Advertisement
นิทานเวตาล
เรื่องที่ ๑
แต่โบราณกาล มีเมืองหนึ่งชื่อพาราณสี อันเป็นที่กล่าวกันว่าเป็นที่ประทับของพระศิวะผู้เป็นเจ้าเพราะเมืองนี้เป็นที่อยู่ของผู้บริสุทธิ์ในศาสนา ซึ่งเปรียบเหมือนภูเขาไกรลาสอันเป็นที่ชุมนุมของทวยเทพ แม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์มีน้ำเปี่ยมฝั่งตลอดกาลไหลเลียบพระนครนี้ ทำให้ดูเสมือนสร้อยแก้วมณีอันบรรเจิดที่คล้องเอาไว้โดยรอบ
ที่พระนครพาราณสีนี้ มีพระราชาองค์หนึ่งทรงนามว่า พระเจ้าประตาปมกุฏปกครองอยู่ พระองค์เป็นผู้เลิศด้วยเดชานุภาพ สามารถปราบปรามเหล่าอริราชศัตรูได้ราบคาบราวกับกองอัคนีที่เผาผลาญป่าใหญ่ให้วอดวาย ฉะนั้นพระองค์มีราชโอรสองค์หนึ่งชื่อ วัชรมกุฏ ผู้ทรงโฉมอันงามยอดยิ่งเพียงดังจะเย้ยกามเทพให้ได้อาย เจ้าชายมีสหายผู้หนึ่งชื่อพุทธิศรีระ ซึ่งทรงรักและตีราคาคุณค่าของเขาเท่ากับชีวิตของพระองค์นั่นเทียว แลพุทธิศรีระนั้นเป็นบุตรมนตรีผู้ใหญ่ของพระราชา
สมัยหนึ่งเจ้าชายกับพระสหายพากันแสวงหาความบันเทิงสุขโดยการขี่ม้าประพาสป่าไล่ล่าสิงโตอย่างสนุก ทรงยิงธนูตัดสร้อยคอของสีหะเหล่านั้น อันมีลักษณะดังแส้จามรีของมันขาดกระจุย ในที่สุดเสด็จมาถึงป่าใหญ่แห่งหนึ่งที่นั้นมีความงดงามรื่นรมย์ราวกับอุทยานของกามเทพ มีเสียงนกดุเหว่าวิเวกแว่วอ่อนหวาน ผสมผสานมากับสายลมที่แผ่วรำเพยมาจากแนวพฤกษ์อันมีดอกบานสะพรั่งทุกกิ่งก้านกวัดไกวไปมา ระหว่างทิวไม้อันคดโค้งในเบื้องหน้าเป็นทะเลสาบซึ่งมีน้ำอันใสเขียวดังมรกตและมีระลอกน้อย ๆ วิ่งไล่กันเข้าสู่ฝั่งมิได้ ขาด กลางบึงใหญ่มีกอบัวอันสลับสล้างด้วยสีสันวรรณะต่าง ๆ อย่างงดงาม ณ ที่นั้น เจ้าชายทอดพระเนตรเห็นนารีนางหนึ่งมีรูปโฉมงดงามดังเทพอัปสร ลงเล่นน้ำอยู่พร้อมด้วยคณานางผู้เป็นบริวาร นางมีพักตร์อันงามดังสมบูรณจันทร์ อันทำให้เศวโตตบล (บัวสายสีขาว) ทั้งหลายต้องได้อาย เพียงได้แลเห็นนางครั้งแรก เจ้าชายหนุ่มก็รู้สึกเหมือนว่านางได้คร่าเอาดวงหทัยของพระองค์ไปเสียแล้วด้วยเสน่ห์อันลึกซึ้งของนาง แลนางนั้นกำลัง เพลิดเพลินอยู่ด้วยการเล่นน้ำจนมิทันระวัง อาภรณ์ที่หลุดร่วงจากอุระ ขณะที่เจ้าชายและสหายกำลังจ้องดูนางอยู่
ด้วยความสงสัยว่านางเป็นใครนั้น ก็พอดีนางเหลือบมาเห็นเข้า นางเมินหน้าหนีด้วยความอาย แต่แล้วกลับแสดงท่าทีเป็นนัย ๆ ให้ทราบว่านางเป็นใครมาจากไหน นางเด็ดดอกบัวออกจากมาลาที่สวมศีรษะนางดอกหนึ่งเอาทัดหูไว้ นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วเอาดอกบัวออกจากหู บิดให้เป็นรูปเครื่องประดับอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ทันตบัตร (แผ่นฟันเป็นรูปอาภรณ์ชนิดหนึ่ง) จากนั้นนางหยิบดอกบัวอีกดอกหนึ่งขึ้นวางบนศีรษะ และเอามือปิดอุระไว้ตรงหัวใจนาง เจ้าชายมองดูอากัปกิริยาของนางอย่างไม่เข้าใจ แต่สหายผู้เป็นบุตรมนตรีเข้าใจโดยตลอด นางโฉมงามนิ่งอยู่ครู่หนึ่งก็ขึ้นจากน้ำแวดล้อมด้วยบริวารเดินทางกลับไปยังนิวาสสถานของนาง
