เสด็จเตี่ยองค์บิดาทหารเรือไทย
19 ธันวาคม วันคล้ายวันประสูติ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
องค์บิดาของทหารเรือไทย
หากเอ่ยพระนาม “ อาภากร ” ทหารเรือทุกหมู่เหล่าต่างทราบดีว่าหมายถึง นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ทหารเรือทุกนายเทิดทูนยิ่ง ไม่เพียงแต่บรรดาทหารเรือเท่านั้น แต่ประชาชนโดยทั่วไปก็เคารพสักการะ และยกย่องพระองค์ท่านเสมอเหมือนบิดาของตน ดังจะเห็นได้จากการถวายพระนามท่านว่า “ เสด็จเตี่ย ” ซึ่ง นายพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ นับได้ว่าเป็นเจ้านายที่มีบุคคลให้ความเคารพสักการะ เป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่ามีจำนวน พระอนุสาวรีย์และศาลมากที่สุดพระองค์หนึ่งของไทย โดยในปัจจุบันมีมากกว่า 500 แห่ง ทั่วประเทศ
นายพลเรือเอก นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่28 ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ 1 ใน เจ้าจอมมารดาโหมด ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2423 ในพระบรมมหาราชวัง
เสด็จในกรมฯ เป็นเจ้านายพระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือจากประเทศอังกฤษ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า กิจการทหารเรือไทยเท่าที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ต้องอาศัยชาวต่างชาติเป็นผู้บัญชาการเรือและป้อม อยู่เป็นอันมาก จึงไม่สู้จะมีความมั่นคงเท่าใดนัก
ภายหลังจากที่ เสด็จในกรมฯ ทรงสำเร็จการศึกษา และเข้ารับราชการทหารเรือแล้ว พระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญและโปรดเกล้าฯ พระราชทานน็ พระราชวังเดิม ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ พระองค์ได้แก้ไขปรับปรุงระเบียบการในโรงเรียนนายเรือให้ทันสมัย เพื่อให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือเป็นนายเรือที่มีความรู้ ความสามารถ เทียบได้กับ นายทหารเรือต่างประเทศ
จากการที่พระองค์ทรงเป็นนักยุทธศาสตร์ที่เล็งเห็นการณ์ที่ไกล พระองค์ได้ทูลเกล้าขอพระราชทานที่ดินบริเวณอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานที่ดิน ที่สัตหีบให้แก่กองทัพเรือ เพื่อจัดตั้งเป็นฐานทัพเรือ เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2465
นอกจากพระมหากรุณาธิคุณของ นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ดังที่กล่าวมาแล้ว พระองค์ยังทรงมีพระปรีชาสามารถ และมีคุณูปการยิ่ง แก่กองทัพเรือ อาทิ ทรงเป็น ผู้บังคับการเรือนำเรือหลวงพระร่วงจากประเทศอังกฤษ เข้ามายังกรุงเทพมหานคร นับเป็นครั้งแรกที่นายทหารเรือไทยเดินเรือได้ไกลข้ามทวีป ทรงจัดตั้งกองการบินทหารเรือ ทรงเปลี่ยนสีเรือรบของทหารเรือจากสีขาวเป็นสีหมอกให้เหมือนกับเรือรบต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความกลมกลืนกับลักษณะของสีน้ำทะเลและภูมิประเทศ ซึ่งกองทัพเรือได้นำสีดังกล่าวมาใช้เป็นสีเรือทุกลำของกองทัพเรือตราบจนปัจจุบัน
ในด้านการดนตรี เพลงพระนิพนธ์ ของ เสด็จในกรมฯ ทุกเพลงจะมีเนื้อหาปลุกใจให้มีความรักชาติ กล้าหาญ ยอมสละชีวิตเพื่อชาติ โดยเพลงปลุกใจของพระองค์ นับว่าเป็นเพลงอมตะของทหารเรือ เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงเป็นอมตะอยู่ในจิตใจของทหารเรือตลอดเวลา
นอกจากพระองค์จะทรงเป็นนักยุทธศาสตร์แล้ว ด้านการแพทย์แผนโบราณ พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง ทรงเขียนตำรายาแผนโบราณลงในสมุดข่อยด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองโดยทรงตั้งชื่อตำรายาเล่มนี้ว่า "พระคัมภีร์อติสาระวรรคโบราณะกรรมและปัจจุบันนะกรรม" นอกจากนั้นยังได้ทรงรักษาโรคภัยไข้เจ็บแก่คนทั่วไปโดยไม่เลือกคนจนหรือคนมี และมิได้คิดค่ารักษาหรือค่ายาแต่อย่างใด จนเป็นที่นับถือของบุคคลทั่วไป และถวายพระนามพระองค์ท่านว่า "หมอพร"
นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้กราบบังคมทูลออกจากราชการเพื่อพักผ่อนรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2466 เนื่องจาก พระองค์ทรงมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ และประชวรพระโรคภายในอยู่ด้วย โดยทรงประทับอยู่ ด้านใต้ปากน้ำ เมืองชุมพร ขณะที่พระองค์ประทับอยู่นี้ก็เกิดพระโรคหวัดใหญ่ เนื่องจากถูกฝน ทรงประชวรอยู่เพียง 3 วัน ก็สิ้นพระชนม์ที่ตำบลหาดทรายรี อ.เมือง จ.ชุมพร ในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2466 สิริพระชนมายุ ได้ 44 พรรษา