ส่วนที่ 1 กระบวนทัศน์ของการวิจัยทางสังคม (Paradigm of Social Research)
1. กระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ ตามแนวคิดของ Thomas Kuhn
แนวคิดเกี่ยวกับ คำว่า กระบวนทัศน์ (Paradigm) มีมานานแล้ว ดังที่สะท้อนออกมาในประวัติศาสตร์ของปรัชญา ซึ่งถูกนำมาใช้ประโยชน์ทั้งของ Plato ในความหมายของ ตัวแบบ (Model) และ Aristotle ในความหมายของ ตัวอย่าง (Example) ขณะที่ทางสังคมศาสตร์ (Social Science) ก็ยิ่งมีมากมายหลายความหมายที่แตกต่างกัน แต่คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า แนวคิดของThomas Kuhn ที่ปรากฏเป็นครั้งแรกใน The Structure of Scientific Revolutions ในปี คศ.1962 ถือเป็นปฐมคิด (First Thought) หรือผู้ที่เริ่มต้น ที่มีอิทธิพลอย่างมากในแนวคิดเรื่อง กระบวนทัศน์ (Paradigm) ต่อนักคิดในสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Science) ในยุคต่อมา
กระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ (Paradigm of Science) Kuhn ได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง กรอบแนวคิด (Conceptual Framework) หรือ วิสัยทัศน์นำ (Guiding Vision) หรือ โลกทัศน์ (A View of the World) ที่แตกต่างหลากหลายกันไป ขึ้นอยู่กับ แต่ละชุมชนทางวิทยาศาสตร์ (Community of Scientist) นอกจากนี้ Kuhn ยังกล่าวอีกด้วยว่า กระบวนทัศน์ คือ ลักษณะเฉพาะของศาสตร์ที่สุกงอม (Paradigm is a characteristic feature of the mature science) รวมไปถึงการที่เขากล่าวว่า เครือข่ายกรอบความคิด (Conceptual Network) ที่สานต่อกันด้วยวินัยเดียวกัน เรียกว่า กระบวนทัศน์ เช่นเดียวกัน
แนวคิดดังกล่าว เชื่อว่า Kuhn พิจารณาจากลัทธิเหตุผลนิยม ซึ่งลัทธิเหตุผลนิยมนี้ได้กลายมาเป็นฐานให้กับวิทยาศาสตร์และการเมืองสมัยใหม่ (Modern Science and Modern Politics) บรรดานักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ต่างเชื่อมั่นในตัวกระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็น สิ่งที่มีเหตุผล ถูกต้อง เป็นที่น่าเชื่อถือ และต้องยอมรับ
Kuhn อธิบายว่า กระบวนทัศน์ เป็นผลที่มาจากความสำเร็จในการวิจัยโดยอาศัยกระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ก่อนหน้า (Previous Acquisitions) ที่ทำสำเร็จ จนสามารถสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นในเรื่องของเหตุผล งานศึกษาวิจัยที่มีพื้นฐานอยู่บนความสำเร็จทางด้านวิทยาศาสตร์ มาแล้วครั้งหนึ่งหรือมากกว่านั้นในอดีต ตลอดจนความสำเร็จที่ชุมชนทางวิทยาศาสตร์บางแห่งโดยเฉพาะ หรือสำนักคิด (School of Thought) ยอมรับในช่วงเวลาหนึ่ง และมีฐานะเป็นตัวเสริมรากฐานสำหรับปฏิบัติการครั้งต่อไป งานวิจัยเหล่านี้ Kuhn เรียกมันว่า Normal Science หรือ Normal Research
ในทัศนะของ Kuhn เชื่อว่า Normal Science ยังคงมีจุดอ่อนที่สำคัญมาก คือ การเกิดมาจากความสำเร็จของการปฏิบัติการศึกษาวิจัย ของศาสตร์ซึ่งมีลักษณะที่จำเพาะอันใดอันหนึ่ง จากนั้นมีผู้ยึดถือว่าหลักการหรือวิธีการนั้น สามารถนำไปใช้ได้กับการศึกษาทางด้านอื่นได้ ด้วยเหตุนี้จากลักษณะของการศึกษาแบบเหมารวมดังกล่าว จึงก่อให้เกิดความผิดพลาดของผลการศึกษาตามมาเป็นระยะ จนกระทั่งเมื่อเวลาผ่านไป จึงปรากฏว่ามีความผิดพลาดที่สะสมเพิ่มพูนเป็นอย่างมาก และความสิ้นสุดของกระบวนทัศน์ (the End of Paradigm) จึงปรากฏขึ้นในที่สุด ดังนั้น Kuhn จึงเสนอแนะนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายว่า ไม่ควรเห็นด้วยเกี่ยวกับการตีความ หรือยึดถือความถูกต้องของความรู้ที่มีอยู่ก่อนแล้ว
เมื่อการสิ้นสุดของกระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ได้มาถึง การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) จะเกิดขึ้นมาแทนที่ ซึ่งไม่ได้เป็นไปในลักษณะของตรรกะทั้งหมด แต่มันมีเรื่องของอคติ (Bias) แรงกดดันของสังคม (Social Exert) รวมถึงความบังเอิญ (Accidental) ที่ผสมผสานเข้าไปด้วยในบางสถานการณ์ แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้วก็จะเกิดเป็น Normal Science อันใหม่ขึ้นมา แล้วชุมชนวิทยาศาสตร์ก็จะยึดถือมันเป็นแบบจำลองที่มีพลังอำนาจ (Power Model) และดำเนินรอยตามบนหนทางนั้นเป็นวัฎจักร (Cycle) ไปเรื่อยๆ
สรุปได้ว่า แนวคิดเรื่องกระบวนทัศน์ของ Thomas Kuhn มีทัศนียภาพ หรือ รูปลักษณ์ทางความคิด ดังนี้
1. เป็นกรอบความรู้ (Conceptual Framework) ที่ได้รับการยอมรับจากชุมชนทางวิทยาศาสตร์ (Community of Scientist)
2. เป็นผลที่มาจากความสำเร็จในการศึกษาวิจัย โดยอาศัยกระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ก่อนหน้า (Previous Acquisitions) ที่ทำสำเร็จแล้ว
3. แนวคิดทางการศึกษาวิจัยโดยตรง ประกอบด้วย
3.1 คุณลักษณะ (Specification) และตัวเลือก (Choice) ที่เหมาะสม
3.2 กฎเกณฑ์ของสมมติฐาน (Formulation of Hypothesis) ใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ได้
3.3 การจำแนก (Identification) ด้วยเทคนิควิธีเชิงประจักษ์ (Empirical Research Technique)
ในทางสังคมศาสตร์ (Social Science) มีกระบวนทัศน์สำคัญ ที่ใช้ในการศึกษาสังคม และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม 2 กระบวนทัศน์ คือ แนวคิดปฏิฐานนิยม (Positivism) และคตินิยมแนวการตีความ(Interpretivism) โดยอาศัยแนวทางการวิเคราะห์โดยสามคำถามพื้นฐาน คือ (1) อะไร คือ ธรรมชาติของความรู้/ความจริง (2) อะไร คือ ธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างผู้แสวงหาความรู้/ความจริง และ ความรู้/ความจริง และ (3) ผู้แสวงหาความรู้/ความจริง มีวิธีการที่จะแสวงหาความรู้ความจริง อย่างไร
2. สามคำถามพื้นฐาน (Three Basic Questions)
การวิจัย (Research) เป็นกระบวนการในการค้นคว้าหาคำอธิบายหรือคำตอบ (คือหาความรู้ หรือความจริง-ผู้เขียน) ให้แก่ประเด็นคำถามเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังนั้น กระบวนทัศน์ในการวิจัย (Paradigm of Research) จึงหมายถึง ระบบความเชื่อที่จะชี้นำว่า นักวิจัย (Researcher) ควรจะทำ “อะไร” (What?) และควรทำ “อย่างไร” (How?) จึงจะบรรลุถึงสิ่งที่เรียกว่าความจริงหรือความรู้ได้ในที่สุด
ในการศึกษาทางสังคมศาสตร์ หรือแม้แต่ศาสตร์แขนงอื่น ล้วนมีแนวคิดกระแสหลัก (Main Stream) ในการวัดและประเมินความก้าวหน้าทางวิชาการด้วยงานวิจัย (Research) ซึ่งสามารถแบ่งแนวทางการวิจัยออกได้เป็นสองแนว คือ การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative) โดยผลที่ได้จากงานวิจัยเชิงปริมาณ มักจะบ่งบอกถึงสถานะ (Status) ปัจจุบันของธรรมชาติที่ศึกษา นักวิจัยเชิงปริมาณจะทำการวิจัยอย่างวิทยาศาสตร์ คือ เอาตนเองเข้าไปปนเปื้อนกับการวิจัยให้น้อยที่สุด เพื่อให้ได้ผลการวิจัยที่เที่ยงแท้และเป็นกลางมากที่สุด ขณะที่นักวิจัยเชิงคุณภาพ กลับมองว่า การแยกตัวเองออกมาจากธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ (Impossible) สิ่งที่มนุษย์เราทำได้ คือ การนำเสนอความจริงในมุมมองที่เป็นของตัวเราเอง
กรอบปรัชญาที่อยู่เบื้องหลัง (Backgourd) แนวคิดที่แบ่งออกเป็นสองข้างดังกล่าว คือ ฝ่ายนักวิจัยเชิงปริมาณได้รับอิทธิพลจาก แนวคิดปฏิฐานนิยม (Positivism) ฝ่ายนักวิจัยเชิงคุณภาพได้รับอิทธิพลจาก คตินิยมแนวการตีความ (Interpretivism)[1] ตามลำดับ โดยในทางสังคมศาสตร์ (Social Science) ถือว่าเป็นกระบวนทัศน์สำคัญ ที่ใช้ในการศึกษาสังคม และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม โดยอาศัยแนวทางการวิเคราะห์โดยสามคำถามพื้นฐาน ดังต่อไปนี้
2.1 คำถามเชิงภววิทยา (Ontology) : อะไร คือ ธรรมชาติของความรู้/ความจริง (The Question of ‘What’)
2.2 คำถามเชิงญาณวิทยา (Epistemology) : อะไร คือ ธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างผู้แสวงหาความรู้/ความจริง และ ความรู้/ความจริง (The Question of the Relation Between the ‘Who’ and the ‘What’)
2.3 คำถามเชิงวิธีวิทยา (Methodology) : ผู้แสวงหาความรู้/ความจริง มีวิธีการที่จะแสวงหาความรู้/ความจริง อย่างไร (The Question of ‘How’)
