นาคเล่นน้ำ (Waterspout)
ประเทศไทยได้เจอกับปรากฏการณ์พายุงวงช้างอยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้แต่ไม่บ่อยนัก ซึ่งเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2551 มีพายุงวงช้างเกิดขึ้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน และล่าสุดก็มีการเกิดพายุงวงช้าง ที่บริเวณบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา
พายุนาคเล่นน้ำ บริเวณบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์
ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย (สวทช.) อธิบายถึงปรากฏการณ์พายุงวงช้างที่เกิดขึ้นว่า พายุงวงช้าง มีชื่อที่ถูกต้องคือ พายุนาคเล่นน้ำ หรือ พวยน้ำ (waterspout) หมายถึง ปรากฏการณ์ที่มีลักษณะคล้ายท่อน้ำขนาดใหญ่เชื่อมต่อระหว่างผืนฟ้าและพื้นน้ำ ลักษณะการเกิดนาคเล่นน้ำมี 2 แบบ ได้แก่
แบบแรก : เป็นพายุทอร์นาโดที่เกิดขึ้นเหนือผืนน้ำ (ซึ่งอาจจะเป็นทะเล ทะเลสาบ หรือแอ่งน้ำใดๆ) โดยพายุทอร์นาโดจะเกิดขึ้นระหว่างที่ฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก เรียกว่า พายุฝนฟ้าคะนองแบบซูเปอร์เซลล์ (supercell thunderstorm) และมีระบบอากาศหมุนวนที่เรียกว่า เมโซไซโคลน (mesocyclone) พายุนาคเล่นน้ำแบบนี้จึงเรียกว่า นาคเล่นน้ำที่เกิดจากทอร์นาโด (tornadic waterspout) ซึ่งใครที่เคยชมภาพยนตร์เรื่อง ทวิสเตอร์ (Twister) คงพอจะนึกภาพออก เพราะมีอยู่ฉากหนึ่งที่มีทอร์นาโดหลายงวงอาละวาดอยู่ในน้ำ
แบบที่สอง : แบบนี้เกิดบ่อยกว่า และน่าจะตรงกับกรณีที่เกิดขึ้นในบ้านเรา (เพราะตามข่าวดูเหมือนจะไม่มีฝนฟ้าคะนองร่วมด้วย) เกิดจากการที่มวลอากาศเย็นเคลื่อนผ่านเหนือผิวน้ำที่อุ่นกว่า โดยบริเวณใกล้ๆ ผิวน้ำมีความชื้นสูง และไม่ค่อยมีลมพัด (หรือถ้ามีก็พัดเบาๆ เอื่อยๆ) ผลก็คือ อากาศที่อยู่ติดกับผืนน้ำซึ่งอุ่นในบางบริเวณจะยกตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้อากาศโดยรอบไหลเข้ามาแทนที่ จากนั้นจึงพุ่งเป็นเกลียวขึ้นไป แบบนี้เรียกว่า นาคเล่นน้ำของแท้ (true waterspout) หรือ นาคเล่นน้ำที่เกิดในช่วงอากาศดีพอสมควร (fair-weather waterspout)
ทั้งนี้ความแตกต่างระหว่างนาคเล่นน้ำทั้งสองแบบนี้ก็คือนาคเล่นน้ำที่เกิดจากทอร์นาโดจะเริ่มจากอากาศหมุนวน (ในบริเวณเมฆฝนฟ้าคะนอง) แล้วหย่อนลำงวงลงมาแตะพื้น คือ อากาศหมุนจากบนลงล่าง ส่วนนาคเล่นน้ำของแท้นั้น จะเริ่มจากอากาศหมุนวนบริเวณผิวพื้นน้ำ แล้วพุ่งขึ้นไป คือ อากาศหมุนจากล่างขึ้นบน
พายุฤดูร้อนรูปงวงช้าง ที่ก่อตัวขึ้นกลางท้องนา จังหวัดพิษณุโลก
สำหรับขนาดพายุนาคเล่นน้ำส่วนใหญ่ยาวประมาณ 10-100 เมตร แต่บางครั้งยาวมากถึง 600 เมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางก็พบได้ตั้งแต่เล็กๆ แค่ 1 เมตร ไปจนถึงหลายสิบเมตร โดยในนาคเล่นน้ำแต่ละตัว อาจมีท่อหมุนวนเพียงท่อเดียวหรือหลายท่อก็ได้ โดยแต่ละท่อจะหมุนด้วยอัตราเร็วในช่วง 20-80 เมตรต่อวินาที (หากลองเปรียบเทียบกับพายุทอร์นาโดซึ่งมักจะยาวประมาณ 100-300 เมตร และหมุนวนเร็วกว่าคือ 40-150 เมตรต่อวินาที) กระแสลมในตัวพายุเร็วถึง 100-190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอาจสูงถึง 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสามารถคว่ำเรือเล็กๆ ได้สบาย
นอกจากหมุนวนรอบตัวเองแล้ว นาคเล่นน้ำยังสามารถเคลื่อนที่ได้เร็วตั้งแต่ 3 ถึง 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่จะเคลื่อนที่ค่อนข้างช้าประมาณ 18-28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นจึงมีคำแนะนำสำหรับชาวเรือว่า ให้สังเกตทิศทางการเคลื่อนที่ให้ดี แล้วหนีไปในทิศตรงกันข้าม อย่างไรก็ดี พายุนาคเล่นน้ำมีอายุไม่ยืนยาวนัก คืออยู่ในช่วง 2-20 นาที (แต่นานถึง 30 นาทีก็เคยพบ) และหากนาคเล่นน้ำขึ้นฝั่ง ก็จะสลายตัวไปอย่างรวดเร็ว
นาคเล่นน้ำอาจมาเป็นคู่ (หรือมากกว่านี้ก็มีบ่อยๆ)
นาคเล่นน้ำมักจะเกิดพร้อมๆ กันคราวละหลายตัว คือ มากันเป็นครอบครัว ตามสถิติที่ค้นได้พบว่า เคยเกิดขึ้นพร้อมกันทีเดียว 7 ตัว ที่เกรทเลคส์ (Great Lakes) ตามแนวพรมแดนระหว่างแคนาดากับอเมริกา ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า เหตุการณ์นาคเล่นน้ำครั้งมโหฬารแห่งปี 2003 (The Great Waterspout Outbreak of 2003) เพราะมีนาคเล่นน้ำปรากฏโฉมถึง 66 ตัว (เป็นอย่างต่ำ) ในช่วงเวลามหัศจรรย์ 7 วัน คือตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน ถึง 3 ตุลาคม ค.ศ. 2003
ขอบคุณข้อมูลดีๆ และภาพจาก
http://www.thaipr.net/nc/readnews.aspx?newsid=80AFAFA5848F48AD58BB766E5B162ECC
http://gotoknow.org/blog/weather/101100