สมัยนี้การจะมีบ้านสักหลังต้องใช้ทุนสูงมาก “บ้านดิน” จึงกลายเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่มีเงินทุนไม่มาก แต่มีกำลังพอที่จะสร้างบ้านด้วยตัวเอง
พิชิต ชูมณี หรือ พี่เอ นวัตกรสังคมจากโครงการการศึกษาทุนทางสังคมเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยสถาบันพระปกเกล้า ภายใต้การสนับสนุนของ กฟผ. เป็นอีกหนึ่งคนที่ลงมือลงแรงปลูกบ้านดินขึ้นเอง และยังเปิดบ้านที่ ต.ปกาสัย อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ เป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสอนและถ่ายทอดวิธีการทำบ้านดินให้กับผู้สนใจอีกด้วย
ขั้นตอนที่ยากและใช้เวลานานที่สุดในการทำบ้านดิน คือการเตรียมอิฐ เริ่มจากการผสมดินกับใยปาล์มซึ่งเป็นเส้นใยที่ยาวและเหนียว ช่วยให้เกาะตัว ยึดประสานกับดินได้ดีกว่าแกลบ และยังทำให้บ้านคงทนกว่าด้วย
แต่ข้อเสียของการใช้ใยปาล์มก็คือจะไม่สามารถใช้เท้าย่ำได้ เพราะใยปาล์มจะมีความคม ถ้าเหยียบลงไปจะทำให้บาดเท้า สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วย ซึ่งจะทำให้ผลิตได้ในปริมาณที่มากกว่า และยังช่วยให้อิฐแข็งแรงคงทนมากกว่าด้วย
หลังผสมดินกับใยปาล์มเสร็จเรียบร้อย ให้เอามาเทลงในบล็อก ขนาด 20x40x7.5 ซม. อิฐที่ได้แต่ละก้อนจะมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 6 กิโลกรัม นำอิฐมาตากแดด 7 วันก็นำไปใช้งานได้ ส่วนขั้นตอนของการทำฐานรากให้ใช้ปูนกับคอนกรีตหล่อฐาน
การก่ออิฐดิน จะใช้อิฐประมาณ 40 ก้อน ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร เสร็จแล้วค่อยทำการเคลือบฉาบสี โดยการนำเอาดินมาบดให้ละเอียด (ถ้าต้องการสีแดงก็ให้ใช้ดินสีแดง ถ้าต้องการสีขาวก็ให้ใช้ดินขาว) มาผสมกับกาวลาเท็กซ์หรือแป้งมันสำปะหลัง
การเคลือบสีตามแนวธรรมชาติแบบนี้ จะทำให้ได้บ้านที่ดูแล้วสวยคลาสสิก ไม่แปลกปลอม กลมกลืนกับธรรมชาติ ดูมีเสน่ห์ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร
ข้อดีของบ้านดินก็คือ ต้นทุนในการก่อสร้างต่ำ แต่มีความแข็งแรง ทนต่อแรง กระแทกได้ดีกว่าบ้านปูน เพราะมีความยืดหยุ่นกว่า โดนค้อนทุบไม่แตกกระจาย โดนฝนก็ไม่เป็นไร ที่สำคัญไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และยังช่วยปรับสภาพอากาศได้อีกด้วย ถ้าอากาศภายนอกร้อน บ้านดินจะทำให้รู้สึกเย็น ถ้าอากาศภายนอกเย็น บ้านดินก็จะทำให้รู้สึกอบอุ่น นอกจากนี้วัตถุดิบยังสามารถหาได้จากธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น สามารถใช้วัสดุทดแทนจากใยปาล์มเป็นหญ้าแฝก หญ้าคา หรือแกลบก็ได้ ช่วยให้ทุกคนได้มีบ้านสวยอยู่ได้ในราคาไม่แพง
