โดยเจ้าคุณพระวิกรมมุนี
เจ้าอาวาสวัดคีรีวงศ์
บวชเพื่ออะไร
ท่านทั้งหลายได้มาบวชมาประพฤติปฏิบัติธรรม บางท่านก็บวชมาหลายครั้งแล้ว บางท่านก็เพิ่งมาบวชใหม่ จุดมุ่งหมายของการบวชศีลจารินี ณ วัดคีรีวงศ์ นี้ เพื่อต้องการให้ท่านทั้งหลาย ได้มาศึกษาธรรมะ ได้มาปฏิบัติธรรม มาสร้างบุญสร้างบารมี เพื่อให้เกิดความสุขทั้งในปัจจุบันนี้ และในอนาคตเพื่อให้ท่านทั้งหลายที่ได้รับการอบรมแล้ว เป็นกำลังช่วยกันทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยการบริจาคจตุปัจจัย อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา เช่น การสร้างถาวรวัตถุ เป็นต้น ช่วยกันเผยแผ่ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า
โดยเฉพาะได้ไปเผยแผ่ไปอบรมลูกหลาน คนในครอบครัวของท่านหรือญาติมิตรของท่าน หากว่าไม่สามารถจะแนะนำอบรมเขาได้ ก็ไปแนะนำชักจูงไปเล่าเรื่องการบวช การประพฤติปฏิบัติธรรมว่าดีอย่างไร แล้วชักนำให้มิตรสหายหรือคนรู้จักกันนั้น
ได้มาบวช มาประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างท่านบ้าง
การกระทำอย่างนี้ ถือว่าเป็นบุญเป็นกุศล เป็นการให้ธรรมะเป็นทานเข้าในลักษณะที่ว่า
"บอกบุญ ดีกว่า บอกบาป ทำบุญ ดีกว่า ทำบาป
ชวนคนทำดี ดีกว่า ชวนคนทำชั่ว ทำดี ดีกว่า ทำชั่ว
คุณธรรมของคนดี
ถ้าหากว่าท่านทั้งหลาย ไปอบรมลูกหลานของท่านให้มีคุณธรรม เช่น ให้มีความขยันหมั่นเพียร ในการศึกษาเล่าเรียน ในการทำงาน ในการทำความดี ให้เป็นคนมีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นคนไม่คต ไม่โกง ซื่อตรงต่อตนเอง ซื่อตรงต่อบุคคลอื่น ซื่อตรงต่อหน้าที่การงาน ซื่อตรงต่อความดี เป็นคนไม่เหลาะแหละโลเล ทำอะไรทำจริง ให้เป็นคนมีความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นคนไม่แข็งกระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ไม่จองหอง ให้ลูกหลานของเรา มีความกตัญญูกตเวที รู้จักบุญคุณ ของผู้มีพระคุณ เช่น บิดามารดา ครูบาอาจารย์ แนะนำลูกหลานให้เป็นคนมีความกตัญญูกตเวที ซึ่งเป็นลักษณะ เป็นเครื่องหมายของคนดี นิมิตตัง สาธุรูปานัง กตัญญูกตเวทิตา ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี อบรมให้ลูกหลานเป็นคนว่าง่ายสอนง่ายเป็นคนไม่ดื้อ ไม่รั้น
เพราะลูกหลานของเราบางคนในปัจจุบันนี้ ไม่ค่อยเชื่อพ่อแม่ ไม่ค่อยเชื่อปู่ย่า ตายาย ไปเชื่อเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ บางคนไปคบเพื่อน ไม่ดีก็พาเสียคน ก็ทำให้พ่อแม่เสียอก เสียใจผิดหวังในลูก