เมื่อนางเข้าในบ้านก็ล้มตัวลงบนที่นอน มีใจอันเต้นระทึกคิดถึงเจ้าชายด้วยความสงสัยว่าพระองค์จะเข้าใจสัญญาณของนางหรือไม่ ส่วนเจ้าชายวัชรมกุฏ เมื่อมิได้เห็นนางอีกแล้วก็เปรียบเหมือนวิทยาธรที่สิ้นไร้ซึ่งมนตร์วิเศษ เมื่อเสด็จกลับถึงพระนครก็มีแต่จิตประหวัดคิดถึงนางอยู่มิรู้วาย ทรงตกอยู่ในอารมณ์รันทด มีแต่ความเศร้าสร้อยอาวรณ์หาแต่นางผู้เดียว วันหนึ่งบุตรมนตรีเข้ามาเฝ้าและสนทนากันด้วยเรื่องต่าง ๆ พุทธิศรีระ บุตรมนตรี ได้ถามเจ้าชายผู้เป็นสหายว่ามีความคิดอย่างไรเรื่องนางงามที่พบที่ทะเลสาบ ในความคิดของตนเห็นว่านางนั้นอาจจะติดต่อได้ง่ายกว่าที่คิดเพราะทุกอย่างไม่มีปัญหาอะไรเลย
เจ้าชายได้ฟังก็พลุ่งขึ้นมาว่า “เจ้าพูดได้อย่างไรว่าเข้าหาไม่ยากเลย ข้าไม่รู้จักแม้แต่ชื่อของนาง ที่ซึ่งนางอยู่ หรือแม้แต่หัวนอนปลาย ตีนของนางทั้งสิ้น เจ้าชางกวนโมโหข้าเสียจริง”
เมื่อเจ้าชายตรัสดังนี้ พุทธิศรีระก็ถึงกับอ้าปากค้าง กล่าวว่า “อะไรนะ พระองค์ไม่ทราบได้อย่างไรในเมื่อนางให้สัญญาณออกโจ่งแจ้งอย่างนั้น ก็เมื่อนางเอาดอกบัวทัดที่หู นางหมายจะบอกพระองค์ว่า ‘ฉันอยู่ในแว่นแคว้นของพระราชานาม กรรโณตบล (ผู้มีดอกบัวประดับที่หู) เมื่อนางบิดกลับบัวเป็นอาภรณ์ทันตบัตร นางหมายความว่า ‘จงรู้เถิดว่าฉันเป็นลูกของทัตแพทย์ที่เมืองนั้น’ การที่นางหยิบดอกบัวขึ้นชูบนศีรษะว่า นางชื่อปัทมาวดี และการที่นางเอามือทาบหทัยประเทศก็หมายความว่า พระองค์สถิตอยู่ในหัวใจของนางแล้วนั่นเอง พระองค์ไม่รู้หรือว่าพระราชากรรโณตบลนั้นเป็น กษัตริย์แห่งแคว้นกลิงคะ และมีพระสหายที่โปรดปรานคนหนึ่งเป็นหมอฟันชื่อสงครามวรรธน์ ก็ชายผู้นี้แหละ มีลูกสาวชื่อ ปัทมาวดี ผู้เป็นมุกดาแห่งโลกทั้งสาม และบิดาของนางตีราคานางเท่ากับชีวิตของเขานั่นเทียว
เรื่องราวเหล่านี้ข้าพเจ้าทราบจากคำคนเขาพูดกันมานานแล้ว เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงตีความหมายของนางได้ถูก ต้องไม่ว่านางจะแสดงท่าทีอย่างไร
เมื่อราชบุตรได้ฟังคำเฉลยอันแจ่มแจ้งของบุตรมนตรีดังนี้ ก็มีใจปลอดโปร่งสิ้นความกังวลวิตก มีใบหน้าอันแช่มชื่นขึ้นทันที และเห็นโอกาสที่จะไปหานางอันเป็นที่รักได้โดยง่าย จึงจัดการเสด็จอีกครั้งหนึ่งพร้อมด้วยบุตรมนตรี โดยแสร้งทำเป็นว่าจะไปล่าสัตว์แล้วมุ่งไปหานางโดยทันทีตามเส้นทางเดิม พอมาถึงกลางทาง เจ้าชายก็กระตุ้นม้าเผ่นโผนไปด้วยความเร็วจนข้าราชบริพารตามไม่ทัน แล้วมุ่งหน้าไปยังแคว้นกลิงคะพร้อม ด้วยบุตรมนตรีตามเสด็จอย่างใกล้ชิด ณ ที่นั้นชายหนุ่มทั้งสองก็มุ่งไปยังพระนครของพระราชากรรโณตบล แล้วสืบเสาะจนพบคฤหาสน์หลังงามของทันตแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ เจ้าชายและพระสหายแวะเข้าไปสู่บ้านของหญิง ชราผู้หนึ่งซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับคฤหาสน์นั้น พุทธิศรีระจัดการให้หญ้าให้น้ำแก่ม้าทั้งสองตัว แล้วเอาไปซ่อนในที่ ลับตา จากนั้นก็กล่าวแก่หญิงชราต่อพระพักตร์ของเจ้าชายว่า “คุณแม่ ท่านเคยรู้จักหมอฟันชื่อ สงครามวรรธน์บ้างหรือ”
