รศ.เวช ชูโชติ
โรคพยาธิตัวจี๊ดคืออะไร
โรคพยาธิตัวจี๊ดเกิดจากพยาธิตัวกลมในสกุล Gnathostoma ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดหลายชนิดด้วยกัน แต่ชนิดที่พบมากที่สุดคือ Gnathostoma spinigerum คนไม่ใช่โฮสต์เฉพาะของพยาธิ แต่คนเกิดโรคจากการได้รับตัวอ่อนของพยาธิเข้าสู่ร่างกาย เรียกว่าโรคพยาธิตัวจี๊ด (Gnathostomiasis)
โรคพยาธิตัวจี๊ดพบได้ที่ใดบ้าง
มีรายงานว่าพบโรคนี้ส่วนใหญ่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พบในประเทศไทย มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อิสราเอลและอินเดีย
พยาธิตัวจี๊ดมีลักษณะเป็นอย่างไร
พยาธิตัวเต็มวัยทั้งเพศผู้และเพศเมียอาศัยอยู่ในก้อนทูมที่ผนังกระเพาะอาหารของแมว สุนัข เสือ และสัตว์กินเนื้อชนิดอื่น ๆ ตัวเต็มวัยที่พบจากกระเพาะอาหารของสุนัขหรือแมวนั้น (รูปที่ 1) เพศเมียยาวประมาณ 25-54 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 1-2 มิลลิเมตร เพศผู้ยาวประมาณ 11-25 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร (รูปที่ 2) ส่วนหัวแยกออกจากลำตัวชัดเจน และมีหนามเรียงอยู่รอบหัวประมาณ 8 แถว
รูปที่ 1 พยาธิตัวเต็มวัยในก้อนทูมที่พบในกระเพาะอาหารของสุนัข
รูปที่ 2 พยาธิตัวเต็มวัยเพศผู้ที่พบจากกระเพาะอาหารของสุนัข
(ที่มา: http://www.med.cmu.ac.th/dept/parasite/nematode/framene.htm-Gnathostoma spinigerum)
คนติดโรคพยาธิตัวจี๊ดได้อย่างไร
คนเป็นโรคพยาธิตัวจี๊ดโดยการ
(1) ดื่มน้ำที่มีกุ้งไร (cyclops) ที่มีระยะติดต่อระยะที่สาม (รูปที่ 3)
รูปที่ 3 ตัวอ่อนของพยาธิตัวจี๊ดในกุ้งไร (cyclops)
(ที่มา: http://www.med.cmu.ac.th/dept/parasite/nematode/framene.htm-Gnathostoma spinigerum)
(2) โดยการรับประทานเนื้อปลา กบ ไก่ เป็ดฯลฯ ที่มีระยะติดต่อระยะที่สาม โดยปรุงเนื้อสัตว์เหล่านี้ให้สุกด้วยความร้อนไม่เพียงพอ
(3) ติดต่อจากมารดาขณะอยู่ในครรภ์ (prenatal transmission)
(4) ไชเข้าทางผิวหนัง ซึ่งพบจากการทดลองในสัตว์ทดลอง
เมื่อเป็นโรคพยาธิตัวจี๊ดจะมีอาการอย่างไร
เมื่อคนได้รับตัวอ่อนระยะที่สามของพยาธิตัวจี๊ดเข้าไป ตัวอ่อนจะไชไปตามบริเวณต่าง ๆ ในร่างกายทำให้เกิดอาการแสดงตามตำแหน่งที่มีพยาธิอยู่ เช่น ไชไปตามเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังก็เกิดอาการบวมเคลื่อนที่ หรือเข้าสมองก็เกิดสมองอักเสบ หรือไชไปที่ลูกตา เป็นต้น
จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคพยาธิตัวจี๊ด
ควรได้รับการวินิจฉัยโรคจากแพทย์ แพทย์จะวินิจฉัยโรคจากประวัติการกินอาหารดิบ ๆ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารที่พบเสมอได้แก่ ส้มฟัก ปลาหรือไก่ย่างที่ไม่สุกพอ ยำกบ ฯลฯ อาการที่แสดง เช่น บวมเคลื่อนที่ ปวดจี๊ด ๆ และคัน เป็นต้น การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ภาวะที่มีอีโอสิโนฟิลสูงในเลือด การทดสอบทางผิวหนัง (skin test) ผลบวกของการทดสอบช่วยประกอบการวินิจฉัยโรคได้ แต่ไม่จำเพาะต่อโรคพยาธิตัวจี๊ด 100% การตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยาด้วยวิธี ELISA โดยใช้แอนติเจนจากตัวอ่อนระยะที่สามของพยาธิตัวจี๊ด (crude somatic extract) หรือใช้ชิ้นโพลีเปปไทด์ขนาด 24 kDa พบว่ามีความไวและความจำเพาะสูงถึง 100% การได้ตัวพยาธิออกมาจากการผ่าตัด หรือพยาธิออกมาเองทางเหงือก เยื่อตาขาว หรือออกมากับปัสสาวะ เป็นต้น เป็นวิธีการวินิจฉัยที่แน่นอนที่สุด
จะทำการรักษาโรคพยาธิตัวจี๊ดได้อย่างไร
ผู้ป่วยไม่ควรทำการรักษาเองควรไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มียาที่ได้รับการยอมรับว่ารักษาโรคพยาธิตัวจี๊ดได้ผลดี นอกจากยา Albendazole โดยให้ผู้ป่วยรับประทานขนาดวันละ 400 มิลลิกรัม ติดต่อกันนาน 21 วัน จะทำให้พยาธิออกมาจากผู้ป่วยมากราย
จะทำการป้องกันการติดโรคพยาธินี้ได้อย่างไร
โรคนี้ป้องกันได้ง่าย โดยดื่มน้ำที่สะอาดไม่มีการปนเปื้อนของกุ้งไร รับประทานอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อนอย่างดีแล้ว โดยเฉพาะเนื้อปลา ไก่ เป็ด กบ เป็นต้น
ที่มาข้อมูล ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่