ขอให้ท่านทั้งหลายไปปลูกฝังคุณธรรม ให้เกิดขึ้นในจิตใจของ ลูกหลาน อบรมสั่งสอนให้มีความรัก ความสามัคคีกัน ตั้งแต่ในครอบครัวให้รักกัน พี่น้องพ่อแม่ ลูก มิตรสหาย เพื่อนบ้านให้มีความรักความสามัคคีกัน จึงจะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ให้มีเมตตาปราณีต่อกัน ไม่อาฆาตมาดร้ายกัน ไม่อิจฉาพยาบาทกัน และฝึกอบรมลูกของเราให้เป็นคนฉลาด ให้มีการศึกษา ให้คบกับคนดี ให้คบกับนักปราชญ์บัณฑิต
พ่อแม่ดีต้องสอนลูกดี
เมื่อท่านทั้งหลายมีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมะแล้ว ก็ขอให้เอาไปอบรมลูกหลานของท่าน ให้เป็นคนดีมีคุณธรรม มีศีลธรรมหากว่าเรามีลูกหลานดี มีคุณธรรม มีศีลธรรม เรียกว่าพ่อแม่ใจบุญ ลูกหลานก็ใจบุญ พ่อแม่มีคุณธรรม ลูกหลานก็มีคุณธรรมเรียกว่าเทวดา กับเทวดาอยู่ด้วยกันก็มีความสุข แต่ถ้าหากว่าในครอบครัว นั้นมีคนใจบาปใจไม่มีคุณธรรม อยู่ด้วยครอบครัวนั้นจะมีความทุกข์ ความเดือดร้อน
เช่น แม่บ้านเป็นคนใจบุญ ชอบให้ทานรักษาศีล ฟังธรรม เจริญภาวนา สวดมนต์ไหว้พระ แต่พ่อบ้านชอบกินเหล้าเที่ยวเตร่ เล่นการพนัน ไม่เชื่อเรื่องบุญ เรื่องบาปและคอยทะเลาะวิวาทขัดแย้งกันอยู่เรื่อย
อย่างนี้เรียกว่าภรรยานั้นเป็นเทวดา สามีเป็นผี เทวดากับผีอยู่ ร่วมกัน ก็ไม่มีความสุข หากว่า สามีก็ใจบาป ภรรยาก็ใจบาป ชอบประกอบกรรม ทำแต่ชั่ว
ตัวอย่าง สามีกินเหล้า เล่นการพนัน ภรรยาก็ติดไพ่ กับเพื่อน กลุ้มใจไปเล่นไพ่ สามีกินเหล้าเจ้าชู้ ผลสุดท้ายผีกับผีอยู่ด้วยกัน ครอบครัวนั้นหาความสุขความเจริญไม่ได้ หรือบางทีพ่อแม่ดี แต่ลูกไม่ดีก็มีเหมือนกัน บางทีลูกหลายคน ดีสองสามคน แต่ว่าไม่ดีสักคนพ่อแม่ก็เดือดร้อน
เพราะฉะนั้น เมื่อท่านทั้งหลายมีความรู้ มีความเข้าใจใน หลักธรรมะแล้ว ก็ขอให้ท่านทั้งหลายนำเอาไปใช้ไปปฏิบัติ และไปแนะนำ ลูกหลานของท่าน ให้เป็นคนดีมีศีลธรรม มีคุณธรรมที่ได้ตั้งหัวข้อเรื่องว่า "ธรรมะชนะทุกข์" ทุกข์ในขั้นต่ำ ขั้นกลาง ขั้นสูง ต้องใช้ธรรมะคือความดีความถูกต้อง
ธรรมะ ๓ ประเภท
คำว่าธรรมะในที่นี้ ท่านแบ่งไว้เป็น ๓ ประเภท คือ กุศลธรรมธรรมที่เป็นกุศล ธรรมที่เป็นฝ่ายดี เป็นคุณธรรม เช่น ความขยันหมั่นเพียร การรักษาทรัพย์ การคบเพื่อนดี การรู้จักใช้จ่ายทรัพย์ ให้เหมาะสมแก่ฐานะ ความมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เหล่านี้ เป็นต้น เป็นคุณธรรม
ธรรมะที่เป็นฝ่ายชั่ว ที่เรียกว่า อกุศลธรรม เช่น โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิต่าง ๆ กิเลศความชั่วต่าง ๆ แม้แต่ความเกียจคร้าน ความเห็นผิด ก็เป็นธรรมฝ่ายอกุศล ฝ่ายชั่ว เรียกว่าอกุศลธรรม
ธรรมะที่เป็นกลาง ๆ เรียกว่า อัพยากตธรรม คือ ธรรมที่ ไม่เป็นบุญเป็นบาป เช่น รูปธรรมทุกชนิด ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป หรือธรรมะที่เป็นโลกุตระ พ้นจากบาปและบุญบาปแล้ว
ธรรมะชนะอธรรม
สำหรับธรรมะชนะทุกข์ในที่นี้ หมายถึงกุศลธรรม คือ ธรรมที่เป็นฝ่ายดี ฝ่ายกุศล ธรรมะฝ่ายดี ฝ่ายกุศลนี้ จะเอาชนะธรรมฝ่ายชั่ว ฝ่ายอกุศลได้