พอนางได้ฟังถ้อยคำดังนั้น ก็กล่าวแก่ชายหนุ่มอย่างอ่อนน้อมว่า “แม่รู้จักเขาดีทีเดียว ก็แม่นี่แหละเคยเป็นแม่นมของเขา เดี๋ยวนี้เขาให้แม่เป็นคนดูแลลูกสาวของเขาแล้ว แต่แม่ก็ไม่ได้เข้าไปที่บ้านใหญ่นั่นหรอก เพราะไม่มีเสื้อผ้าดี ๆ จะแต่ง มีแต่ชุดปอน ๆ นี่จะใส่ไปก็อายเขา ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะอ้ายลูกชายชาติชั่ว มันเล่นการพนันหมดเนื้อหมดตัว ไม่มีอะไรเหลืออีกแล้ว มันเห็นเสื้อผ้าสวย ๆ ของแม่มีอยู่ มันก็ขนเอาไปจนหมด” เมื่อบุตรมนตรีได้ฟังดังนั้นก็ยินดี แลเห็นช่องทางโดยตลอด จึงถอดสร้อยสังวาลออกมอบให้นางพร้อมด้วยของขวัญอีกหลายอย่าง ทำให้นางปลาบปลื้มเป็นอันมาก บุตรมนตรีเห็นได้โอกาสจึงกล่าวแก่นางว่า
“คุณแม่จงเป็นแม่ของพวกเราเถิด ตอนนี้ฉันมีความลับอย่างหนึ่งที่จะบอกคุณแม่ และขอให้คุณแม่ช่วยสงเคราะห์ด้วย ให้คุณแม่ไปหานางปัทมาวดี ลูกหมอฟันและกล่าวแก่นางว่า เจ้าชายที่เจ้าเห็นที่ทะเลสาบนั้น บัดนี้มาถึงแล้ว และเพราะความรักของเขาที่มีต่อเจ้าอย่างท่วมท้น เขาจึงรีบให้แม่มาบอกเจ้า”
เมื่อหญิงชราได้ฟังดังนั้นก็ตอบตกลง เพราะได้ลาภสักการมาไว้แล้วอย่างเต็มที่ รีบกระวีกระวาดเข้าไปพบนางปัทมาวดีในปราสาท และกลับมาในเวลาเพียงชั่วครู่ เจ้าชายและพระสหายเห็นนางกลับมาก็ถามเรื่องราวโดยทันที นางได้ฟังก็ตอบว่า “แม่ไปพบนางอย่างลับ ๆ และแจ้งข่าวแก่นางว่าเจ้ามาถึงแล้ว พอนางฟังจบก็ด่าข้ายกใหญ่ มิหนำซ้ำยังตบหน้าข้าทั้งสองข้างข้างละทีด้วยฝ่ามือที่ทาด้วยการบูร แล้วไล่ข้ากลับมา นางทำให้ข้าต้องร้องไห้ด้วยความเสียใจเพราะถูกดูหมิ่นอย่างคาดไม่ถึง นี่ไงล่ะ ลูกเอ๋ย รอยที่นางตบข้ายังเป็นผื่นห้านิ้วอยู่เลยเห็นไหม”
เมื่อได้ฟังดังนี้ เจ้าชายก็รู้สึกเป็นทุกข์เพราะความผิดหวังยิ่งนัก แต่บุตรมนตรีผู้ฉลาดได้กล่าวปลอบโยนว่า “อย่าทรงเศร้าโศกไปเลยพระเจ้าข้า ที่นางทำอย่างนี้เป็นแต่เพียงปริศนาเท่านั้นหรอก การที่นางบริภาษแม่เฒ่าและตบหน้าทั้งสองแก้มด้วยมือทาการบูรทั้งสิบนิ้วเป็นรอยสีขาวอย่างนั้นก็เพราะนางต้องการจะตอบเป็นนัย ๆ ว่าให้พระองค์ทรงรออีกสิบวันข้างขึ้น เพราะระหว่างนี้เป็นวันที่ฤกษ์ไม่ดี”
หลังจากที่บุตรมนตรีกล่าวปลอบโยนเจ้าราชบุตรดังนี้แล้ว บุตรมนตรีก็ออกไปตลาด แอบเอาเครื่องทองหยองออกขายอย่างลับ ๆ เอาเงินมาให้แม่เฒ่าไปทำอาหารอย่างดีเลิศมากินกันทั้งสามคน หลังจากนั้นเมื่อรอมาครบสิบวัน บุตรมนตรีก็ส่งแม่เฒ่าไปพบนางปัทมาวดีอีกเพื่อดูว่านางจะว่าอย่างไร ฝ่ายหญิงชราหลังจากที่ถูกปรนเปรอด้วยเหล้ายาปลาปิ้งและอาหารนานารสอย่างอิ่มหมีพีมันแล้วก็มีกำลังใจยอมช่วยเหลือเต็มที่ นางเดินทางไปหานางปัทมาวดีอีกครั้งเพื่อเอาใจแขกทั้งสอง นางไปแล้วมิช้าก็กลับมากล่าวแก่ชายทั้งสองว่า “แม่ไปมาแล้ว และไม่ทันได้พูดอะไร แต่นางกลับเยาะเย้ยแม่ว่าทำเป็นแม่สื่อดีนัก นางเอามือที่ทาชาดมาแปะหน้าอกข้าเป็นรอยนิ้วมือสามนิ้ว ข้าจึงกลับมายังเจ้าพร้อมด้วยรอยนิ้วมือของนางนี่แหละ”
เมื่อบุตรมนตรีได้ฟังและพิเคราะห์ด้วยความฉลาดก็ทูลเจ้าชายให้สงบพระทัย และไตร่ตรองในปริศนาของนาง ซึ่งตนเห็นว่าไม่ลี้ลับอะไรเลย “นางต้องการจะบอกให้ทราบว่า นางยังไม่ว่างที่จะพบใครในสามวันนี้” บุตรมนตรีเฉลยปัญหาอย่างมั่นใจ
