโครงการในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2552 เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ โดยให้ผู้ที่มีอายุ 50-65 ปี เข้าตรวจคัดกรองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยวิธีการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่พบว่า มีจำนวน 1,500 ราย ที่สามารถจำกัดได้ว่ามีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้หรือไม่ เบื้องต้นได้ตรวจคัดกรองจนถึงปลายเดือนพฤษภาคมจำนวน 1,300 ราย ตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ 15 ราย
นอกจากนี้ ยังได้ตรวจประชาชนในส่วนของภูมิภาค ซึ่งได้ทำการคัดเลือกผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด และกิ่งอำเภอหนองฮี พร้อมทั้งได้ทำการตรวจหาเลือดที่ปนในอุจจาระ ซึ่งมีผู้สนใจเข้ารับการตรวจ 9,220 ราย จากผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปี ประมาณ 21,000 ราย โดยตรวจพบความผิดปกติจำนวน 730 ราย ซึ่งทางโรงพยาบาลได้ ให้แพทย์เข้าไปทำการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ในผู้เข้าร่วมโครงการกลุ่มนี้ช่วงวันที่ 26-30 เมษายน พ.ศ.2553 จำนวน 539 ราย ตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ 10 ราย
สำหรับสาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เกิดจากกรรมพันธุ์ประมาณ 2-3 เท่าตัว ส่วนปัจจัยอื่นซึ่งไม่เด่นชัดมากนักมาจากอาหารการกิน การใช้ชีวิตท่ามกลางความทันสมัย เป็นต้น โดยเฉลี่ยพื้นที่กรุงเทพมหานครพบประมาณ 7-10 คนต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ชนบท ทั้งอำเภอพนมไพรและกิ่งอำเภอหนองฮี จำนวน 130,000 คนพบโรคเฉลี่ย 8-10 คนต่อประชากร 1 แสนคน ส่วนตัวเลขภาพรวมของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่าโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่พบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และพบมากเป็นอักดับ 5 ในเพศหญิง
"การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ การส่องกล้อง ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรวจประจำทุกปี เพราะตรวจเพียงครั้งเดียวครอบคลุม ประมาณ 5-10 ปี อย่างไรก็ตาม การตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่มีหลายระยะ โดยระยะศูนย์ เป็นระยะที่ยังไม่มีการลุกลามเข้าผนังลำไส้ การรักษาจะใช้การตัดติ่งเนื้อผ่านกล้อง โอกาสหายขาด 100 เปอร์เซ็นต์ ระยะนี้เป็นการตรวจพบโดยบังเอิญ ส่วนระยะที่ 1-2 มีการกินเข้าไปผนังลำไส้แล้ว การรักษาใช้วิธีการผ่าตัดลำไส้ส่วนที่เป็นมะเร็ง แต่ไม่จำเป็นต้องให้เคมีบำบัด หรือฉายแสง โอกาสหายขาด ร้อยละ 80-90"
"ระยะที่ 3 เป็นมะเร็งที่ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง การรักษาใช้การผ่าตัดร่วมกับการใช้เคมีบำบัดและการฉายรังสี และระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ทั้งตับปอด เป็นระยะแพร่กระจายต้องทำการผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาการ ร่วมกับการใช้เคมีบำบัด"
ขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสาร หมอชาวบ้าน