ธรรมะฝ่ายดีเป็นเหตุให้เกิดความสุข ธรรมะฝ่ายชั่วฝ่ายอกุศล เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ที่ว่าธรรมะชนะทุกข์นั้น หมายถึงปฏิบัติธรรมะที่เป็นกุศล และเอาชนะธรรมะฝ่ายชั่วคือ อกุศลบาปกรรมต่าง ๆ หรือกิเลสต่าง ๆ อันเป็นความชั่ว
พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนว่า อักโก เธนะ ชิเน โกธัง พึงชนะ ความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ อะสาธุง สาธุนา ชิเน พึงชนะความชั่ว ด้วยความดี
ความโกรธนั้น ถือว่า เป็นอกุศลธรรม เป็นธรรมะฝ่ายชั่วเป็นตัวโทสะ เป็นตัวกิเลส เมื่อเกิดความโกรธขึ้นมาแล้ว ก็ทำให้คนเป็นทุกข์ บางทีถึงกับฆ่ากันทำร้ายกัน เพราะตัวความโกรธจะชนะความโกรธด้วยอะไร ไปฆ่าเขา ไปทำร้ายเขา ความโกรธจะหายไหม บางที คนบางคนก็คิดว่า บุญคุณต้องทดแทน แค้นต้องชำระ แต่พระพุทธเจ้า พระองค์ ไม่สอนให้ทำอย่างนั้น พระองค์สอนว่าบุญคุณ ต้องทดแทน ความแค้นนั้นต้องละ ต้องละความแค้น ต้องเอาชนะ ความแค้นด้วยความดี คือ การให้อภัย หรือการมีเมตตา แผ่ความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน
ชนะความโกรธ
จะอธิบายขยายความให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจว่า ความโกรธนั้น เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ให้ความทุกข์อย่างไรและเราจะเอาชนะความโกรธด้วยธรรมะอะไร นี้เป็นพื้นฐาน
ทั่ว ๆ ไป ยังไม่ถึงขั้นชนะความทุกข์โดยเด็ดขาด ชนะชั่วขณะก็ยังดี ตามธรรมดาความโกรธ มีด้วยกันทุกคนไม่มากก็น้อย
ท่านทั้งหลายอย่าเข้าใจว่า ท่านละความโกรธได้แล้ว เวลามาปฏิบัติธรรมที่วัด
คีรีวงศ์ จิตใจสงบ เยือกเย็น มาอยู่วัดคีรีวงศ์ ๕-๖ วันนี้ ไม่เคยโกรธให้ใครเลย ใจสุขสบาย
กลับไปถึงบ้านอย่าไปพูดอวดให้ใครฟัง ว่าฉันละความโกรธได้แล้วเดี๋ยวนี้ฉันสบายแล้ว หลวงพ่อวัดคีรีวงศ์ท่านสอนให้ละ ให้วางทุกสิ่งทุกอย่าง มีแต่รูปนามขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ควรละควรวาง เดี๋ยวนี้ฉัน สบายใจแล้วอย่าไปพูดอวดใครเขา เดี๋ยวเขาจะทดสอบอารมณ์เข้า มันหลบในอยู่ มันยังไม่หมดหรอก
สมเด็จสอบอารมณ์
มีเรื่องที่ท่านเล่าไว้ว่า คุณหญิงคนหนึ่ง ในครั้งสมัยรัชกาลที่ ๔ สามีเป็นพระยา ปรากฏว่าสามีไปมีภรรยาน้อยคุณหญิงเสียใจมีความทุกข์ใจ ไม่สบายใจ เป็นปกติธรรมดา ของผู้หญิงเมื่อสามีนอกใจไปรักหญิงอื่น ไปมีภรรยาน้อย ก็ต้องเศร้าโศกเสียใจเป็นธรรมดา พอเสียใจแล้วก็ต้องเข้าหาพระเข้าหาธรรมะ
คุณหญิงก็ไปบวชที่วัดระฆังโฆษิตาราม กับสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ไปบวชนุ่งขาว ห่มขาว แบบศีลจารินีอย่างนี้ สมเด็จพุฒาจารย์โต ท่านก็สอนกรรมฐานให้พิจารณาว่า สิ่งทั้งหลาย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทำจิตให้สงบแล้วเกิดปัญญา เมื่อปฏิบัติธรรมหลายวัน จิตก็สงบสบายใจ เกิดดีใจปลื้มปีติ
