บทความนี้เป็นบทความที่ดิฉันได้เขียนเพื่อเสนอความคิดเห็นเชิงวิชาการตอนเรียน ป.โท ค่ะ ลองอ่านและแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมกันได้นะคะ...
" คุณภาพการศึกษา จากมัธยมศึกษาตอนปลาย สู่รั้วมหาวิทยาลัย (เปิด – ปิด) ..."
ในเรื่องของการศึกษาในปัจจุบัน มีเรื่องที่ผู้เขียนให้ความสนใจอยู่หลายเรื่องแต่มีเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องเกี่ยวพันและอยากที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คือ การคัดคนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ผู้เขียนใช้คำว่าคัดคนเพราะว่ากระบวนการดูจะเป็นเช่นนั้นจริง ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาในการคัดเลือกนักเรียน ม. 6 เข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยของรัฐหรือที่เรียกกันว่ามหาวิทยาลัยปิดนั้น ดูจะมีความศักดิ์สิทธิ์ ผู้เขียนขอใช้คำนี้เพราะ ณ ตอนนั้นรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ ต้องใช้ความสามารถของตนเอง อ่านหนังสือ รวบรวมความรู้ ฝึกฝนข้อสอบและอีกหลายอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งความภาคภูมิใจในการได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยปิดชื่อดัง ตั้งแต่ระบบเอนทรานซ์แบบเก่า จนถึงระบบ Admission ในปัจจุบัน สิ่งที่เหมือนกันก็คือลักษณะการคัดคนเข้าเรียนนั่นเอง แต่ความรู้สึกแห่งการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความภาคภูมิใจนั้น เห็นจะไม่มีเท่าเทียมกับในสมัยก่อน ดูจากอะไรนั้น หากสังเกตให้ดีเราจะเห็นว่าในการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยปิดในอดีต คนที่ขวนขวายเข้าเรียนนั้นนอกจากจะเพื่อได้เรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดัง ดี ของรัฐบาลแล้ว ยังมีปัจจัยในเรื่องของเงินมาเกี่ยวข้องด้วยเพราะการเรียนในมหาวิทยาลัยปิดย่อมเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่ามหาวิทยาลัยเปิดอยู่แล้ว แต่จะเห็นได้ว่าในการปัจจุบันนั้น การเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยปิดดูจะเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ลง ที่กล่าวเช่นนี้เพราะในปัจจุบันมหาวิทยาลัยปิดทั้งหลายพยายามที่จะเปิดทางเข้าของมหาวิทยาลัยของตนเองให้กว้างขึ้นโดยกุญแจสำคัญในการไขประตูให้กว้างนั้นไม่ใช่ สิ่งอื่นใด นอกจากเงินนั่นเอง จะเห็นได้ว่าบางมหาวิทยาลัยเปิดภาคสมทบ เปิดภาคอินเตอร์หรือ ภาคพิเศษต่าง ๆเพื่อรองรับความอยากของนักเรียน ม. 6 ที่มีความต้องการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและตนเองมีความพร้อมในเรื่องของงบประมาณที่ใช้จ่าย ด้วยเหตุนี้เองความศักดิ์สิทธิ์ที่ว่าจึงจางหายไปกับกระบวนการดังกล่าวแล้วนั้น นอกจากนี้ในส่วนของการรับนักเรียนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ปัจจุบันใช้ระบบ Admission หรือที่เรียกกันติดปากว่าใช้ คะแนน O-NET , A-NET นั้น ก็ยังไม่มีความกระจ่างและมีความเที่ยงพอ จะเห็นได้ว่าเมื่อมีการเปลี่ยนจากระบบเอนทรานซ์มาใช้ ระบบ Admission ในปี 2548 นั้นเกิดปัญหามากมายตามมา และในปีถัดมาก็ยังมีปัญหาอยู่ และในปี ถัดไปก็เล็งเห็นว่าจะเกิดปัญหาเพิ่มเช่นกัน ทั้งในส่วนของการเพิ่มวิชาในการสอบ หรือ การปรับสัดส่วนของคะแนนสอบ โดยหากเรามองที่ที่มาของระบบ การคัดคนเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันตามลำดับขั้น เพื่อความกระจ่าง ก็จะเป็นดังต่อไปนี้
การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของประเทศไทยนั้น ได้มีพัฒนาการมาเป็นลำดับ ในอดีตที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้ใช้ระบบการสอบคัดเลือกมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้เนื่องจากสถานที่ศึกษาในระดับอุดมศึกษามีไม่เพียงพอแก่ความต้องการของนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่ต้องการจะศึกษาต่อ มหาวิทยาลัยจึงเห็นว่าการสอบแข่งขันเพื่อเลือกเอาผู้ที่ได้คะแนนดี และมีคุณสมบัติประกอบอื่นๆ ที่เหมาะสมเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเป็นวิธีการที่ดีที่สุด นอกจากนั้นยังได้รวมตัวกันพัฒนาให้มีระบบสอบกลางซึ่งดำเนินการในระดับประเทศ และต่อมาดำเนินการร่วมกับทบวงมหาวิทยาลัย จนกลายเป็นระบบสอบคัดเลือกที่เชื่อมั่นกันมาเสมอว่า เป็นระบบที่เชื่อถือได้
หลังจากที่ระบบการสอบคัดเลือกดังกล่าวดำเนินสืบเนื่องมาเป็นเวลานาน ได้ก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ซึ่งพัฒนาตัวตามมาเป็นลำดับ นั่นคือระบบการสอบคัดเลือกที่มุ่งวัดผลเพียงบางวิชาที่สถานศึกษาเห็นว่าจำเป็นสำหรับการศึกษาต่อในแต่ละสาขาวิชา ได้นำไปสู่สถานการณ์ที่นักเรียนมุ่งเรียนเฉพาะรายวิชาที่ต้องสอบเท่านั้น โดยนักเรียนส่วนมากจะไม่สนใจหรือละทิ้งรายวิชาที่ไม่ต้องใช้ในการสอบคัดเลือก ทั้งนี้ เพราะเป้าหมายของการเรียนในที่สุดคือการเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยให้ได้ในสาขาที่ตนต้องการเท่านั้น ผลที่ตามมาคือเกิดความล้มเหลวของระบบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา โดยผู้เรียนไม่ได้ผ่านการเรียนรู้ครบกระบวนการ ส่งผลถึงการพัฒนาคนที่ไม่สมบูรณ์ และด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นเหตุผลให้นักการศึกษามีการปรับปรุงเพิ่มเติมขึ้นมาในระบบการสอบคัดเลือกที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยการเปิดโอกาสให้มีการสอบได้ถึงปีละสองครั้ง ครั้งแรกในช่วงปิดภาคการศึกษากลางปีในเดือนตุลาคม ครั้งที่สอง เมื่อสิ้นปีการศึกษาแล้วในเดือนมีนาคม โดยผู้สมัครสามารถเลือกใช้คะแนนที่ดีที่สุดจากการสอบทั้งสองครั้งมาใช้ในการสมัครเข้าศึกษา แต่อย่างไรก็ดีจากการที่ผู้สมัครสอบมักใช้ความพยายามโดยหวังผลที่ดีที่สุดทุกครั้งที่สอบ ทำให้การเปิดโอกาสมากครั้งดังกล่าวกลับส่งผลเสียในผู้สมัครสอบบางกลุ่มที่มักเห็นว่าเหตุที่ต้องสอบหลายครั้ง ทำให้เกิดแรงกดดันและความเครียดหลายครั้ง อีกทั้งในการสอบเดือนตุลาคมดำเนินการในขณะที่การเรียนการสอนชั้นมัธยมปีที่ 6 ยังไม่สำเร็จครบตามหลักสูตร ทำให้เกิดแนวโน้มที่โรงเรียนพยายามเร่งสอนให้จบก่อนเวลา เพื่อให้นักเรียนของตนมีความพร้อมด้านเนื้อหาสำหรับการสอบสูงที่สุด หรือไม่เช่นนั้นอีกด้านหนึ่งนักเรียนก็มุ่งกวดวิชาเพื่อให้ได้เนื้อหามากที่สุด ปัจจุบันนี้จึงปรากฏเป็นข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่า การสอบเดือนตุลาคมเป็นเหตุให้เกิดผลเสียต่อระบบการเรียนการสอนตามปกติ และจากข้อมูลที่ผู้เขียนได้ศึกษามาในส่วนของการปรับระบบจากการคัดคนเข้าเรียนแบบเดิมสู่การคัดแบบใหม่นั้น เหตุที่เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็เพราะการพิจารณาของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.). ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (ทบวงมหาวิทยาลัยเดิม) ได้ยึดหลักการแนวทางเพื่อกำหนดเป็นระบบใหม่ในการรับบุคคลเข้าศึกษาฯ ดังต่อไปนี้
1. ระบบใหม่จะต้องปรับเปลี่ยนจากระบบสอบแข่งขันเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย (Entrance Examination) เป็นระบบการรับเข้า Admissions โดยพิจารณาจากผลการเรียนในระดับมัธยมศึกษา และต้องเป็นระบบที่มีความยุติธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้
