เมื่ออายุมากขึ้น บุคลิกภาพของคนมักจะเปลี่ยนตามไปด้วย อย่างเช่น รูปร่างเตี้ยลง หลังค่อม บางคนก็มีอาการขาโก่งงอ ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ กระดูกหักง่ายกว่าปกติ สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดขึ้น เนื่องมาจากความหนาแน่นของกระดูกน้อยลงนั่นเอง ซึ่งตามปกติของร่างกายจะสร้างมวลกระดูกใหม่ และขจัดมวลกระดูกที่หมดอายุออกไป โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่วัย 35 ปีขึ้นไป อัตราการสลายกระดูกจะเร็วกว่าอัตราการสร้างกระดูก ทำให้ปริมาณมวลกระดูกลดลงและโครงสร้างภายในของกระดูกถูกทำลายส่งผลให้ระดูกชั้นในมีขนาดใหญ่ขึ้น มีลักษณะเป็นรูพรุนคล้ายฟองน้ำ หรือที่เรียกกันว่าอยู่ในสภาวะ “กระดูกพรุน” ซึ่งผู้หญิงจะสูญเสียเนื้อกระดูกมากกว่าผู้ชายถึง 2-3 เท่า โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน ปริมาณเนื้อกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
พอ.รศ.ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ ศัลยแพทย์ สาขา ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่าสำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ ได้แก่ ผู้สูงอายุ หญิงวัยหมดประจำเดือน ผู้ป่วยโรคทางเดินอาหารที่มีความผิดปกติในการดูดซึมแคลเซียม คนที่ดื่มสุรา กาแฟ สูบบุหรี่จัด ผู้ป่วยที่ต้องนอนบนเตียงคนป่วยเป็นเวลานาน ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระจายไปที่กระดูก ผู้ที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวกระดูกหักง่าย นอกจากนี้ การได้รับยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยาเสตรียรอยด์ ยากันชัก ยาไทร็อกซิน ฯลฯ รวมทั้งคนที่เป็นโรครูมาตอยด์ โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ฯลฯ ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากเป็นพิเศษเช่นกัน
เมื่อกระดูกในร่างกายเริ่มบางลงจนเริ่มเข้าสู่ภาวะกระดูกพรุน ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆ ปรากฏเลยถ้ากระดูกไม่หัก ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนจะดำรงชีวิตได้อย่างปกติ แต่หากเมื่อประสบอุบัติเหตุเช่น หกล้ม ภัยเงียบที่แอบแฝงนี้ก็ปรากฏให้รู้ สาเหตุที่กระดูกหักง่ายนั้นเพราะอยู่ในสภาวะกระดูกพรุน โดยส่วนที่จะหักง่ายได้มากกว่าปกติ ได้แก่ กระดูกหลัง กระดูกข้อมือ และกระดูกสะโพก เมื่อกระดูกหักแล้ว โดยเฉพาะกระดูกบริเวณสะโพก ผลกระทบที่ตามมาเกิดขึ้น จะทำให้ไม่สามารถเดินได้ การนอนรักษาตัวเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดแผลกดทับ อีกทั้งยังกลายเป็นภาระในการดูแลระยะยาว สุดท้ายอาจเสียชีวิตในที่สุด นอกจากนี้ สภาวะกระดูกพรุนยังส่งผลต่อโครงสร้างของกระดูกสันหลัง ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังเฉียบพลันและเรื้อรัง มีรูปร่างเปลี่ยนไป เตี้ยลง หลังโก่ง ไหล่งุ้มกว่าปกติ พุงยื่น หลังแอ่น ไม่มีเอว ฟันหลุดง่าย และการทำงานของอวัยวะภายในด้อยลง การย่อยอาหาร และการหายใจลำบาก เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า โรคกระดูกพรุน นั้น มีอันตรายสูงมาก คนที่มีอายุมากขึ้น จึงจำเป็นต้องป้องกันและรักษา แต่การที่จะรักษากระดูกที่พรุนแล้วให้กลับเข้าสู่สภาพเดิมนั้นมักจะไม่ค่อยได้ผลนัก สิ่งที่ดีที่สุด คือ การดูแลตัวเองไม่ให้ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนนั่นเองวิธีการป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนควรมีการป้องกันโดยการเปลี่ยนรูปแบบการดำรงชีวิต และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆอาทิเช่น การงดสูบบุหรี่, งดดื่มสุรา, ชา, กาแฟ, ระวังการลื่นล้ม เป็นต้น นอกจากนี้ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงและบริโภคอาหารที่มีแคลเซียม วิตามินดี โปรตีน ที่เพียงพอเพื่อความสมดุลของร่างกาย หากไม่มีเวลามากพอ ควรหาผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมให้กับกระดูก โดยเลือกที่มี คอลลาเจนไฮโดรไลเซท ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้มวลกระดูกแข็งแรง ไม่เปราะหักง่าย
ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