นิทานเวตาล
เรื่องที่ ๔
เมื่อพระเจ้าวิกรมาทิตย์ เสด็จถึงยังต้นอโศกก็ทรงปีนขึ้นไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยอีก แล้วทรงปลดเวตาลลงมาใส่ย่ามตามเดิม พระเจ้าวิกรมาทิตย์และพระธรรมธวัช ราชบุตร ทรงดำเนินไปได้เพียงครู่เดียวเท่านั้น เจ้าเวตาลก็เริ่มเล่านิทานอีก
ในแผ่นดินของ "พระเจ้าวีรวร" นั้น มีพ่อค้าธรรมดาสามัญคนหนึ่ง มีฐานะปานกลาง ชื่อว่า "หิรัณยทัตต์" และพ่อค้าได้มีบุตรสาวคนหนึ่ง ชื่อ "นางมัทนเสนา" ซึ่งนางมีรูปร่างหน้าตางดงามนัก ยากที่จะหาใครเสมอเหมือน
ครั้นนางมัทนเสนา มีอายุสมควรที่จะออกเรือนได้แล้ว บิดา มารดาก็ต่างปรึกษาหารือถึงการแต่งงานของบุตรสาว
ฝ่ายบรรดาชายหนุ่ม และไม่หนุ่มทั้งหลายทุกทั่วสารทิศ ล้วนอยากจะได้นางมาเป็นภรรยา ต่างก็ไปหาช่างเขียนรูปมาวาดรูปของตน แล้วส่งรูปนั้นไปยังบ้านของหิรัณยทัตต์ เพื่อให้นางมัทนเสนาตรวจดู แต่พอนางได้ดูแล้วก็ตอบกับบิดาว่า
"ลูกไม่อยากเลือก เพราะไม่ชอบใจใครเลยสักคน ลูกอยากให้พ่อเลือกผู้ชายคนอื่นที่รูปงาม มีคุณงามความดี และเป็นผู้มีความคิดจ๊ะพ่อ"
ต่อเมื่อเวลาล่วงไปแล้ววันหนึ่ง ได้มีชายหนุ่มรูปงามสี่คน มาจากเมืองคนละเมือง ตรงมายังบ้านของพ่อค้าหิรัณยทัตต์ เพื่อจะมาสู่ขอนางมัทนเสนาไปเป็นภรรยา หิรัณยทัตต์กล่าวว่า
"ข้าพเจ้าไม่มีอะไรที่ขัดข้อง แต่ข้าพเจ้าจะต้องการรู้ว่าพวกท่านมีวิชาอะไรติดตัวกันบ้าง และมีคุณงามความดีอย่างไร จงแสดงให้ปรากฏเถิด"
ชายหนุ่มคนที่หนึ่ง ตอบว่า
"ข้าพเจ้ามีความรู้ที่แตกฉาน หามีผู้เสมอเหมือนได้ยาก"
ชายหนุ่มคนที่สอง ตอบว่า
"ข้าพเจ้ามีความรู้ในด้านการยิงธนู สามารถยิงธนูออกไปถูกเป้าหมายได้ โดยมิต้องมองเห็น แค่เพียงได้ยินเสียงเท่านั้น"
ชายหนุ่มคนที่สาม ตอบว่า
"ข้าพเจ้ารู้ภาษาสัตว์เป็นอย่างดี และข้าพเจ้ามีกำลังมากยากที่จะหาคนเสมอได้"
ชายหนุ่มคนที่สี่ ตอบว่า
"ข้าพเจ้ามีวิชาทอผ้าชนิดหนึ่ง ที่สามารถจะแลกทับทิมได้ถึงห้าเม็ด และเมื่อข้าพเจ้าได้ทับทิมมา ข้าพเจ้าก็จะแบ่งทับทิมเม็ดหนึ่งให้กับพวกพราหมณ์ เม็ดที่สองจะถวายเป็นเครื่องสักการบูชาเทวดา เม็ดที่สามข้าพเจ้าจะเก็บไว้ประดับกายตนเอง และเม็ดที่สี่ข้าพเจ้าจะมอบให้แก่ภรรยา ส่วนที่เหลือเม็ดที่ห้านั้น ข้าพเจ้าก็จะขายนำเงินมาจับจ่ายใช้สอยเลี้ยงผู้คน"
หิรัณยทัตต์ ได้ฟังแล้วก็ยังไม่ตกลงใจ คิดตรึกตรองต่อไปว่า
"ชายที่มีความรู้มากนั้นน่าจะเป็นพราหมณ์ ส่วนชายคนที่มีความสามารถในด้านธนูนั้นต้องเป็นกษัตริย์ และชายที่มีวิชาทอผ้านั้นคงไม่ใช่คนธรรมดา แต่สำหรับชายที่เข้าใจภาษาสัตว์ ต้องเป็นคนวรรณะเดียวกันกับเราแน่ ฉะนั้นชายหนุ่มผู้นี้เราควรที่จะยกบุตรสาวให้"
