ลิลิตพระลอ
เป็นยอดวรรณคดีประเภทลิลิตเข้าใจกันว่าเป็นเรื่องจริงเล่ากันเรื่อยมาจนเป็นนิยามชื่อดัง ของท้องถิ่นไทยภาคเหนือ แถว ๆ จังหวัดแพร่และลำปาง คือเมืองสรองคงจะอยู่ที่อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เมืองสรวงน่าจะอยู่ที่อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง นิยายเรื่องจริงเรื่องนี้น่าจะเกิดในช่วง พ.ศ. 1616-1693 จะแต่งในสมัยพระบรมไตรโลกนาถสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระเชษฐา) หรือในสมเด็จพระนารายณ์ก็ไม่ทราบแน่ชัด
ผู้แต่ง : ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง แต่คงจะเป็นกวีชั้นนักปราชญ์ทีเดียวแต่งได้เลิศเลอนักยังหาผู้เทียบทานไม่ได้
ทำนองแต่ง : แต่งเป็นลิลิตสุภาพ ซึ่งประกอบด้วยร่ายสุภาพ และโครงสุภาพ อีกทั้งมีบางตอนก็เป็นร่านดั้นและร่ายโบราณ
วัตถุประสงค์ในการแต่ง : เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงอ่านเป็นที่สำราญพระทัย
เรื่องย่อ : เนื่องจากเมืองเหนือสองเมืองเป็นศัตรูคู่อริไม่ถูกกัน กษัตริย์เมืองสรวงพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระลอ พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระสิริวรกายงดงามหล่อเหลายิ่ง จนเป็นที่ปรากฏของหญิงทั้งหลาย และยังมีเมืองอีกเมืองหนึ่งชื่อว่า เมืองสรอง เมืองนี้ปกครองโดยกษัตริย์พิชัยพิษณุกรกษัตริย์พิชัยพิษณุกรทีพระราชธิดาอยู่ 2 พระองค์ พระองค์พี่ พระนามว่า พระเพื่อน พระองค์น้องพระนามว่า พระแพง
พระราชธิดาทั้งสองพระองค์ทรงต้องพระทัยในพระลอยิ่งนัก ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เคยเห็น นางรื่นกับนางโรย สองพระพี่เลี้ยงรู้ความจริง ด้วยความสงสารจึงทูลอาสาเข้าช่วยเหลือให้สมกับพระประสงค์ ส่งคนไปสีซอให้พระลอฟัง เป็นการพรรณนาความงามของพระเพื่อนกับพระแพง ไปหาหญิงแม่มดให้ช่วยทำเสน่ห์ แต่แม่มดปฏิเสธเพราะมนตร์เสน่ห์ของตนหมดฤทธิ์ขลังเสียแล้ว แม่มดจึงพาไปหาปู่เจ้าสมิงพราย ปู่เจ้าสมิงพรายให้ความช่วยเหลือ จนพระลอต้องเสด็จมาเองสรองพระลอต้องมนตร์เสน่ห์เข้าก็ทรงเกิดความอยากทอดพระเนตรดูพระเพื่อนกับพระแพงขึ้นมาทันที จึงอำลาพระนางบุญเหลือพระราชมารดา และพระนางลักษณวดีพระมเหสี เสด็จโดยด่วนไปยังเมืองสรองพร้อมด้วยนายแก้วนายขวัญสองพระพี่เลี้ยงเมื่อเสด็จถึงแม่น้ำกาหลง พระลอก็ทรงเสี่ยงน้ำ ปรากฏเป็นลางร้ายไม่ต้องำพระทัยเลย แต่ก็ต้องเสด็จต่อไป เพราะต้องมนตร์เสน่ห์ของเจ้าปู่สมิงพรายเข้าแล้ว ปรากฏมีไก่ผีของเจ้าปู่สมิงพรายคอยวิ่งล่อพระลอ กับพระพี่เลี้ยงให้ต้องไปจนถึงเมืองสรองจนได้ เมื่อไปถึงสวนหลวง นางรื่นกับนางโรยออกมาที่สวนหลวงก็ทราบข่าวว่าพระลอเสด็จมาถึงแล้ว จึงออกอุบายที่สำคัญคือ ให้พระเพื่อนและพระแพงเสด็จออกไปพบพระลอ