หลังจากนั้นอีกสามวัน พุทธิศรีระก็ส่งหญิงเฒ่าไปหานางปัทมาวดีอีก คราวนี้นางปัทมาวดีต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี ปรนเปรอด้วยอาหารอันเอมโอชและสุราอย่างดี หญิงชราเพลิดเพลินอยู่ที่คฤหาสน์ตลอดวัน จนกระทั่งถึงเวลาเย็นนางจึงลากลับบ้าน ขณะนั้นปรากฎเสียงอื้ออึงในท้องถนนหน้าคฤหาสน์เสียงคนร้องเอะอะว่า “ระวังด้วย มีช้างบ้าหลุดจากเสาตะลุงวิ่งมาทางนี้ มันกระทืบคนตายไปหลายคนแล้ว หนีเร็ว!” นางปัทมาวดีได้ยินดังนั้นจึงกล่าวแก่หญิงชราว่า “แม่อย่าออกไปทางถนนใหญ่เลย อันตรายเปล่า ๆ เราจะให้แม่นั่งในกระเช้าแล้วค่อยหย่อนเชือกลงไปจากหน้าต่างดีกว่า พอลงไปถึงสวนแล้วก็ปีนต้นไม้ออกไปที่กำแพง แล้วข้ามกำแพง ลงไปโดยไต่ลงต้นไม้อีกต้นหนึ่ง ถึงทางลัดแล้วแม่ก็กลับไปบ้านเถิด” หลังจากกล่าวดังนี้แล้ว นางปัทมาวดีก็ให้หญิงชราลงไปนั่งในกระเช้า เอาเชือกพันแน่นหนา แล้วก็ค่อยหย่อนนางลงทางหน้าต่าง เมื่อลงไปถึงสวนแล้วก็ให้นางทำตามที่บอกจนหญิงเฒ่ากลับสู่บ้านด้วยความปลอดภัย เมื่อนางกลับมาบ้านแล้วก็เล่าเรื่องทั้งหมดให้ชายหนุ่มทั้งสองฟัง บุตรมนตรีได้ฟังดังนั้นก็กล่าวแก่เจ้าชายว่า “ความปรารถนาของพระองค์ถึงความสำเร็จแล้ว เพราะฟังจากถ้อยคำแม่เฒ่านี่ นางปัทมาวดีได้แนะหนทางให้พระองค์ไปสู่บ้านของนางแล้ว เพราะฉะนั้นจงเสด็จไปเถิด ไปเสียวันนี้เลย เวลาย่ำค่ำ ไปตามหนทางที่นางชี้แนะไว้แล้วนั่นแหละ”
เมื่อบุตรมนตรีกล่าวดังนี้ เจ้าราชบุตรก็เดินทางไปพร้อมด้วยบุตรมนตรีลัดเลาะมาจนถึงแนวกำแพงบ้านนางตามที่หญิงชราบอกไว้ ที่ตรงนั้นมีเชือกผูกระเช้าหย่อนลงมาจากหน้าต่าง ที่ขอบหน้าต่างแลเห็นสาวใช้กำลังเยี่ยม ๆ มอง ๆ เหมือนนางกำลังคอยหาเจ้าชายอยู่ ดังนั้นเจ้าจึงลงไปนั่งในกระเช้านางสาวใช้สองคนก็ช่วยกันชักกระเข้าขึ้นไปจนถึงหน้าต่าง จากนั้นเจ้าชายก็เสด็จเข้าไปในปราสาทและตรงเข้าไปหานางอันเป็นที่รัก บุตรมนตรีเห็นว่าเสร็จธุระของตนแล้วก็กลับที่พัก
ส่วนเจ้าชายเมื่อเข้าไปถึงห้องของนางก็แลเห็นนางนั่งอยู่บนอาสน์ มีใบหน้าอันงามปลั่งเปล่งดังจันทร์เพ็ญฉายแสงอร่ามเรืองในราตรี นางแลเห็นเจ้าชายก็รีบลุกจากแท่นเข้ามากอดไว้ด้วยความเสน่หาอันแผดเผาอุระให้ทรมานมานับเดือน เจ้าชายประคองนางไว้ด้วยความรัก และกระทำวิวาหะต่อนางตามแบบคานธรรพวิวาห์ (การได้เสียกันเองด้วยความพอใจทั้งฝ่ายชายและหญิง วิวาหะชนิดนี้ถือเป็นแบบหนึ่งที่ถูกต้องตามกฏหมายอย่างหนึ่งใน 8 ชนิด) เมื่อความปรารถนาของพระองค์บรรลุความสำเร็จแล้ว เจ้าชายก็ประทับอยู่กับนางเรื่อยมาโดยการลักลอบมิให้รู้ถึงผู้อื่น จนเวลาผ่านไปหลายวัน
วันหนึ่งขณะในที่อยู่กับนางในที่รโหฐาน เจ้าชายรำลึกถึงพระสหายได้ จึงกล่าวแก่นางว่า “ดูก่อนเจ้าผู้เป็นที่รัก สหายร่วมใจของข้ากำลังคอยข้าอยู่ที่บ้านแม่เฒ่า เวลาก็ผ่านไปหลายวันแล้ว ข้าคิดว่าควรจะกลับไปเยี่ยมเยียนเขาบ้าง เพราะเขาคอยฟังข่าวจากข้าอยู่ เสร็จธุระแล้วข้าจะกลับมาที่นี่อีก”