2. การพิจารณาผลการเรียนเพื่อประโยชน์ในการรับเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา จะพิจารณาจาก การวัดผลด้วยวิธีการ และตามช่วงเวลาต่างๆ ที่กำหนดในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามกระบวนการปฏิรูปการศึกษา การพิจารณาผลการเรียนเป็นกิจกรรมทั้งในหลักสูตรและกิจกรรมประกอบดำเนินการโดยสถานศึกษา และสำนักทดสอบกลางแห่งชาติที่จะได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542
3. หลีกเลี่ยงการสอบเพิ่มเติมโดยตั้งเป้าหมายว่า เมื่อผู้สำเร็จการศึกษาออกจากสถานศึกษาระดับ มัธยมศึกษา ก็จะมีข้อมูลเพียงพอแก่การพิจารณารับเข้าของมหาวิทยาลัย โดยไม่ต้องมีการจัดสอบคัดเลือกเพิ่มเติมเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือแม้หากมีการสอบเพิ่มเติมกำหนดให้ได้ไม่เกิน 3 รายวิชา
โดยจาการพิจารณาดังกล่าว ก็ทำให้เกิดระบบการคัดคนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยปิด แบบใหม่เกิดขึ้น ผลการดำเนินงานนั้นก็เป็นที่ทราบกันดีและผู้เขียนเองก็ได้แสดงความเห็นไปตอนต้นนี้แล้วเช่นกัน จึงส่งผลให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือสัดส่วนของคะแนน ในปัจจุบันออกมาเป็นลักษณะ รูปแบบแตกต่างกันไปตามรายปี ดังนี้
องค์ประกอบของระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา(Admission)
|
|
ปีการศึกษา
องค์ประกอบ
|
2549
|
2550
|
2551
|
ค่าน้ำหนัก
|
ค่าน้ำหนัก
|
ค่าน้ำหนัก
|
1. ผลการเรียนเฉลี่ยสะสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษา ตอนปลาย หรือเทียบเท่า (GPAX)
|
10%
|
10%
|
10%
|
2. ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษา ตอนปลายตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ (GPA กลุ่มสาระ 3 - 5 กลุ่ม จาก 8 กลุ่ม)
|
20%
|
30%
|
40%
|
3. ผลการสอบทางศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Educational Test : O-NET)
|
35%-70%
|
60%
|
50%
|
4. ผลการสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (Advanced National Educational Test : A-NET) และ/หรือ วิชาเฉพาะไม่เกิน 3 วิชา
|
0%-35%
|
60%
|
50%
|
|
|
|
|
|
|
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น คงทำให้นักการศึกษาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องสนใจที่จะติดตามต่อไปว่าระบบ Admission จะนำพาระบบการคัดคนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของไทยไปถึงจุดไหนกัน ทั้งนี้ก็ย่อมขึ้นอยู่กับการพัฒนาในส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันต่อไป
" คุณภาพการศึกษา จากมัธยมศึกษาตอนปลาย สู่รั้วมหาวิทยาลัย (เปิด – ปิด) ... " ที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้นจะเห็นได้ว่าคุณภาพการศึกษาจะไม่เกิดเลยหากนักการศึกษา รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทั้งหลายไม่เปลี่ยนมุมมองในการมองการศึกษาของไทยให้มีมิติ มิใช่มองแต่เพียงระนาบด้านเดียว เหมือนกับวงกลมหากเรามองแต่เพียงระนาบเราก็คงยากที่จะเข้าใจได้ว่า ณ จุดศูนย์กลางนั้นมีมุมภายในถึง และภายในวงกลมนั้นสามารถบรรจุสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมากมาย เพียงแต่มองว่ามันคือทรงกลมมีเรื่องหรือสิ่งต่างๆ มากมายที่จะบรรจุใส่ไปในทรงกลมแห่งการศึกษานี้ได้ และทรงกลมนี้สามารถหมุนและมองได้ในทุกมุมมองทั้งยังพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ทรงกลมนี้ก็จะเปรียบเหมือนโลกแห่งการศึกษาไทยที่พร้อมจะพัฒนาต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเช่นเดียวกับโลกของเราที่หมุนและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีวันหยุดนิ่งเช่นกัน
--------------------------------------------------------