เช้าวันหนึ่ง เมื่อสมเด็จฉันอาหารเสร็จแล้ว คุณหญิงคนนี้ก็เข้าไปหาสมเด็จ "สมเด็จเจ้าขา" เดี๋ยวนี้ดิฉัน มีความสุขใจสบายใจแล้วเจ้าข้า ดิฉันละความโลภ โกรธ หลงได้หมดแล้วเจ้าข้าสิ่งทั้งหลายมันก็ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อก่อนก็หลงรัก หลงชัง เดี๋ยวนี้ฉันปล่อย วางได้หมดแล้ว ดิฉันละโลภ โกรธ หลง ได้หมดแล้วเจ้าข้า สมเด็จก็ว่า เออดี ละได้จริงหรือ จริงเจ้าข้า เดี๋ยวนี้ฉันไม่มี ความโลภ โกรธ หลงแล้ว เจ้าข้า สมเด็จก็เลย
ทดสอบอารมณ์ "อีตอแหล" พอว่าเท่านั้นแหละ คุณหญิงโกรธเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาทันที "สมเด็จเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ พูดคำหยาบคำโลน ชี้หน้าว่าสมเด็จ สมเด็จก็บอกว่า อ๋อ ยังอยู่รึ ไหนว่าหมดแล้วไงเล่า ทดสอบอารมณ์ เห็นทันทีเลย
กิเลสหลบใน
กิเลสของคนเราไม่ใช่หมดง่าย ๆ ไม่ว่าใคร ไม่ว่าหลวงพ่อที่พูด หรือผู้อ่าน อย่าไปแหย่เข้าเชียวบางทีไฟมันหลบในอยู่พอมีเชื้อ เดี๋ยวมันลุกขึ้นมาเมื่อไรก็ไม่รู้ เขาเรียกกิเลสหลบในอนุสัย กิเลสมันนอนเนื่องอยู่ใน จิตใจไม่มีอารมณ์มากระทบ อารมณ์นั้นมันก็ไม่เกิด แต่พอมีอารมณ์มากระทบแล้ว มันจะเกิดขึ้นมาได้
เราต้องหมั่นฝึกอบรมปฏิบัติมาก ๆ ทำอย่างไรจึงจะชนะความโกรธได้ เอาอะไรมาชนะ
ความโกรธเหมือนลูกระเบิด
อันดับแรก ขอให้เรารู้เห็นโทษภัยของความโกรธ ใช้สติ ใช้ปัญญา ใคร่ครวญ พิจารณาว่า ความโกรธนี้เหมือนไฟ มันเผาลนจิตใจ ของเรา เผาจิตใจ เผาร่างกายของเราแล้ว ไปเผาไหม้คนอื่นด้วย
อุปมา เหมือนลูกระเบิด ธรรมดาว่าลูกระเบิดนั้น ก่อนที่จะไปทำลายบุคคลอื่น ลูกระเบิดจะต้องทำลายตัวมันเองก่อน คือทำลายตัวมันเองก่อนแล้ว จึงทำลายบุคคลอื่น ความโกรธก็เช่นเดียวกัน ก่อนที่จะไปทำลายผู้อื่น มันทำลายจิตใจของคนนั้น เผาไหม้จิตใจของคนนั้น เผาสุขภาพร่างกาย จิตใจของคนนั้นเสียก่อน แล้วจึงไปทำลายบุคคลอื่น ไปด่า ไปว่า ไปตี ไปฆ่าคนอื่นนี่โทษของความโกรธ
ความโกรธเมื่อสะสมไว้มาก ๆ แล้วก็ประกอบกรรมด้วยความโกรธ ไปประกอบความชั่วทางกาย วาจา ใจ เมื่อตายไปก็จะไปเกิด เป็นสัตว์นรก หากว่าตายด้วยจิตประกอบด้วยโทสะ ก็จะไปเกิดเป็นสัตว์นรก นี่เป็นโทษของความโกรธ
การฝึกจิตเพื่อชนะทุกข์
ในขณะที่เรายังไม่มีอารมณ์โกรธ เราก็สร้างคุณธรรม สร้างธรรมะฝึกจิตของเรานี้ ให้มีสติ ให้มีสมาธิ ให้มีปัญญา ให้มีเมตตากรุณา ให้มีมุทิตาอุเบกขาฝึกให้เกิดขึ้นบ่อย ๆ สร้างพลังจิตเหมือนกับเวลาที่เรายังไม่เจ็บ ไม่ป่วย เราก็รับประทานอาหารบำรุงร่างกาย บริหารร่างกายออกกำลังกาย ให้ร่างกายของเรานี้มันแข็งแรงอยู่เสมอ จะได้ต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บได้ เวลาที่เรายังไม่มีอารมณ์โกรธ เราก็ฝึกอบรมจิตใจของเรา ปฏิบัติธรรมสร้างคุณธรรม ให้เกิดขึ้นที่จิตใจของเรา ให้จิตใจของเรามีพลังที่เข้มแข็ง จิตใจเราจะมีความ
