อ่านจากวารสารศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ทำให้ทราบว่าศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน (Prof.Dr.Srisakdi Charmonman) เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างเด่นชัดในฐานะ “บิดาอีเลิร์นนิ่งไทย (Father of Thai E-learning)” จึงได้รับการยกย่องจากศูนย์ชีวประวัตินานาชาติ ที่ม.เคมบริดจ์ เมื่อ17 กรกฎาคม 2549 และยังได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาอินเทอร์เน็ตไทย จากหนังสือพิมพ์ Bangkok Post เมื่อปี 2541 เพราะท่านเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท KSC Internet นำอินเทอร์เน็ตมาสู่ผู้ใช้ตามบ้านเป็นรายแรก มีงานเขียนด้านไอทีมากมาย ผู้เขียนเองก็รู้จักการเขียนโฮมเพจ เปิดอีเมล ในขณะเป็นลูกศิษย์ของท่านที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเมื่อปี 2538 และเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ชาวลำปางน่าจะรู้ว่าทำไมท่านจึงได้รับการยกย่องจากองค์กรที่น่าเชื่อถือระดับโลก สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก www.thaiall.com/e-learning
อีเลินนิ่ง (e-Learning : electronic-Learning) คือ การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และถูกตีความต่างกันไปตามประสบการณ์ของแต่ละคน แต่ส่วนที่เหมือนกันคือใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ มีการพัฒนาตลอดเวลาตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จึงให้ความหมายของคำนี้ได้ว่า "การใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตเข้ามาส่งเสริมการเรียน การสอน ให้เกิดประสิทธิผล" สำหรับคำว่า E นั้นย่อมาจาก Electronic ส่วนคำว่า Learning มีความหมายว่าการเรียนรู้ เมื่อนำมารวมกันจึงหมายถึงการเรียนรู้โดยใช้อิเล็กทรอนิกส์ หรืออินเทอร์เน็ตเป็นสื่อ คำที่มีความหมายใกล้เคียงเช่น คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI = Computer Assisted Instruction) หรือ การสอนบนเว็บ (WBI = Web-based Instruction)
เมื่อ 27 ตุลาคม 2548 ได้มีประกาศลงในพระราชกิจจานุเบกษา รับรองวิทยฐานะผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาด้วยอีเลินนิ่ง และมกราคม 2549 มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดหลักสูตรที่สอนด้วยอีเลินนิ่งเต็มรูปแบบในระดับปริญญาโท และปริญญาเอกหลายสาขา ในส่วนของการสอบนั้นผู้เรียนต้องเข้าสอบที่สถาบัน หรือที่สถาบันจัดให้ตามที่ผู้เรียนสะดวก เช่น ในมหาวิทยาลัย ศูนย์สอบโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ศูนย์สอบโรงเรียนมงฟอร์ด หรือศูนย์สอบในต่างประเทศ สำหรับจังหวัดลำปางมีโรงเรียนลำปางพาณิชยการและเทคโนโลยีเป็นแห่งแรกเพียงแห่งเดียว ที่เปิดสอนด้วยอีเลินนิ่งเต็มรูปแบบระดับปวส.ภาคสมทบ คือ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ การบัญชี และการตลาด เป็นทางเลือกใหม่สำหรับเยาวชนที่อยากเรียน แต่ไม่สะดวกเรื่องเวลา และสถานที่
ได้แนะนำผู้เชี่ยวชาญด้านอีเลินนิ่งระดับโลกไปแล้ว สำหรับในลำปางต้องยกนิ้วให้รุ่นน้องของผู้เขียนที่มหาวิทยาลัยโยนก ปัจจุบันรุ่นน้องท่านนี้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ระบบสารสนเทศของโรงเรียนลำปางพาณิชยการและเทคโนโลยี ท่านคืออาจารย์ชัยวัฒน์ สมศรี ได้พัฒนาผลงานร่วมกับทีมงานระบบสารสนเทศของโรงเรียน จนได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนส่งผลงานเข้าประกวด ในปี 2547 ได้รับเหรียญทองจาก “โปรแกรมระบบการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเครือข่าย” ในการประกวดโครงการหนึ่งโรงเรียนหนึ่งนวัตกรรม (OSOI = One School One Innovation) ที่จัดโดยสำนักงานเลขาธิการ คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ และในปี 2549 ได้รับรางวัลเหรียญเงินจาก “โปรแกรมระบบสำนักงานอัตโนมัติในโรงเรียน” สำหรับรายละเอียดสามารถสืบค้น ได้ที่ www.ksp.or.th
ที่มา http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=16584&Key=news15