นอกจากความประทับใจจากภาพอันสวยงามแสนหวานของคู่บ่าวสาวแล้ว งานแต่งงานยังเป็นการเลี้ยงเฉลิมฉลองที่ให้ผูมาร่วมยินดีในงาน ได้อิ่มอร่อยกับอาหารหลากหลายรสชาติและของหวานรสละมุน ที่ทางเจ้าภาพตระเตรียมไว้เลี้ยงอย่างเต็มที่ นับเป็นความประทับใจอีกประการที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้
การเลี้ยงอาหารในงานวิวาห์นั้น แต่ละท้องถิ่นจะมีความแตกต่างกัน ทั้งเรื่องการจัดวาง การเลือกเมนูอาหาร ทั้งนี้ มักจะสอดคล้องกับวัฒนธรรมและคตินิยมประจำท้องถิ่นนั้น เริ่มตั้งแต่การเรียกงานฉลองแต่งงานนี้ จะมีชื่อเรียกต่างกันไปในแต่ละภาค
- ภาคเหนือจะเรียกการ "กินแขก" มีความหมายถึงการเลี้ยงแขก
- ภาคอีสานเรียก "กินดอง" หมายถึงการกินเลี้ยงเพื่อเกี่ยวดองเป็นญาติ
- ภาคใต้จะเรียก "กินเนี้ยว" หรือที่เรียกในภาษาถิ่นว่า "มาแกปูโละ" หมายถึงการเลี้ยงฉลองในงานมงคล อาหารในงานแต่งงานจะต้องมีข้าวเหนียว ทานกับกับข้าวต่าง ๆ หรือถ้าทานเป็นของหวานจะโรยน้ำตาลและมะพร้าวขูด เพราะคนท้องถิ่นถือว่าข้าวเหนียวสื่อถึงความรักที่เหนียวแน่นยืนนานระหว่างคู่บ่าวสาวและครอบครัวทั้งสองฝ่าย
- ภาคกลาง พิธีมงคลนี้เรียกว่าการ "กินสามถ้วย" หรือ "กินสี่ถ้วย" หมายถึงการเลี้ยงขนมสามอย่างหรื่อสี่อย่าง โดยขนมทั้งสี่อย่างเป็นขนมโบราณแต่ดั้งเดิมของไทย ได้แก่ เม็ดแมงลักน้ำกระทิหรือที่เรียกไข่กบ, สอดช่องน้ำกระทิหรือนกปล่อย, ข้าวตอกน้ำกระทิ หรือนางลอย และข้าวเหนียวน้ำกระทิหรืออ้ายตื้อ ซึ่งทั้งหมดล้วนมีความหมายในทางมงคลทั้งสิ้น ได้แก่...
เม็ดแมงลักน้ำกระทิ มีลักษณะเป็นเม็ดใสจับกันเป็นแพ คล้ายไข่กบ มีความหมายว่า ให้คู่บ่าวสาว มีลูกมีหลานเต็มบ้าน สมบูรณ์พร้อมหน้า ครอบครัวอบอุ่น เปรียบดั่งกบที่ออกไข่ครั้งละมาก ๆ ส่วนน้ำกระทิหมายถึงความหวานชื่น ลอดช่องน้ำกะทิ มีความหมายให้คู่บ่าวสาวมีความรักยืนยาว จะทำการใดก็ขอให้ผ่านพ้นไปได้ตลอด ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่ ดังลักษณะลื่นไหลของลอดช่องนั่นเอง
ข้าวตอกน้ำกะทิ มีความหมาย ให้คู่บ่าวสาวมีความรักที่เบ่งบานเฟื่องฟูเช่นเดียวกับข้าวตอก มีความหวานชื่นเหมือนน้ำกะทิ ขอให้ความรักแบ่งบานสวยงามภายใต้กรอบประเพณีอันดีงาม เช่นเดียวกับข้าวตอกที่ไม่เคยกระเด็นออกนอกที่ครอบเวลาคั่วข้าว
ข้าวเหนียวน้ำกะทิ มีความหมายว่า ให้คู่บ่าวสาวนั้นรักกันแน่นเหนียวเหมือนข้าวเหนียวและมีความหวานชื่นเหมือนน้ำกะทิ
นอกจากจะมีความความหมายดีแล้ว ขนมทั้ง 4 ชนิดยังเป็นแหล่งพลังงานสำหรับแขกผู้เหนื่อยล้า จากการเดินทาง เพราะในสมัยก่อนการเดินทางมาร่วมงานมงคลไม่ได้สะดวกสบายดังปัจจุบัน ถือเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่ง ต่อมาเมื่อการเดินทางสะดวกขึ้น กุศโลบายการเลี้ยงขนมแบบนี้จึงเลิกไป งานแต่งงานจึงมีชื่อเรียกง่าย ๆ อีกอย่างว่า กินเลี้ยงแทน
นอกจากการกินขนมสามถ้วยหรือสี่ถ้วยแล้ว ในขบวนขันหมากของภาคกลางจะต้องมี "เตียบอาหาร" ที่เน้นอาหารคาวด้วยเช่นกัน เตียบอาหาร ต้องจัดให้มี 3 คู่ขึ้นไป อาหารคาวที่จัดวางในเตียบอาหารได้แก่ ขนมจีบ ขนมจีนน้ำยา และห่อหมก ซึ่งชื่ออาหารล้วนมีความหมายในทางมงคลเช่นกัน
ห่อหมก มีความหมายในเชิงให้เจ้าบ่าว-เจ้าสาวนั้น “เออออห่อหมก” กันไปทุกเรื่อง จะได้ไม่ต้องมีเรื่องขัดข้องใจกันนั่นเอง
ขนมจีบ ให้คู่แต่งงานรักกันหวานชื่นเหมือนกับช่วงที่จีบกันใหม่ ๆ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่หวานชื่นที่สุดของความสัมพันธ์
ขนมจีนน้ำยา ถือเป็นอาหารสำคัญในงานแต่งงานตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว โดยเฉพาะขนมจีนที่นำมาใช้จะต้องโรยให้เส้นต่อเนื่องกันและยาวที่สุด เวลาจัดต้องจัดให้สวยงามโดยไม่ตัดให้ขาด เพราะคนโบราณถือว่าเป็นมงคลให้การครองรักยืนยาว เครื่องเคียงของขนมจีนอย่างถั่วงอก ก็ให้ความหมายของความเจริญงอกงาม ถั่วงอกนี้ไม่ใช่แค่ชื่อที่เกี่ยวกับการเติบโตงอกงามเท่านั้น ทางการแพทย์ถือว่า ถั่วงอกมีฮอร์โมนจิบเบอเรลลินช่วยกระตุ้นการเติบโตของต้นไม้ และมีผลต่อการเจริญเติบโตของคนด้วยเช่นกัน หากบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีอาหารมลคล ย่อมต้องมีอาหารต้องห้ามในงานแต่งงาน อาหารที่คนสมัยก่อน จะไม่ยอมให้มีเลย ได้แก่ แกงบวน ต้มยำ ยำผัก ปลาร้า ปลาเจ่า ตลอดจนแกงร้อนและอาหารชนิดอื่นที่ชื่อและลักษณะไม่เป็นมงคล เช่น หมี่กรอบ มีลักษณะหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้
ทั้งนี้ อาหารในงานมงคลนี้ ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่แสดงว่าคนไทย มีความละเมียดละไมในการใช้ชีวิตเพียงใด เราจึงต้องช่วยรักษาและถ่ายทอดสิ่งนี้ให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก ::