นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตร กรุงโตเกียว รายงานผลการทดลองในวารสารฮิวแมนรีโพรดักชั่น ว่า สมมติฐานดังกล่าวได้จากทดลองบังคับ "ดีเอ็นเอ" หรือสารพันธุกรรมในไข่ของหนูตัวเมียตัวหนึ่งให้ทำงานเหมือนอสุจิ จากนั้นนำไปฝังไว้ในไข่ของหนูตัวเมียโตเต็มวัยอีกตัว ได้ลูกหนูที่มีแต่ยีนของหนูตัวเมีย 2 ตัว แต่ไม่มียีนจากตัวผู้ ผลพบว่าหนูที่สร้างขึ้นมานี้อายุยืนกว่าหนูที่ได้รับยีนจากพ่อและแม่ตามปกติถึง 1 ใน 3 โดยในช่วงแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า ตัวเล็กกว่า แต่มีภูมิคุ้มกันดีกว่า เชื่อว่า สาเหตุสำคัญที่ผลลัพธ์ออกมาเช่นนั้นเกิดจากยีน Rasgrf1 ที่ถ่ายทอดโดยเพศผู้เท่านั้น ส่วนลูกเพศผู้และเพศเมียแม้ได้รับยีนตัวนี้แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ทำงานในลูกเพศเมีย
"แม้เป็นการศึกษากับหนู แต่เชื่อว่าทฤษฎีนี้ใช้ได้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกประเภท รวมทั้งคน ที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีว่าผู้หญิงเกือบทุกประเทศทั่วโลกมักอายุยืนกว่าผู้ชาย เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ที่ตัวเมียมักอายุยืนกว่าตัวผู้ แต่ยังไม่สามารถหาเหตุผลชัดเจน งานวิจัยครั้งนี้บ่งชี้ว่าความแตกต่างเกิดจากยีน โดยสันนิษฐานว่ายีนของอสุจิทำให้อายุขัยสั้นลง" นักวิจัยระบุ และว่า ตามธรรมชาติเพศชายมักใช้พลังงานมากในการสร้างร่างกายให้ใหญ่โตเพื่อประโยชน์ในการหาคู่ ขณะที่เพศหญิงมักสะสมพลังงานเพื่อเลี้ยงดูบุตร
ด้านดร.อัลเลน พาซีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจริญพันธุ์ มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ แสดงทรรศนะว่า ต้องศึกษาเพิ่มเติมให้ได้ผลชัดเจนกว่านี้ และไม่เห็นด้วยหากจะใช้วิธีทางการแพทย์ขยายอายุขัยด้วยการบังคับยีน เพราะสิ่งที่มนุษย์เป็นอยู่ถือว่าดีแล้ว ส่วน ศ.เคย์ ที เกา ผู้เชี่ยวชาญสภาวะชราภาพ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มองว่า ผลการศึกษานี้อาจใช้กับคนไม่ได้เพราะความแตกต่างด้านอายุขัยของคนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและสภาพแวดล้อม จึงน่าจะมีสาเหตุมากกว่ายีนเพียงอย่างเดียว
ที่มาจาก : ข่าวสด