ปัทมาวดีโฉมงามได้ฟังก็นิ่งอยู่ ไตร่ตรองด้วยความฉลาดของนาง แล้วก็กล่าวแก่สามีของนางว่า “โอท่านผู้เป็นบดี (สามี หรือนาย) ของข้า เมื่อพระองค์ตรัสดังนี้ก็ดีแล้ว แต่ข้ายังมีความสงสัยอยู่อย่างหนึ่งที่จะถามว่า ก่อนหน้านี้ข้าเคยทำปริศนาหลายอย่างต่อพระองค์ พระองค์ทรงตีปัญหาแตกด้วยความคิดของพระองค์เองหรือ หรือว่าบุตรมนตรีผู้เป็นสหายเป็นคนคิดให้” เจ้าราชบุตรได้ฟังดังนั้นก็กล่าวตอบโดยความซื่อว่า “ข้าไม่ได้คิดเองเลยสักอย่าง แต่สหายของข้าคือบุตรมนตรีผู้นั้นเป็นผู้แนะนำต่างหาก”
นางได้ฟังดังนั้นก็คิดในใจด้วยความล้ำลึก ปกปิดความรู้สึกอันแท้จริงมิให้ปรากฏออกนอกหน้า กล่าวว่า “พระองค์ทำผิดเสียแล้วที่ไม่แจ้งเรื่องนี้แก่ข้าก่อน เมื่อเขาเป็นสหายของพระองค์ เขาก็ควรจะเป็นพี่ของข้าด้วย ข้าควรจะให้เกียรติแก่เขายิ่งกว่าใคร ๆ ทั้งหมด โดยให้ของขวัญอันมีค่าต่าง ๆ”
เมื่อนางกล่าวดังนี้แล้ว ตกเวลากลางคืนนางก็ส่งเจ้าชายกลับไปโดยวิธีเดิมเหมือนขามา เจ้าชายก็กลับมาหาพุทธิศรีระและพักอยู่ด้วยกันเป็นเวลาหลายวัน วันหนึ่งราชบุตรกล่าวแก่บุตรมนตรีว่าพระองค์ได้เล่าเรื่องการแก้ปริศนาของเขาให้นางทราบหมดแล้วเพื่อต้องการจะยกย่องความฉลาดของเขา สหายหนุ่มได้ฟังก็ตำหนิ ว่าเป็นการเสี่ยงมากที่ทรงทำดังนั้น การสนทนาระหว่างสองชายดำเนินไปจนกระทั่งเย็นค่ำ วันต่อมา หลังจากการสวดประจำวันเวลาเช้าสิ้นสุดลง ก็ปรากฏว่ามีสาวใช้คนสนิทของนางปัทมาวดีมารอพบอยู่ เอาหมากพลูมาให้พร้อมกับอาหารซึ่งน่ากินหลายอย่าง นางถามสารทุกข์สุกดิบของบุตรมนตรีตามธรรมเนียม แล้วมอบของกินให้แก่เขาและกล่าวแก่เจ้าชายว่า นางปัทมาวดีกำลังคอยอยู่ ขอให้พระองค์เสด็จไปเสวยอาหารที่บ้านของนางโดยเร็ว นางกล่าวจบก็รีบผลุนผลันกลับไป บุตรมนตรีเห็นนางไปแล้วก็กล่าวแก่เจ้าชายว่า
“ข้าแต่ราชบุตร โปรดคอยดู ข้าจะแสดงอะไรให้ดูสักอย่าง” กล่าวจบก็นำอาหารในภาชนะนั้นมาให้สุนัขกิน สุนัขกินอาหารนั้นยังไม่ทันหมดก็ล้มลงขาดใจตาย เจ้าชายแลดูด้วยความงุนงง ตรัสว่า “นี่มันอะไรกัน ข้าไม่เข้าใจ”
บุตรมนตรีจึงอธิบายว่า “ความจริงก็คือ นางผู้เป็นที่รักของพระองค์รู้ว่าข้าเป็นคนมีปัญญา เพราะสามารถตีปัญหาของนางออกทุกอย่าง นางจึงส่งอาหารใส่ยาพิษมาให้ข้ากิน ที่นางทำเช่นนี้ก็เพราะนางรักพระองค์มากเหลือเกิน นางต้องการให้พระองค์รักนางอย่างสุดจิตสุดใจ และนางเห็นว่า ตราบใดที่ข้ายังมีชีวิตอยู่ ข้าอาจเป็นก้างขวางคอนาง และอาจจะยุยงพระองค์ให้เหินห่างจากนางเมื่อไรก็ได้ นางจึงคิดจะฆ่าเสีย มิให้ข้านำพาพระองค์เสด็จกลับพระนคร แต่พระองค์อย่าโกรธนางเลย ทางที่ดีขอให้พระองค์เล้าโลมนางจนคิดหนีจากสกุลติดตามพระองค์กลับสู่พระนครจะดีกว่า ข้าจะเป็นผู้ออกอุบายดำเนินเรื่องนี้เอง”
เมื่อบุตรมนตรีทูลดังนี้ เจ้าราชบุตรก็ทรงยิ้มแย้มด้วยความพอพระทัยตรัสว่า “เจ้านี่สมแล้วที่ได้ชื่อว่า พุทธิศรีระ เพราะเจ้าเป็นแหล่งของความฉลาดแท้เทียว”