หนักแน่น เยือกเย็นอ่อนโยน และมีสติปัญญารู้เท่าทันว่องไว นี่เป็นการฝึกจิตของเรา เพื่อป้องกันไม่ให้ความโกรธเกิด
เมื่อเราฝึกจิตให้มีสติ สมาธิ ปัญญา ให้มีขันติความอดทน มีเมตตา ความรัก ความปรารถนาดี มีความกรุณาสงสารคน มีมุทิตา พลอยยินดีเมื่อคนอื่นได้ดี มีอุเบกขารู้จักวางเฉยในอารมณ์ที่ควรวางเฉย
ทหารพร้อมรบ
เมื่อฝึกจิตอยู่เสมอ แล้วจิตของเราก็จะมีคุณธรรมขึ้นมีธรรมะ ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับความโกรธ เหมือนกับกองทัพในขณะที่ยังไม่มีข้าศึกสงครามกองทัพก็ต้องเตรียมพร้อม เตรียมกำลังทหาร เตรียมกำลังอาวุธ เตรียมเสบียงเตรียมฝึกฝนอบรมให้ทหารมีความชำนาญในการรบ หากว่ามีข้าศึกศัตรูมาเมื่อไรก็รบชนะเมื่อนั้น แต่ถ้าหากว่าเวลายังไม่มีข้าศึกศัตรู ไม่มีสงครามก็มัวเมาประมาทอยู่ไม่ได้เตรียมพร้อม ไม่เตรียมกำลังทหาร ไม่เตรียมกำลังอาวุธ ไม่ได้ฝึกฝนอบรมในยุทธวิธีในการรบไม่มีเสบียงอาหารที่จะสนับสนุน เวลามีข้าศึกศัตรูมาก็สู้เขาไม่ได้เพราะว่าไม่ได้ เตรียมพร้อมหรือเหมือนกับนักมวยที่ชกชิงแชมป์เปี้ยน
ก่อนที่เขาจะขึ้นชกนั้น จะต้องมีการฝึกซ้อมกันอย่างหนักฝึกซ้อมให้มีพลังเข้มแข็ง ให้มีความชำนิชำนาญ ว่องไวให้เก่งกล้าสามารถทุกอย่าง เวลาขึ้นชกจะได้สู้คู่ต่อสู้ได้ แต่ถ้าหากว่านักชกคนใด ไม่ได้ฝึกซ้อมเลย ไม่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเลย ขึ้นชกก็แพ้เขา ข้อนี้ฉันใด
จิตใจของเราถ้าไม่มีการฝึกอบรม ไม่ได้สร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นที่ใจเลยเวลาอารมณ์ที่ไม่ดีมากระทบ เขาเรียกว่า อนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนามากระทบแล้วก็เกิดความทุกข์ เกิดความโกรธขึ้นมาทันทีเลย
สร้างคุณธรรมในจิตใจ
เพราะฉะนั้น จึงต้องฝึกอบรมจิตสร้างคุณธรรม สร้างธรรมะให้เกิดขึ้นมาก ๆ ในขณะที่อารมณ์มากระทบ อารมณ์ที่ไม่ดีมากระทบเขาเรียกว่า อนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่ดีนั้นเป็นเหยื่อ เป็นเชื้อของไฟ คือโทสะ เกิดความไม่ชอบ เกิดความโกรธ อารมณ์มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจ
โดยส่วนมากกระทบทางตา ทางหู กับทางใจ อนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา
อันดับแรก จะต้องมีสติรู้ทัน รู้ทันว่าอารมณ์อะไรเกิดขึ้นอารมณ์ดีหรือไม่ดี รู้ทันแล้วใช้สติปัญญาตัดสินว่าอารมณ์อย่างนี้ควรที่จะเก็บมาไว้ในใจของเราหรือไม่ อารมณ์ที่ไม่ดี ก็ควรละควรวาง เพราะทำให้ใจเป็นทุกข์