คำถาม 3 ประการดังกล่าว สามารถใช้ในการอธิบาย และวิเคราะห์ เพื่อหาคำตอบได้แตกต่างกันไปหลายประการ และคำตอบจะเป็นตัวกำหนดหรือจุดเริ่มต้น ของการแสวงหาความรู้/ความจริง ของแต่ละกระบวนทัศน์ ทั้งนี้ เราไม่สามารถที่จะตัดสินได้ว่า คำตอบใดเป็นคำตอบที่ถูกหรือผิด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
3. แนวคิดปฏิฐานนิยม (Positivism)
Corbetta เชื่อว่าสังคมวิทยา (Sociology) เกิดขึ้นจากการอุปถัมภ์ (Auspices) ของแนวคิดปฏิฐานนิยม เมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมด้วยแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเสริมให้วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Science) เป็นความรู้ขั้นสูงสุด (Supreme Knowledge) จากการวางรากฐานของ Auguste Comte ซึ่งเป็นผู้ที่บัญญัติคำว่า Sociology และ Herbert Spencer ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มแรกที่ใช้คำว่า สังคมวิทยา ในชื่อหนังสือ [Online : http://th.wikipedia.org]
ในการศึกษายุคแรก สังคมวิทยาถูกมองว่า ไม่ต่างจากการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ(Naturalism) เช่น ฟิสิกส์ หรือ ชีววิทยา ดังนั้น เหล่านักคิดด้านสังคม จึงได้นำ วิธีการ และระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์มาใช้ โดยแทบไม่มีการปรับเปลี่ยน แนวทางดังกล่าวเน้นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และผลลัพธ์ที่วัดได้ ทำให้เกิดระเบียบวิธีวิจัยที่เรียกว่า ปฏิฐานนิยม โดยมีรากฐานมาจากปรัชญาสายธรรมชาตินิยม
ปฏิฐานนิยม (Positivism) หมายถึง คตินิยมในปรัชญาวิทยาศาสตร์ ที่ยึดถือแนวความคิดที่ว่าองคภาวะที่สามารถสังเกต (Observation) วัด (Measurement) และวิเคราะห์ (Analysis) โดยใช้เครื่องมือ (Instrument) และระเบียบวิธีทางคณิตศาสตร์ (Mathematical) โดยตรงจากประสบการณ์เท่านั้นที่อยู่ภายใต้ขอบข่ายของการศึกษาทางวิทยาศาสตร์
ปฏิฐานนิยมมุ่งที่จะสร้างทฤษฎี (Theory) หรือกฎทั่วไป (General Rule) ซึ่งแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์ ผลจากการสังเกตและการทดลอง จะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าปรากฏการณ์สอดคล้องกับทฤษฎี หรือกฎทั่วไปหรือไม่ ซึ่งกล่าวได้ว่าแนวคิดปฏิฐานนิยมนี้มีรากฐาน (Fundamental) จากวิธีอุปนัย (Inductive) ก่อนทำการศึกษาซ้ำด้วยวิธีนิรนัย (Deductive)
บุคคลแรก ที่นำวิธีการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ มาใช้ในการสร้างกฏแห่งความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างปรากฏการณ์ทางสังคม คือ Emile Durkheim ในผลงานการศึกษา เรื่อง Le Suicide (1897) ซึ่งอธิบายปรากฏการณ์การฆ่าตัวตาย ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางด้านสังคม และได้อธิบายระเบียบวิธีการทางด้านสังคมวิทยาไปด้วย ผลงานชิ้นนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นตัวอย่างของสังคมวิทยาแนวปฏิฐานนิยม และมีอิทธิพลอย่างมากต่อพัฒนาการของสังคมวิทยาในสมัยต่อมา
เมื่ออาศัยแนวทางการวิเคราะห์โดยใช้สามคำถามพื้นฐาน ที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น สามารถวิเคราะห์แนวคิดปฏิฐานนิยม สรุปได้ดังต่อไปนี้
3.1 คำถามเชิงภววิทยา (Ontology) : อะไร คือ ธรรมชาติของความรู้/ความจริง
ตอบ ปฏิฐานนิยมถือว่า ความรู้/ความจริงเป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นเอกเทศ มีความเป็นวัตถุวิสัย (Objective) ความรู้/ความจริงที่ถูกค้นพบ ที่ผ่านการพิสูจน์และจัดเป็นระบบ (Condification) แล้ว มีคุณสมบัติเป็นสากล (Reality is Universal) สามารถใช้ได้ทั่วไป ไม่ถูกจำกัดด้วยเวลาและบริบท ดังนั้น ความจริงในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจึงมีเพียงสิ่งเดียว (Single Reality) แนวคิดนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สัจจนิยม (Realism) เป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมในสายวิทยาศาสตร์ หรือความรู้กระแสหลัก Corbetta เรียกว่าความเชื่อที่ไร้เดียงสา (Naïve Faith)ซึ่งในที่นี้