ขณะที่เจ้าชายกำลังกล่าวยกย่องพระสหายอยู่นั้นก็ได้ยินเสียงคนเป็นอันมากส่งเสียงปริเทวนาการมาจากท้องถนนว่า “โธ่เอ๋ย ช่างกระไรราชบุตรน้อยของพระราชามาด่วนจากไปเสียแล้ว ไม่ควรเลย ยังเด็กอยู่แท้ ๆ” บุตรมนตรีได้ยินเสียงดังนั้นก็รู้สึกยินดีนัก กล่าวแก่เจ้าชายว่า “รีบเสด็จไปบ้านนางเถอะ คืนนี้เมื่อพระองค์อยู่กับนาง จงพยายามให้นางดื่มสุราให้มาก ให้นางเมาจนสิ้นสติแน่นิ่ง แล้วจงเอาเหล็กเผาไฟนาบสะโพกของนางเป็นเครื่องหมายแล้วเก็บสร้อยถนิมพิมพาภรณ์เครื่องประดับกายของนางมาให้หมด จากนั้นขอให้เสด็จกลับมาทางเดิม เมื่อกลับมาบ้านแล้วข้าจะดำเนินการตามแผนที่คิดไว้ทุกอย่าง” เมื่อบุตรมนตรีกล่าวดังนี้แล้วก็มอบเหล็กแหลมรูปตรีศูลอันเล็ก ๆ มีลักษณะแหลมราวกับขนหมูป่าให้แก่เจ้าชายเพื่อไปกระทำตามแผน เจ้าชายรับมาแล้วทรงพิจารณาดูอาวุธน้อยอันดำเป็นมันขลับราวกับตะกั่วดำ พลางคิดว่าทั้งนางปัทมาวดีผู้เป็นที่รัก กับพุทธิศรีระผู้เป็นสหายแก้ว ดูจะเป็นคนใจหินด้วยกันทั้งคู่ไม่มีใครเป็นรองใครจึงตรัสว่า “เอาเถอะข้าจะทำตามที่เจ้าสั่งทุกอย่าง”
คืนนั้นเจ้าชายเสด็จไปยังคฤหาสน์ของนางปัทมาวดี เพราะขึ้นชื่อว่าเจ้าชายย่อมจะต้องทำตามคำแนะนำของมนตรีที่ฉลาดเสมอ ณ ที่นั้นพระองค์ได้ภิรมย์อยู่ด้วยนางจนเวลาค่อนคืน ปรนเปรอนางด้วยสุรา จนนางเมามายถึงขนาดและแน่นิ่งไป เจ้าชายเห็นได้โอกาสก็หยิบตรีศุลมาลนไฟแล้วนาบลงที่สะโพกของนางโดยนางยังคงสลบไสลไม่ได้สติเช่นเดิม เสร็จแล้วทรงรวบรวมรัตนาภรณ์ของนางใส่ห่อผ้า เสด็จเร้นพระองค์ลงจากหน้าต่างในความมืด แฝงกายลัดเลาะมาถึงบ้าน แจ้งเหตุการณ์ทุกอย่างให้บุตรมนตรีทราบ ทำให้บุตรมนตรีดีใจที่แผนการประสบผลสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว
รุ่งเช้าบุตรมนตรีแอบไปยังสุสานนอกเมือง พร้อมด้วยราชบุตร และเปลี่ยนเสื้อผ้า โดยบุตรมนตรีปลอมตนเป็นโยคี ส่วนเจ้าชายปลอมเป็นสาวก เสร็จแล้วบุตรมนตรีกล่าวแก่เจ้าชายว่า “พระองค์จงนำรัตนาวลีนี้ไปเร่ขายในตลาด แล้วทำเป็นโก่งราคาเสียจนไม่มีใครกล้าแตะ จงเดินเร่ขายไปเรื่อย ๆ ทำให้ใคร ๆ ได้เห็นกันจนทั่ว และเมื่อถูกราชบุรุษ (ตำรวจ) จับ จงทำเป็นไม่รู้อิโหน่อิเหน่ตอบแต่เพียงว่า ท่านโยคีอาจารย์ของข้าสั่งให้ข้าเอาสร้อยเส้นนี้มาขาย
เมื่อบุตรมนตรีกำชับกำชาเรียบร้อยแล้วก็ส่งเจ้าชายออกไปที่ตลาด เจ้าชายแกล้งตระเวนขายสายสร้อยมณีไปทั่วตลาด ในที่สุดก็ถูกราชบุรุษจับ เพราะราชบุรุษได้รับแจ้งความมาว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัตนาภรณ์ที่โจรเอาไปจากลูกสาวเศรษฐีผู้เป็นทันตแพทย์ เมื่อราชบุรุษจับกุมเจ้าชายไปแล้วก็นำไปมอบแก่ตุลาการ ตุลาการแลเห็นราชบุตรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าของโยคี ก็รีบแสดงความเคารพและถามด้วยความนอบน้อมว่า “ข้าแต่ท่านสาธุ ท่านเอาสร้อยมณีเส้นนี้มาจากไหน ท่านรู้หรือไม่ว่า สร้อยเส้นนี้เป็นของธิดาเศรษฐีใหญ่ คือธิดาทันตแพทย์หลวง นางทำหายไปโดยไร้ร่องรอยจำไม่ได้ว่าที่ไหน บางทีอาจจะถูกขโมยเมื่อคืนนี้ก็ได้”
เมื่อเจ้าชายผู้ปลอมเป็นสาธุได้ฟังดังนั้นจึงตอบว่า “ท่านมหาคุรุผู้เป็นอาจารย์ของข้าเป็นคนมอบให้ข้าเอง ถ้าท่านอยากรู้อะไรก็จงสอบถามท่านคุรุเถิด”
ตุลาการได้ฟังก็เดินทางไปที่สุสาน แลเห็นบุตรมนตรีนั่งอยู่ คิดว่าเป็นโยคีจึงเข้าไปทำความเคารพและถามว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านได้มุกดาวลีเส้นนี้มาจากไหน ข้าได้มาจากศิษย์ของท่าน”
