เข้าปีเสือ ก็ต้องว่าด้วยเรื่องของ “เสือ” ในมิติทางวัฒนธรรม เราลองมาทำความรู้จักกันดู ในพจนานุกรม
ฉบับราชบัณฑิตยสถานบอกไว้ว่า “ขาล” เป็นชื่อปีที่ 3 ของรอบปีนักษัตร ที่มี “เสือ” เป็นเครื่องหมาย หากเราจะนับ
แบบสากล ปีเสือหรือขาลก็จะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 เป็นต้นไป แต่ถ้านับแบบจีน ปีเสือจะเริ่มในเดือน
กุมภาพันธ์ช่วงตรุษจีน(14 กุมภาพันธ์) ถ้าแบบไทย ก็ต้องไปเริ่มเดือนเมษายนช่วงสงกรานต์ปีใหม่ ซึ่งใครจะนับ
อย่างไรมักเกี่ยว ข้องกับความเชื่อทางโหราศาสตร์เป็นสำคัญ
คนเกิดปีเสือ-ขาล ตามตำราพรหมชาติฉบับหลวง บอกไว้ว่า คนเกิดปีขาลเป็นพวกธาตุไม้ ผีเสื้อผู้หญิง
เป็นคนเจรจากระด้าง มักพูดโอหัง ชอบเจรจาแต่เรื่องผู้หญิง และมักเจรจาตลกคะนอง ทำตัวไม่เป็นทุกข์อยู่เสมอ
ชอบการช่างและเรียนวิชาความรู้ต่างๆ ทำราชการมักถูกย้ายที่อยู่เนืองๆ ทำมาค้าขายกับต่างแดน/ต่าง จังหวัด
จะดี และชอบกามารมณ์ด้วย
ส่วนคำทำนายทั่วไป มีลักษณะเป็นผู้นำ ชอบเสี่ยง ทำก่อนคิด เป็นคนโชคดีและเอาตัวรอดได้เสมอ กล้าทำตาม
ความเชื่อของตนเอง เป็นที่ชื่นชมของผู้อื่น แต่มักเป็นคนอารมณ์ร้อน ความรู้ สึกไวและขี้ใจน้อย
ตามตำราโหราศาสตร์จีน เชื่อว่าคนเกิดปีขาลดวงจะสมพงษ์กับคนเกิดปีกุน และจะไม่ถูกโฉลกหรือชงกับคนปีวอก
นอกจากนี้ตำราทายฝันยังได้กล่าวไว้ หญิงชายใดฝันว่าได้ขี่เสือ ทายว่าจะมีอำนาจวาสนาหรือได้รับการเลื่อน
ตำแหน่งหน้าที่ ถ้าฝันว่า ถูกเสือกัด ทายว่า จะได้โชคลาภจากเพศตรงข้าม ถ้าฝันว่า ฆ่าเสือตาย ทายว่า
จะหมดเคราะห์หรือหมดศัตรู ที่เจ็บป่วยจะหาย
ในเชิงสัญลักษณ์ เสือมักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจ ความขลัง ความเชื่อต่างๆ ทั้งในด้านดีและร้าย
มาตั้งแต่โบราณ ในด้าน ดี จีนเชื่อว่า ยันต์รูปเสือคาบดาบ สามารถขับไล่ภูตผีปีศาจ หรือสิ่งอัปมงคลต่างๆ
ให้ออกไปได้ โดยนิยมติดยันต์นี้ตามหน้าบ้านและเหนือบานประตู ส่วน เขี้ยวเสือ ใช้เป็นเครื่องรางของขลัง ป้องกัน
อันตราย หรือการสักลาย “เสือเผ่น” เพื่อให้หนังเหนียวฟันแทงไม่เข้า ส่วนบุคคลที่มีความเก่งกล้าหาญ ก็จะถูก
ขนานนามให้เป็นเสือ เช่น ทหารเสือ เสือป่า และเสือพราน เป็นต้น
สถานที่สำคัญ เกี่ยวกับเสือ ที่เรารู้จักกันดีในกรุงเทพฯ คือ ศาลเจ้าพ่อเสือ หรือชาวจีนเรียกว่า “ตั่วเล่าเอี้ย”
ตั้งอยู่บนถนนตะนาว ใกล้เสาชิงช้า เป็นศาลเจ้าจีนแต้จิ๋วที่เก่าแก่ มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย
และเป็นที่เคารพนับถือของทั้งชาวไทยและชาวจีนเป็นอย่างมาก
ชื่อบุคคลทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ พระเจ้าเสือ แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ 30 ของ
ราชอาณาจักรอยุธยา ทรงถูกกล่าวขวัญว่าเป็นคนดุร้าย แต่กระนั้นก็ทรงมีเมตตาต่อพันท้ายนรสิงห์ จะไม่เอา
โทษประหารนายท้ายเรือพระที่นั่ง ที่คัดท้ายเรือไปชนต้นไม้จนหัวเรือพระที่นั่งหัก แต่พันท้ายไม่ยอมขอให้
ประหารชีวิตตน จนเป็นที่เล่าสืบมาถึงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และความสัตย์ซื่อต่อแผ่น ดิน
ที่ยอมตายเพื่อธำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์แห่งกฎหมาย
นอกจากพระเจ้าเสือแล้ว บุคคลดังและดุร้ายที่ถูกเล่าขานจนกลายเป็นตำนานไปแล้วก็มี เสือมเหศวร เสือดำ
