การเลี้ยงลูกให้ดี.......มีวัคซีนใจ
ปัจจุบันพ่อ-แม่จำนวนมากเลี้ยงลูกด้วยความรัก แต่ไม่ได้ฝึกฝนให้เด็กมีภูมิต้านทาน
ต่อความทุกข์ เพราะไม่เคยเปิดโอกาสให้ลูกเผชิญต่อปัญหาในระดับที่เหมาะสมต่อวัยวุฒิ
ของเขา เมื่อโตขึ้นจึงขาดทักษะในการจัดการกับปัญหาชีวิต
“ วัคซีนใจ” 3 ประการที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้น ในการเลี้ยงดูของพ่อแม่และการศึกษาจาก
ครูบาอาจารย์ เป็นไปเพื่อให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความพร้อมในการดำเนินชีวิต ได้แก่
1.วุฒิภาวะ
2.ความนับถือตนเอง
3.การแสวงหาความสุขในชีวิต
(1) วุฒิภาวะ ( Maturity ) คือความสามารถในการยับยั้งชั่งใจหรือควบคุมอารมณ์
ความต้องการของตนเอง ถ้าพูดเป็นภาษาวัยรุ่น....วุฒิภาวะ แปลว่าความสามารถที่สมองส่วนคิด ทำงานมากกว่าสมองส่วนอยาก ....เพราะฉะนั้นต้องฝึกสอนที่สมองส่วนอยากทำงาน
1.1 เมื่อลูกอยากได้อะไร ต้องพูดคุยกันว่าจำเป็นหรือไม่...ถ้าสิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตก็ต้องยอมรับว่าไม่ควรได้ ไม่ควรมี....เป็นการรู้จักคิดแยกแยะระหว่าง
“ สิ่งที่จำเป็น” ( need ) กับ “ สิ่งที่อยากได้” ( want )
1.2 หากจำเป็นแต่มีข้อจำกัด ก็หาทางออกอย่างอื่นเพื่อตอบสนองเท่าที่ทำได้..ถ้าไม่มีเงินก็ไม่จำเป็นต้องซื้อหามาเป็นเจ้าของเสมอไป เราสามารถเช่าหรือใช้บริการจากแหล่งบริการมากมายที่มีในสาธารณะ
1.3 ถ้าจำเป็นต้องมีต้องได้....ก็อย่าเพิ่งรีบซื้อให้ทันที...
ต้องฝึกให้เด็กรู้จักรอ ( delay immediate gratification) หรือตั้งเงื่อนไข ให้เป็นรางวัล....ถือเป็นการฝึกวินัยในตนเอง (self discipline )
ถ้าหากลูกอยากได้อะไรแล้วพ่อ- แม่ตอบสนองหามาให้ทันที เด็กจะไม่เรียนรู้ในการที่จะรอ เขาจะเคยชินต่อการตอบสนองความต้องการของตนเอง หากในวัยเด็กเขาไม่ได้รับการฝึกให้ควบคุมความต้องการของตนเอง เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นเขาก็ไม่เรียนรู้ที่จะยับยั้งชั่งใจในเรื่องทางเพศเป็นผลตามมา
พ่อ-แม่หลายคนปรนเปรอลูกด้วยวัตถุหรือการเสพ...สาเหตุ 3ประการที่พบบ่อยได้แก่
* ไม่ต้องการให้ลูกเผชิญกับความผิดหวัง ซึ่งเคยเกิดกับพ่อ-แม่ในวัยเด็ก.....
* ชดเชยความรู้สึกผิดที่เรามีเวลาใกล้ชิดเขาน้อยเกินไป....จึงตอบแทนเด็กด้วยของเล่นหรือเงินทอง
* กลัวลูกโกรธหรือไม่รัก แล้วไม่เอาใจใส่ พ่อแม่ในยามชรา
ผู้ใหญ่จำเป็นต้องเป็นตัวอย่างของการดำเนินชีวิตอย่างมีสติ ไม่ถูกครอบงำด้วยกระแสบริโภคนิยมเสียก่อน ไม่ถูกชักจูงง่ายจากสื่อโฆษณา ....เด็กจึงจะเลียนและรู้
รูปแบบของการใช้ชีวิตที่ไม่เน้นการแสวงหาวัตถุเพื่อสร้างความสุขให้แก่จิตใจ
(2) ความนับถือตนเอง ( self – esteem ) คือการตระหนักรู้ในคุณค่าที่มีในตนเอง นำไปสู่ความภาคภูมิใจ...พูดภาษาชาวบ้านง่ายๆ ก็คือ “ ความรักในตนเอง”
....รักตัวเองให้เป็น ก็ต้องเห็นตัวเองให้ชัด
วิธีการเลี้ยงลูกให้พัฒนาความนับถือตนเองมี 3 ขั้นตอนง่ายๆดังนี้
1.รู้ศักยภาพของตนเอง ว่าเรามีความสามารถอะไรเป็นพิเศษ เรียนวิชาไหนแล้วชอบหรือมีความสุข......ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีลักษณะนิสัยหรือศักยภาพไม่เหมือนกัน การเลี้ยงดูหรือการศึกษาจึงต้องพัฒนาความสามารถให้ตรงกับตัวเด็กมากที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องเรียนหนังสือหรือเลือกคณะวิชาไปตามกระแสค่านิยมของสังคม ซึ่งอาจไม่ตรงกับใจตัวเอง