เมื่อหนุ่มเจ้าเล่ห์ได้ฟังก็ตอบว่า “ข้าเป็นนักบวชแสวงบุญ เดินทางท่องเที่ยวจาริกแสวงบุญไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่พำนักถาวร ข้าชอบท่องเที่ยวไปในไพรกว้าง ออกจากป่าโน้นเข้าป่านี้ตามอำเภอใจของข้า คราวนี้ประเหมาะได้เจอเรื่องตื่นเต้นเข้าจนได้ เมื่อคืนข้ามาพักอยู่ในสุสานนี้ ข้าได้เห็นนางแม่มดจำนวนมากมาประชุมกันที่นี่ พวกมันคนหนึ่งนำเอาร่างสลบไสลของชายองค์หนึ่งมาด้วย มันเอาร่างเปล่าเปลือยของชายเคราะห์ร้ายมาวางเป็นเครื่องบูชายัญแด่องค์พระไภรวะ (ผู้น่ากลัว หมายถึงพระศิวะ (อิศวร) ปางดุร้าย) นางแม่มดตนหนึ่งมีอำนาจตบะแรงกล้ามิใช่น้อย แอบเข้ามาขโมยสร้อยประคำที่ข้าใช้ท่องบ่นมนตราอันศักดิ์สิทธิ์ไป ข้าลืมตาขึ้นเห็นนางตัวดีวิ่งหนีไปข้างหน้า ข้าโกรธมาก วิ่งตามไปจิกหัวมัน กระชากสร้อยประคำคืนมาแล้วมัดนางไว้ เอาตรีศุลของข้าลนไฟแล้วนาบสะโพกมัน ข้าหยิบสร้อยมุกดาที่มันสวมคอเอามาด้วย แล้วปล่อยมันไป ข้าเห็นว่ารัตนาวลีนี้เป็นของมีค่า มิใช่ของอันดาบสพึงเก็บเอาไว้ใช้สอย จึงให้ลูกศิษย์ข้าเอาไปขายที่ตลาด เรื่องก็มีเท่านี้แหละ
เมื่อตุลาการได้ฟังเรื่องราวโดยตลอดเช่นนั้นก็รีบกลับเข้าวังทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชาได้ฟังรู้สึกตื่นเต้นไม่น้อยที่มีเรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้น ในที่สุดทรงสรุปเอาว่า สร้อยมุกดานั้นชะรอยจะเป็นเส้นเดียวกับเส้นที่หายไป พระราชาจึงส่งนางพนักงานชราที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้คนหนึ่งไปสืบที่บ้านเศรษฐี เพื่อดูว่าธิดาเศรษฐีผู้นั้นมีรอยรูปตรีศุลอยู่ที่สะโพกหรือหาไม่ หญิงเฒ่าไปแล้วมิช้าก็กลับมาทูลว่า นางปัทมาวดีนั้นมีรอยรูปตรีศูลบนสะโพกเห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อได้ฟังดังนั้นพระราชาก็ทรงมั่นพระทัยว่า นางปัทมาวดีเป็นแม่มด และเป็นคนเดียวกับที่ฆ่าพระโอรสของพระองค์เป็นแน่แท้ ดังนั้นพระองค์จึงเสด็จไปแต่ลำพัง เข้าไปหาโยคีที่สุสาน และถามว่า พระองค์ควรจะจัดการอย่างแก่นางปัทมาวดี โยคีปลอมจึงทูลแนะนำให้เนรเทศนางไปเสียจากพระนคร พระราชาจึงออกคำสั่งให้เนรเทศนางไปเสีย ทำให้บิดามารดาของนางเศร้าโศกเพียงชีวิตจะแตกสลาย เมื่อนางปัทมาวดีถูกขับไล่ออกจากเมือง เสื้อผ้าแพรพรรณและถนิมพิมพาภรณ์ของนางก็ถูกยึดไปหมด เหลือแต่ผ้านุ่งห่มปอน ๆ ผืนเดียว นางเข้าไปอยู่ในป่าแต่ผู้เดียว สิ้นความคิดที่จะช่วยเหลือตัวเอง นั่งซึมเซาอยู่ตกเย็นบุตรมนตรีกับเจ้าชายเปลี่ยนเครื่องแต่งกายนักบวช แล้วขี่ม้าเข้ามาในป่าตรงไปหานาง ปลอบโยนนางให้คลายโศกแล้วเจ้าชายก็อุ้มนางขึ้นขี่ม้าตัวเดียวกันเดินทางกลับพระนครพาราณสี และดำรงชีวิตอยู่ด้วยกันด้วยความผาสุก ส่วนเศรษฐีทันตแพทย์ เมื่อธิดาของตนจากไปแล้วและมิได้ยินข่าวเกี่ยวกับนางอีกก็คิดว่านางคงถูกสัตว์ป่ากินสิ้นชีวิตไปแล้ว มีความทุกข์ระทมแสนสาหัส ก็ตรอมใจตาย ต่อมามิช้านางผู้ภริยาก็ตายตามไปด้วยอีกคนหนึ่ง