เมื่อมี สติปัญญารู้เท่าทันแล้วก็ใช้ขันติความอดทนหรือทมะความข่มใจ หรือขันติความอดทนอดกลั้น ไม่แสดงอาการออกมาทางกาย ทางวาจา จากนั้นก็ใช้เมตตา แผ่ความรัก ความปรารถนาดีไปให้แก่ตนเอง ให้แก่บุคคลอื่น ถ้าหากว่าเรารู้เท่าทันไว้แล้ว เราจะเอาชนะความโกรธได้ ถ้าหากว่าเรารู้ไม่ทันความโกรธก็จะเกิดขึ้น แต่เมื่อรู้ทีหลังก็ค่อย ๆ ระงับไม่ให้ลุกลามต่อไป ความโกรธหรือโทสะนั้นเกิดมาเพราะความโง่ความหลง ความหลงรัก หลงชัง หลงโกรธในอารมณ์ที่ตนชอบและไม่ชอบ
ในขณะทีเรามีสติรู้ทัน ตัวโมหะเกิดไม่ได้ เมื่อโมหะเกิดไม่ได้ โทสะก็เกิดไม่ได้ มีสติรู้ทัน เมื่อไรตัวโทสะไม่เกิด แต่ถ้าหากว่าเผลอลืมตัว โมหะเกิด โทสะเกิด เมื่อเรามีสติปัญญารู้ความเป็นจริงแล้ว พยายามละอารมณ์นั้น พยามยามใช้ขันติความอดทน แล้วแผ่เมตตา วิธีแผ่เมตตาตามหลักของการเจริญกรรมฐานด้วยการแผ่เมตตา หรือเจริญพรหมวิหารธรรม
แผ่เมตตาชนะทุกข์
สมมุติว่าเราจะแผ่เมตตา ซึ่งเป็นธรรมะที่ชนะความโกรธท่านให้แผ่เมตตา ๔ ระยะด้วยกันเมตตาในที่นี้แปลว่า ความรักความปรารถนาดี ความรักนั้นมี ๓ ประเภท
๑. รักด้วยเมตตา เป็นความรักที่บริสุทธิ์ เช่น พระพุทธเจ้า รักพุทธบริษัท หรือพ่อแม่รักลูก หรือครูบาอาจารย์ รักศิษย์ รักด้วยเมตตา พระพุทธเจ้าสอนให้เรามีเมตตามาก ๆ
๒. รักด้วยการนับถือ เช่นลูก นับถือพ่อแม่ นับถือบุญคุณศิษย์นับถือครูบาอาจารย์ หรือเรานับถือพระพุทธเจ้า พระสาวกหรือเรานับถือคนที่ ควรนับถือเชิดชูบูชา เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถหรือพระสงฆ์ที่เรานับถือกราบไหว้บูชา ความดีของท่าน อย่างนี้เรียกว่ารักด้วยการนับถือไม่มีโทษ ไม่มีภัย ให้คุณให้ประโยชน์
๓. ตัณหา สิเนหัง รักด้วยความเสน่ห์หา รักด้วยกิเลสรักด้วยราคะเป็นความรัก ระหว่างเพศตรงข้าม อย่างนี้เป็นความรักด้วยกิเลสตัณหาด้วยอุปาทาน มีทุกข์มากกว่ามีสุข เพราะรักด้วยความหลงด้วยโมหะ รักด้วยความผูกพัน
ในขณะที่รักก็คิดถึง ในขณะที่พลัดพรากจากไปก็เสียใจคือ ความเศร้าโศกเสียใจ เร่าร้อน เพราะเป็นไฟรักประเภทนี้เป็นไฟ เขาเรียกว่า ราคัคคิ ไฟคือความรัก ความกำหนัดยินดี เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ
สำหรับรักด้วยเมตตานี้ เป็นความรักที่บริสุทธิ์ พระพุทธเจ้าสอนให้เรา สร้างเมตตา วิธีสร้างเมตตานั้น
อันดับแรกให้แผ่เมตตาให้แก่ตนเอง ทีเราแผ่เมตตากันว่า
อะหัง สุขิโต โหมิ ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุขกายสุขใจ
อะหัง อะเวโร โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้มีเวรกับผู้ใด
อะหัง อัพพยาปัชโฌ โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้เบียดเบียนกับผู้ใด