ปัญหาของบ้านดินมีน้อยมาก และสามารถแก้ไขได้ไม่ยาก อาทิ หากมือไม่นิ่ง ไปคุ้ยแคะแกะเกาหรือเอาไม้เอาเหล็กไปขีดข่วน เอามีดไปกรีดผนังบ้าน จะก่อให้เกิดรอยถลอก ทำให้น้ำอาจซึมเข้าไปได้ วิธีแก้คือเคลือบทาสีใหม่ ทาพื้นผิวให้เรียบสนิท จนน้ำกลิ้งลงไป ไม่เกาะติดตามรอยแตก แต่ถ้าเจอกรณีที่มีรูเยอะ แก้ไขด้วยการเอาดินผสมใยปาล์มลงไป แล้วเอาสีทาเคลือบลงไปใหม่ ก็จะได้ความ แข็งแรงกลับคืนมา สิ่งที่ควรระวังอีกอย่าง คือฤดูฝนความชื้นเยอะ ถ้าเคลือบบ้านดินไม่ดีพอ อาจเกิดเชื้อราเกาะได้ แก้ไขได้ด้วยการ เอาผ้าเช็ดเชื้อราออก แล้วเคลือบสีใหม่ตรงที่มีราขึ้น
ข้อแนะนำสำหรับวิธีการบำรุงรักษาบ้านดินในพื้นที่ใกล้นาหรือแหล่งเพาะปลูกที่มีหนูและปลวกอาศัยอยู่จำนวนมาก คือต้องดูแลหนูให้ดี หนูนาชอบบ้านดินเพราะอุณหภูมิเหมาะกับการที่หนูจะขุดรูชั้นล่างเพื่อเข้าไปอยู่ วิธีรับมือที่ดีคือ ช่วงตีคานให้อัดยาฆ่าปลวกลงไป และหมั่นตรวจสอบ ถ้าเราอยู่บ้านทุกวันไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าทิ้งบ้านนาน ๆ เป็นเดือน ปลวก หนูและแมงมุม มักจะชอบเข้ามาอยู่ บ้านดินก็เหมือนบ้านทั่วไปที่ต้องการได้รับการดูแลใส่ใจเฉกเช่นเดียวกัน
การก่อสร้างบ้านดินมีราคาต่ำกว่า การก่อสร้างด้วยปูนซีเมนต์ประมาณเกือบ 3 เท่า อย่ช่นรีสอร์ทที่ ต.ปกาสัย ที่กำลังก่อสร้างอยู่ มีขนาดพื้นที่หลังละ 12 ตารางเมตร มีห้องน้ำในตัว ราคาก่อสร้างบ้านดินตกหลังละ 7 หมื่นบาท รวมค่าแรงก่อสร้างแล้ว แต่ถ้าเป็นบ้านปูนซีเมนต์ขนาดเท่ากัน จะต้องเสียค่าก่อสร้างประมาณ 2 แสนบาท
สำหรับบ้านตัวอย่างที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ก่อสร้างมาแล้ว นานกว่า 2 ปี พบว่าแข็งแรง ทนทาน รับน้ำหนักได้ดี ใช้กระเบื้องหนัก 2 ตัน (2,000 กก.) เหล็กใช้ถึง 2 ตัน รวมหลังคาบ้านดินหลังนี้มีน้ำหนักรวม 4 ตัน (4,000 กก.) จะเห็นได้ว่าบ้านดินสามารถรับน้ำหนักได้สบาย
บ้านหลังนี้มีขนาดความกว้าง 25 ตารางเมตร แต่ตัดมุมให้เป็นทรงแปดเหลี่ยม ใช้งบประมาณทั้งหมด 80,000 บาท เป็นค่าหลังคาที่ซื้อเหล็กและกระเบื้อง 60,000 บาท และใช้ต้นทุนในการก่ออิฐทั้งหมด 20,000 บาท
พิชิต กล่าวว่า “ความสำเร็จของการสร้างบ้านดินด้วยตนเอง เคล็ดลับอยู่ที่ความตั้งใจ บ้านดินเหมาะสำหรับพื้นดินที่แข็ง ไม่เหมาะกับพื้นที่มีน้ำเจิ่งนอง พื้นที่น้ำท่วมถึง พื้นที่ดินเหลวหรือดินอ่อน เพราะดินอาจจะพอง น้ำจะซึมได้ ถ้าเราสามารถทำบ้านดินขึ้นเองได้ จะทำให้เราได้คุณค่าชีวิตหลายอย่าง อาทิ เพิ่มพูนความรู้ เกิดความรู้สึกอยากศึกษา ค้นคว้า ทดลองทำในสิ่งใหม่ ช่วยรักษาสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา และถ้าหากเราร่วมด้วยช่วยกันทั้งครอบครัว จะก่อให้เกิดสายใยรักและความผูกพันในครอบครัวที่ดี ทำให้เด็ก ๆ เกิดการเรียนรู้ พอทำไปเกิดปัญหา ก็จะหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ก่อให้เกิดทักษะ ฝึกสมอง และใจที่จดจ่อกับการก่ออิฐทีละก้อนทีละชั้น ทำให้เกิดสมาธิที่ดีต่อตัวเราอีกด้วย”.
ขอบคุณที่มา....เดลินิวส์ออนไลน์