3.2 คำถามเชิงญาณวิทยา (Epistemology) : อะไร คือ ธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างผู้แสวงหาความรู้/ความจริง และ ความรู้/ความจริง
ตอบ ปฏิฐานนิยมเชื่อว่า ผู้แสวงหาความรู้/ความจริง กับความรู้/ความจริงเป็นอิสระต่อกัน ดังนั้น ทั้งสองส่วนจึงต้องแยกขาดออกจากกัน เหมือนคู่ขนาน (Dualist) เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจอย่างปราศจากอคติ (No Bias) และบรรลุความเป็นวัตถุวิสัย (Objectivity) ของการศึกษา
3.3 คำถามเชิงวิธีวิทยา (Methodology) : ผู้แสวงหาความรู้/ความจริง มีวิธีการที่จะแสวงหาความรู้/ความจริง อย่างไร
ตอบ ปฏิฐานนิยมเชื่อว่า ผู้แสวงหาความรู้/ความจริง มีวิธีการที่จะแสวงหาความรู้/ความจริง โดยวิธีการทดลอง (Experimental) และการปรับตามความเหมาะสม (Manipulative) เพื่อให้สามารถจัดการกับกลุ่มตัวอย่าง และกระบวนการวิจัยได้ทุกขั้นตอน เพื่อควบคุมและป้องกันอคติอันอาจเกิดขึ้นในขั้นตอนการแสวงหาความจริงนั้น ไม่ว่าจากตัวผู้แสวงหาความจริงเอง จากแหล่งภายนอก โดยอาศัยการสังเกต (Observation) และเก็บรวบรวมข้อมูล ส่วนใหญ่ใช้วิธีอุปนัย (Inductive) และใช้เทคนิควิธีเชิงปริมาณ (Quantitative Technique)
สรุปได้ว่า แนวคิดปฏิฐานนิยม (Positivism) เกิดมาจากการนำเอาวิธีการอธิบายในทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มาอธิบายโดยเชื่อว่าตามหลักการแล้ว ไม่มีอะไรแตกต่างกันระหว่างปรากฏการณ์ธรรมชาติกับปรากฏการณ์ทางสังคม และนักปฏิฐานนิยม (Positivist) ที่เชื่อว่า ความรู้ได้มาจากประสบการณ์
4. แนวคิดปฏิฐานนิยมใหม่และหลังปฏิฐานนิยม (Neopositivism and Postpostivism)
ภายหลังแนวคิดปฏิฐานนิยม (Positivism) จากกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 สังคมเริ่มมีความหลากหลายและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และความต้องการรายละเอียด (Detail) ที่ใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมมีมากขึ้น ทำให้การตอบคำถามของสังคมที่คลุมเครือไม่ชัดเจน (Unclear) โดยแนวคิดปฏิฐานนิยม เริ่มถูกท้าทายโดยกลุ่มนักคิดใหม่ๆ ระหว่าง คศ.1930-1960 ในนามแนวคิดปฏิฐานนิยมใหม่ (Neopositivism) และแนวคิดหลังปฏิฐานนิยม (Postpostivism) ที่นำโดยกลุ่มเวียนนา (Vienna Circle) ซึ่งมีผู้นำ คือ สองนักปรัชญา Schlick และ Carnap , นักคณิตศาสตร์อย่าง Hahn , นักเศรษฐศาสตร์อย่าง Neurath และนักฟิสิกส์อย่าง Frank
กลุ่มเวียนนา (Vienna Circle) ได้สร้างแนวคิดปฏิฐานนิยมของพวกเขาแตกต่างไปจากปรัชญาปฏิฐานในศตวรรษที่ 19 โดยการตั้งชื่อแนวคิดของพวกเขาว่าปฏิฐานนิยมเชิงตรรกะ (Logical Positivism) แนวคิดนี้ได้รับอิทธิพลมาจากปรัชญาประจักษนิยมยุคคลาสสิคของ Hume และหลักตรรกวิทยาแนวใหม่ของ Russell รวมถึงเป็นการสืบทอดเป้าหมายหลักของปรัชญาปฏิฐานนิยมแบบเดิมของ Comte ที่มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ทุกสาขาให้เป็นวิทยาศาสตร์
นอกจากนี้ กลุ่มเวียนนายังให้คำมั่นว่า สามารถสร้างให้ทุกสาขาวิชาเป็นวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริงได้ (Truly Scientific) สะท้อนออกมาในผลงานชื่อ The Scientific Conception of the World (1929) ที่มีฐานะเป็นคำประกาศจุดยืนของกลุ่มเวียนนาอีกฉบับหนึ่ง ได้แสดงความหวังไว้ว่าด้วยความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และเป็นการนำวิทยาศาสตร์เข้าสู่พื้นที่ทางสังคม (Social Arena) โครงการแห่งยุคสมัยใหม่ (The Modernist Project) จะช่วยให้ขบวนการพุทธิปัญญา (Wisdom Drive) บรรลุเป้าหมายเร็วขึ้น (Neurath et al. [1929] 1973 อ้างถึงใน Delanty and Strydom , 2003)
ลักษณะเด่นของปรัชญาปฏิฐานนิยมเชิงตรรกวิทยา คือ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการสร้างสรรค์วิธีการแบบวิทยาศาสตร์ที่เป็นหนึ่งเดียวและมีมาตรฐานเดียวกันเพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้กับทุกสาขาวิชา
นอกจากกลุ่มเวียนนาแล้ว ยังมีนักคิดแนวปฏิฐานนิยมใหม่ (Neopositivism) และหลังปฏิฐานนิยม (Postpostivism) ที่มีการแสดงประดิษฐกรรมทางความคิด เช่น Paul F. Lazarsfeld ที่เสนอหลักวิธีทางสังคมวิทยาแนวปฏิฐานนิยมใหม่เชิงประจักษ์ (Empirical Methodology in Sociology) โดยหยิบยืมภาษาทางสถิติ (Statistic) มาใช้ในทางสังคมเรียกว่า ภาษาแห่งตัวแปล (Language of Variables) เป็นต้น