หิรัณยทัตต์ ตกลงใจเป็นที่แน่นอนแล้ว ก็จัดการตกลงเรื่องการจัดงานวิวาห์บุตรสาวทันที
ตกเย็นนางมัทนเสนา ออกไปเดินชมดอกไม้อยู่ในสวน เผอิญได้พบชายผู้หนึ่ง ชื่อว่า "โสมทัต" ซึ่งเป็นบุตรของพ่อค้าอีกเมืองหนึ่ง โสมทัตเห็นโฉมนางมัทนเสนาแล้วก็ตกตะลึง หลงในความงามของนาง
แต่หิรัณยทัตต์ ผู้เป็นบิดาได้ตกลงกับชายหนุ่มที่เข้าใจภาษาสัตว์ว่าจะยกนางให้เป็นภรรยาแล้ว โสมทัตเหมือนถูกไฟกำลังเผากายให้มอดไหม้ บอกกับนางมัทนเสนาว่า จะขอลาตาย นางมัทนเสนา จึงตอบว่า
"ต่อแต่นี้ไปยังคงเหลือเวลาอีกห้าวัน ก็จะถึงวันแต่งงานของข้าพเจ้า ถ้าท่านไม่คิดฆ่าตัวตาย ข้าพเจ้าให้สัญญาว่า ในวันงานนั้นข้าพเจ้าจะไปหาท่าน แล้วจึงจะกลับไปอยู่กับสามี"
แล้วโสมทัตก็ลากลับบ้านของตนไปด้วยใจอาวรณ์
ครั้นถึงวันแต่งงาน เจ้าบ่าวไปถึงบ้านเจ้าสาวก็ได้กระทำการวิวาห์ไปตามประเพณี มีทั้งอาหารชั้นดี และงานรื่นเริงใหญ่โต
ต่อเมื่อเสร็จพิธีแต่งงานแล้ว สามีก็ได้พานางมัทนเสนาผู้เป็นภรรยาไปสู่บ้านของตน ในระหว่างทางนางมัทนเสนาจึงเล่าเรื่องที่ได้ให้สัญญาไว้แก่โสมทัต ให้สามีฟังตามความจริงทุกประการ
เจ้าบ่าว ได้ฟังภรรยาพูดเช่นนั้นก็นิ่งอึ้งไปชั่วครู่ แล้วจึงตอบว่า
"หากเจ้าคิดอยากจะไปหาเขาก็จงไปเสียก่อนเถิด"
ฝ่ายนางมัทนเสนา เมื่อได้รับอนุญาตจากสามีแล้วนางก็รีบลุกขึ้นรีบเดินไปยังบ้านโสมทัต ทั้งๆ ที่ยังแต่งกายเต็มยศด้วยชุดแต่งงานนั่นเอง
ในขณะที่เดินไปตามถนนนั้น นางมัทนเสนาได้พบโจรคนหนึ่ง เดินตรงเข้ามาหมายต้องการทรัพย์สินเงินทอง โจรจึงเข้าไปถามนางว่า
"ระหว่างทางที่แม่นางเดินมานี่ ใครเป็นผู้ให้ความคุ้มครองปลอดภัยรึ"
นางมัทนเสนา ได้เล่าให้โจรฟังตามความจริงเช่นกัน แล้วให้สัญญากับนายโจรว่า
"ท่านนายโจร อย่าเพิ่งเอาเพชรพลอยและเครื่องประดับของเราไปตอนนี้เลย เราขอ
สัญญากับพระแม่คงคาว่า เมื่อเรากลับมาเราจะให้ของเหล่านี้ทั้งหมดแก่ท่าน"
โจรได้ฟังก็นึกในใจว่า
"การที่จะเอาเครื่องประดับของนางเสียในทันทีนั้น ก็คงจะหาประโยชน์อันใดไม่ได้ ในเมื่อนางจะให้ด้วยความเต็มใจ เราก็ควรรอ"
ดังนั้นโจรจึงให้นางมัทนเสนาไปยังบ้านโสมทัต โดยมิได้ทำอันตรายแต่อย่างใด นางมัทนเสนาก็รีบเดินต่อไปจนถึงบ้านของโสมทัต
ฝ่ายโสมทัตเห็นนางมัทนเสนามาหาตนจริงๆ ก็ตกใจ มีอาการสั่นกลัว นางมัทนเสนาจึงกล่าวว่า