จากนั้นก็พาพระลอเข้าไปอยู่ในตำหนักพระเพื่อนพระแพง ส่วนนายแก้วให้อยู่กับนางรื่น นายขวัญให้อยู่กับนางโรย ทุกอย่างลงตัวหมดเวลาล่วงเลยไปถึงครึ่งเดือน กษัตริย์พิชัยพิษณุกรจึงทรงทราบเมื่อเสด็จมาพระตำหนักพระราชธิดา ทรงเห็นพระลอแล้วก็สงสาร ทรงเมตตารับสั่งให้จัดพิธีอภิเษกสมรสให้ แต่พระเจ้าย่าของพระเพื่อนพระแพง ไม่ทรงชอบพระลอจึงทรงขัดขวางทุกวิถีทาง ทรงอ้างรับสั่งของกษัตริย์พิชัยพิษณุกรว่าให้ทรงสั่งจับพระลอ ทหารจึงพากันจับพระลอไว้ ฝ่ายพระเพื่อนพระแพง และพระพี่เลี้ยงของทั้งสองฝ่ายรวม 4 คนก็ได้ช่วยขัดขวางจนถงที่สุด จนสิ้นพระชนม์และสิ้นชีวิตกันทั้งหมด กษัตริย์พิชัยพิษณุกร เมื่อทรงทราบเรื่องราวก็ทรงให้มีรับสั่งให้จับพระเจ้าย่าและพรรคพวกประหารชีวิตเสียให้ตายตกไปตามกัน เพราะทรงพระพิโรธยิ่งนักจากนั้นกษัตริย์พิชัยพิษณุกรได้โปรดให้จัดพิธีพระศพอย่างยิ่งใหญ่ นางบุญเหลือพระราชมารดาของพระลอส่งทูตมาร่วมงานพระศพกษัตริย์(คือ พระลอ พระเพื่อน และพระแพง) แล้วทรงขอแบ่งพระอัฐิธาตุไปส่วนหนึ่งตั้งแต่นั้นมา เมืองสรองและเมืองสรวงก็มีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกัน
คุณค่าของลิลิตพระลอ
1. ในด้านอักษรศาสตร์ นับเป็นวรรณคดีที่ใช้ถ้อยคำได้อย่างไพเราะ ปลุกอารมณ์ร่วมได้ทุกอารมณ์ เป็นวรรณคดีที่มีอิทธิพลต่อวรรณคดีอื่น ๆ มากอย่างบทเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่ว่า
“เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤาพี่
สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ”
แปลความว่า มีเสียงร่ำลืออ้างถึงอะไรกัน เสียงนั้นยกย่องเกียรติของใครทั่วทั้งพื้นหล้าแผ่นดิน พี่ทั้งสองนอนหลับใหล จนลืมตื่นหรือพี่ พี่ทั้งสองจงคิดเอาเองเถิด อย่าได้ถามน้องเลย บทนี้เขานับเป็นบทครูที่วรรณคดียุคต่อมาต้องนำมาเป็นแบบอย่าง
2. ในด้านพระศาสนา ได้ให้แง่คิดทางศาสนาอย่างเช่นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิตซึ่งเป็นของแน่ยิ่งกว่าแน่เสียอีก อย่างบทที่ว่า
สิ่งใดในโลกล้วน อนิจจัง
คงแต่บาปบุญยัง เที่ยงแท้
คือเงาติดตัวตรังตรึง แน่นอยู่นา
ตามแต่บุญบาปแล ก่อเกื้อรักษา
หรือบทที่ว่าด้วยกฎแห่งกรรม
ถึงกรรมจักอยู่ได้ ฉันใด พระเอย
กรรมบ่มีมีใคร ฆ่าเข้า
กุศลส่งสนองไป ถึงที่ สุขนา
บาปส่งจำตกช้า ช่วยได้ฉันใด
3. ในด้านการปกครอง จะเห็นว่าการปกครองในสมัยนั้น ต่างเมืองต่างก็เป็นอิสระ เป็นใหญ่ ไม่ขึ้นแก่กัน แต่สามารถมีสัมพันธไมตรีกันได้
4. ในด้านประวัติศาสตร์ ลิลิตพระลอได้ให้ความรู้ในทางประวัติศาสตร์ของไทยได้ในแง่มุมต่าง ๆ โดยเฉพาะทำให้รู้เรื่องราวความเป็นมาของเมืองสรวงและเมืองสรองอันได้แก่ ลำปางและแพร่
5. ในด้านวิถีชีวิต ได้มองเห็นถึงความเป็นอยู่ของคนไทยสมัยนั้นที่ยังเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์อยู่มากมีการนับถือผีสางนางไม้ แม้ปัจจุบันก็ยังมีอยู่