เมื่ออาศัยแนวทางการวิเคราะห์โดยใช้สามคำถามพื้นฐาน สามารถวิเคราะห์แนวคิดปฏิฐานนิยมใหม่ และแนวคิดหลังปฏิฐานนิยม สรุปได้ดังต่อไปนี้
4.1 คำถามเชิงภววิทยา (Ontology) : อะไร คือ ธรรมชาติของความรู้/ความจริง
ตอบ ปฏิฐานนิยมใหม่และหลังปฏิฐานนิยม ยังคงถือว่า ความรู้/ความจริงเป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นเอกเทศ และมีความเป็นวัตถุวิสัย (Objective) เพียงแต่ความรู้/ความจริงที่ถูกค้นพบ เป็นไปตามหลักความน่าจะเป็น (Probabilistic) จำเป็นต้องพิสูจน์ในหลายรูปแบบ ซึ่งในที่นี้ Corbetta เรียกว่าสัจจนิยมเชิงวิพากษ์ (Critical Realism)
4.2 คำถามเชิงญาณวิทยา (Epistemology) : อะไร คือ ธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างผู้แสวงหาความรู้/ความจริง และ ความรู้/ความจริง
ตอบ ปฏิฐานนิยมใหม่และหลังปฏิฐานนิยมเชื่อว่า ผู้แสวงหาความรู้/ความจริง กับความรู้/ความจริง ยังคงเป็นอิสระต่อกัน แต่ระดับของความหลากหลายและรูปแบบของความสัมพันธ์มีมากขึ้น จำเป็นต้องใช้วิธีการคู่ขนาประยุกต์ (Modified Dualism)
4.3 คำถามเชิงวิธีวิทยา (Methodology) : ผู้แสวงหาความรู้/ความจริง มีวิธีการที่จะแสวงหาความรู้/ความจริง อย่างไร
ตอบ ปฏิฐานนิยมใหม่และหลังปฏิฐานนิยมเชื่อว่า ผู้แสวงหาความรู้/ความจริง มีวิธีการที่จะแสวงหาความรู้/ความจริง โดยใช้วิธีการทดลองประยุกต์ (Modified Experimental) และการปรับตามความเหมาะสม (Modified Manipulative) โดยอาศัยการสังเกต (Observation) ส่วนใหญ่ใช้วิธีนิรนัย (Deductive) และใช้เทคนิควิธีเชิงปริมาณ (Quantitative Technique)
สรุปได้ว่า แนวคิดปฏิฐานนิยมใหม่ (Neopositivism) และแนวคิดหลังปฏิฐานนิยม (Postpostivism) เกิดมาจากการขยายกรอบแนวคิดและวิธีการ ในทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มาอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการสร้างสรรค์วิธีการแบบวิทยาศาสตร์ที่เป็นหนึ่งเดียวและมีมาตรฐานเดียวกันเพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้กับทุกสาขาวิชา
5. คตินิยมแนวการตีความ (Interpretivism)
จากที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า สองทัศนะของกระบวนทัศน์ปฏิฐานนิยม กำเนิดในช่วงกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ส่วนทัศนะเชิงวิพากษ์ เริ่มในปี คศ.1930 และอีกครั้งในปี คศ.1970 ทัศนะทั้งสองต่างผ่านประสบการณ์การพัฒนาความคิดมาพอสมควร เนื่องจากเป็นแนวคิดที่มีความคล้ายคลึงกัน (Analogy) ระหว่างสองทัศนะดังกล่าว
ในกระบวนทัศน์การวิจัยทางสังคมลำดับต่อมา ซึ่งถือเป็นกระแสต้าน (Critical Stream) คือ แนวคิดคตินิยมแนวการตีความสังคมวิทยา (Interpretive Sociology) ซึ่งเริ่มต้นในคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยมีผู้นำทางความคิดคนสำคัญ คือ Max Weber
Weber ชี้ให้เห็นว่า ความแตกต่างระหว่างการศึกษาทางวิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์ว่า ในขณะที่ นักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติพยายามค้นหากฎทั่วไปของปรากฏการณ์ แต่นักสังคมศาสตร์เน้นการหาคำอธิบายเชิงสาเหตุและทำความเข้าใจการกระทำทางสังคม (Social Action) ในบริบททางประวัติศาสตร์ในแต่ละช่วง Weber ยังยืนยันว่าการกระทำต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ ไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่เป็นเรื่องของความน่าจะเป็น และสิ่งที่ทำให้การศึกษาทางสังคมเป็นศาสตร์ขึ้นมาได้ ก็ด้วยความจริงที่ว่าการกระทำของมนุษย์เป็นไปอย่างมีเหตุผลในช่วงเวลาส่วนใหญ่
ดังนั้น เป้าหมายของสังคมศาสตร์ คือ การกระทำทางสังคม (Social Action) สังคมวิทยา (Sociology) จะพยายามอธิบายการกระทำเหล่านั้น ด้วยวิธีที่เรียกว่า การทำความเข้าใจเชิงการตีความ (Verstehen) อันเป็นที่มาของคตินิยมแนวการตีความ (Interpretive)
