แต่เดิม ก่อนที่จะมีการใช้แปรงสีฟันกันอย่างแพร่หลายเหมือนทุกวันนี้ คนไทยสมัยก่อนใช้กิ่งข่อยทุบพอเป็นฝอยสำหรับถูฟัน ซึ่งนอกจากจะช่วยขูดสิ่งสะสมตกค้างที่มีมาจากเมื่อวันก่อนแล้ว กิ่งข่อยยังมีคุณสมบัติช่วยรักษาฟันอีกด้วย
หากจะสืบสาวประวัติของแปรงสีฟันก็ได้ว่า จีนเป็นประเทศแรกที่ประดิษฐ์แปรงสีฟันชนิดที่มีขนและด้ามถือเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๓๓ หากเทียบกับยุคสมัยของไทยก็อยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา หลังรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถไม่นานนัก
ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๖ คุณหลวงแจ่มวิชาสอน อดีตอาจารย์ผู้ปกครองโรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (เดี๋ยวนี้เป็นวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา) ได้เป็นผู้ผลิตยาสีฟันชนิดผงขึ้นเป็นครั้งแรก ให้ชื่อว่า ยาสีฟันวิเศษนิยม
กระทรวงอุตสาหกรรมได้ แบ่งยาสีฟันออกเป็นสองชนิดตามลักษณะแนบแน่น (CONSISTENCY) ของยาสีฟัน คือ
๑. ยาสีฟันชนิดผง (TOOTH POWDER) แบ่งออกเป็นอีกสองลักษณะ คือ ใช้สมุนไพรล้วน และประเภทสมุนไพรผสมสารเคมี มีส่วนประกอบหลักดังนี้ ข่อย ลิ้นทะเล เกลือ กานพลู สารส้ม การบูร แคลเซียมคาร์บอเนต กรีเซอลีน หัวน้ำหอม
๒. ยาสีฟันชนิดเหลวข้น (TOOTH PASTE) ยาสีฟันชนิดนี้เป็นสูตรที่นำมาจากต่างประเทศ แต่ผลิตที่ประเทศไทย ประกอบด้วยสารหลายชนิดเพื่อปรับปรุงแต่งสีและกลิ่น เช่น ตัวยาผงขัด (ABRASIVE) สารกันความชื้น (HUMECTANT) น้ำ สารช่วยยึด (BINDER) สารทำให้เกิดฟอง (DETERGENT) ยากันบูด (PRESERVATIVE) และยาบำบัดรักษา
สำหรับกระบวนการผลิตยาสีฟันนั้น เริ่มจากนำวัตถุดิบนานาชนิดมาผสมลงในเครื่องผสมขนาดเล็กเพื่อทำให้เป็นผงและเข้ากันได้สนิท แล้วจึงนำวัตถุดิบชนิดเหลวมาผสม จากนั้นจึงกวนให้เข้ากันแล้วผ่านมาสู่เครื่องผสมขนาดใหญ่ซึ่งจะกวนให้สารทั้งหมดรวมตัวแนบแน่นโดยใช้ความร้อนสูง ๗๐-๘๐ องศาเซลเซียส จนตัวยามีลักษณะข้นเหนียว ต่อจากนั้นนำตัวยาไปตรวจคุณภาพมาตรฐานเป็นครั้งแรก
ต่อมาในบางบริษัทอาจเติมวัตถุดิบบางชนิดก่อนที่จะนำตัวยาไปเข้าเครื่องผสมระบบสุญญากาศ โดยที่เครื่องจะกวนในอุณหภูมิ ๓๐-๖๐ องศาเซลเซียสประมาณหนึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง หลังจากนั้นจะมีการดูดอากาศออกจนเป็นสูญญากาศ แล้วจึงหล่อด้วยน้ำเย็นเพื่อให้คลายความร้อน เมื่อเย็นดีแล้วจะต้องนำตัวยาไปตรวจคุณภาพอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าตัวยาจะผสมเป็นเนื้อเดียวกัน สม่ำเสมอ ไม่บูดแล้วจึงนำไปอบที่อุณหภูมิ ๔๕ องศาเซลเซียสเป็นเวลา ๗๒ ชั่วโมง จากนั้นนำตัวยาเข้าสู่ถังเก็บยาสีฟัน กรอง แล้วจึงนำสู่เครื่องบรรจุหลอดอัตโนมัติเพื่อนำออกจำหน่ายต่อไป
“ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี”