โรงเรียนนิติบุคคล
การปฏิรูปการศึกษาเป็นการปรับเปลี่ยนทางการศึกษาของไทย เพื่อให้เราได้คนไทยที่มีคุณภาพสูง ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่สูงขึ้นกว่าเดิม โดยเราเห็นตรงกันว่า คนที่มีคุณภาพ คือ คนที่มีความดี เป็นคนเก่งและมีความสุข ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินงานของสถานศึกษาเป็นไปตามแนวทางและวัตถุประสงค์ดังกล่าว จึงมีการบัญญัติให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคลขึ้นในกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 มาตรา 35 นับว่าเป็นการปฏิรูปการศึกษาครั้งสำคัญของประเทศไทยซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มาตรา 39 ที่มุ่งหวังยกระดับการศึกษาของชาติให้ได้มาตรฐานทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยได้บัญญัติให้มีการกระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษาทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ บุคลากรและงานบริหารทั่วไปไปยังสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรง ทำให้การบริหารงานของสถานศึกษามีความเป็นอิสระ คล่องตัวและมีความเข้มแข็งในการบริหารจัดการ ตามหลักการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
ความหมายของนิติบุคคล
นิติบุคคลเป็นบุคคลที่กฎหมายสมมุติขึ้นเมื่อใช้สิทธิหน้าที่และสามารถทำกิจการอันเป็นการก่อนิติสัมพันธ์กับบุคคลอื่นได้ภายในขอบวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
นิติบุคคลแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1. นิติบุคคลในกฎหมายเอกชนหมายถึงนิติบุคคลที่เกิดขึ้นตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยจะเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มบุคคลธรรมดารวมกันทำกิจกรรมอันใดอันหนึ่งมีทรัพย์สินสามารถทำนิติกรรมต่างๆ มีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายและดำเนินกิจการภายใต้นิติบุคคลเพียงคนเดียว เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด สมาคม มูลนิธิ เป็นต้น
2. นิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนหมายถึง นิติบุคคลที่เกิดขึ้นตามกฎหมายมหาชนกล่าวคือพระราชบัญญัติหรือกฎหมายลำดับรองที่อาศัยอำนาจจากพระราชบัญญัติกำหนดให้จัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะ นิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนจึงดำเนินกิจกรรมที่เป็นบริการสาธารณะและมีการใช้อำนาจมหาชน เช่น กระทรวง ทบวง กรม เทศบาล วัด เป็นต้น
ดังนั้นสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคลจึงหมายถึงโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่กฎหมายยอมรับให้สามารถให้กระทำกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วยตนเองภายในขอบวัตถุประสงค์มีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายอื่นซึ่งกำหนดสิทธิและหน้าที่ของสถานศึกษาไว้เป็นการเฉพาะ
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่กระทรวงศึกษาธิการโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอาศัยอำนาจตามมาตรา 8 ตามพระราชบัญญัติระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการบริหารจัดการและขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อเป็นกรอบขอบเขตในการปฏิบัติหน้าที่และวางหลักเกณฑ์ในการดำเนินการต่างๆ ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นนิติบุคคล
อำนาจหน้าที่ของสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคลตามหลักกฎหมายมหาชน
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 มีเจตนารมณ์กำหนดให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคลก็เพื่อให้สถานศึกษามีความเป็นอิสระ คล่องตัวสามารถบริหารจัดการศึกษาในสถานศึกษาได้สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพตามหลักการกระจายอำนาจ การบริหารที่ใช้โรงเรียนเป็นฐาน (SBM) โดยมุ่งหวังให้การบริหารจัดการศึกษาเบ็ดเสร็จที่สถานศึกษา แต่ว่าอำนาจหน้าที่ความเป็นอิสระในการบริหารงานจะมีมากหรือน้อยเพียงใดย่อมเป็นไปตามลักษณะรูปแบบ หลักการหรือวิธีการจัดระเบียบองค์กรบริหารของรัฐตามที่กฎหมายกำหนด เช่น การปฎิบัติตามนโยบายจากส่วนกลาง การจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้นการเป็นนิติบุคคลของสถานศึกษาจึงมิใช่ว่าสถานศึกษาจะใช้อำนาจหน้าที่ได้เองโดยอิสระปราศจากขอบเขตของกฎหมาย
วัตถุประสงค์ของสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคล
1. เพื่อให้สถานศึกษาจัดการศึกษาอย่างเป็นอิสระคล่องตัวมีประสิทธิภาพตามหลักการการกระจายอำนาจการบริหารที่ให้โรงเรียนเป็นฐาน
2. เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
สิทธิและหน้าที่ของสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคล
สถานศึกษาจะดำเนินการต่างๆ ได้ต้องอยู่ในกรอบอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายและวัตถุประสงค์การจัดตั้งสถานศึกษาเท่านั้นซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ให้เป็นหน้าที่ของส่วนราชการนั้นๆ โดยได้กำหนดให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารกิจการของสถานศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบข้อบังคับของทางราชการรวมทั้งนโยบายและวัตถุประสงค์ของสถานศึกษา
อำนาจหน้าที่ของสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคลและของผู้อำนวยการสถานศึกษาตามกฎหมายการศึกษา
อำนาจหน้าที่ของสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคลและของผู้อำนวยการสถานศึกษาตามกฎหมายการศึกษา ตามการบริหารงานในโรงเรียนแบ่งได้ 4 งาน คือ
1. ด้านวิชาการ
2. งบประมาณ
3. การบริหารงานบุคคล
4. การบริหารงานทั่วไป
อำนาจหน้าที่ของสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคลตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
อำนาจหน้าที่ของสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคลแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ ดังนี้
1. สิทธิและหน้าที่ของสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคลโดยทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายอาญา เช่น สามารถทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ เช่น การซื้อขาย การแลกเปลี่ยนทรัพย์สิน การจัดหารายได้ การเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ การถือครองกรรมสิทธิ์ การเป็นโจทย์หรือจำเลย การรับผิดชอบทางแพ่งและรับผิดชอบทางอาญา
2. อำนาจหน้าที่ของสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคลตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น สถานศึกษาต้องจัดการศึกษาและกระทำกิจกรรมต่างๆ ของสถานศึกษาตามหลักการให้บริการสาธารณะของรัฐ เช่น ความเสมอภาค ความต่อเนื่องและการปรับปรุงการเปลี่ยนแปลงบริการสาธารณะ นอกจากนี้ยังต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ได้บัญญัติใช้เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ซึ่งสถานศึกษาจะต้องคำนึงถึงและระมัดระวังมิให้มีการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพเป็นอันขาด
อำนาจหน้าที่ของสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคลตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายให้ปฏิบัติราชการแทน
หากจะพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการสถานศึกษาที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลแล้วจะเห็นได้ว่าผู้อำนวยการสถานศึกษาจะมีฐานะเป็นผู้แทนของนิติบุคคลแต่ก็ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการการศึกษาอย่างกว้างขวางเช่นเดียวกับหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรม จึงเป็นผลให้ผู้บริหารสถานศึกษายังไม่อาจบริหารจัดการสถานศึกษาให้มีความอิสระ คล่องตัวและมีประสิทธิภาพได้อย่างแท้จริง ดังนั้นหากจะให้สถานศึกษาบริหารจัดการได้เองอย่างอิสระคล่องตัวในเรื่องใด ก็จำเป็นต้องจัดให้มีการกระจายและมอบอำนาจในเรื่องนั้นๆ
แนวทางการส่งเสริมการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นนิติบุคคล
การบริหารจัดการสถานศึกษาที่มีหน้าที่ให้บริการการศึกษาแก่ประชาชนและเป็นสถานศึกษาของรัฐต้องอาศัยหลัก “ธรรมาภิบาล” มาบูรณาการในการบริหารและจัดการศึกษา เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับโรงเรียนในฐานะเป็นนิติบุคคล หลักการดังกล่าวได้แก่ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบและหลักการคุ้มค่า หลักธรรมาภิบาลอาจ
บูรณาการเข้ากับการดำเนินงานด้านต่างๆ ของสถานศึกษา โดยมีเป้าหมายในการจัดการศึกษาคือ ทำให้ผู้เรียนเป็นคนดี คนเก่งและมีความสุข
ข้อพึงควรระวังของสถานศึกษาที่มีสถานภาพเป็นนิติบุคคล
1.ผู้อำนวยการสถานศึกษาในฐานะที่เป็นตัวแทนนิติบุคคลอาจถูกฟ้องเป็นจำเลยอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบทางราชการหรือต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะของโจทย์อันเนื่องมาจากการกระทำของบุคคลอื่นที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถานศึกษา
2. ผู้อำนวยการสถานศึกษาในฐานะที่เป็นตัวแทนนิติบุคคลจะกระทำนิติกรรมสัญญาใด ๆ ได้ก็ต่อเมื่อกฎหมาย ระเบียบ หรือคำสั่งที่ผู้บังคับบัญชามอบอำนาจให้กระทำได้ การกระทำนิติกรรมสัญญาใด ๆ ที่ไม่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือคำสั่งที่ผู้บังคับบัญชามอบอำนาจให้กระทำ หรือกระทำนิติกรรมสัญญาเกินวงเงินงบประมาณที่ได้รับมอบอำนาจ ผู้อำนวยการสถานศึกษาต้องรับผิดชอบทางกฎหมายด้วยตนเอง
3. ผู้อำนวยการสถานศึกษาอาจถูกฟ้องให้รับผิดในฐานะละเมิดได้ ถ้าการบริหารและการจัดการศึกษาของผู้อำนวยการสถานศึกษานั้นไปขัดแย้งกับสิทธิของบุคคลอื่น หรือบริหารงานนอกขอบอำนาจหน้าที่ของสถานศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษาอาจรับผิดทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือถูกดำเนินการทางวินัย หรืออาจได้รับโทษทางอาญาก็ได้
4. การบริหารทรัพย์สินของสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติมาตรา 59 ผู้อำนวยการสถานศึกษาต้องมีความรอบรู้และระมัดระวังในการทำนิติกรรมสัญญาของทรัพย์สินแต่ละประเภท และวางแผนบริหารทรัพย์สินของสถานศึกษาให้เป็นไปตามระเบียบ และกฎหมายที่ทางราชการกำหนดด้วยความรัดกุมรอบคอบ มิฉะนั้นอาจถูกฟ้องร้องได้
5. ทรัพย์สินทางปัญญา หรือสื่อ สิ่งประดิษฐ์ ที่เป็นนวัตกรรม ซึ่งสถานศึกษาประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา ถ้าไม่มีข้อยกเว้นกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธ์แล้ว สถานศึกษาสามารถจดทะเบียนสิทธิบัตรให้เป็นทรัพย์สินของสถานศึกษาได้
6. ในการปฏิบัติงานหากมีปัญหาด้านกฎหมายควรปรึกษานิติกรประจำเขตพื้นที่การศึกษาหรือหน่วยงานอื่นและอัยการจังหวัด เป็นต้น
7. ผู้อำนวยการสถานศึกษาพึงให้ความสำคัญและเคร่งครัดต่อการจัดระบบการเงินการบัญชีการพัสดุ ภายในสถานศึกษาให้อยู่บนพื้นฐานของหลักความถูกต้อง โปร่งใสและตรวจสอบได้เพราะในปัจจุบันมีองค์กรอิสระ หรือหน่วยงานตรวจสอบจากภายนอก ซึ่งกฎหมายให้อำนาจไว้ เช่นคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งองค์กรเหล่านี้เมื่อตรวจพบการกระทำความผิดแล้ว สามารถระบุโทษให้ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจลงโทษได้ โดยไม่มีการสอบสวน เหมือนกับกระบวนการดำเนินการทางวินัยข้าราชการ
8. สถานศึกษาควรรวบรวมกฎหมายการศึกษาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและการจัดการศึกษาไว้ในสถานศึกษา เพื่อให้สะดวกแก่การศึกษาค้นคว้า และนำมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว เช่น พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการพระราชบัญญัติระเบียนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับพระราชบัญญัติ ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พระราชบัญญัติความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เป็นต้น
9. ผู้อำนวยการสถานศึกษาควรพัฒนาตนเองและทีมงานให้มีความรู้พื้นฐานด้านกฎหมายการศึกษาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเป็นนิติบุคคลของสถานศึกษาเป็นเรื่องที่มีข้อดีเพิ่มขึ้นบ้างในบางเรื่องแล้วก็อาจมีข้อเสียที่สถานศึกษาต้องพึงระวังเช่นกัน ข้อดีเช่น ความมีอิสระ คล่องตัว มีความเข้มแข็งในการบริหารงาน การทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ ด้วยตนเอง การมีสิทธิในทรัพย์สิน ส่วนข้อพึงระวังก็คือ สถานศึกษาอาจถูกฟ้องร้องเป็นจำเลยอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติของทางราชการ และการบริหารงานของสถานศึกษานั้นจะต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมายที่กำหนดไว้เท่านั้น
ดังนั้นผู้บริหารสถานศึกษาควรดำเนินการดังนี้
1. รวบรวมและจัดระบบข้อมูลสารสนเทศให้เป็นปัจจุบัน การบริหารแนวใหม่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบริหารและตัดสินใจโดยอาศัยข้อมูลมากกว่าสามัญสำนึก ดังนั้น ผู้บริหารจึงจำเป็นจะต้องรวบรวม จัดระบบและใช้ข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารและตัดสินใจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
2.วางแผนและดำเนินงานตามแผนที่วางไว้การวางแผนมีส่วนช่วยให้ผู้บริหารมีทิศทางในการบริหารตามลำดับความสำคัญเร่งด่วนของปัญหาและนโยบายการบริหารดังนั้นผู้บริหารจึงจำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนและสามารถดำเนินการบริหารให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้รวมทั้งการดำเนินการกำกับ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผน เพื่อให้การบริหารงานบรรลุผลตามจุดมุ่งหมายที่ได้กำหนดไว้อย่างเต็มที่
3. ศึกษากฎหมาย กฎ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ในการบริหารสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคลผู้บริหารมีอำนาจบริหารอย่างอิสระ ขณะเดียวกันก็รับผิดชอบต่อผลการตัดสินใจของตนอย่างเต็มที่เช่นกัน ดังนั้น เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดเชิงกฎหมายและการตัดสินใจของตนผู้บริหารสถานศึกษาจำเป็นต้องศึกษา และทำความเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง รวมทั้งควรมีที่ปรึกษาทางกำหมายคอยให้คำปรึกษาและเสนอแนะก่อนการตัดสินใจที่ตนเองขาดความมั่นใจ
4. การบริหารและการตัดสินใจโดยองค์คณะบุคคล การศึกษาเป็นบริการกิจการสาธารณะ ที่มีผู้เกี่ยวข้องและได้รับผลจากการบริการจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้การบริหารและการตัดสินใจมีความถูกต้องและก่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้รับบริการมากที่สุด ผู้บริหารควรดำเนินการโดยใช้องค์คณะบุคคลเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาตัดสินใจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
5. จัดระบบบัญชีให้ครบถ้วนถูกต้อง แม้ผู้บริหารจะมีอำนาจอิสระในการบริหารและตัดสินใจก็ตาม แต่อำนาจอิสระนั้นมิใช่เป็นไปโดยปราศจากการควบคุมตรวจสอบของทางราชการโดยเฉพาะด้านการเงินซึ่งส่วนใหญ่มาจากงบประมาณแผ่นดิน จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบการตรวจสอบการใช้เงินของสถานศึกษาทั้งในช่วงก่อนใช้ ระหว่างใช้ และภายหลังการใช้ ดังนั้นผู้บริหารจึงจำเป็นต้องจัดทำระบบบัญชีให้ครบถ้วน ความถูกต้องตามระบบและระเบียบของทางราชการเพื่อการบริหารของตนเป็นไปด้วยความโปร่งใส และสุจริต
หนังสืออ้างอิง
กระทรวงศึกษาธิการ. (2546). คู่มือการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นนิติบุคคล.
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์.