ปรัชญาการตีความ เป็นปรัชญาของการทำความเข้าใจ ซึ่งให้ความกระจ่างเกี่ยวกับวิธีที่บุคคลหนึ่งจะเข้าใจการกระทำหรือถ้อยคำหรือสิ่งต่างๆ อันมีความหมาย ที่บุคคลอีกคนหนึ่งแสดงออกมา จากการตีความตัวบท (Text) เอกสาร (Document) ภาพวาด (Picture) รูปปั้น (Sculpture) และปรากฏการณ์ทางสังคม (Social Phenomena)
ในการแสวงหาความรู้ จำเป็นจะต้องแยกศาสตร์ออกสองด้าน คือ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติและศาสตร์เกี่ยวกับมนุษย์ ซึ่งมีทั้ง จิตใจ ตัวตน หรือวัฒนธรรม โดยการวิเคราะห์ในเชิงการตีความไม่ยอมรับว่า การศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์จะสามารถ หรือควรจะมีรูปแบบเดียวกับ การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เพราะเป้าหมายหลักของศาสตร์เกี่ยวกับมนุษย์ (Human Sciences) ไม่ใช่การอธิบายกิจกรรมของมนุษย์แต่เป็นการตีความกิจกรรมของพวกเขาต่างหาก
การตีความสาเหตุการกระทำของมนุษย์ในสังคม ในแง่สิ่งที่จูงใจ (Motivation) ให้กระทำเช่นนั้น แต่การตีความหรือทำความเข้าใจดังกล่าวจะถือว่าอธิบายเหตุผลของการกระทำได้ ก็ต่อเมื่อ การตีความนั้นสามารถให้ระบบความหมายที่มีแบบแผนชัดเจน ความเข้าใจในแง่ที่เป็นเหตุเป็นผล ความเข้าใจที่เกิดจากการมีความรู้สึกร่วมกับผู้กระทำว่า ทำไมการกระทำอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในเวลาและสถานการณ์หนึ่ง จึงได้จากการเข้าใจผู้กระทำว่าเขาคิดอย่างไรจึงทำเช่นนั้น และมีแรงจูงใจอะไรที่ทำให้เขาคิดหรือรู้สึกอย่างนั้น นำมาใช้ในการหาความรู้สึกนึกคิดร่วมของคนในสังคม
การอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม (Social Phenomenal) ไม่จำเป็นต้องอาศัยกฎ หรือหลักเกณฑ์ทั่วไป ปรากฏการณ์ทางสังคมนั้นแตกต่างจากปรากฏการณ์ธรรมชาติตรงที่ ส่วนหนึ่งของมันเกี่ยวข้องกับความคิดและภาษา สิ่งสำคัญในการอธิบายวิธีนี้ คือ การทำความเข้าใจการกระทำ แนวปฏิบัติ และรูปแบบของวิถีชีวิตของผู้คนที่นำมาศึกษา เพื่อที่จะรู้ถึงแบบแผนและความหมายซึ่งก่อให้เกิดการกระทำหรือปรากฏการณ์ทางสังคมขึ้น สิ่งที่นำมาตีความ (Object) นั้น เป็นไปตามเงื่อนไข 3 ประการ
1. มีเหตุผล (Rationalization) และระเบียบแบบแผน บางอย่างปรากฏชัดเจนอยู่ในวิสัยที่พอจะตีความได้
2. มีความหมายที่แฝงเร้นอยู่ (Hidden Meaning) และความหมายนั้นสามารถเข้าใจได้
3. เป็นความหมายสำหรับคน (Subject)
เมื่ออาศัยแนวทางการวิเคราะห์โดยใช้สามคำถามพื้นฐาน สามารถวิเคราะห์แนวคิดปฏิฐานนิยมใหม่ และแนวคิดหลังปฏิฐานนิยม สรุปได้ดังต่อไปนี้
5.1 คำถามเชิงภววิทยา (Ontology) : อะไร คือ ธรรมชาติของความรู้/ความจริง
ตอบ คตินิยมแนวการตีความถือว่า ไม่มีความรู้/ความจริงที่เป็นอยู่อย่างอิสระ เพราะความรู้/ความจริงเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น (Reality is Constructed) ด้วยเหตุนี้เองความจริงจึงมีได้หลากหาย ไม่ใช่มีเพียงหนึ่งเดียว ความจริงที่ได้จากการวิจัยถือเป็นเพียง ภาพสร้าง (Construct) ของความจริง เพราะความจริงถึงแม้จะมีอยู่จริง ก็ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์เข้าถึงได้อย่างสมบูรณ์
5.2 คำถามเชิงญาณวิทยา (Epistemology) : อะไร คือ ธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างผู้แสวงหาความรู้/ความจริง และ ความรู้/ความจริง
ตอบ คตินิยมแนวการตีความเชื่อว่า ผู้แสวงหาความรู้/ความจริง กับความรู้/ความจริงนั้น ต่างก็มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ต่างก็ส่งอิทธิพลเนื่องถึงกัน ดังนั้น ทั้งสองส่วนจึงไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ ไม่จำเป็นต้องหาแนวทางการค้นหาความจริงที่ปราศจากอคติ เพราะอย่างไรเสียในจิตใจมนุษย์ย่อมก็มีอคติอยู่แล้ว
5.3 คำถามเชิงวิธีวิทยา (Methodology) : ผู้แสวงหาความรู้/ความจริง มีวิธีการที่จะแสวงหาความรู้/ความจริง อย่างไร
ตอบ คตินิยมแนวการตีความเชื่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้แสวงหาความรู้/ความจริง หรือผู้ศึกษา กับสิ่งที่ถูกศึกษาเป็นสิ่งซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะความสัมพันธ์ที่ดีจำเป็นสำหรับการเข้าถึงข้อมูลที่ดี