อะหัง อะนีโฆ โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้มีความทุกข์กาย ทุกข์ใจ
สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุขกายสุขใจ
รักษาตนให้พ้นจากทุกภัยทั้งสิ้นเถิด
ในการแผ่เมตตาให้แก่ตนเองอย่างนี้ เป็นการปลูกเมตตาสร้างเมตตาให้เกิดขึ้นแก่ตนเองแล้ว จึงแผ่เมตตาให้แก่คนอื่น เหมือนกับเราจะให้เงินแก่คนอื่นถ้าเราไม่มีเงินแล้ว เราก็ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนให้เขา หรือเหมือนกับเราจะให้วิชาความรู้แก่คนอื่น เมื่อเราไม่มีความรู้แล้วเราจะเอาความรู้ที่ไหนไปให้เขา
สมมุติว่า อาตมาพูดธรรมะ ให้ท่านทั้งหลายฟังนี้ ถ้าหากว่า อาตมาไม่มีธรรมะ ไม่เคยศึกษาอบรมไม่เคยปฏิบัติมาไม่มีความรู้ในเรื่องของธรรมะ อาตมาก็ไม่สามารถจะให้ธรรมะแก่ท่านทั้งหลายได้ แต่ที่สามารถให้ธรรมะแก่ท่านทั้งหลายได้นี้ เพราะอาตมามีความรู้ เคยศึกษาเคยอบรมมาจึงสามารถให้ความรู้แก่ท่านได้ ข้อนี้ฉันใด การที่เราจะแผ่เมตตาให้แก่คนอื่นนั้น ตนเองจะต้องแผ่เมตตาให้แก่ตนเองก่อน เหมือนกับเราหว่านกล้า เราทำข้าวให้เป็นกล้า เราปลูกกล้าเมื่อมีกล้า แล้วเราก็เอากล้านี้ไปขยายปลูกเป็นต้นข้าว ไปดำกล้าเกิดเป็นต้นข้าว หรือเราจะปลูกต้นไม้ รากกล้าไม้เพาะเมล็ดไม้นั้นให้เกิดมาเป็น ต้นเล็ก ๆ ก่อนเขาเรียกว่าเป็นกล้าไม้แล้วก็ไปขยายเป็นต้นไม้ต่อไป
ข้อนี้ฉันใด เราต้องปลูกเมตตาให้เกิดขึ้นที่ตัวเราเองก่อน อันดับที่ ๑
อันดับที่ ๒ เมตตาให้แก่คนที่เรารัก เช่น บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ ลูก พี่น้อง หรือสามี ภรรยา เพื่อนที่เรารักแผ่เมตตาให้แก่คนที่ เรารัก เมตตาก็จะค่อย ๆ เกิดขึ้นขยายวงกว้างไปให้แก่คนที่เรารัก หรือสัตว์ที่เรารัก เราเลี้ยงสัตว์ ๆ ที่เรารักก็แผ่เมตตาไปให้สัตว์ที่เรารัก
อันดับที่ ๓ แผ่เมตตาให้แก่คนที่เราไม่รักไม่ชัง หรือสัตว์ที่เราไม่รักไม่ชังทั่วไป คนที่เราไม่รู้จัก หรือแม้แต่รู้จักแต่ว่าเราไม่ได้ผูกพัน อะไรมากนัก แผ่เมตตาให้เขามีความสุขกายสุขใจไม่มีเวร ไม่มีภัยไม่เบียดเบียนกันให้เขาปราศจากทุกข์กาย ทุกข์ใจแผ่เมตตาให้สัตว์ทั้ว ๆ ไปหรือคนที่เราไม่รัก ไม่ชังแม้แต่คนเราที่ไม่รู้จักหรือสัตว์ที่เราไม่รู้จักเมตตาก็จะค่อย ๆ เกิดวงกว้างขึ้น
อันดับที่ ๔ แผ่เมตตาให้แก่ศัตรูของเรา คนที่เราไม่ชอบหรือคนที่เขาไม่ชอบเรา แผ่เมตตาให้เขามีความสุขกายสุขใจ ไม่เบียดเบียนกันให้รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัย ไม่คิดโกรธอาฆาตมาดร้ายต่อคนที่เป็นศัตรูของเรา ที่เราไม่ชอบเขา หรือเขาไม่ชอบเรา นี่ก็แผ่เมตตา ๔ ระดับ ๔ ขั้น เริ่มจากตนเองไปจนถึงคนที่เป็นศัตรูของเรา ทำไมไม่ให้แผ่เมตตา ไปให้คนที่เป็นศัตรูของเราทีเดียว โดยไม่เริ่มต้นที่ตนเองก่อน
