น้ำส้มสายชู
น้ำส้มสายชูเป็นของที่อยู่คู่ครัวไทยมานานนับพันปีแล้ว เพราะที่ใดที่มีแอลกอฮอล์หรือน้ำตาลและน้ำอยู่ก็จะมีแนวโน้มที่จะมีน้ำส้มสายชูเกิดขึ้นได้ แม่บ้านไทยโดยทั่วไปมักจะคุ้นเคยกับน้ำส้มสายชูกลั่น 5% ที่ลักษณะเป็นสีใสๆบรรจุขวดแก้ว ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ซึ่งมักจะหมักมาจากเอทิลแอลกอฮอล์ น้ำส้มสายชูเป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมการผลิตไวน์หรือสุรา
เนื่องจากเมื่อนำสุราหรือไวน์ที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์พอเหมาะมาตั้งทิ้งไว้ในสภาวะที่มีออกซิเจนสูง แอลกอฮอล์ก็จจะถูกเปลี่ยนเป็นกรดอะซิติก (Acetic Acid) และน้ำ ซึ่งในปัจจุบันนักวิจัยไทยกำลังจับจ้องให้ความสนใจกับเทคโนโลยีนี้ในเชิงอุตสาหกรรมอยู่ เนื่องจากเป็นขั้นตอนการผลิตที่ได้ผลิตภัณฑ์หลายอย่าง
ตั้งแต่แอลกอฮอล์ (ไวน์หรือสุรา) น้ำส้มสายชูหรือกรดอะซิติก รวมถึงตัวยีสต์โปรตีนสูงที่ใช้หมัก ซึ่งสามารพนำมาทำแห้งและขายให้โรงงานอาหารสัตว์ได้อีกทาหนึ่ง เรียกได้ว่าใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าและขายเป็นผลิตภัณฑ์ได้ทุกอย่างเลยทีเดียว
อันที่จริงน้ำส้มสายชูในโลกมีหลากหลายชนิด ความแตกต่างขึ้นกับการเลือกเอาวัตถุดิบอะไรมาใช้ ซึ่งน้ำส้มสายชูที่ได้ก็จะมีกลิ่นหอม รสชาติและมักจะมีสีของวัตถุดิบนั้นติดตัวมาด้วยเสมอ (น้ำส้มสายชูจาไวน์แดงก็มักจะมีรงควัตถุที่ให้สีแดงอมม่วงติดมาด้วย)
โดยน้ำส้มชนิดที่ดีที่สุดและนิยมใช้มากที่สุดทำมาจากองุ่นหรือไวน์ (น้ำส้มสายชูจากไวน์ขาวหรือไวน์แดง) ซึ่งจะให้กลิ่นที่หอมและเข้ากับการปรุงอาหารประเภทต่างๆได้มากกว่า น้ำส้มสายชูที่ทำจากวัตถุดิบอื่น ๆ ก็เช่น พวกที่ทำจากแอปเปิ้ล ข้าวมอลต์ ข้าวบาร์เล่ย์ ข้าวโอ๊ต หรือแม้กระทั่งวัตถุดิบที่ไทยมีมากอย่างเช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว และมันสำปะหลัง ก็สามารถนำมาผลิตเป็นน้ำส้มสายชูได้