สรุปได้ว่า คตินิยมแนวการตีความ (Interpretive) เป็นกระบวนทัศน์ที่มุ่งทำความเข้าใจการกระทำ แนวปฏิบัติ และรูปแบบของวิถีชีวิตของผู้คนที่นำมาศึกษา เพื่อที่จะรู้ถึงแบบแผนและความหมายซึ่งก่อให้เกิดการกระทำหรือปรากฏการณ์ทางสังคมขึ้น อย่างมีเหตุผล
ส่วนที่ 2 การวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ (Quantitative and Qualitative Research)
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่า ในการศึกษาทางสังคมศาสตร์ สามารถแบ่งแนวทางการวิจัยออกได้เป็นสองแนว คือ การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยสามารถสรุปแนวทางในการศึกษาทั้งสองแบบ ได้ดังนี้
1. กระบวนทัศน์ปฏิฐานนิยม (Positivist Paradigm) กับการวิจัยเชิงปริมาณ
การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เป็นวิธีการหาความรู้โดยใช้วิธีการของนิรนัย (Deductive Method) ที่พยายามนำความรู้ที่มีอยู่แล้วจากที่ได้มีการค้นคว้า ตั้งขึ้นเป็นสมมุติฐาน (Hypothesis) นำไปพิสูจน์ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลในสนาม ซึ่งข้อมูลที่ต้องการนั้น เป็นการเก็บจากแบบสอบถาม (Questionnaire) ข้อมูลที่ได้จึงเป็นตัวเลขหรือปริมาณ นำมาวิเคราะห์หาวิธีการทางสถิติ (Statistics) เพื่อตอบสมมุติฐานที่ตั้งขึ้น วิธีการหาความรู้ด้วยการวิจัยเชิงปริมาณนี้ เป็นที่นิยมแพร่หลายกันมาก เพราะสามารถที่จะได้ข้อมูลเป็นปริมาณจำนวนมาก สะดวกในการวิเคราะห์ข้อมูล และสามารถที่จะกล่าวสรุปทั่วๆไปได้ (Generalization) อาจกล่าวได้ว่า ยังมีนักสังคมศาสตร์อยู่จำนวนไม่น้อยที่นิยมใช้วิธีการเชิงปริมาณ
กรอบปรัชญาที่อยู่เบื้องหลัง ได้รับอิทธิพลจาก แนวคิดปฏิฐานนิยม (Positivism) เนื่องจากยึดถือแนวความคิดที่ว่าองคภาวะที่สามารถสังเกต (Observation) วัด (Measurement) และวิเคราะห์ (Analysis) โดยใช้เครื่องมือ (Instrument) และระเบียบวิธีทางคณิตศาสตร์ (Mathematical)
ผลที่ได้จากงานวิจัยเชิงปริมาณ มักจะบ่งบอกถึงสถานะ (Status) ปัจจุบันของธรรมชาติที่ศึกษา นักวิจัยเชิงปริมาณจะทำการวิจัยอย่างวิทยาศาสตร์ คือ เอาตนเองเข้าไปปนเปื้อนกับการวิจัยให้น้อยที่สุด เพื่อให้ได้ผลการวิจัยที่เที่ยงแท้และเป็นกลางมากที่สุด
2. กระบวนทัศน์คตินิยมแนวการตีความ(Interpretive Paradigm) กับการวิจัยเชิงคุณภาพ
ปัจจุบัน นักสังคมศาสตร์หลายคนเริ่มให้ความสนใจใน วิธีการหาความรู้ทางสังคมศาสตร์เชิงคุณภาพ (Qualitative Social Science Method) มากขึ้น วิธีการที่ใช้ก็คือ วิธีการของอุปนัย (Inductive Method) ซึ่งพยายามหาข้อมูลจากภาคสนาม เพื่อจะได้นำไปสร้างเป็นสมมุติฐาน หรือทฤษฎีต่อไป วิธีการแบบอุปนัยนี้ จะเน้นการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ ต้องเข้าไปคลุกคลีกับสังคมในเรื่องที่จะศึกษาวิจัยเป็นเวลานานพอสมควร เพื่อจะให้ได้ข้อมูลที่มีลักษณะเนื้อหาสาระแก่นสารของความรู้ การวิเคราะห์จึงไม่ต้องใช้สถิติ ข้อสังเกตของวิธีการแบบนี้ คือ เป็นการศึกษาเฉพาะที่หรือเฉพาะชุมชน แม้ว่าข้อมูลที่ได้รับเป็นข้อมูลที่ละเอียด เป็นแบบคุณภาพ และการเขียนมีลักษณะของการวิเคราะห์เชิงพรรณนา แต่วิธีนี้ไม่สามารถที่จะนำความรู้ที่ได้มานี้มากล่าวสรุปทั่วๆไปได้
กรอบปรัชญาที่อยู่เบื้องหลัง ได้รับอิทธิพลจาก คตินิยมแนวการตีความ (Interpretivism) เพื่อมุ่งทำความเข้าใจการกระทำ แนวปฏิบัติ และรูปแบบของวิถีชีวิตของผู้คนที่นำมาศึกษา เพื่อที่จะรู้ถึงแบบแผนและความหมายซึ่งก่อให้เกิดการกระทำหรือปรากฏการณ์ทางสังคมขึ้น อย่างมีเหตุผลและระเบียบแบบแผน
นักวิจัยเชิงคุณภาพ มีความเชื่อว่า การแยกตัวเองออกมาจากธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ (Impossible) สิ่งที่มนุษย์เราทำได้ คือ การนำเสนอความจริงในมุมมองที่เป็นของตัวเราเอง
3. เปรียบเทียบการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
3.1 ด้านการวางแผนการทำวิจัย (Research Planning)
การวางแผนการทำวิจัย
(Research Planning)
|
การวิจัยเชิงปริมาณ
(Quantitative Research)
|