เสือฝ้าย และเสือใบ สี่จอมโจรชื่อก้องแถบภาคกลางหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งล้วนทำการปล้นอย่าง
โหดเหี้ยม จนเป็นที่หวาดกลัวไปทั่ว
ขุนโจรเหล่านี้ ต่างก็มีคาถาประจำตัวเป็นที่เลื่องลือ เช่น เสือมเหศวรมีคาถาหายตัว เสือดำมีคาถาคงกะพัน เสือใบ
มีคาถาหนังเหนียว เป็นต้น แต่ท้ายสุดเหล่าเสือร้ายก็ถูกขุนพันธรักษ์ราชเดช ตำรวจมือปราบผู้ริเริ่มสร้าง
จตุคามรามเทพอันลือลั่นปราบปรามจนราบคาบ และภายหลังต่างก็กลับตัวเป็นคนดี เช่น เสือมเหศวรต่อ มา
ก็ได้บวชเป็นพระและพราหมณ์
เรื่องเล่ามาแต่โบราณ และมีคนเชื่อว่ามีอยู่จริง คือ เสือสมิง กล่าวกันว่า มาจากคนที่เรียนรู้อา คมจนแก่กล้า
แล้วร่ายคาถาจำแลงร่างเป็นเสือโคร่งได้ แต่ไม่สามารถกลับคืนร่างเป็นคนได้อีก จึงต้องกลายเป็นเสือสมิงเที่ยวจับคน
กินเป็นอาหาร โดยมักจะแปลงร่างเป็นคนรู้จักไปหลอกพรานหรือชาวบ้านที่เข้าป่าไปหาอาหาร ดังนั้นคนโบราณ
จึงมักสอนว่า “เวลาเข้าป่า หากมีคนเรียกให้ลงจากห้าง (ทำไว้บนต้นไม้ไว้ดักยิงสัตว์) อย่าได้ลงมา”
เพราะอาจจะเป็นเสือสมิงแปลงร่างมาลวงก็ได้
คนดังเกิดปีขาล ได้แก่ ขุนแผน หนุมาน พระเอกและทหารเอกในวรรณคดีของไทย นอกจากนี้ยังมี
บีโธเฟน คีตกวีและนักเปียโนชาวเยอรมัน โฮจิมินห์ ประธานาธิบดีเวียดนาม และ มาริลิน มอนโร ดารา
เซ็กซี่ชื่อดังของอเมริกัน เป็นต้น
นิทานพื้นบ้าน เกี่ยวกับเสือ มีทั้งของไทยและเทศ เช่น เรื่อง หลวิชัยคาวี ลูกเสือผู้กตัญญูต่อแม่โคที่ให้นม
แก่ตน จนยอมฆ่าแม่เสือที่ตระบัดสัตย์ฆ่าแม่โค จากนั้นได้สาบานตนเป็นพี่น้องกับลูกวัวท่องเที่ยวไปด้วย กัน
จนฤษีได้ชุบให้เป็นคนแล้วมีเรื่องราวตามมาอีกมากมาย ส่วนของจีนมีเรื่องบู๋ซ้ง ผู้กล้าสามารถฆ่าเสือได้ด้วยมือ
เปล่า และเป็นหนึ่งในผู้กล้าของวรรณคดีชิ้นเอกของจีน
เสือเกี่ยวกับ สำนวนไทย สุภาษิตและคำพังเพย มีหลายสำนวนด้วยกัน เช่น
เสือกระดาษ หมายถึง ประเทศ องค์กร หรือผู้ที่ทำทีประหนึ่งว่ามีอำนาจมาก แต่ความจริงไม่มี
เสือซ่อนเล็บ ผู้ที่เก่งกล้าสามารถแต่ไม่ยอมแสดงให้ปรากฏ
เสือรู้ คนที่มีไหวพริบหรือฉลาดเอาตัวรอด
เสือหิว คนที่อยากได้ผลประโยชน์โดยไม่เลือกว่าควร/ไม่ควร
หนีเสือปะจระเข้ หมายถึง หนีภัยอย่างหนึ่งมา แล้วต้องมาพบภัยอีกอย่างหนึ่ง
เขียนเสือให้วัวกลัว ทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้อีกฝ่ายเสียขวัญหรือกลัวเกรง
เลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้ หมายถึง เลี้ยงลูกศัตรูหรือลูกคนพาล ทำให้เดือดร้อนภายหลัง
ฝากเนื้อไว้กับเสือ หมายถึง ไปไว้วางใจคนที่ไม่ควรไว้วางใจ
เสือนอนกิน คนที่ได้รับผลประโยชน์โดยไม่ต้องลงทุนลงแรง
หน้าเนื้อใจเสือ หมายถึง คนที่มองดูภายนอกเหมือนคนซื่อหรือคนดี แต่ที่จริงแล้วเป็นคนร้าย
ไอ้เสือบุกเสือถอย ได้เปรียบคู่ต่อสู้จึงบุก หากพลาดพลั้งคู่ต่อสู้ ถอยร่นก่อน
เสือร้องไห้ เห็นทีได้แก่ลาบน้ำตก แซบอีสาน
ทั้งหมดข้างต้น ประมวลเรื่องราวของ “เสือ” เท่าที่พยายามหาในแง่มุมต่างๆ เอามาเล่าสู่กันฟัง ที่สำคัญคือขอ
ให้ปีเสือปีนี้ เป็นปีที่ทุกคนเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังอำนาจ และความคิดอันชาญฉลาด
ที่จะต่อสู้กับสิ่งชั่วร้ายและเอาชนะอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง
ส่วนท่านจะเป็นเสืออะไรนั้นก็แล้วแต่ท่าน
(ขอบคุณข้อมูลจากสยามรัฐ)