แดดที่แผดเผากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 ทำให้พลิกคำพยากรณ์ที่ระบุว่า วันที่ 27 เมษายน จะเป็นวันที่ร้อนที่สุดของกรุงเทพฯ เพราะมีอุณหภูมิที่วัดได้จากสถานีบางนาเพียง 36 องศาเซลเซียส
จันทร์ที่ 10 พฤษภาคม ที่ร้อนระอุนั้นมีอุณหภูมิพุ่งสูงถึง 39.7 องศา จึงเป็นวันที่ร้อนที่สุดในปีนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ "ฮีทเวฟ" หรือ "คลื่นความร้อน" และล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้วเกือบ 20 ราย
“ประวิทย์ แจ่มปัญญา” ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศกลาง กรมอุตุนิยมวิทยา อธิบายถึงความร้อนที่ระอุแผ่คลุมทั่วไทยมาอย่างต่อเนื่องหลายวันว่า ปกติช่วงเดือนเมษายน จะมีฝนตกเป็นระยะๆ อากาศจะร้อนอยู่ประมาณ 4-5 วัน จากนั้นฝนจะตกสลับกันให้คลายร้อน แต่หน้าร้อนปีนี้ ฝนตกน้อยมากทำให้เกิดความร้อนสะสม โดยเฉพาะช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาฝนขาดหายไป หรือมีฝนเป็นหย่อมๆ ในพื้นที่ไม่กว้างนัก ทำให้ชั้นอากาศมีความชื้นสูง จึงรู้สึกร้อนอบอ้าวผิดปกติกว่าทุกปี ยิ่งความชื้นในอากาศสูงมากเท่าไร มนุษย์จะยิ่งร้อนอึด อัดมากขึ้นเท่านั้น ช่วงนี้ความชื้นในอากาศรอบกรุงเทพฯ ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าหน้าหนาวที่มีความชื้นเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
"ปีนี้จังหวัดร้อนที่สุดคือแพร่และลำปาง ประมาณ 43 องศา ส่วนกรุงเทพฯ วันที่ร้อนสุด คือ 10 พฤษภาคม อุณหภูมิ 39.7 องศา ตามสถิติที่ผ่านมา จ.ตากเคยมีอุณหภูมิสูงสุดคือ 43.5 องศา เชื่อว่าปัจจัยสำคัญคือความชื้นในอากาศสูง ความร้อนสะสมหลายวัน ประกอบกับฝนไม่ตกตามฤดูกาล ทำให้อากาศร้อนมาก แต่นับจากวันนี้ไปความร้อนจะลดลง เพราะวันอังคารที่ผ่านมาภาคอีสานเริ่มมีฝนรวมถึงภาคเหนือเป็นการเข้าสู่ฤดูฝนตามปกติ" ผอ.ส่วนพยากรณ์อากาศกลางอธิบาย
นอกจากคำพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาแล้ว นักวิชาการบางรายเชื่อว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์คลื่นความร้อน หรือ "ฮีทเวฟ" ทำให้คนทั่วโลกล้มตายปีละหลายร้อยคน โดยเฉพาะในอินเดียมีรายงานว่าช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา อุณหภูมิความร้อนพุ่งถึง 44 องศา สูงสุดในรอบ 52 ปี ชาวอินเดียอย่างน้อย 80 คน เสียชีวิตจากคลื่นความร้อน
คลื่นความร้อน หรือ "ฮีทเวฟ" (Heat wave) หมายถึงอากาศร้อนจัดที่สะสมอยู่พื้นที่บริเวณหนึ่ง แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ "แบบสะสมความร้อน" เกิดในพื้นที่ซึ่งสะสมความร้อนเป็นเวลานาน อากาศแห้ง ลมนิ่ง ทำให้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ไม่เคลื่อนที่ เมื่ออุณหภูมิร้อนสะสมหลายวันจะเกิดคลื่นความร้อนมากขึ้นเช่น หากพื้นที่ไหนมีอุณหภูมิ 38-41 องศา แล้วไม่มีลมพัดต่อเนื่อง 3-6 วัน ไอร้อนจะสะสมจนกลายเป็นคลื่นความร้อน มักเกิดในประเทศอินเดีย แอฟริกา ออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ ฯลฯ
ชนิดที่ 2 คือ “แบบพัดพาความร้อน” มักเกิดขึ้นแถวทะเลเมดิเตอร์เรเนียน คลื่นความร้อนชนิดนี้เกิดจากลมแรงหอบความร้อนจากทะเลทรายขึ้นไปในเขตหนาว มักเกิดในยุโรป แคนาดาตอนใต้ ฯลฯ
คำถามคือประเทศไทยเคยเกิด "ฮีทเวฟ" หรือไม่ ?
นายสมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ยืนยันว่า ประเทศไทยไม่มีโอกาสเกิดคลื่นความร้อนหรือฮีทเวฟ เนื่องจากไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่มีมวลอากาศร้อนจัด ประกอบกับไม่มีทะเลทรายเหมือนอินเดียหรือออสเตรเลีย นอกจากนี้ฮีทเวฟจะเกิดได้ก็ต่อเมื่ออุณหภูมิร้อนเกิน 40 องศาต่อเนื่องกันหลายสัปดาห์ แต่สภาพอากาศของไทยมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาทุก 7-10 วัน ทำให้เกิดฝนตก ช่วยลดอุณหภูมิไม่ให้ไต่ระดับสูงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ปีนี้อากาศร้อนขึ้น เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่ทำให้เกิดความแห้งแล้ง จากสถิติอุณหภูมิสูงสุดในรอบ 57 ปี ของไทย พบว่า หน้าร้อนมีอุณหภูมิเฉลี่ย 42-43 องศา ยังไม่เคยมีอุณหภูมิสูงถึงระดับ 46-47 องศา
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านโลกร้อน ยืนยันว่าฤดูร้อนปีนี้ของไทยไม่ธรรมดา อาจเรียกว่าเป็น "ปรากฏการณ์ฮีทเวฟ"
ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ วิเคราะห์ว่า สภาพอากาศของไทยช่วงนี้มีความแปรปรวนสูง โดยเฉพาะอากาศร้อนจัด ที่มีแนวโน้มจะร้อนขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง เพราะอุณหภูมิสูงติดต่อกันเกิน 3 วันขึ้นไป ตามหลักวิชาการจะทำให้เกิดคลื่นความร้อน คนที่ได้รับคลื่นความร้อนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ที่ผ่านมามีรายงานผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนบ้างแล้ว และหากสภาพอากาศยังเป็นไปในลักษณะนี้ยาวไปถึงปีหน้า ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนไทยมากขึ้น
ดร.สมิทธวิเคราะห์ว่า ตามรายงานมีผู้เสียชีวิตจากความร้อนแล้ว 15 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงในประวัติการณ์ หน่วยงานราชการยังไม่เคยเจอกับภาวะฉุกเฉินเช่นนี้มาก่อน จึงขอฝากบอกไปยังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้รีบออกประกาศเตือนภัย เพราะหากปรับสภาพร่างกายไม่ทันอาจทำให้หัวใจวายและเสียชีวิตในที่สุด
นักวิชาการจากกรมอุตุนิยมวิทยารายหนึ่งสรุปว่า ความคิดเห็นเรื่อง "ฮีทเวฟ" ที่แตกเป็น 2 ฝ่ายนั้น สืบเนื่องจากประเทศไทยไม่เคยมีนิยามคำว่า “คลื่นความร้อน” หรือ "ฮีทเวฟ" มาก่อน ในต่างประเทศจะมีการจำกัดความตามสภาพอากาศท้องถิ่น เช่น อังกฤษ จะระบุว่าหากอากาศร้อนถึง 32 องศาติดต่อกัน 5 วัน และความชื้นในอากาศสูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ให้ถือว่าพื้นที่นั้นเป็นฮีทเวฟ ส่วนออสเตรเลียเป็นพื้นที่ทะเลทรายอาจกำหนดให้มีอุณหภูมิ 40 องศาขึ้นไป
“หากดูตามนิยามของอังกฤษ ประเมินได้ว่าหน้าร้อนของ ไทยปีนี้บางพื้นที่มีปรากฏการณ์ ฮีทเวฟ เช่น ในกรุงเทพฯ เพราะอุณหภูมิสูงเกิน 32 องศาต่อเนื่องหลายวันและความชื้นก็สูงเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ อยากเสนอว่าประเทศไทยอาจต้องให้นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันนิยามคำ ว่า คลื่นความร้อน เพื่อที่อนาคตจะได้เตือนภัยได้อย่างถูกต้อง”
ที่มา คมชัดลึก