การวิจัยเชิงคุณภาพ
(Qualitative Research)
|
ความสัมพันธ์ของทฤษฎีวิจัย
|
โครงสร้าง
วิธีนิรนัย (Deductive)
|
ระบบเปิด
วิธีอุปนัย (Inductive)
|
หน้าที่ทางวรรณกรรม
|
พื้นฐานทางทฤษฎี
การตั้งสมมติฐาน
|
สนับสนุนการศึกษา
|
ความคิดรวบยอด (Concept)
|
ความจริงเป็นโลกภายนอก และวัดได้ด้วยวัตถุวิสัย (Objective)
|
ความจริงทางสังคมสร้างขึ้นในความนึกคิดของมนุษย์และเป็นอัตตวิสัย (Subjective)
|
กระบวนทัศน์
|
ปฏิฐานนิยม (Postivism)
|
คตินิยมแนวการตีความ (Interpretive)
|
3.2 ด้านการเก็บรวบรวมข้อมูล (Data Collection)
การเก็บรวบรวมข้อมูล
(Data Collection)
|
การวิจัยเชิงปริมาณ
(Quantitative Research)
|
การวิจัยเชิงคุณภาพ
(Qualitative Research)
|
การออกแบบงานวิจัย
|
เน้นโครงสร้าง , ระบบปิด ,เน้นตามขั้นตอนวิจัย
|
ไม่มีรูปแบบแน่นอน , ระบบเปิด , สร้างจากการวิจัย
|
การกำหนดตัวแทน
|
ระบบสถิติ
|
กรณีศึกษา
|
เครื่องมือที่ใช้
|
เป็นมาตรฐาน
|
ไม่เป็นมาตรฐาน
|
ธรรมชาติของข้อมูล
|
ข้อมูลแข็ง (วัตถุวิสัย)
|
ข้อมูลอ่อน (ลึก มีรายละเอียด)
|
3.3 ด้านการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis)
การวิเคราะห์ข้อมูล
(Data Analysis)
|
การวิจัยเชิงปริมาณ
(Quantitative Research)
|
การวิจัยเชิงคุณภาพ
(Qualitative Research)
|
วัตถุประสงค์ของการวิเคราะห์
|
เพื่ออธิบายตัวแปร
|
เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่ศึกษา
|
สิ่งที่นำมาวิเคราะห์
|
ตัวแปร
|
ปัจเจกบุคคล
|
เทคนิคทางสถิติ
|
ใช้
|
ไม่ใช้
|
3.4 ด้านผลการวิจัย (Production of Result)
ผลการวิจัย
(Production of Result)
|
การวิจัยเชิงปริมาณ
(Quantitative Research)
|
การวิจัยเชิงคุณภาพ
(Qualitative Research)
|
การนำเสนอข้อมูล
|
ตารางข้อมูล
|
บรรยายข้อมูลการสัมภาษณ์
|
การสรุปทั่วไป (Generalization)
|
ความสัมพันธ์ , ตัวแบบสาเหตุ , กฎ และตรรกะแห่งสาเหตุ
|
การจำแนก , ประเภทแนวคิด
|
กรอบของผลการศึกษา
|
สรุปได้โดยทั่วไป (Generalization)
|
จำเพาะเจาะจง (Specificity)
|
บทสรุป
ในการประยุกต์แนวคิด หรือระเบียบวิธีวิจัย เพื่อใช้กับสังคมไทย คงไม่สามารถระบุได้ว่าระหว่าง การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) สิ่งใด คือ คำตอบสุดท้าย (Final Answer) หรือทางออกเดียวที่ดีที่สุด เนื่องจากความแตกต่างของระเบียบวิธี และลักษณะของข้อมูล ตลอดจนเงื่อนไข และความสามารถของนักวิจัย แต่ทางออกที่ดี และเหมาะที่จะใช้ในการศึกษาสังคมไทยที่นับวันจะมีความสลับซับซ้อน หลากหลายเนื่องมาจากอิทธิพลของกระแสโลกาภิวัตน์ คือ การประยุกต์ใช้ระเบียบวิธีทั้งสองแบบร่วมกัน หรือที่เรียกว่าวิธีการผสม (Mixed Method) โดยดึงเอาจุดเด่นของทั้งสองวิธีมาผสมผสาน เป็นการปิดจุดอ่อนซึ่งกันและกัน อันจะนำมาซึ่งคุณภาพของงานวิจัยที่มีคุณค่า และรับใช้สังคมไทยให้ก้าวไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน
หนังสืออ้างอิง
นิศา ชูโต. การวิจัยเชิงคุณภาพ. กรุงเทพฯ : พี. เอ็น. การพิมพ์. 2540.
สมศักดิ์ ศรีสันติสุข. ระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 7). สมุทรปราการ : โรงพิมพ์เดชกมลออฟเซ็ต. 2550
Bulmer, Martin. Sociological research methods; an introduction. London : Macmillan. 1984.
วันที่ 28 ต.ค. 2551
Advertisement
เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง
เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง
เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง
เปิดอ่าน 7,133 ครั้ง
เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง
เปิดอ่าน 7,158 ครั้ง
เปิดอ่าน 7,426 ครั้ง
เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง
เปิดอ่าน 7,135 ครั้ง
เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง
เปิดอ่าน 7,149 ครั้ง
เปิดอ่าน 7,172 ครั้ง
เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง
เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง
เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง
เปิดอ่าน 7,156 ครั้ง