คำในภาษาไทยที่มีรูปคล้ายคำบาลีสันสกฤตมีอยู่หลายคำด้วยกัน บางทีก็มีความหมายคล้าย ๆ กัน จนไม่แน่ใจว่าจะเป็นคำประเภทที่เรา “จับบวช” ให้เป็นแขกหรือเปล่า หรือบางทีอาจมีรูปหรือเสียงพ้องกันโดยบังเอิญ แต่ตามหลักปรัชญาแล้ว ท่านบอกว่า “ความบังเอิญ” อย่างนั้นไม่มีเพียงแต่เรายังไม่ทราบว่าสิ่งนั้น ๆ มันเกิดเนื่องมาจากสาเหตุใด เราก็เลยโยนไปให้แก่ “ความบังเอิญ” เท่ากับเป็นการปกปิด “อวิชชา” หรือ “ความโง่” ของเราไว้นั่นเอง
คำว่า “มน” นั้น ถ้าเป็นคำบาลี อ่านว่า “มะ-นะ” แปลว่า “ใจ” ในภาษาไทยเราก็มีเช่นกัน แต่เรามิได้ออกเสียงว่า “มะ-นะ” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้เก็บไว้เป็น “มน ๒” และได้ให้ความหมายไว้ว่า “ว. กลม ๆ, โค้ง ๆ, ไม่เป็นเหลี่ยม.”
เช่น โต๊ะตามปรกติจะมีมุมเป็นเหลี่ยม ๙๐ องศา แต่โต๊ะบางตัว เขาก็ทำมุมมีลักษณะโค้ง ไม่เป็นเหลี่ยม เราเรียกว่า “มุมมน” เช่นเราพูดว่า “ทำมุมให้มน ๆ หน่อยซี” หรือคน “หน้ามน” ก็คือรูปหน้าไม่เป็นเหลี่ยม แต่อาจมีผู้เห็นว่าถ้าเขียนเป็น “มน” ดูมันออกจะเชย ๆ ไป ก็เลยเปลี่ยนเป็น “มล” ก็มี และพวกลิเกหรือนักร้องบางคนก็มักออกเสียงคำในแม่กน เป็น ล สะกด เสมอ
คำว่า “มล” เป็นคำบาลีและสันสกฤต พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ “น. ความมัวหมอง, ความสกปรก, ความไม่บริสุทธิ์; สนิม, เหงื่อไคล. ว. มัวหมอง, สกปรก, ไม่บริสุทธิ์.”
เพราะฉะนั้น ถ้าเราเขียนเป็น “หน้ามล” ก็ต้องหมายความว่า “หน้าที่มัวหมอง, หน้าสกปรก, หน้าไม่บริสุทธิ์” หรือ “สนิมขึ้นหน้า, เหงื่อไคลที่หน้า” เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นคนละความหมายกับคำว่า “หน้ามน” เลยทีเดียว
ถ้าหากนำคำว่า “มน” และ “มล” ไปประกอบหน้าคำอื่น เช่น หน้าคำว่า “ฤดี” เป็น “มนฤดี” กับ “มลฤดี” ความหมายจะแตกต่างกันอย่างมากทีเดียว
คำว่า “มนฤดี” ถ้าที่ “มน” ใช้ น สะกด ก็แปลว่า “ความยินดีแห่งใจ” เพราะคำว่า “ฤดี” ตรงกับคำบาลีและสันสกฤตว่า “รติ” แปลว่า “ความยินดี”
ถ้าเขียนเป็น “มลฤดี” ที่ “มล” ใช้ ล สะกด ก็จะต้องแปลว่า “ความยินดีที่มัวหมอง, ความยินดีที่ไม่บริสุทธิ์ ซึ่งกลายเป็นคนละเรื่องคนละราวไปเลย
การที่จะจับคำไทย “บวชเป็นแขก” นั้น ถ้าไม่เข้าใจภาษาบาลีและสันสกฤตแล้วจะทำให้คำที่ “จับบวช” นั้นมีความหมายคลาดเคลื่อนไปจากความหมายเดิมมาก และบางทีก็กลายเป็นคำที่มีความหมายไม่สู้ดีนักก็มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย.
ผู้เขียน : ศ.จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม
ที่มา : ภาษาไทยไขขาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. ๒๕๒๘. หน้า ๓๘๘-๓๘๙.
http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=1204
คัดลอกมาจาก สนุก.คอม