เช่น คนที่เราโกรธอยู่เราไม่พอใจ ต้องการจะให้เลิกโกรธกัน เราตั้งใจแล้วเราแผ่เมตตาให้คนที่เราโกรธที่เดียว
ท่านกล่าวว่า ถ้าหากว่าเราแผ่เมตตาให้แก่คนที่เราโกรธที่เดียวเมตตาจะไม่เกิดเพราะว่าเมตตามันยังกำลังอ่อนอยู่ เมื่อแผ่เมตตาให้แก่คนที่เราโกรธ เมตตาจะไม่เกิด แต่ความโกรธจะเกิดเพราะเมตตากำลังยังอ่อนอยู่ ส่วนตัวความโกรธนั้นมันมีกำลังมากความโกรธก็จะเกิด เมตตาก็จะไม่เกิด เพราะฉะนั้น วิธีของการเจริญเมตตา ตามหลักของการเจริญภาวนาด้วยการแผ่เมตตาก็คือให้แผ่เมตตาให้กับตนเอง เป็นอันดับ ๑
อันดับ ๒ ให้แผ่เมตตาให้แก่คนที่เรารัก
อันดับ ๓ แผ่เมตตาให้แก่คนที่เราไม่รักไม่ชัง
อันดับ ๔ ผ่เมตตาให้แก่คนที่เราชังที่เป็นศัตรูของเรา ที่เราไม่ชอบเขา หรือที่เขาไม่ชอบเรา อย่างนี้เป็นการสร้างเมตตา ผู้สร้างเมตตามาก ๆ จะลดความโกรธลงได้มาก คนนั้นจะมี จิตใจสงบเยือกเย็นพระพุทธองค์มีเมตตาสูงใครมาทำร้ายพระองค์ไม่ได้
ครั้งหนึ่งพระองค์เสด็จออกบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์พระเจ้าอชาตศัตรูไปหลงเชื่อพระเทวะทัต จึงได้ปล่อยช้างนาฬาคีรีก่อนที่จะปล่อยนั้น เอาเหล้าให้กินให้เมา พระพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาตก็ปล่อยช้างจะให้ไปเหยียบพระพุทธเจ้า ไปแทงพระพุทธเจ้า ช้างก็วิ่งไปหาพระพุทธเจ้า พระอานนท์จะวิ่งเข้าไปขัดขวางพระพุทธเจ้าก็ห้ามไว้ เมื่อเข้ามาใกล้ ๆ พระพุทธเจ้าก็ทรงแผ่เมตตา พอแผ่เมตตาแล้ว อำนาจเมตตาของพระพุทธเจ้านั้นมีกำลังมาก พอช้างนาฬาคีรี เข้ามาใกล้ ๆ แล้วก็หมอบลง ยกงวงแสดงความเคารพ หมดพยศร้าย พระพุทธองค์แผ่เมตตาจน ผู้ที่คิดทำร้ายพระองค์ทำร้ายไม่ได้ อำนาจของเมตตานี้มีหลาย
ประการบางคนก็แผ่เมตตามาก ๆ ก็นอนเป็นสุขไม่ฝันร้ายเป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย นี่เป็นการสร้างธรรมะไว้ ชนะความโกรธเพราะความโกรธเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์
ฆ่าความโกรธมีสุข
เคยมีพราหมณ์ผู้หนึ่งไปด่าว่าพระพุทธเจ้ามากมาย พระพุทธเจ้าไม่โกรธ พราหมณ์นั้นสงสัยก็จึงได้เข้าไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้า ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญทำไมเวลาข้าพระองค์ด่าว่า พระองค์จึงไม่โกรธพระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ สมมุติว่า พราหมณ์ เอาของมาถวายเราตถาคต แต่เราตถาคตไม่รับของนั้นจะเป็นของใคร
พราหมณ์นั้นก็กราบทูลว่า ก็เป็นของข้าพเจ้าองค์เอง พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า "ดูก่อนพราหมณ์" ข้อนี้ฉันใด พราหมณ์มาด่า ว่าเราตถาคต แต่เราตถาคตไม่รับ คำด่าคำว่านั้นก็เป็นของพราหมณ์ เอง พระพุทธเจ้าตอบแบบชนิดศอกกลับพราหมณ์ก็รู้สึก