บ่อยครั้งที่เราได้ดูได้ฟังข่าวการสลายการชุมนุมในต่างประเทศหรือในประเทศก็ตาม ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจราจลมักสลายการชุมนุมโดยการยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ฝูงชน เพื่อให้ฝูงชนแตกกระเจิงไปคนละทิศคนละทาง แก๊สน้ำตานี้คืออะไร เรามาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน
แก๊สน้ำตา (tear gas) คืออะไร
แก๊สน้ำตา เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มสารเคมีที่ใช้ในการควบคุมจราจล ซึ่งมีสารที่เกี่ยวข้องมากกว่า 12 ชนิด แต่ที่สำคัญมีอยู่ 3 ชนิดได้แก่
1. Chloroacetophenone หรือ CN gas (CAS No. 532-27-4; UN Class 6.1; UN Number 1697; UN Guide 153; เป็นยุทธภัณฑ์ชนิด 1 ภายใต้การควบคุมตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530) ได้รับการคิดค้นขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 แต่นำมาใช้ในช่วงสงครามเวียดนามโดยกองทัพสหรัฐอเมริกา ในช่วง ค.ศ. 1960-1979 มีการนำมาใช้ในการปราบจราจลและในกิจการของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลด้านความมั่นคงและความปลอดภัย โดยการใช้งานจะอยู่ในรูปละอองลอยที่บรรจุในภาชนะอัดความดัน ต่อมานำมาใช้เป็นอุปกรณ์ป้องกันตัวแต่ก็ลดน้อยลงมากแล้วในปัจจุบัน เนื่องจากระยะเวลาออกฤทธิ์ค่อนข้างนานและใช้ไม่ค่อยได้ผลกับคนติดยาและติดเหล้า
2. Chlorobenzylidenemalonitrile : CS gas (CAS No. 2698-41-1; เป็นยุทธภัณฑ์ชนิด 1 ภายใต้การควบคุมตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530) เป็นผงผลึกสีขาว เมื่อไหม้ไฟจะก๊าซไม่มีสี ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1928 แต่ยังไม่มีการใช้จนกระทั่งสงครามเวียดนามจึงมีการใช้เป็นอาวุธสงครามอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
3. Dibenzoxazepine : CR gas (CAS No. 257-07-8; เป็นยุทธภัณฑ์ชนิด 1 ภายใต้การควบคุมตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530) กระทรวงกลาโหมของอังกฤษพัฒนาขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1960 มีลักษณะเป็นผลึกสีเหลืองซีดมีกลิ่นคล้ายพริกไท ในสหรัฐอเมริกาไม่ใช้สารตัวนี้เป็นสารควบคุมจราจล เนื่องจากมีสมบัติก่อมะเร็ง
สารเคมีเหล่านี้อาจอยู่ในรูปของแข็ง (ผง) หรือของเหลวก็ได้ เมื่อมีการยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุม ผู้ชุมนุมจะได้รับแก๊สน้ำตาได้ทั้งทางการหายใจเข้าไป การสัมผัสดวงตาและผิวหนัง ซึ่งมีผลให้เกิดการไหม้และระคายเคืองทันทีตามบริเวณที่สัมผัสกับแก๊สน้ำตา อาการที่อาจเกิดขึ้นเมื่อสัมผัสแก๊สน้ำตา ได้แก่
- น้ำตาไหล มองเห็นไม่ชัด ตาแดง
- น้ำมูกไหล จมูกบวมแดง
- ปากไหม้และระคายเคือง กลืนลำบาก น้ำลายไหลย้อย
- แน่นหน้าอก ไอ รู้สึกอึดอัด หายใจมีเสียงดัง หายใจถี่
- ผิวหนังไหม้ เป็นผื่น
- คลื่นไส้ อาเจียน
โดยปกติแล้ว หลังจากออกมาจากบริเวณที่มีแก๊สน้ำตาและทำความสะอาดร่างกายแล้ว อาการที่เกิดขึ้นจะคงอยู่ประมาณ 30-60 นาที เท่านั้น ถ้าสัมผัสแก๊สน้ำตาเป็นเวลานานๆ เช่น มากกว่า 1 ชั่วโมง หรือได้รับสัมผัสปริมาณมากๆ ในพื้นที่อับอากาศ อาจส่งผลกระทบร้ายแรงได้ เช่น ตาบอด ต้อหิน ระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตเนื่องจากสารเคมีจะไหม้ลำคอและปอด ปริมาณที่ทำให้เสียชีวิตได้จะมากกว่าปริมาณที่ใช้ในการสลายการชุมนุมหลายร้อยเท่า
ควรทำอย่างไร เมื่อถูกสลายการชุมนุมด้วยการยิงแก๊สน้ำตาใส่
ถ้าอยู่ในวิถีของแก๊สน้ำตาที่ยิงมา ให้วิ่งไปทิศตรงกันข้ามกับทิศที่ยิงแก๊สน้ำตาจนพ้นระยะกลุ่มแก๊ส ไม่ควรวิ่งไปด้านข้างเพราะมีโอกาสสัมผัสแก๊สน้ำตาได้อยู่ การมองเห็นอาจพล่ามัวและอาจสับสนได้ง่าย ดังนั้นระวังอย่าวิ่งเข้าไปหาตำรวจ ให้ทำใจให้สงบมองดูรอบๆ ตัว แล้วค่อยเคลื่อนไปยังที่ที่ปลอดภัย ถ้าเป็นไปได้ให้ไปอยู่เหนือลมและปล่อยให้ลมพัดผ่านส่วนของร่างกายที่โดนแก๊สน้ำตา จะช่วยให้แก๊สน้ำตาหลุดไปได้เร็วขึ้นและล้างด้วยสารละลายโซเดียมเมตาไบซัลเฟตหรือน้ำเปล่า อย่าเอามือไปโดนเพราะจะทำให้แก๊สน้ำตาขยายวงและซึมเข้าผิวหนังได้ จากนั้นอาจเข้าร่วมชุมนุมต่อได้ทันที เพราะแก๊สน้ำตาปริมาณน้อยจะส่งผลเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น และถ้ามีโอกาสให้ล้างตัวด้วยน้ำเย็น อย่าใช้น้ำร้อน เพราะน้ำร้อนทำให้รูขุมขนเปิดกว้างขึ้นทำให้แก็สน้ำตาซึมเข้าไปได้ง่ายขึ้น
หลังเสร็จสิ้นการชุมนุมให้ผึ่งเสื้อผ้าในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกเพื่อไล่แก๊สน้ำตาที่ติดอยู่ออก ประมาณ 1 วัน หรือซัก 2 ครั้งด้วยน้ำเย็นก่อนแล้วค่อยซักอีกครั้งด้วยน้ำร้อน
เนื่องจากแก๊สน้ำตาละลายได้ในไขมัน ดังนั้นไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงและปกป้องผิวที่มีส่วนผสมของน้ำมันหรือวาสลีน
ที่มาของข้อมูล :
http://www.nyc.gov/html/doh/html/bt/bt_fact_tear.shtml
http://en.wikipedia.org/wiki/CN_gas
http://www.crimedoctor.com/self_defense_1.htm
http://en.wikipedia.org/wiki/CS_gas
http://www.eco-action.org/dod/no7/cs_gas.html
http://en.wikipedia.org/wiki/CR_gas
http://www.dss.go.th/dssweb/st-articles/files/ct_9_2550_TearGas.pdf