นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า สภาพอากาศที่ร้อนจัดในขณะนี้ ที่น่าห่วงมากคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางกระทรวงสาธารณสุขขอฝากเตือนประชาชน และขอแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคลมแดด ได้แก่ 1.ให้หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด 2.ให้ดื่มน้ำมากๆ 3.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง 4.หากร้อนจัดแล้วเหงื่อไม่ออกให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว เพื่อระบายความร้อนในตัวออกมา 5.หากมีอาการของโรคลมแดด คืออาการกระหายน้ำ ตัวร้อนแต่ไม่มีเหงื่อออก หายใจถี่ ปากคอแห้งและอาจวิงเวียนศีรษะ ขอให้รีบไปพบ แพทย์
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคลมแดด หรือฮีสโทรกเป็นอาการที่เกิดจากการได้รับความร้อนมากเกิน จัดเป็นความผิดปกติที่มีความรุนแรงมากที่สุด ทำให้สมองไม่ทำงาน ไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ระบบประสาทส่วนกลาง การทำงานของตับและไต สูญเสียความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้เพิ่มสูงขึ้นผิดปกติเกิน 40 องศาเซลเซียส ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องให้การรักษาอย่างรีบด่วน เนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิต 17 - 70 เปอร์เซ็นต์
โดยในปี 2551 มีผู้ป่วยโรคลมแดดถึง 80 ราย และเสียชีวิต 4 รายจากพื้นที่ จ.มุกดาหาร นครราชสีมา และนครสวรรค์ ปี 2552 มีผู้ป่วยโรคลมแดดใช้สิทธิบัตรทองเข้ารักษาในโรงพยาบาล 32 ราย และมีทหารเข้ารักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ 8 นายเสียชีวิต 3 นาย ส่วนในปี 2553 ได้รับรายงานว่าที่ทหารป่วยด้วยโรคนี้แล้ว 5 นาย จึงยังไม่จำเป็นต้องประกาศเป็นสถานการณ์โรคฉุกเฉิน เพราะสถานการณ์ไม่รุนแรง ประชาชนสามารถระวังตัวเองไม่ให้เป็นลมแดดได้ด้วยการไม่ตากแดดเป็นเวลานาน ดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว เพราะโรคนี้เกิดจากการที่ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งการสังเกตว่าร่างกายขาดน้ำหรือไม่ สังเกตได้จากสีปัสสาวะ ถ้าปัสสาวะมีสีเหลืองจางๆ แสดงว่าได้รับน้ำเพียงพอ แต่ถ้าสีเหลืองเข้มแสดงว่าได้รับน้ำไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ตนได้กำชับไปยังโรงพยาบาลต่างๆไม่ให้ละเลยประเด็นของโรคลมแดด หากมีผู้ป่วยพบแพทย์ด้วยอาการไข้สูงถึง 40 องศาเซลเซียส ควรซักถามประวัติว่าตากแดดเป็นเวลานานมาหรือไม่ ขณะเดียวกัน สธ.จะเร่งแจ้งเตือนประชาชน ให้รู้จักวิธีการป้องกัน โดยมอบหมายให้กรมควบคุมโรคออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข และแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
ขอบคุณเนื้อหาจาก ไทยรัฐ
http://www.thairath.co.th/content/edu/82308