2. กำหนดจุดมุ่งหมายของชีวิต ซึ่งคุณสมบัติของจุดมุ่งหมายนั้นต้องมีคุณสมบัติ 2 อย่างคือ
1. มีความทัดเทียมกับศักยภาพของตนเอง ไม่สูงหรือต่ำเกินไป....ถ้าสูงเกินไปก็เป็นฝันกลางวัน ถ้าต่ำเกินไปก็เป็นการดูถูกตัวเอง
2. ต้องสามารถกำหนดเป็นมโนภาพ (visualization)
ในใจว่าในอนาคตโตขึ้นเราอยากเป็นอะไร....บังเกิดเป็นแรงดลบันดาลใจ มีพลัง
3. ขยัน มุมานะพากเพียรพยายาม ( effort ) เพื่อเป็นพลังหรือแรงขับดันให้ชีวิตมุ่งมั่นสู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้....ตรงข้ามกับความขี้เกียจหรือรักสนุก-ชอบสบาย ( comfort )
การพัฒนาทั้ง 3ขั้นตอน จะนำไปสู่ความสำเร็จเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงความภาคภูมิใจในตนเอง นำไปสู่สภาวะจิตที่สูงส่ง และไม่ดึงชีวิตตัวเองไปสู่ทางเลื่อม เช่น ดูหนัง เที่ยวกลางคืน เล่นการพนัน ติดยาเสพติด มีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน ฯลฯ
อุปสรรคอย่างหนึ่งของการพัฒนาความนับถือตนเอง คือระบบการศึกษาที่เน้นคนเรียนเก่ง เช่น สอบได้ที่ 1 ถึงที่ 3 หรืออย่างน้อยก็ต้องให้ได้เลข ตัวเดียว จึงจะเป็นที่ชื่นชอบของพ่อแม่หรือครูบาอาจารย์ ในขณะที่นักเรียนอีก 30 -40 คน คนที่เหลือในห้องก็ไม่สามารถเกิดความปิติสุขจากการเรียนรู้.....ผลที่สุดคือ การรวมกลุ่มของเด็กที่ไม่ประสบความสำเร็จในการศึกษา จึงไปแสวงหาความสุขที่อื่นเช่น เล่นเกม ขับรถซิ่งแข่งกัน มีเซ็กซ์เก็บแต้มอวดกัน คุยโม้โอ้อวดการใช้สินค้าแบรนด์เนม หาแฟนรวย ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างความรู้สึกว่าตนยังมีคุณค่าอยู่.....อย่างน้อยก็ได้รับการยกย่องจากสมาชิกในสังคมเล็กๆ ของตนเอง
เพราะฉะนั้นถ้าลูกเรียนหนังสือไม่เก่ง แทนที่จะถูกซ้ำเติมจากพ่อแม่ด้วยคำพูดทางลบ ผู้ปกครองควรให้กำลังใจ และความคิดในเชิงบวก
(3) การแสวงหาความสุขในชีวิต ความสุขมีรูปแบบที่หลากหลาย แบ่งเป็น 4 ระดับ เรียกว่า “ 4ระดับความสุข จากสนุกสู่สงบ”
1. มีกิจกรรมสนุกสนานจากกิจกรรมบันเทิง ได้รับความเอร็ดอร่อยจากการเสพทางตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนัง มักจำเป็นต้องซื้อหาด้วยเงิน หากไม่รู้จักควบคุมการเสพ ก็นำไปสู่ความทุกข์ร้อนเรื่องหนี้สิน
2. การเสพสุขสุนทรียภาพของงานศิลปะ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อหามาเป็นเจ้าของ แต่ชื่นชมจนนำไปสู่ความปิติ อิ่มเอิบ เบิกบานและเกิดแรงดลบันดาลในชีวิต
3. ความสงบสบายจากการใกล้ชิดธรรมชาติ....ท่ามกลางธรรมชาติ ย่อมโน้มนำใจให้ผ่อนคลายสดชื่นและเย็นใจ.....พร้อมความรู้สึกสำนึกในบุญคุณ อันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ....จนมิอาจคิดถึงเรื่องการทำลายหรือความโลภ
4. การดำเนินชีวิตอย่างพิจารณา.....มีสติในกิจวัตรประจำวันและการทำงาน ในที่สุดเราก็จะเข้าใจในสัจธรรมของชีวิต จนในที่สุดจิตของเราที่พัฒนาจนผ่อนคลายจาการยึดติดในสิ่งต่างๆ นำไปสู่การดำเนินชีวิตที่ไม่เป็นทุกข์
ข้อมูลจาก นายแพทย์สุกมล วิภาวีพลกุล