ความภาคภูมิใจของข้าพเจ้าในการจัดทำสื่อการเรียนการสอนวิชาเกษตรอินทรีย์
นายทองใบ ปัดทำ
ปี 2545 ข้าพเจ้าได้ไปศึกษาดูงานเป็นการส่วนตัวที่บ้านหนองไหล ตำบลโคกสี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยบังเอิญ เพราะที่นั่นมีสวนฝรั่งของเกษตรกร ผลิตฝรั่งขาย จึงไปซื้อมาให้แม่บ้านขายที่ตลาด ไปพบการผลิตสารสกัดจากหอยเชอรี่ ผลิตสารจากเมล็ดสะเดา ของเจ้าของสวน เขาทำเป็นธุรกิจส่งไปขายที่กรุงเทพฯ ได้ราคาดี เขาบอกว่าต้นข้าวที่นาของเขาใช้สารสกัดจากหอยเชอรี่ ได้ผลผลิตสูงมาก เมล็ดเต็มดีมาก ข้าพเจ้าจึงสนใจศึกษาการใช้สารสกัดชีวภาพ ตั้งแต่นั้นมา และนำนักเรียนไปศึกษาดูงาน แนวคิดการทำเกษตรของนายภิญโญ โพธิ์ศรี หมู่ที่ 2 ตำบลกระนวน นายโสม พิมพ์ดี หมู่ที่ 1 ตำบลกระนวน ซึ่งเกษตรกรทั้งสองท่านมีแนวคิดที่ดีหลายประการในการทำเกษตรปลอดสารพิษ โดยเฉพาะระบบการผลิตแบบผสมผสาน มีการเกื้อกูลกันในแปลงเกษตรกรรม ภายใต้แนวคิด “คิดแล้วทำ”
ปี 2546 ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมโครงการจังหวัดเคลื่อนที่ที่บ้านหนองบัวคำมูล พบกับคุณพ่อสิงหาร บาลัน นำสารสกัดจากหอยเชอรี่ มาขายที่บูธของบ้านหม้อ ขวดละ 50 บาท ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าสนใจมาก ได้เข้าไปขอความรู้ และต่อมาได้ไปศึกษาดูงานกับคณะทีมงานครูเกษตรของ “สหวิทยาเขตศรีกระนวน” ที่บ้านหม้อ ตำบลคูคำ กิ่งอำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น พบกับคุณพ่อสิงหาร บาลัน เกษตรกรแกนนำในการใช้ “สารชีวภาพ” ช่วงนั้นหอยเชอรี่กำลังระบาดมาก จึงนำนักเรียนวิชาเกษตรไปศึกษาดูงาน 1 ครั้ง
ปี 2547 ข้าพเจ้าไปศึกษาดูงานร่วมกับศูนย์เพาะชำกล้าไม้ที่ 1 จังหวัดมหาสารคาม กรมป่าไม้ ที่สวนของนายดาบตำรวจชัยสิทธิ์ สิทธิ สวนกาญจนา บ้านบึงฉิม ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น พบการทำน้ำสกัดสูตรต่าง ๆ มาใช้ในสวนผักและผลไม้ และการทำเตาเผาถ่านเพื่อนำ “น้ำไม้ยูคาลิปตัส” มาขับไล่แมลง และได้มีโอกาสแวะเวียนไปสนทนากับคุณตาชัยสิทธิ์ หลายครั้ง ทำให้ได้แนวคิดในการทำเกษตรภายใต้ “เกษตรปลอดสารพิษ” แต่ข้าพเจ้ากลับมองไกลไปถึงการทำ “เกษตรอินทรีย์” ซึ่งสุดขั้วไปอีก
ในเดือนกันยายน 2548 ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้ “โครงการปลูกผักสวนครัวและเกษตรอินทรีย์” ให้กับสำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น(กิ่งอำเภอซำสูง) รุ่นที่ 2 โดยการผลักดันงบประมาณของ ส.ส.จตุพร เจริญเชื้อ และได้รวมกลุ่มนักเรียนในการทำโครงงาน”ผลิตปุ๋ยชีวภาพ” และนำเข้าประกวดระดับเขตพื้นที่การศึกษามาแล้ว
ในปี 2548 คณะบริหารเทศบาลตำบลซำสูง อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น ต้องการให้เกษตรกรในเขตเทศบาลมีความรู้เรื่องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ข้าพเจ้าจึงรับเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำโครงการ “สร้างโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์” ให้กับเทศบาลตำบลซำสูง อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น ในปีงบประมาณ 2549 จึงได้จัดทำหลักสูตรอบรมเกษตรกรแกนนำ”ปุ๋ยอินทรีย์ รุ่นที่ 1” ขึ้น ในระหว่างวันที่ 17-18 เม.ย. 2549 และดำเนินการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรขึ้น เพื่อรองรับโครงการดังกล่าว