"เมื่อวันก่อนท่านพบข้าพเจ้าในสวน ท่านเคยคิดจะฆ่าตัวตาย ข้าพเจ้าจึงขอไว้ และให้สัญญาว่าจะมาหาท่านก่อนที่จะอยู่กินกับสามี ท่านจำคำของท่านไม่ได้หรือ"
โสมทัตจึงถามนางว่า "นางได้บอกเรื่องนี้ให้กับสามีของนางทราบหรือเปล่า"
นางมัทนเสนาตอบว่า "ข้าพเจ้าเล่าให้สามีฟังตลอด สามีของข้าพเจ้าเป็นคนมีเหตุผล จึงยอมให้มาตามสัญญา" โสมทัตได้ยินดังนั้น ก็ตรึกตรองด้วยใจอันเหี่ยวแห้งว่า
"นางจงกลับบ้านไปหาสามีเถิด นางเป็นผู้รักษาสัญญาและช่วยชีวิตข้า แต่นางได้เข้าเป็นภรรยาของชายอื่น ข้าได้รู้แล้วว่าข้าไม่มีสิทธิ์ที่จะผูกพันอยู่กับนางได้"
ฝ่ายนางมัทนเสนา เมื่อฟังโสมทัตพูดเช่นนั้น ก็รีบลงจากเรือนกลับไปหาสามี ครั้นเมื่อพบนายโจรก็เล่าให้ฟังทั้งหมด และยอมถอดเครื่องประดับอันมีค่าให้กับโจรตามสัญญา โจรจึงพูดว่า
"ข้าไม่ขอรับของเหล่านี้ของแม่นางหรอก แม่นางเป็นคนดี รักษาคำสัตย์ ขอให้มีแต่ความจำเริญๆ เถิด" แล้วโจรก็ปล่อยนางกลับบ้านไป
ครั้นกลับไปถึงบ้าน นางก็เล่าให้สามีฟังทุกอย่าง แต่สามีนั้นได้สิ้นรักนางเสียแล้ว และพูดกับนางมัทนเสนาว่า
"พระราชาก็ดี ผู้เป็นภรรยาก็ดี แม้ผมหรือเล็บของคนก็ดี เมื่ออยู่ผิดที่แล้วก็ไม่น่าดูเลย อนึ่ง คนขี้ริ้วยังงามได้ด้วยความรู้ และหญิงงามนั้นงามเพราะความบริสุทธิ์ทั้งกายใจ"
เวตาลเล่ามาถึงตรงนี้ ก็เปลี่ยนเสียงกลับทูลถามพระเจ้าวิกรมาทิตย์ในขณะที่ทรงฟังเพลินอยู่ว่า
"ฝ่าพระบาทพะยะค่ะ ชายทั้งสามคนนั้น ได้แก่ ผู้เป็นสามี โสมทัต และโจร คนไหนมีคุณธรรมมากที่สุด พะยะค่ะ"
พระธรรมธวัชราชบุตร ทรงเกรงว่าพระบิดาจะทรงตรัสตอบกับเวตาลอีก ก็รีบบุ้ยใบ้หน้าตาห้ามมิให้รับสั่ง แต่พระเจ้าวิกรมาทิตย์ก็ทรงพลั้งปากอีกตามเคย ตรัสตอบไปว่า
"โจรน่ะสิ มีคุณธรรมดีกว่าคนอื่น อันการปล้นจี้นั้นเป็นวิสัยของโจร ที่ใช้ทำมาหากิน แต่การที่โจรพิจารณาเห็นความซื่อสัตย์ของนาง แล้วปล่อยตัวนางไป ก็หมายถึงโจรยังพอจะรู้ผิดรู้ถูกอยู่บ้าง" เวตาลหัวเราะแล้วกล่าวว่า
"ฮะ ฮะ ฮะ เอิ๊กๆๆๆ นิทานเรื่องนี้จบเพียงแค่นี้หล่ะ พะยะค่ะ"
แล้วเวตาลก็ลอยออกจากย่ามไป หัวเราะก้องฟ้าหายไปในความมืด
พระเจ้าวิกรมาทิตย์ กับ พระธรรมธวัชราชบุตรยืนตะลึงจ้องพระเนตรกันอยู่สักครู่พระเจ้าวิกรมาทิตย์ รับสั่งตรัสกับพระราชบุตรว่า
"ธรรมธวัช คราวหน้าถ้าอ้ายตัวนั่นมันตั้งปัญหาถามพ่อละก็ พ่ออนุญาตให้ลูกทำอะไรพ่อก็ได้ ให้พ่อรู้ตัวก่อนที่จะตอบคำถามของมัน ถ้าไม่เช่นนั้นเราทั้งสองคนคงไม่อาจทำการนี้สำเร็จแน่"
"พระเจ้าค่ะเสด็จพ่อ"
พระธรรมธวัชราชบุตร ทรงรับคำพระราชบิดา แต่ก็ทรงนึกตำหนิพระราชบิดาอยู่ในพระทัยบ้าง.