ฝ่ายเวตาลเมื่อเล่าเรื่องจบลงแล้ว ก็แสร้งกล่าวแก่พระราชาว่า “โอ อารยบุตร ข้ามีความสงสัยอยู่อย่างหนึ่งในเรื่องที่เล่ามานี้ว่า ในกรณีที่บิดามารดาของนางปัทมาวดีต้องสิ้นชีวิตลงไปนี้ ทรงเห็นว่าเป็นความผิดของใคร บุตรมนตรี หรือว่าเจ้าชาย หรือนางปัทมาวดีกันแน่ โปรดทรงวินิจฉันให้ข้าฟังหน่อยเถอะ เพราะพระองค์ก็ได้ชื่อว่าเป็นยอดนักปราชญ์ผู้หนึ่ง โอ ราชะ ถ้าพระองค์ไม่กล่าวคำจริงทั้ง ๆ ที่ทรงรู้ดีอยู่แก่ใจแล้วละก็ พระเศียรของพระองค์จะต้องแยกออกเป็นร้อยเสี่ยงแน่เทียว”
เมื่อเวตาลกล่าวดังนี้ พระราชาผู้เป็นสัตยเคราะห์ (ผู้ยึดมั่นในความสัตย์) ก็ตกพระทัยเพราะความเกรงกลัวในคำสาป จึงตรัสว่า “โอ เวตาล เจ้าก็เป็นผู้ชำนิชำนาญในมายาศาสตร์ทั้งปวง เรื่องนี้ยากเย็นอะไร บุคคลทั้งสามที่เจ้าเอ่ยมานั้นข้าไม่เห็นว่าจะมีใครเป็นผู้ผิดแม้แต่คนเดียว ความผิดในเรื่องนี้ทั้งหมดเป็นของพระราชากรรณโณตบลนั่นต่างหาก”
เวตาลได้ฟังก็กล่าวว่า “อะไรกัน พระราชาเป็นผู้ผิดด้วยเหตุใด บุคคลทั้งสามนั่นแหละเป็นผู้ก่อความผิดเกี่ยวเนื่องกันทั้งสามคน ก็กานั้นเสพของสกปรกจะต้องพลอยมีความผิดด้วยหรือ ในเมื่อหงส์นั้นมิได้กินภักษาหารเหมือนกา แต่กินข้าวเปลือกแทน”
พระราชาตรัสอธิบายว่า “ว่าตามจริงคนทั้งสามมิได้ทำความผิดเลยสักนิด บุตรมนตรีไม่ได้ทำผิดเพราะสิ่งที่เขาทำไปเป็นเพราะเขาต้องการจะช่วยเจ้านายของเขา นับเป็นหน้าที่ที่เขาจะต้องทำอยู่แล้วในฐานเสวกและสหาย ส่วนนางปัทมาวดีและเจ้าราชบุตรก็มิได้ทำผิดอะไร เพราะทั้งสองคนต่างก็ถูกเผาไหม้ด้วยพิษศรกามเทพเช่นเดียวกัน สิ่งที่พวกเขากระทำไปก็เพราะเขาต่างรักกัน และทำไปด้วยความโง่เขลาต่างหาก จึงไม่ควรถูกตำหนิในเรื่องนี้ ก็พระราชากรรโณตบลนั่นแหละ ขาดความรู้ความเข้าใจในนิติศาสตร์อันเป็นหลักที่พระเจ้าแผ่นดินควรจะรู้ ไม่สืบสวนข้อเท็จจริงให้ประจักษ์ในงานอันเกี่ยวกับแว่นแคว้นที่ตนปกครอง ไม่รู้จักการใช้จารชนให้เป็นประโยชน์ แม้ในเรื่องของราษฎรภายใต้อำนาจของตัวเองก็ไม่รู้ ไม่มีความเฉลียวในเล่ห์ของทรชน ขาดความชำนิชาญในการตีวความสิ่งที่ปรากฎแม้ง่าย ๆ ที่กล่าวมานี้แล คือความบกพร่องอันควรนับว่าเป็นความผิดของพระราชากรรโณตบลโดยแท้ เวตาลผู้สิงอยู่ในศพเมื่อได้ฟังพระราชากล่าวดังนั้น ทราบว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่พระราชาได้ลืมคำสัญญาที่ว่าจะไม่พูดแล้ว จึงเป็นโอกาสอันดีที่ตนจะหนีไป เวตาลก็ผละจากไหล่ของพระราชาและอันตรธานหายไป ทำให้พระราชาตริวิกรมเสนต้องเสด็จเที่ยวติดตามเพื่อจับเอาตัวมาอีก
วันที่ 18 ก.ย. 2551
Advertisement
เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง เปิดอ่าน 7,233 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,166 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,145 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,146 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,141 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,154 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,141 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 29,353 ครั้ง |
เปิดอ่าน 8,259 ครั้ง |
เปิดอ่าน 16,866 ครั้ง |
เปิดอ่าน 38,439 ครั้ง |
เปิดอ่าน 50,703 ครั้ง |
|
|