ในปีการศึกษา 2549 ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะ นำโครงการตามรอยทฤษฎีใหม่ ไปนำเสนอในโครงการหนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม หรือ OSIO ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพ ฯ ระหว่างวันที่ 5-7 กันยายน 2549 ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ ปรากฏว่าได้รับการยกย่องในระดับเหรียญเงิน ได้รับโล่รางวัลจาก ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายวิจิตร ศรีสะอ้าน ในขณะนั้น
กอร์ปกับข้าพเจ้าเป็นครูสอนวิชาเกษตรกรรม จึงเห็นว่าเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่ของใหม่สำหรับคนไทย เพียงแต่เราลืมของดีที่เรามีอยู่เท่านั้นเอง จึงเกิดแรงบันดาลใจในการทำแผนการจัดการเรียนรู้วิชา”การผลิตสารสกัดชีวภาพ” “วิชาการปลูกผักปลอดสารพิษ” “วิชาการปลูกข้าวอินทรีย์” และ “วิชาเกษตรอินทรีย์ “ และ “สื่อการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์” ขึ้น ในปีการศึกษา 2549-50 ข้าพเจ้าได้นำสื่อ นวัตกรรม การเรียนการสอนเกษตรอินทรีย์คืนชีวีสู่ผืนดิน ไปประกวดร่วมกับสถาบันรามจิตติ ปรากฏว่าได้รับรางวัลระดับดีเด่น นับเป็น 1 ใน 10 สื่อ นวัตกรรมที่ได้รับผลงานจากกว่า 500 ชิ้นที่ส่งเข้าประกวด
แผนการจัดการเรียนรู้ และสื่อการเรียนรู้ “เกษตรอินทรีย์” เรื่อง แบบฝึกการเรียนรู้โครงงานเกษตรอินทรีย์ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รายวิชา ง 40246 เกษตรอินทรีย์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เป็นแผนและสื่อการจัดการเรียนรู้ที่เกิดจากท้องถิ่น ฝึกให้นักเรียนได้นำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงมีพระราชดำรัสแก่พสกนิกรชาวไทยมานานแล้ว ไปเรียนรู้และเผยแพร่แก่ชุมชน ผู้ปกครอง และนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ประกอบกับปุ๋ยเคมีนับวันราคายิ่งแพงสวนกระแสความถดถอยทางเศรษฐกิจ หากนักเรียน และเกษตรนำแนวคิดเกษตรอินทรีย์ไปบูรณาการกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ สุขภาพที่ดี สารเคมีที่ราคาแพง ก็จะหายไปจากสังคมของเกษตรกรเอง
การดำเนินการในการพัฒนาชุมชนเกษตรอินทรีย์ โดยการบูรณาการความรู้จากท้องถิ่นหลากหลายแหล่ง โดยข้าพเจ้าคิดว่าควรเริ่มที่นักเรียน และเกษตรกรที่สนใจร่วมเรียนรู้ และจะเป็นหลักสูตรท้องถิ่นที่ต้องศึกษากันต่อไป ซึ่งจะนำความภาคภูมิใจมาสู่ข้าพเจ้า เมื่ออำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น เป็นชุมชนที่สนใจการทำเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง เหมือนกับหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดสุรินทร์ ก็ดำเนินการไปมากแล้ว โดยที่ข้าพเจ้าได้ตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2555 ชุมชนโดยรอบสถานศึกษาต้องหันมาใส่ใจวิถีการผลิตแบบอินทรีย์อย่างน้อย ร้อยละ 50
นายทองใบ ปัดทำ